ค้นหา

‘ตรีนุช’ ออกนโยบาย “โรงเรียนเขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้า”

3 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งหญิงและชายกำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่ผ่านมามีข่าวบุหรี่ไฟฟ้าได้เข้าถึงกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีแล้ว โดยมีนักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 5 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมเงินกันซื้อบุหรี่ไฟฟ้ามาแบ่งกันสูบถึง 20 คน ด้วยความอยากรู้อยากลอง และเด็ก ๆ หลายคนอาจมองว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเท่ มีรูปลักษณ์สวยงาม ซื้อหาง่าย ทั้งที่บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นภัยร้ายที่จะนำไปสู่การเสพติดนิโคตินระยะยาว และเป็นการเปิดประตูสู่การสูบบุหรี่ธรรมดา และอาจนำไปสู่การเสพติดสิ่งเสพติดอื่นได้ง่าย

ดังนั้น จึงได้สั่งการไปยังต้นสังกัดของสถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่ง ให้เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยที่มาจากบุหรี่ไฟฟ้า ห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา โดยยึดกฎ ระเบียบเช่นเดียวกับการห้ามสูบบุหรี่ธรรมดา และต้องตรวจตราอย่างเคร่งครัดด้วย

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเข้มงวด กวดขัน เคร่งครัด และป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน ขณะนี้เด็ก ๆ หลายคนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย ซึ่งการดำเนินการห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา สามารถทำได้ทันที โดยอ้างอิงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกมาตามความ พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ที่ได้กำหนดให้โรงเรียนหรือสถานศึกษา เป็นสถานที่สาธารณะ ต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด”

ที่ผ่านมา ศธ.ก็ได้มีการกำหนดนโยบายโรงเรียนปลอดบุหรี่ ให้สถานศึกษาบริหารจัดการ เพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ จัดสภาพแวดล้อมให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ สอดแทรกเรื่องบุหรี่ในการจัดการเรียนรู้ ให้นักเรียนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดบุหรี่ เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเพิ่มนโยบายเรื่องให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปด้วย ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปสู่วงจรนักสูบหน้าใหม่ และช่วยป้องกันรักษาสุขภาพของเด็ก ๆ ได้ 

ที่มา ; ศธ 360 องศา

ข่าวเกี่ยวกัน

ตรีนุช’ สั่ง สพฐ. วางมาตรการป้องกันยาเสพติดในโรงเรียน หลังพบปัญหากัญชา-บุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาพุ่ง

 

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ศธ.ให้ความสำคัญเรื่องสถานศึกษาปลอดภัยอย่างมาก แต่ต้องยอมรับว่าในสังคมปัจจุบันเด็กเข้าถึงสื่อต่างๆ ได้เร็วและง่ายขึ้น และปัจจุบัน ศธ.ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกัญชา บุหรี่ไฟฟ้า และสารเสพติดมาจำนวนมาก ตนจึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับกรมสุขภาพจิต จัดทำมาตรการกลางในการป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษา เพื่อเป็นแนวทางให้สถานศึกษาในสังกัดนำไปปฏิบัติต่อไป เพราะตนมองว่านอกจากให้ความรู้ความเข้าใจให้นักเรียนตระหนักผลเสียของยาเสพติด ไม่เพียงพอแล้ว แต่ ศธ.จะต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมหามาตรการมาสกัดปัญหายาเสพติดให้มีความเข้มข้นมากขึ้น 

ปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชุมชน และสังคม ซึ่งวันนี้ปัญหาดังกล่าว เข้ามาถึงในสถานศึกษาแล้ว จึงถือเป็นงานที่ท้าทายของครู เพราะนอกจาก ครูจะให้ความรู้ความเข้าใจ ผลดีผลเสียของยาเสพติดแล้ว จะต้องเฝ้าระวัง และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่วมมือกับชุมชนวางมาตรการป้องกัน และเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก” ..ตรีนุชกล่าว 

 

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น