เมื่อวันที่ 4 มีนาคม คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานแถลงข่าวถอดรหัสการศึกษา 3-5-7 ก้าวใหม่นักเรียนไทย ผ่าน 3 กลไก 5 นโยบาย 7 โครงการ สร้างคนรองรับศตวรรษที่ 21 ว่า ในฐานะที่ตนได้กำกับและดูแลงานใน ศธ. ตนได้ทำงานอย่างเต็มที่ในการเร่งเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาไปสู่ตัวผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
ทำให้การทำงานคืบหน้าไปมากอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ขับเคลื่อนนโยบายของ ศธ. ผ่าน 3 กลไกหลัก ซึ่งประกอบด้วย ความทันสมัย ความเท่าเทียมและความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นหัวใจในการพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ
“ในส่วนการปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษ 21 อย่างแท้จริง จะต้องเร่งผลักดัน 5 นโยบายสำคัญ คือ
1.เรื่องโค้ดดิ้ง ซึ่งเป็นการวางรากฐานการปฏิรูปโดยตรงถึงเยาวชนและการพัฒนามนุษย์
2.เรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน หรือSTI
3.เรื่องการอ่าน เขียน เรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อร่วมสมัย โดยใช้นวัตกรรมและสื่อการสอนที่ทันสมัย 4.เรื่องอาชีวะเกษตรและประมง ด้วยการยกระดับอาชีวะศึกษาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งระบบ และ
5.นโยบายการศึกษาพิเศษ สำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม” คุณหญิงกัลยากล่าว
ที่ผ่านมา ศธ.ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อสร้างนักเรียนคุณภาพ ประกอบไปด้วย
1.โครงการ “Coding for All ”
2.โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างกว้างขวางเน้นการปฏิบัติ และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
3.โครงการการขับเคลื่อนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ในกำกับ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้สูงทัดเทียมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก
4.โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ภายใต้หลักสูตร “ชลกร” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้
5.โครงการที่นำเอานวัตกรรมมาใช้กับการเกษตรและประมง เช่นโครงการเกษตรประณีต 1 ไร่ 1 แสนให้ทุกตารางเมตรของพื้นที่สามารถทำเงินได้
6.โครงการด้านการอ่าน เขียน เรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย โดยจัดทำ AR เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านธนบัตร และ
7.โครงการการศึกษาพิเศษ โดยจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 4 มีนาคม 2564