ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ รายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกและผู้ได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 245 เขตพื้นที่ฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
และเห็นชอบรายละเอียดการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก ว16/2565 นั้น
สำหรับรายละเอียด หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษาที่น่าสนใจ ดังนี้
1.หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ใช้สำหรับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สังกัด สพฐ. รับผิดชอบจัดสรรงบประมาณ เกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้
2. คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือก
2.1 ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา
- ปัจจุบันต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ.และต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันกับตำแหน่งที่สมัครเข้ารับการคัดเลือก
- มีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547
- มีคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ตามมาตรฐานตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนด
2.2 ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา
- ปัจจุบันต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. และต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันกับตำแหน่งที่สมัครเข้ารับการคัดเลือก
- มีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547
- มีคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ตามมาตรฐานตำแหน่งที่ ก.ค.ศ.
3. ให้สพฐ. ดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี ดังนี้
-กำหนดวันและเวลาในการดำเนินการคัดเลือกทั้ง สพป. สพม.และ สศศ.
-กำหนดรายละเอียดวิธีการเงื่อนไข เกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี ดังนี้ องค์ประกอบการคัดเลือกต้องสอดคล้องกับลักษณะงานที่ปฏิบัติตามมาตรฐานตำแหน่ง รวมทั้งตัวชี้วัดและคะแนน
4. ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) หรือ อ.ก.ค.ศ. สศศ. แล้วแต่กรณี ดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือก
5. กรณีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือ สศศ. ดำเนินการคัดเลือกพร้อมกันให้ผู้สมัครเลือกได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น หากปรากฏผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเกินกว่าหนึ่งแห่งจะตัดสิทธิการคัดเลือกทั้งหมด
6. การดำเนินการคัดเลือกให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยยึดถือระบบคุณธรรม ความเสมอภาค ความโปร่งใส หากปรากฏว่ามีการทุจริตหรือส่อไปในทางไม่สุจริต หรือดำเนินการผิดพลาดอันอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ให้ กศจ.หรือ อ.ก.ค.ศ. พิจารณาแก้ไขหรือให้ยกเลิกการคัดเลือกในครั้งนั้นได้ และรายงานให้ส่วนราชการและ ก.ค.ศ.รับทราบ
7. การบรรจุแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือก ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง สั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ตามมาตรฐานตำแหน่งและตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ รวมทั้งไม่ติดเงื่อนไขอื่นใดที่ ก.ค.ศ.กำหนด โดยความเห็นชอบของ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. สศศ. ทั้งนี้ให้ดำเนินการออกคำสั่ง พร้อมทั้งส่งสำเนาคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งให้ สพฐ.และ ก.ค.ศ.ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ออกคำสั่ง
8.ผู้ได้รับการบรรจุแต่งตั้งต้องได้รับการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ เพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง โดยให้มีการประเมิน 2 ครั้งในทุก 6 เดือน หากผลการประเมิน 6 เดือนแรกไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน ให้ผู้ประเมินแจ้งผลการประเมินให้ผู้เข้าประเมินรับทราบ เพื่อพัฒนาตนเองและปรับปรุงงานในหน้าที่ เมื่อครบ 6 เดือนหลังให้ประเมินรอบ 2
แต่หากประเมินทั้ง 2 ครั้งไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน ให้ดำเนินการตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษารับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน พ.ศ.2551 โดยดำเนินการสั่งย้ายหรือเกลี่ยอัตรากำลังเพื่อแต่งตั้งผู้ที่มีผลการประเมินไม่ผ่านการประเมินรายนั้น ไปดำรงตำแหน่งเดิมหรือเทียบเท่าซึ่งเป็นตำแหน่งก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณีในหน่วยงานการศึกษาที่มีอัตรากำลังต่ำกว่าเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด
9. กรณีตรวจสอบภายหลังพบว่า ผู้สมัครคัดเลือกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ให้ถือว่าผู้นั้น เป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการบรรจุแต่งตั้ง ทั้งนี้หากผู้ใดได้รับการบรรจุและแต่งตั้งไปแล้ว ต้องถูกเพิกถอนคำสั่งบรรจุและแต่งตั้ง และจะเรียกร้องสิทธิใดๆ มิได้
หากมีกรณีไม่สามารถดำเนินการได้ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ให้เสนอ ก.ค.ศ.พิจารณาหรือวินิจฉัย
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566