ปัจจุบันเนื้อหาความรู้สามารถเข้าถึงได้ง่ายเพียงใช้ปลายนิ้วจิ้มลงบนหน้าจอ เรื่องราวต่าง ๆ ที่สงสัยก็จะคลี่คลายลง ความสะดวกนี้เกิดขึ้นเพราะความเจริญของเทคโนโลยีเข้ามา แม้ดูเหมือนว่า นักเรียนอาจจะไม่ต้องการครูเพื่อรอการถ่ายทอดความรู้หรือเนื้อหา แต่ในความเป็นจริง ครูยังสามารถมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกการเรียนรู้และเป็นผู้ช่วยผลักดันให้นักเรียนอยากรู้อยากเรียน หากครูท่านใดต้องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน ก็ต้องอาศัยความกล้าในตัวที่จะปรับกระบวนการและพื้นที่การเรียนรู้แบบใหม่ด้วย
การนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน นับเป็นการเพิ่มโอกาสและพื้นที่การเรียนรู้ของนักเรียน กล่าวคือ นักเรียนทุกคนมีความแตกต่างกันในการเรียนรู้ ทั้งในวิธีการเรียน ความชื่นชอบ ความถนัด ความสามารถ เป็นต้น และนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่เป็นเด็กกิจกรรมของโรงเรียน จึงต้องใช้เวลาซ้อมและแข่งขัน ทำให้เกิดปัญหาการเรียนไม่ทันเพื่อน การนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับการตัดต่อคลิปอย่าง iMovie มาใช้ในการเรียนการสอนในห้องจะช่วยให้นักเรียนสามารถกลับมาเรียนย้อนหลังได้ นอกจากนี้ หากมีนักเรียนที่เรียนไม่เข้าใจในห้องก็สามารถย้อนกลับมาดูคลิปการสอนได้ด้วยเช่นกัน
พร้อมกันนั้น ครูยังสามารถเข้าถึงและเข้าใจนักเรียนมากขึ้น ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ บทบาทของครูจึงเป็นการช่วยเหลือนักเรียนและเตรียมความพร้อมในการออกแบบกิจกรรม รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ เมื่อนักเรียนต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม ครูก็จะอธิบายในประเด็นที่นักเรียนต้องการความช่วยเหลือ การเรียนรู้จึงเกิดขึ้นจากความอยากรู้ของนักเรียน และครูก็จะทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้นั้น ๆ ในเวลาที่นักเรียนต้องการ ดังนั้น ความจำและความเข้าใจที่มาจากความอยากรู้ภายในจึงเกิดขึ้นและมีความคงทนมากกว่าการบังคับให้จำหรือเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ
นอกจากนี้ เทคโนโลยียังช่วยทำให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้นจากลูกเล่นต่าง ๆ เช่น ภาพเคลื่อนไหว เสียง ปฏิกิริยาตอบกลับของโปรแกรม ฯลฯ อย่างในแอปพลิเคชัน FizziQ เป็นแอปพลิเคชันที่นำมาสร้างบทเรียนได้อย่างน่าสนใจและเข้าใจง่าย นักเรียนสามารถเข้าใจเรื่องที่เป็นนามธรรมได้จากการแปลงข้อมูลให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนปัจจุบันเป็นเรื่องที่ธรรมดา แต่จะพิเศษขึ้นมาเมื่อนำเทคโนโลยีมาประยุกต์กับกิจกรรมให้น่าสนใจและดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้
การดึงดูดความสนใจของนักเรียนที่มีความแตกต่างกันอาจจะง่ายขึ้นหากครูร่วมกันคิดหรือสร้างเป็นทีมสอนเพื่อออกแบบแผนฯ และกิจกรรมโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดึงดูดความสนใจของนักเรียน และการสำรวจและนำสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของนักเรียนมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบแผน ฯ และกิจกรรมเพื่อช่วยให้นักเรียนตระหนักว่าการเรียนรู้ของพวกเขามีความสำคัญกับการดำเนินชีวิตและสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพวกเขาได้จริง และสิ่งสำคัญของการเรียนรู้คือ การวัดและประเมินที่นักเรียนควรมีส่วนร่วมในการตัดสินการเรียนรู้ของพวกเขาด้วยตัวเองเช่นกัน
Apple Teacher คือโปรแกรมการเรียนรู้ระดับมืออาชีพฟรี เข้าร่วมที่ education.apple.com
EDUCA 2022 หัวข้อ ครูกล้า นักเรียนก้าว: เมื่อครูกล้าคิด กล้าทำ กล้านำตัวเอง ทำให้นักเรียนก้าวสู่การเรียนรู้ https://event.educathai.com/educa2022/online-workshop/2890
ดร.กมลรัตน์ ฉิมพาลีนางสาวจิราพร เณรธรณี ผู้เรียบเรียง
ที่มา ; EDUCA
ข่าวเกี่ยวกัน
เรียนรู้แบบผสมผสาน สร้าง New Gen รับมือโลกใหม่
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกวัน เรามีคำถามมาตลอดว่า เยาวชนควรจะเรียนอะไรดี อาชีพอะไรที่จะยังคงอยู่ หลังการเข้ามาของหุ่นยนต์ AI และโลกยุค Digital ที่กำลัง Disrupts ธุรกิจแบบเดิม มีการคุยเรื่อง Digital Transformation การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตไปสู่ยุคดิจิทัลแบบเต็มตัว เราพูดคุย ขบคิด และถกเถียงหาแนวทางมาโดยตลอด และปี 2566 สิ่งเดียวที่จะทำให้เราอยู่รอดในตลาดแรงงาน คือทุกคนต้องรู้จักที่จะ Learn Unlearn และ Relearn
เป็นคำบอกเล่าถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของระบบการศึกษาไทย ปัญหาที่เด็กไทยกำลังเผชิญ และผลกระทบของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปต่อชีวิตในอนาคตของเยาวชน ที่ ฟลุ๊ค – กาญจนา ภวัครานนท์ ผู้บริหารรุ่นใหม่ วัยเพียง 27 ปี เจ้าของ โรงเรียนนานาชาติ BROMSGROVE INTERNATIONAL SCHOOL Thailand และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ให้ความสนใจ ตั้งโจทย์ ว่านักเรียนที่ต้องเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยทำงานในอนาคต จะมีความเสี่ยงมากแค่ไหน??
นำมาสู่การนำเสนอแนวทางในการปรับเปลี่ยนพื้นฐานการศึกษา เพื่อสร้าง New Gen รับมือโลกยุคใหม่ และการปูพื้นฐานไปสู่ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21”
ฟลุ๊ค เล่าว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของภาคการศึกษาอย่างแท้จริง นักเรียน นักศึกษา ต่างพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์ในการเรียนรู้มากขึ้น ขณะที่ผู้สอนต้องพึ่งเทคโนโลยี เพื่อปรับหลักสูตรการสอน ทั้งหมดคือรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน
ที่น่าสนใจกว่านั้น จากการประเมินของ World Economic Forum ระบุว่า ไม่เกิน 5 ปีจากนี้ ทั่วโลกจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้น ทำให้กว่า 50% ของคนทำงาน จำเป็นต้อง Reskill ใหม่ เพื่อปรับตัวรองรับอนาคต โดยประเมินว่าจากภัยคุกคามนี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงกับแรงงาน 375 ล้านตำแหน่ง จะแทนที่ด้วยเครื่องจักรกล
คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อโลกการศึกษาถูกท้าทาย จากทั้งปัจจัยภายนอก และภายใน เราต้องปรับตัวอย่างไร?
กาญจนา อธิบายว่า จากจำนวนคนเกิดน้อยลง ส่งผลให้ภาคการศึกษาได้รับผลกระทบจากนักเรียนที่ลดลง ทำให้เกิดปัญหา ต่อมาคือวิธีการเรียน และวิธีสอน ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ข้อมูลจาก Research ของ Kaplan University Partners พบว่า มหาวิทยาลัยจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังจะโดน Disrupt ในอีกไม่นาน ทำให้เทรนด์การศึกษากำลังจะเปลี่ยนไป จาก “การเรียนมหาวิทยาลัยเอาปริญญาเพื่อให้ได้งาน” เป็น “การทำงาน เพื่อให้ได้ปริญญา”
องค์กรใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง อาทิ ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC), วอลมาร์ต (Walmart), สตาร์บัคส์ (Starbucks) หรือดิสนีย์ (Disney) มีโปรแกรมพิเศษที่ Recruit เด็กมัธยมไปทำงาน และใช้เวลาทำงานแทนการเรียนแบบนับหน่วยกิต โดยจับมือกับมหาวิทยาลัยที่มี Online Degree พนักงานไปทำงานตามปกติ เพื่อเก็บสะสมชั่วโมงการทำงานให้ครบตามที่ตั้งไว้ แล้วลงเรียนออนไลน์ ในวิชาที่หลักสูตรนั้นกำหนดไว้
เมื่อครบทั้งชั่วโมงทำงาน และวิชาที่เรียน ก็จะได้ปริญญาเลย โดยบริษัทเหล่านี้เป็นคนออกค่าเรียนให้พนักงานด้วย เป็นการซื้อใจให้พนักงานอยู่ยาวๆ
ทั้งนี้ องค์กรใหญ่ๆ ในสหรัฐ เริ่มมีโปรแกรมแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และอีกไม่นาน คงไม่มีความจำเป็นต้องเรียนในมหาวิทยาลัย และบริษัทต่างๆ อาจพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาเอง เพื่อฝึกอบรมพนักงานในแต่ละหน้าที่ กระทั่งจัดตั้งหน่วยงาน innovation/ research ขึ้นภายใน เพื่อเสริมสร้างทักษะในการทำงานขึ้นมาโดยเฉพาะ
เพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคต สำหรับการปรับพื้นฐาน รับมือโลกใหม่ด้วย “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” โรงเรียนนานาชาติ BROMSROVE INTERNATIONAL SCHOOL THAILAND เป็นหนึ่งในโรงเรียนขนาดกลาง และชั้นนำของไทย ที่มีหอพักภายในโรงเรียน นั่นทำให้โรงเรียนสามารถสนับสนุนชีวิตการเรียนได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นด้านกีฬา ดนตรี ศิลปะ หรือการเรียนในสายเฉพาะที่ตัวเด็กสนใจ
โรงเรียนนานาชาติบรอมส์โกรฟ ในเครือบรอมส์โกรฟ สหราชอาณาจักร (Bromsgrove School UK) เปิดมาแล้วกว่า 500 ปี ในไทยมีอยู่ 2 แคมปัส โดยโรงเรียนอนุบาลชั้นปี Pre-Nursery ถึง Yr.1 (2-4 ขวบ) ตั้งอยู่ที่รามคำแหง ชั้นประถมจนถึงอายุ 18 ปี จะเรียนที่แคมปัสใหญ่ มีนบุรี-หนองจอก มีหอพักพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับนักเรียนมากกว่า 200 คน และเด็กๆ ที่อยู่ประจำ จะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
โรงเรียนนานาชาติบรอมส์โกรฟ จึงเป็นสถานที่ช่วยเตรียมพร้อมนักเรียนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยทั่วโลกด้วยหลักสูตรอังกฤษ IGCSE, B-TECH และ A-Levels ที่ถอดมาจากโรงเรียนแม่ที่สหราชอาณาจักร
ฟลุ๊ค ทิ้งท้ายว่า อนาคตจากนี้ของระบบการศึกษาไทย ตกอยู่ในวิกฤตการเรียนรู้ จะมีทางแก้ปัญหาแบบใด อย่างไร เพราะทักษะสำหรับพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566