วันที่ 7 มีนาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (7 มีนาคม 2566) เวลา 09.20 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อนำเสนอนิทรรศการ “โครงการขับเคลื่อน การจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณและการออกแบบเทคโนโลยี” ตามนโยบายของรัฐบาล ที่มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และวิทยาการคำนวณ ให้เป็นรูปธรรม
นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการโค้ดดิ้งชายทุ่ง หมายมุ่ง ฟ.ฟาร์ม โรงเรียนรวมจิตประสาท สพป.ปทุมธานี เขต 2 ที่แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ประกอบด้วย
1) Unplugged Coding เรื่องจริงที่ “ทำแล้ว” เป็นการมาวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึง จุดสิ้นสุด
2) Unplugged Coding เรื่องจริงที่ “ทำอยู่” อัลกอริทึม หัวใจสำคัญของ Unplugged Coding เป็นกระบวนการการลำดับความคิดจากจุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดสิ้นสุด
3) Unplugged Coding เรื่องจริงที่ “ทำต่อไป” เป็นการเชื่อมโยงจาก Unplugged Coding มุ่งสู่ In plugged Coding การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับกิจกรรมในโรงเรียน โดยมีการนำตัวอย่างการเรียนโค้ดดิ้ง (Coding) ในเด็กเล็ก เช่น การเล่นเกมบันไดงู โดยให้เด็กฝึกคิดเพื่อหาทางออกทีละขั้นผ่านการใช้คำสั่งลูกศร ซ้าย ขวา หน้า หลัง เป็นต้น ซึ่งหลักสูตรโค้ดดิ้ง (Coding) จะช่วยส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณให้ผู้เรียนในทุกช่วงวัยได้อย่างเหมาะสม
ส่วนนิทรรศการอัจฉริยะเกษตรประณีตของโรงเรียนชุมชนดอยช้าง สพป.เชียงราย เขต 2 มีจุดมุ่งหมายการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นให้นักเรียนที่จบการศึกษา มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และนำทักษะเหล่านั้นไปใช้ได้ในชีวิตจริง เริ่มจากการนำแนวทางโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตมาจัดทำหลักสูตร Smart Farm ของโรงเรียน บูรณาการกับบริบทของท้องถิ่น ส่งเสริมให้นักเรียน ได้เรียนรู้ ทดลอง ลงมือปฏิบัติและวางแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังนำการเรียนรู้ แบบ Coding มาบูรณาการจัดการเรียนการสอน ในรายวิชาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียน ได้แก่ รายวิชาผ้าปักเด็กดอยช้าง โดยจัดกิจกรรมให้นักเรียนออกแบบขั้นตอนหรือ อัลกอริทึม ในการปักลายผ้าปักชนเผ่าอาข่า และทำเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้ออาข่า พวงกุญแจ กระเป๋า จำหน่ายในร้าน โอ๋อี้ผ้าปักเด็กดอยช้าง รวมถึงรายวิชากาแฟดอยช้าง ที่ฝึกให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ผ่านการจัดกิจกรรมและขั้นตอนที่ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์จากกาแฟ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดโครงการ โดยโรงเรียนในชุมชนดอยช้างได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการกับโรงเรียนนานาชาติชูวเวอรี่ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยน่าสนใจ และจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม ขายสินค้าออนไลน์ Shopee Thailand โดยได้ออกแบบผลิตภัณฑ์เป็น Gift Set Box ที่ประกอบไปด้วยชาเลือดมังกรแบบจุ่ม กาแฟซองดริป และกระเป๋าผ้าปักลายอาข่าจากผลงานนักเรียน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการที่ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญที่มุ่งสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการศึกษา ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เฉพาะมุ่งการเรียนการสอนไปที่ครูและนักเรียนเท่านั้น แต่ต้องกระจายไปสู่ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกช่วงวัยให้ได้มากที่สุด รวมถึงปูพื้นฐานการปฏิรูปการศึกษาไปถึงเด็กทุกคนโดยไร้ขอบเขต สร้างโอกาสเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน ซึ่งได้ขยายโอกาสให้เด็กนักเรียนทุกคนต้องได้เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างทั่วถึง รวมไปถึงโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต เป็นการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์กับภาคการเกษตร อีกด้วย
สำหรับโครงการดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนคอมพิวเตอร์ (Coding) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา สร้างนักวิจัยใหม่และนวัตกร เพื่อเพิ่มศักยภาพและนวัตกรรมของประเทศ ปัจจุบันระบบการศึกษาทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการสอนเทคโนโลยีในโรงเรียน โดยเฉพาะการสอนวิทยาการคำนวณตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เป็นการสร้างหลักกระบวนการคิด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เยาวชนควรได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ระดับประถมและมัธยมต้น เพื่อเป็นรากฐานของการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะนำประเทศไปสู่การพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาการคำนวณ การออกแบบ และเทคโนโลยีในสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ให้มีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ การออกแบบและเทคโนโลยีต่าง ๆ อีกด้วย
นายกฯ ชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และ coding เป็นรูปธรรม วางรากฐานสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี นำประเทศไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาการคำนวณ การออกแบบเทคโนโลยี พัฒนาศักยภาพและนวัตกรรมของประเทศ
ที่มา ; สยามรัฐออนไลน์ 7 มีนาคม 2566
เกี่ยวข้องกัน
"คุณหญิงกัลยา"จ่อนำโรงเรียนต้นแบบเสนอนิทรรศการโชว์ Unplugged CODING ให้ครม.ชม 7 มี.ค.นี้
วันที่ 6 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมนำเสนอนิทรรศการ เรื่อง การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวิทยาศาสตร์และ CODING โชว์ผลงานความสำเร็จจากการขับเคลื่อนนโยบาย CODING ให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ ในวันอังคารที่ 7 มีนาคม 2566 เวลา 08.30-09.30 น. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า จากความสำเร็จในการจัดงานสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยวิทยาศาสตร์และ CODING ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ ศักยภาพ และขีดความสามารถในการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ให้กับประชาชนทั่วไปได้ทราบ รวมไปถึงผลการดำเนินงาน ในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา ภายใต้การกำกับดูแลของตนตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ซึ่งได้รับความสนใจจากครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษาตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป จึงได้มีแนวคิดในการนำนิทรรศการจากโรงเรียน ที่ได้รับความสนใจจากในงานมานำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีโอกาสเยี่ยมชมและเห็นถึงศักยภาพ ในการจัดการเรียนการสอนเรื่อง CODING
โดยการจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นความก้าวหน้า และความสำเร็จในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอน CODING ของประเทศไทยในทุกระดับ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ข้อ 7 ในการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ข้อ 7.1 การสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ในระบบดิจิทัลเพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยยุคใหม่เก่งฯ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา
ซึ่งได้จัดแสดงนิทรรศการอกเป็น 2 ส่วน จาก 2 โรงเรียนที่ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จ ได้อย่างชัดเจนในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่นักเรียน ตั้งแต่กระบวนการคิด วางแผน และลงมือทำอย่างเป็นระบบ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ให้เป็นทักษะชีวิตประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 : โรงเรียนร่วมจิตประสาท กิจกรรมตัวอย่างการเรียนรู้วิชา CODING ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 ที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 โดยโรงเรียนมุ่งเน้นการฝึกทักษะอาชีพ เพื่อตอบสนองนโยบายของโรงเรียนเกี่ยวกับนักเรียนเมื่อจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต้องมีอาชีพที่ถนัดอย่างน้อยหนึ่งอาชีพ และยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพหลักให้เกิดกับนักเรียนและชุมชน
ส่วนที่ 2 : โรงเรียนชุมชนบ้านดอยช้าง เป็นโรงเรียนนำร่องของโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ที่มีความโดดเด่นในการดำเนินโครงการ ด้วยความยากลำบากของพื้นที่ เป็นที่สูงและเป็นดินลูกรัง จะปลูกอะไรก็ยาก เพราะฉะนั้นการใช้อัจฉริยะทางความคิด คิดวิเคราะห์แล้วใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยทำให้ได้ผลผลิตที่ดีจนเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วเพียง 6 เดือนเท่านั้น หลังจากเริ่มต้นโครงการในปี 2562
สำหรับการขับเคลื่อนนโยบาย CODING มีผลการดำเนินงานหลักประกอบด้วย
1.การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอนให้กับคนไทย โดยพัฒนาหลักสูตรการเรียน CODING แบบ Unplugged ในระดับประถมศึกษาตอนต้น ควบคู่ไปกับการให้ความรู้การจัดการเรียนการสอน CODING ให้แก่ผู้บริหารการศึกษา วิทยากรแกนนำ ครู ศึกษานิเทศก์ บุคคลทั่วไป
2.ผลิตคลิปวิดีทัศน์การสอนออนไลน์ Project 14 ที่เน้นให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิด เชื่อมโยงชีวิตจริง สะดวกในการเข้าถึง ใช้งานง่าย ทดแทนการสอนของครูในชั้นเรียนปกติ รวม 2,354 คลิป โดยมีผู้เข้าชมแล้วกว่า 12 ล้านครั้ง
3.ต่อยอดพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และ CODING เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ให้กับนักเรียนปกปกติและกลุ่มเด็กพิเศษ ได้แก่ การดำเนินโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming และโครงวิทยาศาสตร์พลังสิบ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กับนักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
4. สนับสนุนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนออนไลน์ของนักเรียน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาดำเนินการ เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลให้กับผู้เรียน โดยปัจจุบันนักเรียนได้รับบริจาค Smart Devices รวมทั้งสิ้นกว่า 8,000 เครื่อง ใน 650 โรงเรียนเป้าหมาย
ทั้งนี้โค้ดดิ้ง (Coding) คือ การเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปโค้ด (Code) เพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจและทำในสิ่งที่ผู้เขียนโค้ดต้องการ หรือกล่าวง่าย ๆ คือ "โค้ดดิ้ง" เป็นการเขียนคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานด้วยภาษาหรือรหัส (Code) ที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ เช่น ภาษา Python, JavaScript และ C เป็นต้น ดังนั้นการโค้ดดิ้ง จึงเป็นการช่วยให้สามารถสร้างซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ รวมทั้งแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ เทคโนโลยีมากมายที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย แอปบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต่างก็อาศัยโค้ดทั้งสิ้น
ที่มา ; สยามรัฐออนไลน์ 6 มีนาคม 2566