เมื่อวันที่ 3 ก.พ.นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงกรณีการแต่งตั้งประธาน สมศ. และคณะกรรมการ สมศ.ชุดใหม่ รวมถึงผู้อำนวยการ สมศ. ที่ยังคงให้ น.ส.นันทา หงวนตัด รองผู้อำนวยการ สมศ. รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สมศ. ทั้งที่มีการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเสนอชื่อประธาน สมศ.ชุดใหม่ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณา เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งแล้ว แต่ไม่ทราบสาเหตุทำไมจึงยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ สมศ. ชุดใหม่ว่า ช่วงที่ผ่านมา น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) วิเคราะห์ความเหมาะสมเกี่ยวกับการแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน สมศ. ซึ่ง ศธ.ได้พิจารณาเห็นว่า การเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ สมศ.จำนวน 6 คน (4 ด้าน) เป็นการดำเนินการโดยชอบ ตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ สมศ. พ.ศ. 2561 เนื่องจากรายชื่อที่เสนอแต่งตั้ง เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ สมศ.
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า แต่สำหรับการเสนอรายชื่อประธาน สมศ. เป็นการดำเนินการไม่ชอบ ตามข้อ 14 วรรคหนึ่ง ของระเบียบดังกล่าว เนื่องจากรายชื่อที่ สมศ.เสนอมานั้น ไม่เป็นไปตามมติคณะกรรมการ สมศ. ซึ่งแม้จะล่วงเลยเวลามานานแล้วก็ตาม แต่เมื่อการดำเนินการเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งประธาน สมศ. ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบฯ รมว.ศึกษาธิการ จึงให้ สมศ.ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าว และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
“ผมได้ลงนามในหนังสือแจ้งเรื่องนี้ให้ สมศ.รับทราบแล้ว เพื่อให้ สมศ.ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ยืนยันว่าการแต่งตั้งไม่เกี่ยวกับการเมือง ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้ย้ำถึงความจำเป็นของการประเมินคุณภาพภายนอก จะช่วยสะท้อนผลการพัฒนา เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทย” ปลัด ศธ. กล่าว
ที่มา ; เดลินิวส์ 3 กุมภาพันธ์ 2566
ข่าวเกี่ยวกัน
‘สมคิด’ จี้เสมา 1 ตั้งบอร์ด สมศ.ชุดใหม่ ปัดบอกไม่ได้เอี่ยวการเมือง หลังยื้อนาน 3 ปี ชี้ขัดเจตนารมณ์ กม.
“เท่าที่ทราบมีการเสนอชื่อบอร์ด สมศ.ชุดใหม่ให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบว่าเพราะสาเหตุใด ส่วนจะเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่นั้น ไม่สามารถบอกได้ ขณะนี้ สมศ.ขับเคลื่อนการทำงาน โดยมีกรรมการโดยตำแหน่ง 3 ราย ประกอบด้วย ผม ในฐานะประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) รักษาการประธานบอร์ด สมศ. นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และนายรอยล จิตรดอน ประธานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ส่วนใหญ่จะหารือร่วมกับเพียง 3 คน ข้อดีคือ ตัดสินใจรวดเร็ว ส่วนข้อเสีย มีองค์ประกอบไม่ครบ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่สำคัญขาดที่ปรึกษา การมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้าน เพื่อมาร่วมกันคิด ให้ได้ความเห็นที่หลากหลาย” ศ.ดร.สมคิด กล่าว
ศ.ดร.สมคิดกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สมศ.ไม่มีคณะกรรมการตัวจริงทำงานมานานกว่า 3 ปี หากตั้งคณะกรรมการ สมศ.ตัวจริง เชื่อว่าจะทำให้การทำงานของ สมศ.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หากยังไม่แต่งตั้ง และทิ้งระยะเวลาไปอีก อาจส่งผลต่อการบริหารงานของ สมศ.ในระยะยาว ทั้งนี้ แม้จะยังไม่มีคณะกรรมการ สมศ.ตัวจริง แต่ไม่ส่งผลต่อการประเมินสถานศึกษา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามความเหมาะสม เช่น ระดับมหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยเลือกว่าจะประเมินกับ สมศ.หรือเลือกหน่วยงานประเมินที่ได้มาตรฐาน ตามที่คณะกรรมการมาตรฐานอุดมศึกษา (กมอ.) กำหนดก็ได้ เท่าที่ดูส่วนใหญ่ยังเชื่อถือ และเลือกประเมินกับ สมศ.ขณะที่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอาชีวศึกษา ประเมินแบบกัลยาณมิตรมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จะเปิดให้ประเมินผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันประเมินสถานศึกษาได้ครบเกือบทุกแห่งแล้ว คิดว่าภายในปีนี้จะประเมินครบทุกแห่ง
“กรณีที่เคยมีแนวคิดยุบ สมศ.เนื่องจากแต่ละแห่งมีหน่วยประเมินภายในของตัวเอง หรือให้ไปใช้หน่วยงานประเมินอื่นแทนนั้น ผลประเมินภายใน อาจไม่นำมาสู่การปรับปรุงคุณภาพการจัดการศึกษาได้อย่างแท้จริง เพราะแต่ละแห่งอาจมองไม่เห็นข้อเสียของตัวเอง ดังนั้น การมีหน่วยงาน ทำหน้าที่ประเมินภายนอก จึงเป็นสิ่งจำเป็น เป็นตัวสะท้อนคุณภาพสถานศึกษา เพื่อให้มีข้อเสนอแนะให้สถานศึกษาปรับปรุง และพัฒนาตัวเอง” ศ.ดร.สมคิด กล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566