ค้นหา

ถึงเวลามหา’ลัย ปรับตัวรับมือยุค ‘ดิสรัปชั่นเทคโนโลยี’

เข้าสู่ช่วงปรับตัวขนานใหญ่ หลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้เห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะอุดมศึกษา ที่ต้องเร่งเครื่องให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะที่มหาวิทยาลัย หัวใจสำคัญของการผลิตกำลังคนหลายแห่งยังปรับตัวไม่ทัน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพบัณฑิตที่ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ และไม่ตอบโจทย์สังคมโลก 

นพ.อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) วิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็งอุดมศึกษาไทยกับความท้าทายหลังวิกฤตโควิด-19 ไว้อย่างน่าสนใจว่า ขณะนี้เราอยู่ในช่วงดิสรัปชั่น และไม่ใช่ดิสรัปชั่นธรรมดา แต่เป็นดับเบิลดิสรัปชั่น จากความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับมหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้า ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เห็นหลายอย่างชัดมาก อย่างแรก เราสร้างนวัตกรรมและสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงได้น้อย คุณภาพไม่ดี คนตกงานจำนวนมาก มีกำลังคนมีทักษะ สมรรถนะ ทัศนคติ ไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่อุดมศึกษา ซึ่งทุกวันนี้ไม่ตอบโจทย์ของประเทศ/โลกในยุค Disruptive Technologies

เพราะฉะนั้น หากอุดมศึกษายังผลิตบัณฑิตด้วยระบบเก่า ก็จะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ส่วนตัวมีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารภาคเอกชน พบว่าหลายแห่งสร้างอคาเดมี ผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของตัวเอง เหตุผลเพราะเขาพึ่งมหาวิทยาลัยไม่ได้ ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว ภาคเอกชนจะเข้ามาทำหน้าที่ผลิตกำลังคนแทน อุดมศึกษาในอนาคต โดยเฉพาะยุคหลังโควิด-19 ต้องเน้นว่า เมื่อจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว ไม่ใช่มีแต่ความรู้ แต่ต้องสามารถนำความรู้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิต และช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ขณะที่เป้าหมายใหม่ของการเรียนรู้ คือ ต้องนำความรู้ไปสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี นักศึกษาและอาจารย์ต้องปรับมายด์เซตใหม่ จะเป็นเช่นนี้ได้ ต้องเน้นเรียนรู้จากการทำงาน ตั้งคำถามให้เกิดการวิเคราะห์ กระตุ้นให้เกิดจินตนาการเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันให้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กรและโลก เพื่อสร้างกำลังคนสำหรับบริบทโลกใหม่ เป็นนิวแมนเพาเวอร์ 

ความท้าทายของอุดมศึกษาในอนาคต ยังต้องรับมือกับการขยายตัวของ Gig Economy หรือระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากงานแบบครั้งคราว ซึ่งตรงกับบริบทของเด็กในยุคใหม่ ที่นิยมทำงานเป็นฟรีแลนซ์ไม่ผูกมัด บวกกับเทคโนโลยีที่เข้ามา ทำให้สร้างเงินได้มหาศาล ประกอบกับความเชื่อที่ว่าวุฒิการศึกษาระดับสูงในปัจจุบัน ไม่สามารถการันตีรายได้ในอนาคต อีกทั้งการเรียนต่อมหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายสูง และผลผลิตไม่ตอบโจทย์ของตลาดแรงงาน บริษัทต่างๆ รับคนเข้าทำงานโดยไม่สนปริญญา เด็กเข้ามหาวิทยาลัยลดลง ประกอบกับอัตราการเกิดที่น้อยลงเรื่อยๆ ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว ให้ตรงกับความต้องการของเด็ก แล้วใครจะมาเรียน จะมานั่งรอรับเด็กจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้ามาเรียน คงไม่ได้แล้ว ยิ่งถ้าสอนแต่วิชาการยิ่งไม่ตอบโจทย์ หากยังสอนแบบเดิม มหาวิทยาลัยจะไม่มีที่ยืน ตอนนี้บริษัทเอกชนไม่ดูแล้วว่าบัณฑิตจบจากไหน แต่จะรับคนเข้าทำงานจากสมรรถนะว่าสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้องค์กรได้หรือไม่ หากมีความสามารถพอ ไม่ว่าจะจบ ป.4 หรือ ป.6 เขาก็รับ ดังนั้น การศึกษาต่อไปข้างหน้าจะไม่เหมือนเดิม นพ.อุดมกล่าว 

ทั้งหมดนี้สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับใหม่ ที่จะเริ่มใช้ปี 2566 ซึ่งบอกไว้ชัดเจนว่า ต้องการพลิกโฉมประเทศไทย ตามแนวทาง 13 หมุดหมายสำคัญ โดยหมุดหมายที่ 12 กำหนดว่า ไทยจะมีกำลังคนสมรรถนะสูง เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต มีเป้าหมาย 3 ประการ คือ

1.พัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างเต็มศักยภาพ

2.พัฒนากำลังคนให้ตรงตามความต้องการของภาคการผลิตเป้าหมาย และ

3.ส่งเสริมการเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

มหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง อย่างแรกต้องปรับมายด์เซต เปลี่ยนจากซัพพลายไซต์ เป็นดีมานด์ไซต์ เรียนรู้จากการทำงานจริง สุดท้ายโครงสร้างมหาวิทยาลัยจะต้องเล็กลง ตึกสูงๆ อาจไม่จำเป็น เพราะนักศึกษาไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนในพื้นที่ แต่สามารถเรียนได้จากทุกที่ผ่านอินเตอร์เน็ต และอย่างน้อย 50% ต้องไปเรียนในสถานประกอบการ กำแพงระหว่างคณะจะต้องลดลง ที่สำคัญ และอยากเห็นคือ การรวมตัวเป็นคลัสเตอร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะแต่ละแห่งก็มีความเก่งและเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน 

สุดท้ายมหาวิทยาลัยต้องทรานส์ฟอร์มเป็น เลิร์นนิ่ง สเปซ ที่ไม่ว่าใครก็เข้ามาเรียนได้ และสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยรอดจากภาวะวิกฤตโควิด-19 และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ คือ การวิจัยและพัฒนา เพราะช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดเจนว่า ประเทศไทยมีจุดบอดทุกด้าน มหาวิทยาลัยต้องออกจากคอมฟอร์ตโซน เปิดพื้นที่การเรียนรู้ ผลิตคนให้ตอบโจทย์ประเทศและโลก เรียกว่า ถ้าใครปรับตัวไม่ทัน อาจตกขบวนไม่ทันตั้งตัว

สอดคล้องกับ นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) เห็นคล้ายกันว่า หลังโควิด-19 มีปัจจัยอื่นมากระทบหลายอย่าง อย่างการดิสรัปต์เทคโนโลยี ที่ส่งผลให้มีเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยลดลง รวมถึงช่องว่างการเรียนรู้ของแต่ละช่วงวัยที่ค่อนข้างมีความแตกต่างกันอย่างมาก มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ต้องปรับตัว พัฒนาและผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ สามารถต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้ได้ รวมถึงสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่เป็นตลาดแรงงานระดับโลก ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทาย โดยเฉพาะขณะนี้เอกชนหลายแห่งไม่ไว้ใจมหาวิทยาลัย มาเปิดอคาเดมี ผลิตคนของตัวเอง 

ตรงนี้เป็นความท้าทาย มหาวิทยาลัยจะต้องวางแผนงาน ไม่ใช่แค่รอรับเด็ก ม.6 เข้ามาเรียนอย่างเดียว แต่ต้องปรับหลักสูตรเตรียมพร้อมคนวัยทำงาน เพิ่มสมรรถนะทางเทคโนโลยี ที่สำคัญมหาวิทยาลัยต้องเตรียมตัว พัฒนาจิตใจ ทำให้คนเป็นคนดี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่หลายคนอาจหลงลืม ทั้งหมดเป็นภารกิจหลักไว้ว่าจะเป็นหลังหรือก่อนวิกฤตโควิด-19 ที่มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการ ขณะที่ปัจจัยด้านแรงสนับสนุนของรัฐบาล อาจไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย ซึ่งระดับนโยบายวางไว้ค่อนข้างดี แต่ขาดการดูแลบุคลากรให้มีความมั่นคง ท้าทายที่จะเปลี่ยนแปลง ยังมีความเหลื่อมล้ำภายในมหาวิทยาลัย ที่สำคัญการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัย ควรจะมีความหลากหลาย ไม่ใช่แบ่งเป็นกลุ่มเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเก่าแก่ เท่ากับเป็นการเป็นการแบ่งพรรค แบ่งพวก ไม่ใช่แบ่งการเรียนรู้ ต่างคนต่างทำ ตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากขึ้น นายอดิศรกล่าว

ส่วนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงหลักในการกำกับดูแล ดูจะไม่เข้ามาช่วยเสริมให้การทำงานของมหาวิทยาลัยคล่องตัวได้เท่าที่ควร ทางกลับกัน ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ยังเป็นอุปสรรค ที่ถูกมองว่าเข้ามาก้าวก่ายการพัฒนาของมหาวิทยาลัยอยู่หลายเรื่อง 

รวมๆ แล้ว หากอุดมศึกษาอยากรอดจากวิกฤตดิสรัปชั่น หลังโควิด-19 เพื่อให้ได้ไปต่อ คงต้องเรียนรู้ และพร้อมปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลกให้ได้ 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 2 มกราคม 2566

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น