ค้นหา

การบูรณาการแก้ปัญหาสถานะบุคคล‘เด็กรหัสจี’

ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะให้แก่กลุ่มคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ โดยปัจจุบันมีกลุ่มเด็กนักเรียนไร้รัฐ ไร้สัญชาติมากกว่าหนึ่งแสนคนที่มีถิ่นกำเนิดและหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับสถานะทางทะเบียนหรือไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า “เด็กนักเรียนกลุ่มจี (G)”

โดยการไม่มีสถานะทางทะเบียนหรืออยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สถานะส่งผลให้เด็กนักเรียนกลุ่ม G ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงมีได้ โดยเฉพาะสิทธิในการรักษาพยาบาล การศึกษาต่อ การมีงานทำ การเดินทางออกนอกพื้นที่ รวมทั้งสิทธิในการเข้าถึงบริการต่างๆ ที่ต้องใช้เลขประจำตัว 13 หลัก เช่น การทำธุรกรรมทางการเงิน การทำใบขับขี่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่หลายหน่วยงานต้องร่วมกันแก้ไข 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ตนได้ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ร่วมกับองค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อหารือถึงแนวทางและกระบวนการแก้ไขปัญหาให้แก่เด็กนักเรียนกลุ่ม G กว่า 1,000 ราย ของสำนักทะเบียน อ.แม่อาย เบื้องต้นทางอำเภอได้เร่งรัดพิจารณาอนุมัติการกำหนดสถานะ และจัดทำเลขบัตรประจำตัว 13 หลัก ให้นักเรียนชุดแรกจำนวน 11 ราย แล้ว โดยจำนวนที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

อีกทั้งได้เข้าร่วมโครงการมอบบัตรประจำตัว13 หลักให้กับเด็กนักเรียนกลุ่ม G ที่ได้รับการแก้ไขสถานะในพื้นที่ อ.ฝาง ประจำปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 285 คน จาก 19 โรงเรียนในเขต อ.ฝาง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือของอำเภอฝาง องค์การแพลนฯ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 3 เชียงใหม่ ทั้งนี้ กรมการปกครอง ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนของเด็กนักเรียนกลุ่ม G ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ โดยให้จังหวัดและอำเภอแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าวเป็นการเฉพาะด้วย 

ผศ.สุชาติ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อหารือถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลของนักเรียนในระบบการศึกษาทุกรูปแบบ ซึ่งหมายรวมถึงเด็กนักเรียนกลุ่ม G เพื่อป้องกันเด็กทุกคนหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยต่อไป 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ กสม. ได้หารือร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกรมการปกครอง ในการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันเพื่อพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการพิสูจน์สถานะมีความคล่องตัว รวดเร็ว และลดอุปสรรคเรื่องอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนไม่เพียงพอต่อปริมาณงาน ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัญหาเรื่องสิทธิสถานะของเด็กนักเรียนกลุ่ม G เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือและเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างหลายหน่วยงาน ทั้ง ศธ. กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) องค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

ในส่วนของ กสม. ได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาเชิงรุกผ่านกลไกคลินิกสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการลงพื้นที่เพื่อพบกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาสถานะบุคคล เพื่อให้คำปรึกษาและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และดำเนินการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายโดยรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงระบบต่อไปเพื่อให้เด็กนักเรียนกลุ่ม G ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางทับซ้อนคือเป็นทั้งเด็กและเป็นทั้งผู้ไร้สิทธิสถานะได้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับเด็กในประเทศไทยทุกคน” ผศ.สุชาติ กล่าว 

ผศ.สุชาติ ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยหลายยุคที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา ดังนั้นเด็กทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยไม่ว่าจะมีสถานะเป็นคนไทยหรือไม่ก็ตามจึงได้รับโอกาสด้านการศึกษา ดังนั้นเด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือไม่มีเลขประจำตัวประชาชนเหมือนคนไทยทั่วไป เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา ทาง ศธ. จะให้รหัสจีกับเด็กกลุ่มนี้ แต่ยังไม่ถือว่าครบถ้วนในด้านสถานะบุคคล จึงมีการหารือร่วมกับทาง มท. โดยกรมการปกครอง 

จนต่อมาทาง มท. กำหนดแนวทางให้ออกบัตรประจำตัวผู้ที่ไม่มีสถานะทางบุคคล โดยเลขประจำตัว 13 หลักของคนกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วยเลขศูนย์ (0) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้คนกลุ่มนี้เป็นคนไทย แต่อย่างน้อยให้มีการรับรองความมีตัวตนว่าเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย เพียงแต่ปัญหาที่พบคือยังไม่มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่าง มท. กับ ศธ. โดยอัตโนมัติ จึงต้องอาศัยการนำหลักฐานการรับรองจากโรงเรียนไปยื่นกับพื้นที่ปกครองที่นักเรียนนั้นอาศัยอยู่ ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบาก หรือบางพื้นที่ยังพบปัญหารายชื่อซ้ำซ้อน

ด้าน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ในการไปหารือกับทาง ศธ. นั้นมีการพูดคุยประเด็นการเชื่อมฐานข้อมูลผู้เรียนในระบบการศึกษาทุกประเภททั้งในระบบโรงเรียนแบบปกติ บ้านเรียน (Home School) การศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย (กศน.) ตลอดจนสถาบันการศึกษาของเอกชน เพื่อที่จะรับรู้ได้ว่า ณ ขณะนั้นผู้เรียนอยู่ในการศึกษาแบบใด ระดับชั้นใด อันเป็นการลดปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยคาดว่าระบบจะเชื่อมได้ภายในกลางปี 2566 นี้ 

โดยทาง กสม. ได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า น่าจะมีการเชื่อมฐานข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น มท. โดยกรมการปกครอง อันเป็นการทำให้ปัญหาสถานะบุคคลได้รับการคลี่คลาย ไม่ใช่ปล่อยให้เรียนจบมาแล้วอยู่แบบเคว้งคว้างเพราะไม่สามารถไปหางานทำได้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยนั้นทำได้ดีแล้วเรื่องนโยบายด้านการศึกษาที่ให้กับเด็กทุกคน แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความต่อเนื่อง 

เมื่อเขาจบการศึกษาแล้ว เขาอาจจะเป็นทรัพยากร เป็นแรงงานที่สำคัญสำหรับบ้านเราด้วย การเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานก็เป็นเรื่องสำคัญ ตรงนี้ กสม. ให้ความสำคัญแล้วก็จะพยายามคุยกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทยกระทรวงแรงงาน แล้วก็หน่วยงานต่างๆ”นายวสันต์ กล่าว 

ที่มา ; แนวหน้า วันจันทร์ ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2566

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น