เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ กรุงเทพมหานคร น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าว “รูปแบบร่วมในการผลิตบัณฑิตและพัฒนาครูฐานสมรรถนะเพื่อพัฒนากำลังคนสำหรับศตวรรษที่ 21” (PTRU Model : Professional Teacher of Rajabhat University) โดยมี นางลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ. มรภ.) , นางอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา , นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ นายพาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วม ว่า
การพัฒนาครูถือเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ และอีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้พูดถึงกลไกระบบพัฒนาวิชาชีพครูด้วย ดังนั้น ครู จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่วันนี้ เราต้องยอมรับว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จะทำอย่างไรให้การศึกษาสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้ ครูถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา เกือบ 2 ปี ที่ตนเข้ามาทำงานใน ศธ.ได้เห็นความท้าทายหลายๆ เรื่อง
เช่น ที่ผ่านมาเรามักจะพูดว่าต้องเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน ให้สอดรับกับศตวรรษที่ 21 แต่การจะเปลี่ยนโดยฉับพลันนั้น อาจจะทำไม่ได้ จึงต้องกลับมามองที่หน่วยผลิตครู ซึ่ง มรภ. ถือเป็นหน่วยใหญ่ในการผลิตครู ซึ่งตนดีใจที่มรภ.ทั้ง 38 แห่ง ได้จัดทำโมลเดลผลิตบัณฑิตครู (PTRU Model) โดยกำหนกสมรรถนะบัณฑิตราชภัฎ ไว้ 17 สมรรถนะ ซึ่งโมเดลนี้ ถือเป็นแกนกลางที่ให้มรภ. สามารถนำไปใช้ ซึ่งแต่ละแห่งก็สามารถนำไปโมเดลนี้ปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของตนได้อีกด้วย
“นอกจากสมรรถนะครูทั้ง 17 สมรรถนะแล้ว ปัจจุบันทักษะด้านภาษาก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งดิฉันพบข้อมูลว่า ในการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู วิชาที่มีผู้ผ่านน้อยที่สุด คือ วิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งในมุมมองของดิฉัน มองว่าครูควรจะมีความรู้ศัพท์เฉพาะในวิชาที่ตนสอน และสามารถใช้ภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานได้ เพราะวันนี้เราต้องยอมรับว่าเรื่องภาษาเราทิ้งไม่ได้ ครูจะต้องอัพเดทองค์ความรู้ของตนอยู่ตลอดเวลา การมีความรู้ด้านภาษาก็จะช่วยให้ครูได้เข้าถึงความรู้เพิ่มมากขึ้น และสามารถนำความรู้ มาสอนนักเรียนต่อไปได้ รวมทั้งความรู้ด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาในเรื่องของจิตวิทยาเด็ก จากการลงพื้นที่ พบสิ่งสำคัญคือ ครูจะต้องทราบว่าจะพัฒนาการสอน ใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับเด็กแต่ละช่วงวัยได้อย่างไร ต่อไป ศธ.จะเร่งให้คุรุสภาทำการรับรองโมลเดลผลิตบัณฑิตครู เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ลินดา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการยกระดับคุณภาพการผลิตครู และการพัฒนาครูของ มรภ. เริ่มตั้งแต่ปี 2561 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และได้ยกร่างโมเดลการผลิตและพัฒนาบัณฑิตครู มรภ.ในปี 2563 และได้นำโมเดลไปใช้โดยทำการทดลองควบคู่ไปกับการวิจัย และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตรวจเยี่ยมจาก พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี มาอย่างต่อเนื่อง และจากที่องคมนตรี ได้ตรวจติดตามผลการดําเนินงานตามยุทธศาสตร์ มรภ. ประจําปี 2565 พบว่า
มรภ.แต่ละแห่งได้รายงานถึงการสร้างรูปแบบร่วมในการผลิตบัณฑิตครูให้มีสมรรถนะและอัตลักษณ์เฉพาะ มหาวิทยาลัย กล่าวคือ ทดลองใช้หลักสูตรแกนกลางในการผลิตบัณฑิตครู ที่ถูกเติมเต็มความเชี่ยวชาญเฉพาะทางตามบริบทของแต่ละ มรภ. เพิ่มขึ้นเข้าไปอีก
สำหรับ โมลเดลผลิตบัณฑิตครู มีสมรรถนะบัณฑิตราชภัฎ 17 สมรรถนะ ดังนี้
1.ปฏิบัติงานครูอย่างมืออาชีพ
2.ภาวะผู้นำและสัมพันธ์ชุมชน
3.บริหารจัดการชั้นเรียน
4.ทำงานเป็นทีม
5.ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
6.สื่อสารอย่างมีกลยุทธ์
7.บุคลิกภาพความเป็นครูและทัศนคติในการปรับตัว
8.จิตอาสา จิตสาธารณะ
9.ศิลปะการใช้สื่อ
10.อไนวยการเรียนรู้
11.วัดและประเมิน
12.ประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
13.ออกแบบและพัฒนาหลักสูตร
14.เป็นผลเมืองดี
15.บูรณาการศาสตร์สู่การสอน
16.นวัตกรรมทางการศึกษา
17.จิตวิญญาณความเป็นครู
“มั่นใจและภูมิใจอย่างยิ่งว่า โมลเดลผลิตบัณฑิตครู จะมีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับความต้องการบัณฑิตครูในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง ที่จะทําให้คุรุสภาในฐานะผู้กํากับมาตรฐานวิชาชีพครูมั่นใจได้ว่าจะได้ครู มืออาชีพตามมาตรฐาน และเพิ่มจากมาตรฐานในส่วนของบริบทความสอดคล้องกับความหลากหลายเชิงพื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งทําให้สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะผู้ใช้บัณฑิตมั่นใจได้ว่าท่านจะได้บุคลากรครูที่ท่านพึง ประสงค์จากกระบวนการผลิตของ มรภ.อย่างแน่นอน” ผศ.ดร.ลินดา กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวว่า โมลเดลผลิตบัณฑิตครู ที่ มรภ.ทั้ง 38 แห่ง ร่วมกันออกแบบได้สอดคล้องกับนโยบายของศธ. ที่ต้องการผลิตครูคุณภาพสู่สังคม ในส่วนของคุรุสภา มี่ทำหน้าที่เป็นสภาวิชาชีพ มองว่าโมเดลผลิตบัณฑิตครูนี้ จะเป็นโมเดลที่สามารถตอบโจทย์มาตรฐานวิชาชีพได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าบัณฑิตที่ผ่านการบ่มเพาะจากมรภ. ทั้ง 38 แห่ง จะเป็นครูมืออาชีพได้ และจากพี่คุรุสภาได้ทำการตรวจสอบ โมเดลผลิตบัณฑิตครู จำนวน 17 สมรรถนะในเบื้องต้น พบว่า เป็นไปตามตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ, มาตรฐานการปฏิบัติงาน และมาตรฐานการปฏิบัติตน จึงเชื่อว่าหากนำโมเดลนี้ไปใช้จะทำให้เราได้ครูมืออาชีพ ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้
นายอัมพร กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ มรภ.ได้คิดค้นโมเดลผลิตครูขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในหลายๆมิติ เมื่อ มรภ.กำหนดโมเดลผลิตบัณฑิตครู หากทุกฝ่าย คือ ผู้ผลิตและผู้ใช้ครู จะสามารพัฒนาครูร่วมกันได้ จะทำให้เราได้ครูที่ฝเข้าใจบริบทความแตกต่างของเด็ก เข้าใจความแตกต่างของโรงเรียรแต่ละแห่งที่มีความแตกต่างกันได้
ในส่วนของ สพฐ.มีแผนการใช้ครูล่วงหน้าเป็น 10 ปี ซึ่งทำให้ สพฐ.ทราบว่า อีก 5 ปีข้างหน้าต้องการใช้ครูเอกอะไรบ้าง ซึ่งจะต้องโจทย์สถาบันผลิตครูว่า ควรจะผลิตครูเอกไหน จำนวนเท่าใด
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566
ข่าวเดียวกัน
รูปแบบร่วมผลิตครูให้ความสำคัญ 17 สมรรถนะ
โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ 14 กุมภาพันธ์ 2566 – นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแถลงข่าวรูปแบบร่วมในการผลิตบัณฑิตและพัฒนาครูฐานสมรรถนะ เพื่อพัฒนากำลังคนสำหรับศตวรรษที่ 21 “Professional Teacher of Rajabhat University : PTRU Model” ในที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมวันราชภัฏ โดย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้ง ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา และ ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ร่วมแถลงข่าว
รมว.ศธ. กล่าวว่า การพัฒนาครู ถือเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ มีกลไกในการคัดกรองและพัฒนาวิชาชีพครูอย่างชัดเจน ต้องยอมรับว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้การศึกษาหรือเยาวชนของเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะฉะนั้นหัวใจคือ “คุณครู” ที่เป็นแม่พิมพ์ เป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนในบริบทนี้ การจัดงานครั้งนี้จึงเป็นเรื่องดีที่ได้ขับเคลื่อนร่วมกัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏที่เป็นฝ่ายครูที่เป็นหน่วยใหญ่ ดูแลกระบวนการศึกษาของชาติ และหน่วยปฏิบัติคือ ศธ. และคุรุสภา ซึ่งดูแลในส่วนมาตรฐานและกำกับวิชาชีพครู
ทั้งนี้ เพราะทุกหน่วยงานมีผลลัพธ์สำคัญคือเป้าหมาย เพื่อให้เยาวชนของชาติ จะต้องมีการยกระดับ ซึ่งที่ผ่านมาได้เห็นและเจอความท้าทายหลายเรื่องโดยเฉพาะกระบวนการเรียนการสอน อยากให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 เพราะทุกวันนี้องค์ความรู้ต่าง ๆ ไม่ได้หยุดนิ่ง ครูจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการเรียนการสอนแบบ Active Learning ดึงความรู้ต่าง ๆ นอกห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ในการสอน เพื่อให้สอดรับกับบริทบทของการศึกษายุคปัจจุบัน ถือเป็นกลไกกลการและได้เห็นถึงบริบทความสำคัญอย่างยิ่ง
สำหรับหลักสูตรพัฒนาบัณฑิตครูในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับ 17 สมรรถนะบัณฑิตราชภัฏ ถือเป็นหลักสูตรแกนกลางสามารถที่จะปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมในบริบทของพื้นที่แต่ละมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็น Soft Power ศิลปะ วัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย มีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับความต้องการบัณฑิตครูในศตวรรษที่ 21 โดย ศธ.พร้อมจะนำหลักสูตรต่าง ๆ ที่ราชภัฎได้จัดทำ ไปดำเนินการตามขั้นตอนของคุรุสภา ในฐานะผู้กำกับมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อนำไปสู่การรับรองมาตรฐานและนำหลักสูตรไปสู่แนวปฏิบัติต่อไป
สำหรับ 17 สมรรถนะในการพัฒนาบัณฑิตครู ประกอบด้วย ปฏิบัติงานครูอย่างมืออาชีพ ภาวะผู้นำและสัมพันธ์ชุมชน การบริหารจัดการชั้นเรียน การทำงานเป็นทีม การใช้เทคโนโลยี การสื่อสารอย่างมีกลยุทธ์ บุคลิกภาพความเป็นครูและทัศนคติ : การปรับตัว จิตอาสา จิตสาธารณะ ศิลปะการใช้สื่อ การอำนวยการเรียนรู้ การวัดและประเมิน การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การออกแบบและพัฒนาหลักสูตร การเป็นพลเมืองดี การบูรณาการศาสตร์สู่การสอน นวัตกรทางการศึกษา จิตวิญญาณความเป็นครู
ที่มา ; ศธ.360 องศา