ค้นหา

สั่งสถานศึกษาปรับกิจกรรมการเรียน พื้นที่ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงสถานการณ์วิกฤตฝุ่นละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (PM2.5)  ในประเทศไทย ที่มีแนวโน้มค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐานในระดับสีแดงและสีส้มในหลายจังหวัด ว่า ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำชับสถานศึกษาเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพของนักเรียนจากค่าฝุ่นที่เกิดมาตรฐาน ตามมาตรการเร่งด่วนของศูนย์ประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นฯ PM 2.5 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เช่น สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น งดกิจกรรมและออกกำลังกายกลางแจ้ง ปิดประตูหน้าต่างช่วงมีฝุ่นสูง รวมทั้งให้ครูสื่อสารข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นในชั้นเรียนอย่างต่อเนื่อง พร้อมเฝ้าสังเกตอาการแพ้ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

"ดิฉันให้ความสำคัญต่อสุขภาพของนักเรียนและครูทุกคน ทั้งที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่นและพื้นที่ที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน จึงได้มอบให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดูแลศูนย์ประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นฯ PM 2.5 และเลขาธิการ กพฐ.ประสานการทำงานร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยในเรื่องของมาตรการดูแลและป้องกันสุขภาพ อนามัยของนักเรียนนักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา พร้อมให้กำชับไปยังผู้บริหารสถานศึกษาให้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในพื้นที่ที่มีระดับค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพและมีผลต่อสุขภาพ เพื่อปรับกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ โดยย้ำให้ดูแลผู้เรียนกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด เช่น โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเด็กเล็ก หากมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ให้สถานศึกษาทำงานร่วมกับศูนย์อำนวยการช่วยเหลือสถานศึกษาประสบภัยพิบัติ ศธ.ที่มีอยู่ทุกจังหวัด ในการติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือหน่วยงานและสถานศึกษาทั่วประเทศอย่างเต็มที่" รมว.ศธ.กล่าว

 

ที่มา ; แนวหน้า วันพฤหัสบดี ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ขยายความ ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (มีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์) โดยฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วนี้ เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลายชนิด อาทิเช่น การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง ซึ่งเป็น 2 สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ ฝุ่นนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย เพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และต้องป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานป้องกันฝุ่นขนาดเล็กโดยเฉพาะ

ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI)  ประเทศไทยแบ่งดัชนีคุณภาพอากาศเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป โดยใช้สีเป็นตัวเปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพ ตามตาราง

และสามารถคุณภาพอากาศได้ที่เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้รู้ว่าเวลาไหน สถานที่ใด คุณภาพอากาศเป็นเช่นใด และหลีกเลี่ยงสถานที่นั้น เมื่อเห็นว่าคุณภาพอากาศเริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ได้ที่ 

https://aqatmekong-servir.adpc.net/en/mapviewer/

 

AQI

PM2.5

(มคก./ลบ.ม.)

คุณภาพอากาศ

สีที่ใช้

ข้อความแจ้งเตือน

0 - 25

0 - 25

ดีมาก

ฟ้า

เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว

26 - 50

26 - 37

ดี

เขียว

สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ

51 - 100

38 - 50

ปานกลาง

เหลือง

สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และระคายเคืองตา ไม่ควรทำกิจกรรมกลางแจ้งนาน

101 - 200

51 - 90

เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ส้ม

ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตา ไม่ควรทำกิจกรรมกลางแจ้งนาน หรือใช้อุปกรณ์ป้องกัน ส่วนผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ แล้วมีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์

201 ขึ้นไป

91 ขึ้นไป

มีผลกระทบต่อสุขภาพ

แดง

ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกอย่างหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

 

 

ข่าวเกี่ยวกัน

ศธ.ออกประกาศมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 

วันที่ 3 กุมภาพันธ์  2566 นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัดศธ.) ลงนามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm 2.5) เมื่อวันที่ วันที่ 18 มกราคม 2566 เพื่อให้การดำเนินงานด้านป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm 2.5) ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และครอบคลุมทั่วประเทศ

โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือสถานศึกษาประสบภัยพิบัติกระทรวงศึกษาการจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm 2.5) ในส่วนภูมิภาค พร้อมทั้งกำหนดมาตรการมาตรการเร่งด่วน และมาตรการระยะยาว เพื่อให้หน่วยงานและสถานศึกษาใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติเดียวกันต่อไป

 

ที่มา ; แนวหน้า วันศุกร์ ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ข่าวเกี่ยวกัน

'ตรีนุช' ให้อำนาจ ผอ.สั่งปิดเรียนได้ หากค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน

ที่โรงเรียนวัดอมรินทราราม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า เนื่องจากหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคกลาง มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานหลายแห่ง ศธ.มีความเป็นห่วงนักเรียนอย่างมาก และที่ผ่านมาได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดภัยต่อนักเรียนในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติด้านสุขภาพ โดย PM 2.5 ส่งผลกระทบกับร่างกายของเด็ก และครูอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง และจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนวัดอมรินทราราม พบว่าโรงเรียนอยู่ในเขตพื้นที่สีส้ม หรือ เป็นค่าฝุ่นที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว แต่ทางโรงเรียนสามารถเตรียมการรับมือได้ดี เช่น ให้นักเรียนสวมหน้ากากอนามัยอยู่ตลอด กรณีที่พบเด็กมีอาการระคายเคือง ก็จะล้างจมูกให้เด็กทันที ประกอบโรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลศิริราชที่ให้เครื่องฟอกอากาศมาติดในห้องเรียนด้วย

"ในแต่ละพื้นที่ความรุนแรงของ PM 2.5 ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงขอให้สถานศึกษาติดตามข่าวสาร และคอยอัพเดตข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ อยู่เสมอ ทั้งนี้ ศธ.ได้ให้อำนาจผู้อำนวยการโรงเรียน พิจารณาว่าควรจะปรับรูปแบบการเรียรการสอนหรือไม่ เช่น หากพบค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดง หรือ สีส้ม ก็อาจจะสั่งหยุดเรียออนไซต์ และให้เรียนออนไลน์แทน เป็นต้น แต่การพิจารณาหยุดเรียน หรือปรับการเรียนการสอนนั้น ขอให้ประสานและทำงานร่วมกับฝ่ายปกครองด้วย โดยให้ดูว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่ง และมีมาตรการรับมืออย่างไร และขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีโรงเรียนใดหยุดเรียนบ้าง 

ที่มา ; สยามรัฐออนไลน์  3 กุมภาพันธ์ 2566 

ข่าวเกี่ยวกัน

ตรีนุช’ ลงพื้นที่ รร.วัดอมรินทราราม ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 

กรุงเทพมหานคร 3 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่โรงเรียนวัดอมรินทราราม เขตบางกอกน้อย พบค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม ต้องเฝ้าระวัง ย้ำ ผอ.สถานศึกษา ใช้ดุลยพินิจเปิด-ปิดสถานศึกษาได้ ตามระเบียบ ศธ. ว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. 2549 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558 หากคุณภาพอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพ

รมว.ศธ. เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ว่า ปัจจุบันปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงเกินมาตรฐานระดับสีแดงและสีส้มในหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือและกรุงเทพฯ ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาโดยมอบอำนาจให้ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถใช้ดุลยพินิจในการเปิด-ปิดสถานศึกษาตามสถานการณ์และความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ต้องหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ๆ ด้วย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของนักเรียนและครูทุกคน ทั้งที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่น และพื้นที่ที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในทุกมิติ วันนี้จึงได้สุ่มลงตรวจเยี่ยมในพื้นที่โรงเรียนวัดอมรินทราราม เขตบางกอกน้อย พบว่ามีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในระดับสีส้มที่ต้องเฝ้าระวัง จึงกำชับไปยังผู้บริหารสถานศึกษาให้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ปรับกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ โดยย้ำให้ดูแลผู้เรียนกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด ทั้งโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเด็กเล็ก หากมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์ทันที 

ศธ.ได้ออกมาตรการแนวทางเร่งด่วนในการป้องกัน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อาทิ ให้ครูและนักเรียนล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อเป็นการลดเชื้อโรค ของเสีย และสารก่อภูมิแพ้ งดกิจกรรมกลางแจ้งหรือให้จัดเฉพาะกิจกรรมที่จำเป็นจริง ๆ สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น ปิดประตูหน้าต่างช่วงมีฝุ่นสูง เพื่อป้องกันอาการแพ้ต่าง ๆ ของครูและนักเรียนที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งให้ครูสื่อสารข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นในชั้นเรียนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนให้ติดตามและเฝ้าสังเกตรายงานสถานการณ์จากกรมควบคุมมลพิษอย่างต่อเนื่อง” 

ที่มา ; ศธ 360 องศา

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น