ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมณ์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.)ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยาย โครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เรื่อง”Mindset พลิกวิธีคิดชีวิตเปลี่ยน”ปรับแนวคิดสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนสร้างนวัตกรรมด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Step รุ่นที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นว่า เป้าหมายของการปฏิรูประบบการศึกษาไทย คือ 1 การพัฒนาระบบการเรียนการสอนเพื่อเติมเต็มศักยภาพให้นักเรียนมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 2 การพัฒนาระบบครูให้มีคุณภาพ 3 การสร้างความรับผิดชอบ (Accountability) ในระบบการศึกษา และ การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆในระบบการศึกษา หรืออาจกล่าวได้ว่า การปฏิรูประบบการเรียนการสอนระดับห้องเรียนเป็นเป้าหมายที่ควรทำอันดับต้น ๆ การปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียน จะเป็นการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อเติมเต็มศักยภาพให้นักเรียนมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งแนวคิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ตั้งอยู่บนฐานความคิดที่เชื่อว่า รูปแบบการศึกษาแบบดั้งเดิมในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่เน้นย้ำแต่การเรียนและท่องจำเนื้อหา(Passive Learning)ในสาระวิชาหลัก อาทิคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ซึ่งไม่ตรงกับการดำรงชีวิตและการทำงานในศตวรรษใหม่ภายใต้ความท้าทายใหม่อีกต่อไป
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวต่อว่า แนวคิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 นั้น จึงให้ความสำคัญกับการปลูกฝัง “ทักษะ” ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิตและการทำงาน ทักษะด้านสารสนเทศและการสื่อสาร ควบคู่กับ “เนื้อหา” ในสาระวิชาหลักและความรู้อื่น ๆ ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 เช่น ความรู้เรื่องโลกความรู้ด้านการเงินเศรษฐกิจธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ ความรู้ด้านพลเมือง ความรู้ด้านสุขภาพ และความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านหลักสูตรที่กระชับ(Lean Curriculum) และบูรณาการ (Interdisciplinary Curriculum) เพื่อสร้างนักเรียนที่มี “คุณลักษณะ” อันพึงประสงค์ของโลกศตวรรษที่ 21 นั่นคือ รู้จักคิด รักการเรียนรู้ มีสำนึกพลเมือง มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มีความสามารถในการแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดชีวิต ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรมเป็นหัวใจของทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 การเรียนรู้ทักษะการเรียนรู้
ดังนั้น กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Step จึงเป็นเทคโนโลยีกระบวนการที่เป็นกลไกสำคัญในการช่วยพัฒนาการเรียนรู้แบบ Active learning โดยจัดระบบการสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนในการจัดเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการคิดวิเคราะห์อย่างมีแบบแผนและเชื่อมโยงไปสู่การสร้างความรู้ในมิติคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมขั้นสูงก่อนนำไปสู่การปฏิบัติตามแบบแผนที่ออกแบบไว้จนถักทอความรู้ให้สัมพันธ์กันทุกมิติและเกิดผลผลิตจากการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Step ในระดับโครงงานนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์และสามารถต่อยอดการสร้างความรู้ในระดับความคิดรวบยอดหลักการและทฤษฎีซึ่งเกิดผลสำคัญคือผู้เรียนเข้าใจรู้ความหมายเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรียนรู้เกิดความชื่นชมมุ่งการอนุรักษ์บำรุงรักษานำไปเผยแพร่อย่างภาคภูมิใจและนำไปต่อยอดให้เกิดผลและคุณค่าในเชิงบวกอย่างยั่งยืน
“กระบวนการเรียนรู้แบบ Active learning เป็นรูปแบบพื้นฐานในการเรียนรู้ด้วยการปฎิบัติที่ส่งผลให้ผู้เรียนเข้าใจและรู้ความหมายของสิ่งที่เรียนรู้ผ่านการคิดการปฏิบัติด้วยตัวของผู้เรียนเองเท่านั้น แตกต่างจากการเรียนรู้แบบPassive Learning ที่เป็นรูปแบบการถ่ายทอดการฟัง การดู การเก็บข้อมูล การท่องจำ เพื่อนำข้อมูลมานำเสนอถ่ายทอดอย่างไม่เข้าใจ ไม่รู้ความหมาย และเข้าไม่ถึงคุณค่าของข้อมูลนั้น ดังนั้นหัวใจสำคัญที่ใช้เป็นกลไกของการเรียนรู้แบบ Active learning คือกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Step”ดร.ศักดิ์สิน กล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 10 มกราคม 2566