ค้นหา

‘คปร.’ ไฟเขียวบรรจุ ผู้อำนวยการและครูใน ร.ร.ขนาดเล็ก

นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) มีมติเห็นชอบ ปรับปรุงมาตรการควบคุมกำลังคนในส่วนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สามารถบริหารอัตรากำลังในโรงเรียนที่มีครูเกินเกณฑ์ มากำหนดตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ที่มีจำนวนนักเรียน 61-119 คน จากเดิมที่ คปร.กำหนด ไม่คืนอัตราเกษียณให้กับโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน 

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ กว่า 29,000 โรงเรียน ในจำนวนนี้ 51% หรือ 15,000 โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 61-119 คน กว่า 7,700 โรงเรียน หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อผู้บริหารโรงเรียนเกษียณ จะไม่สามารถบรรจุทดแทนได้ ทำให้เกิดปัญหาบริหารจัดหาร กระทบต่อคุณภาพการจัดการศึกษา มติดังกล่าวมีผลทันทีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566-2570 จากนั้น คปร.จะต้องเสนอมติดังกล่าวให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ หากมีอัตราว่าง ก.ค.ศ.ก็สามารถจัดสรรอัตรากำลังทดแทนได้ทันที 

ขณะนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 61-119 คน ไม่มีผู้บริหารโรงเรียนอยู่กว่า 2,000 โรงเรียน และการตั้งครูรักษาการแทนก็ทำให้การบริหารจัดการขาดประสิทธิภาพ ดังนั้น ก.ค.ศ.จึงไปเจรจากับ คปร.เพื่อขอบรรจุ เพื่อขอใช้อัตราเกษียณในโรงเรียนที่มีอัตราเกินมาบรรจุ ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูในโรงเรียนที่มีนักเรียน 61-119 คน ที่ขาดครู และไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งไม่ได้เป็นการเพิ่มกำลังคน แต่ใช้วิธีการบริหารจัดการกำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเห็นแล้วว่าการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และการควบรวมโรงเรียนที่มีนักเรียน 100 คนขึ้นไป ถือเป็นปัญหาใหญ่ ต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่สำคัญการควบรวมควรเริ่มจากโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 100 คนก่อน จากนี้ สพฐ.จะต้องไปทำแผนควบรวมโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คนลงมา เพราะคงเป็นเรื่องยากที่จะขออัตราแทนเกษียณ ยกเว้นโรงเรียนห่างไกล หรือโรงเรียนสแตนด์อโลน” นายประวิตกล่าว 

เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้แต่ละปี สพฐ.มีครูและผู้บริหารโรงเรียนเกษียณกว่า 20,000 คน ซึ่งเพียงพอที่จะจัดสรรคืนในโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดครูและผู้บริหาร การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับการกำหนดเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่กำหนดจำนวนนักเรียนต่อครู 1 คนไว้อย่างชัดเจน หากครูโรงเรียนใดเกิน ก็จะเกลี่ยมาโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้การบริหารจัดการเกิดประสิทธิภาพ 

ข่าวเกี่ยวกัน

ผลการประชุม คปร. "เตรียมเสนอ ครม. คืนอัตรา ผอ.โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 61 - 119 คน" 

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ได้พิจารณาเรื่องมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ พ.ศ. 2566 - 2570 ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งที่ผ่านมาทาง คปร. ได้ประชุมหารือร่วมกับเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ ก.ค.ศ.) และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความคิดเห็นโดยสรุปว่า ปัจจุบันแนวโน้มจำนวนนักเรียนในประเทศไทยลงลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจำนวนโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กโดยการยุบหรือควบรวมยังเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

         ดังนั้น การดำเนินการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรการฯ จะส่งผลให้ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนในโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ลดลง โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 61 - 119 คน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี สพฐ. ได้มีแผนในการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมีเป้าหมายการดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2566 - 2570 จำนวน 10,314 แห่ง ดังนั้น จึงเห็นว่า แนวทางตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 - 2565) ที่กำหนดไว้เดิมนั้นยังคงนำมาใช้ได้ แต่ควรต้องมีการปรับเงื่อนไขในการพิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยให้โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในกลุ่มสถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบรวมสถานศึกษา ที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไป ในพื้นที่ปกติ ซึ่งไม่อยู่ในแผนการถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถได้รับการพิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในตำแหน่งครูผู้สอนคืนให้กับโรงเรียนดังกล่าวด้วย และเห็นควรให้ ก.ค.ศ. สามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูในโรงเรียนที่มีอัตรากำลังครูผู้สอนเกินเกณฑ์อัตรากำลังของ ก.ค.ศ. มากำหนดเป็นตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนที่มีนักเรียน 61 - 119 คน ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้บริหารสถานศึกษาในระหว่างที่รอดำเนินการตามแผนควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในด้านการบริหารจัดการ ด้านการเรียน การสอน คุณภาพนักเรียน และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารอัตรากำลังผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน รวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ซึ่งในการแก้ปัญหาการขาดอัตรากำลังครู หากใช้การบริหารจัดการโดยการจัดการเรียนการสอนแบบรวมกลุ่มสถานศึกษาที่มีระยะทางอยู่ในพื้นที่ใกล้กัน และเกลี่ยอัตรากำลังครูในส่วนที่เกินเกณฑ์มาช่วยจะเกิดประสิทธิภาพมากกว่าการจัดสรรอัตรากำลังครูลงไปให้กับโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

          สำหรับการเกลี่ยอัตราครูที่เกินเกณฑ์อัตรากำลังของ ก.ค.ศ. มาเปลี่ยนเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาเพื่อบรรจุในโรงเรียนเหล่านั้น ไม่ใช่การเพิ่มกรอบอัตรากำลังใหม่ หรือเพิ่มเงินในภาพรวม แต่ถือเป็นการบริหารตำแหน่งเพื่อให้สถานศึกษาขนาดเล็ก มีผู้บริหารสถานศึกษาในระหว่างที่รอดำเนินการตามแผนควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั่นเอง ทั้งนี้ คปร. จะนำแนวทางการดำเนินการดังกล่าว เสนอ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบเป็นมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ พ.ศ. 2566 - 2570 ต่อไป 

 

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น