ค้นหา

ผ่าร่าง กม.การศึกษาฯ ถึงเวลาต้องเดินหน้าปฏิรูป

ใช้เวลานานกว่า 5 ปี นับจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าบริหารประเทศ และแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เมื่อปี 2560 เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษา ให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ ภารกิจหลัก คือการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับใหม่ แทน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อใช้มาระยะหนึ่ง พบว่ามีข้อเสียจำนวนมาก

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นี้ ผ่านการรับฟังความคิดเห็น และปรับแก้หลายครั้ง ใช้งบประมาณในการยกร่างกว่า 1 พันล้านบาท กว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อถกเถียง และคัดค้าน

โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) และสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเสียงเรียกร้องของครูทั้งประเทศ คัดค้าน กฎหมายฉบับนี้ เพราะมองว่าลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน สร้างความเหลื่อมล้ำให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา และเรียกร้องให้ถอนร่างดังกล่าวออกไปก่อน 

ถึงขั้นระดมพลแต่งดำ ใช้เกมการเมือง ข่มขู่จะไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคที่ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยไม่แก้ไขให้เป็นไปตามความเห็นของครูกลุ่มดังกล่าว รวมถึง จะสนับสนุนพรรคที่พร้อมแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในรัฐบาลต่อไป

สำหรับมาตราที่เรียกร้องให้แก้ไข อาทิ มาตรา 40 วรรค 2 ว่าด้วยเงินค่าตอบแทนวิทยฐานะ ทำให้บุคลากรในเขตพื้นที่การศึกษาจะไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) รองผู้อำนวยการ สพท.และศึกษานิเทศน์ ทำให้ค้างคาใจ เนื่องจากเป็นสิทธิที่เคยได้รับมาก่อน แต่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ไม่แก้ไขให้กลับมาเหมือนเดิม อีกทั้งไม่รับฟังเสียงท้วงติงจากครูในเรื่องนี้

มาตรา 42 เกี่ยวกับคำสั่ง คสช.เป็นการออกแบบสภาวิชาชีพครูใหม่ เดิมคุรุสภาเป็นสภาวิชาชีพ แต่เปลี่ยนใหม่ให้คุรุสภาเป็นองค์กรของครู เมื่อกฎหมายแม่ออกมาแบบนี้ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ตกไป 

และมาตรา 106 ว่าด้วยการให้อำนาจ รัฐมนตรี และปลัด ศธ.เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการ ศธ.หมายความว่า จะใช้ระบบการสั่งการจากบนลงล่าง หรือ ซิงเกิลคอมมานด์ย้อนแย้งกับโลกความจริงที่เปลี่ยนแปลงไปมากหลังวิกฤตโควิด-19

ขณะที่ฝั่งเห็นด้วย อยากเร่งคลอดร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยมองว่า ข้อบกพร่องอื่นๆ ปรับแก้ได้ในขั้นตอนต่อไป บางเรื่องรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และปลัด ศธ.สามารถออกประกาศ เพื่อบังคับใช้ หรือกำหนดรายละเอียดไว้ในกฎหมายลูก

ดีกว่าปล่อยให้แท้ง!! แล้วไปประกอบร่างใหม่ในรัฐบาลถัดไป ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาใหม่ 

ฝ่ายสนับสนุน อย่างสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่าย มองที่ประโยชน์ส่วนรวม ซึ่ง ข้อดี ของกฎหมายฉบับนี้มีอยู่มาก อาทิ ในมาตรา 8 กำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาให้เหมาะสมตามช่วงวัย เกิดคุณภาพกับผู้เรียน มาตรา 11 วรรค 5 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดการศึกษาตามมาตรา 22-30 มีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล หรือกลุ่มนิติบุคคล มาตรา 42, 108 ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการดูแลเรื่องค่าตอบแทน และวิทยฐานะ

รวมถึง ยังกำหนดให้มีสถาบันพัฒนาหลักสูตร เพื่อพัฒนาหลักสูตรแกนกลาง มีกองทุนครูของแผ่นดิน สนับสนุนส่งเสริมครูให้ทำงานได้เต็มที่ มีกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สนับสนุนการเรียนการสอนยุคใหม่ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียน และชุมชน มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ กำหนดการนโยบายการศึกษาของชาติ 

ที่สำคัญ ศธ.มี เอกภาพ ในการจัดการศึกษามากขึ้น จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารงาน 

โดยเฉพาะการ กระจายอำนาจ การจัดการศึกษาไปยังโรงเรียน ทั้งเรื่องการคัดเลือกบุคลากร งบประมาณ และแนวทางการจัดการเรียนการสอน รวมถึงงบที่จะส่งตรงถึงโรงเรียนโดยตรง

ซึ่งต้องยอมรับว่า การจัดการศึกษาที่ผ่านมา มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรงบที่ขาดประสิทธิภาพ เพราะสายการบังคับบัญชาค่อนข้างยาว ดังนั้น การกระจายอำนาจ จัดสรรงบลงไปที่โรงเรียนโดยตรง จะทำให้การพัฒนาการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากโรงเรียนมีคุณภาพใกล้เคียงกันแล้ว เด็กจะไม่มากระจุกตัวอยู่ในเมือง 

ขณะที่ นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ระบุว่า ได้ติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติอย่างใกล้ชิดเพราะโรงเรียนเอกชนกังวลว่ากฎหมายฉบับนี้ จะประกาศใช้ไม่ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ แต่ก็ยังมีข้อกังวลในเรื่องสิทธิของเด็ก ซึ่งมีกำหนดไว้ในกฎหมาย แต่ไม่มีการระบุแนวปฏิบัติที่ชัดเจน จึงกังวลว่า เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว สิทธิของเด็กไทยจะเท่าเทียมกันหรือไม่ 

ที่ผ่านมา โรงเรียนเอกชนประสบปัญหาเรื่องนี้มาตลอด เช่น ค่าอาหารกลางวันนักเรียนโรงเรียนรัฐ และเอกชน ไม่ได้รับการอุดหนุนที่เท่าเทียม โรงเรียนรัฐได้รับอุดหนุน 100% ขณะที่โรงเรียนเอกชนได้รับอุดหนุนเพียง 28% ขณะที่ครูเอกชน ได้รับสิทธิ และสวัสดิการน้อยกว่าครูโรงเรียนรัฐ เป็นความไม่เท่าเทียมที่โรงเรียนเอกชนเรียกร้องมาตลอด คิดว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ควรกำหนดสิทธิของเด็ก และครูให้ชัดเจน ให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ไม่ควรแบ่งแยก รัฐ หรือเอกชน หากไม่กำหนดให้ชัดเจน และให้ไปใส่ไว้ในกฎหมายลูก เชื่อว่าสุดท้ายแล้วเด็กไทยกลุ่มหนึ่ง ที่แม้จะเรียนในประเทศ แต่เรียนโรงเรียนเอกชน จะถูกมองข้ามเหมือนเดิม อย่าคิดว่าคนที่เรียนโรงเรียนเอกชนจะเป็นคนมีฐานะ เด็กบางคนต้องเรียนโรงเรียนเอกชนเพราะใกล้บ้าน หากเรียนโรงเรียนรัฐ อาจเสียค่าเดินทางจำนวนมาก” นายศุกเสฏฐ์กล่าว 

ขณะที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา อยากขอให้รัฐสภา และผู้ที่เกี่ยวข้อง อดทน เสียสละ พยายามให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านรัฐสภาให้ได้ เพราะถ้าไม่ผ่าน การจัดการศึกษาจะยังเป็นรูปแบบเดิม คือข้าราชการจะเป็นใหญ่เหมือนเดิม ถ้า ส.ส.และ ส.ว.ช่วยกันผลักดันให้ผ่าน โลกใหม่ทางการศึกษาจะเดินหน้าต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นการศึกษาจะคาราคาซังอยู่แบบนี้ อยากให้มองเป็นเรื่องส่วนรวม เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้น และเดินหน้าต่อไปได้ 

การเปลี่ยนแปลงกฎหมายทุกอย่าง จะมีกลุ่มครู หรือองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ออกมาแสดงสิทธิออกมาเรียกร้องอยู่เสมอ เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ถ้าคนกลุ่มนี้มองเฉพาะผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง ไม่คิดถึงผู้ได้รับผลกระทบที่หนักที่สุด และถูกซ้ำเติมมาตลอด คือ นักเรียน และผู้ปกครอง เชื่อว่าสังคมจะตัดสินได้ ว่าที่กลุ่มคนเหล่านี้ออกมาเรียกร้อง ออกมาเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ทางการศึกษา หรือเพื่อพวกพ้องของตน” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว 

เรียกว่าแต่ละฝ่าย มีเหตุมีผล ที่ต้องการให้ผ่าน หรือไม่ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ให้ได้ภายในรัฐบาลนี้… 

คงจะเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก หากข้อเห็นต่าง และข้อขัดแย้งเหล่านั้น เกิดขึ้นเพราะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม การจัดการศึกษาที่จะเดินหน้าต่อไปได้ และคุณภาพที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็กเป็นสำคัญ 

ไม่ใช่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง 

มติชนออนไลน์ วันที่ 28 มกราคม 2566  

ข่าวเกี่ยวกัน

ตรีนุช’ กังวล ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ อาจคลอดไม่ทันรัฐบาลชุดนี้

เมื่อวันที่ 26 มกราคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผย เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … โดยละเอียดเป็นรายมาตรา ซึ่งขณะนี้พิจารณาถึงมาตราที่ 14 ก่อนที่จะปิดการประชุม เพื่อไปพิจารณาในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไปนั้น ยอมรับว่า ตนมีความกังวลเช่นกันว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … อาจจะพิจารณาไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้มีกว่า 100 มาตรา ประกอบกับขณะนี้ระยะเวลาเหลือน้อย และมีเวลาที่จำกัด แต่ตนเชื่อว่ารัฐสภาจะมีการจัดระเบียบ เรียบเรียงความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติให้เสร็จเร็วที่สุด หรือเสร็จทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า กว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะดำเนินการมาถึงจุดนี้ ก็ผ่านกระบวนการต่างๆ มากกว่า 5 ปี แล้ว ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ถือเป็นกฎหมายที่สำคัญต่อการศึกษา มีรายละเอียดค่อนข้างมากจึงทำให้รัฐสภาจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของประเทศ 

มติชนออนไลน์ วันที่ 26 มกราคม 2566

 

ข่าวเกี่ยวกัน

วอนรัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ จี้กลุ่มคัดค้านมองประโยชน์ส่วนรวม เผยข้อดีเพียบ

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … โดยลงรายละเอียดเป็นรายมาตรา และจะพิจารณาครั้งต่อไปในสัปดาห์หน้า คาดว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ในวาะ 2 และ 3 ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าร่วมพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เพื่อผลักดันกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการปฏิรูปการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะการกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษา จะส่งผลให้เกิดการปฏิรูปที่ห้องเรียน และตัวเด็กอย่างแท้จริง 

ผมคิดว่ากฎหมายฉบับนี้ น่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะเมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา ส.ส.เพื่อไทย ได้เสนอให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากวาระการประชุม แต่เสียงส่วนมากลงมติให้เดินหน้าพิจารณาต่อ ดังนั้น จึงมีความหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบ และประกาศใช้ทันในรัฐบาลนี้ ส่วนกลุ่มที่ออกมาคัดค้าน อยากให้มองประโยชน์ส่วนรวม และข้อดีของกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังโรงเรียน ทั้งเรื่องการคัดเลือกบุคลากร งบประมาณ และแนวทางการจัดการเรียนการสอน รวมถึง งบประมาณ ที่จะส่งตรงถึงโรงเรียนโดยตรง ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างนาน ตั้งแต่ช่วงที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ใช้งบไปกว่า 1 พันล้านบาท จึงไม่ควรทำให้เวลา และงบดังกล่าว เกิดความเสียเปล่า โดยไม่ได้ประโยชน์” ดร.วิสิทธิ์ กล่าว

ดร.วิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ส.บ.ม.ท.ประชุม และหารือเรื่องนี้มาต่อเนื่องกว่า 2 ปี ทำให้เห็นข้อดี เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันของสังคมโลก และบริบทของประเทศไทย อาทิ การจัดการศึกษาเป็นช่วงวัย ตามมาตรา 8 เพื่อให้มีหน่วยงานจัดการศึกษาให้เหมาะสมตามช่วงวัย เกิดคุณภาพกับผู้เรียน ความมีอิสระในการจัดการศึกษาของรัฐบาล เอกชน และผู้ปกครอง พร้อมทั้งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดการศึกษาตามมาตรา 11 วรรค 5 มีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล หรือกลุ่มนิติบุคคล มาตรา 22-30 ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการดูแลเรื่องค่าตอบแทน และวิทยฐานะ มาตรา 42 และมาตรา 108 มีสถาบันพัฒนาหลักสูตร เพื่อพัฒนาหลักสูตรแกนกลาง มีกองทุนครูของแผ่นดิน สนับสนุนส่งเสริมครูให้ทำงานได้เต็มที่ มีกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สนับสนุนการเรียนการสอนยุคใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนและชุมชน มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาชาติ กำหนดการนโยบายกาศึกษาของชาติ ที่สำคัญ ศธ.มีเอกภาพในการจัดการศึกษามากขึ้น จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารงาน 

วอนรัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ จี้กลุ่มคัดค้านมองประโยชน์ส่วนรวม เผยข้อดีเพียบ นายก ส.บ.ม.ท.ลุ้นร่าง กม.ผ่าน ก.พ.นี้ หลัง ส.ส.เพื่อไทย ขอถอนร่างกฎหมายจากวาระการประชุม แต่เสียงส่วนใหญ่ให้เดินหน้าพิจารณาต่อ 

มติชนออนไลน์ วันที่ 26 มกราคม 2566

ข่าวเกี่ยวกัน

คาด กม.ศึกษาฯ คลอดไม่ทันรัฐบาลนี้ ‘เอกชัย’ ชี้พิจารณาช้า ทำเสียเวลาเปล่า 7 ปี

รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า กรณีร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … อยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ของรัฐสภานั้น คิดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ น่าจะพิจารณาไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ เพราะจากที่ติดตามการพิจารณาของรัฐสภา พบว่าใช้เวลาพิจารณาช้ามาก เป็นการพิจารณาเป็นรายมาตรา หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้พิจารณา และประกาศใช้ไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ จะส่งผลกระทบกับการศึกษาหรือไม่นั้น มองว่าไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาจะเกิดขึ้นช้าลง และต้องเสียเวลาไปเปล่าๆ 6-7 ปี นอกจากเสียเวลาแล้ว ยังเสียงบประมาณจำนวนมากในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย 

อย่างไรก็ตาม กรณีมีคนกลุ่มหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านนั้น เพราะมองแต่ประโยชน์ของตัวเอง กลัวว่าสิ่งที่ตัวเองเคยได้ อาจจะไม่ได้ สิ่งที่ตัวเองเคยมี อาจจะไม่มี แค่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดไว้ว่างบของโรงเรียน ครูจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดสัดส่วนการใช้งบทั้งหมดด้วย เพียงแค่กำหนดลักษณะนี้ ก็มีคนไม่พอใจทันที มองว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ มีข้อดีหลายข้อ ส่วนจุดด้อยก็มีบ้าง ค่อยๆ ปรับกันไป จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมองเป้าหมายคุณภาพนักเรียน คุณภาพการศึกษาของประเทศ และขอให้ละประโยชน์ส่วนตัว” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว 

ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า โรงเรียนเอกชนได้ติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติอย่างใกล้ชิด ถ้าคลอดไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ ก็ไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะยังมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ กำหนดเรื่องสิทธิของเด็กไทยไว้ แต่ไม่ระบุแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โรงเรียนเอกชนกังวลว่าเมื่อประกาศใช้แล้ว สิทธิของเด็กไทยจะเท่าเทียมกันหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนประสบปัญหามาตลอด เช่น ค่าอาหารกลางวันของนักเรียนรัฐ และเอกชน ได้รับการอุดหนุนไม่เท่าเทียมกัน โดยรัฐได้รับเงินอุดหนุน 100% ขณะที่โรงเรียนเอกชนได้รับเงินอุดหนุน 28% ทั้งที่โรงเรียนรัฐก็มีเด็กต่างด้าวเข้ามาเรียน แต่กลับได้เงินอุดหนุนอาหารกลางวันมากกว่านักเรียนในโรงเรียนเอกชนซึ่งเป็นคนไทย เป็นต้น นอกจากสิทธิเด็กไทยแล้ว ครูไทยก็ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกันด้วย 

 

คิดว่ากฎหมายฉบับใหม่ ควรกำหนดสิทธิของเด็ก และครูให้ชัดเจน ว่าเด็กไทย และครูไทย ต้องได้รับมาตราฐานเดียวกัน ไม่ควรแบ่งรัฐ และเอกชน หากกำหนดสิทธิของเด็ก และครูแบบกว้างๆ เมื่อถึงเวลาจัดทำกฎหมายลูกค่อยระบุให้ชัดเจน ท้ายที่สุดแล้วเด็กไทยกลุ่มหนึ่ง ที่เรียนในโรงเรียนเอกชน จะถูกมองข้ามเหมือนเดิม ทั้งนี้ ไม่อยากให้คิดว่าคนที่เรียนโรงเรียนเอกชนมีฐานะ เด็กบางคนต้องเรียนโรงเรียนเอกชนเพราะใกล้บ้าน หากเรียนโรงเรียนรัฐ อาจเสียค่าเดินทางจำนวนมาก จึงอยากให้ พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ กำหนดสิทธิของเด็ก และครูไทยให้ชัดเจน ไม่แบ่งรัฐ และเอกชน” ดร.ศุกเสฎฐ์ 

คาด กม.ศึกษาฯ คลอดไม่ทันรัฐบาลนี้ ‘เอกชัย’ ชี้พิจารณาช้า ทำเสียเวลาเปล่า 7 ปี ส.ปส.กช.ห่วง น.ร.เอกชนมีสิทธิด้อยกว่ารัฐ 

มติชนออนไลน์ วันที่ 31 มกราค2566

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น