วันนี้ 10 มีนาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา เปิดเผยภายหลังจัดประชุม “แผนการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก” โดยมี นางเพทาย บุญมีผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เข้าร่วม ว่า การประชุมครั้งนี้มีหมุดหมายสำคัญคือ การสร้างความเข้าใจและนำความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาเติมเต็มแผนการยกระดับดังกล่าวให้สามารถขับเคลื่อนงานในทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้ที่ผ่านมาผลการประเมินความสามารถด้านการแข่งขันทางการศึกษาของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติ ยังมีข้อกังวลที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษอัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา รวมถึงบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาบางส่วนมีสมรรถนะไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ
นางอำภา กล่าวต่อว่ส สกศ. จึงได้จัดทำ “แผนการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก” โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บข้อมูลและระบบสารสนเทศให้ครบถ้วนและทันสมัย ด้วย 3 ยุทธศาสตร์ได้แก่
· ยกระดับผลการประเมิน PISA หรือโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ เล็งอัปคะแนนเฉลี่ย PISA ในแต่ละวิชาไม่น้อยกว่า 470 คะแนน ภายในปี 2570 มุ่งให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ประยุกต์ความรู้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี
· ยกระดับผลการจัดอันดับ IMD หรือดัชนีความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ โดยในปี 2565 อันดับ IMD ด้านการศึกษาไทยทะยานขึ้น 3 อันดับ อยู่ที่อันดับ 53 แผนยกระดับฯ จะเข้ามาช่วยผลักดันการแก้ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ด้วยการจับมือกับทุกองค์กรช่วยสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม หวังขยับอันดับ IMD ด้านการศึกษาของไทยสู่อันดับที่ 40 ภายในปี 2570 และ
· การยกระดับผลการจัดอันดับ WEF หรือดัชนีความสามารถทางการแข่งขันของสภาเศรษฐกิจโลก ด้วยการจัดการศึกษาให้สามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง ปั้นคนตรงสเปคตลาดแรงงาน เพื่อให้เด็กไทยทุกคนมีงานทำ
“ผู้แทนจากทุกหน่วยงานและทีม สกศ. ได้หารืออย่างเข้มข้น เพื่อนำข้อมูลการศึกษาของแต่ละหน่วยมายืนยันถึงความสำเร็จในกลุ่มตัวชี้วัดทั้งจากผลการทดสอบ สถิติ และข้อมูลทุติยภูมิเบื้องต้นแต่ละองค์กรจะส่งแผนปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับผลการจัดอันดับต่าง ๆมายัง สกศ. เพื่อประมวลผลและสังเคราะห์ข้อมูลมาต่อยอดยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ด้าน โดยมีจุดเน้นในการดำเนินงาน คือ การร่วมกันกำหนดเป้าหมายด้านการศึกษาไทย สร้างความเข้าใจให้ภาคเอกชนรับทราบผลการจัดการศึกษาตามประเด็นที่อยู่ในการสำรวจความเห็นของ IMD และจะมีการบูรณาการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อใช้ประโยชน์ด้านความต้องการ (Demand) และข้อมูลด้านการผลิตกำลังคน (Supply) เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยต่อไป“นางอำภา กล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 10 มีนาคม 2566
ข่าวเกี่ยวกัน
‘ศธ.-พระปกเกล้า’ จับมือลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน นางถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, Ms. Starla Sanchez Assistant Attach สำนักงานการสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งสหรัฐอเมริกา (the US HSI), ผศ.รัชด ชมภูนิช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักศึกษากลุ่มสิงโต หลักสูตร ปนป.12 สถาบันพระปกเกล้า ลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงในโครงการ “Stop Online Child Sexual Abuse” ภายใต้แนวคิดหลัก “การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย” ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินขึ้นโดยความร่วมมือขององค์กรภาคี คือ นักศึกษากลุ่มสิงโต หลักสูตร ปนป.12 สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน สำนักงานการสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (HSI) EducationUSA Thailand บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (CPF) องค์กร Operation Underground Railroad (O.U.R.) และสมาคมศูนย์ข่าวเยาวชนไทย
น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้มีหลักสูตรเสริมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และวิธีการป้องกันภัยจากอาชญากรรมทางเพศออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันเป็นภัยคุกคามสำคัญของเด็กและเยาวชนไทย เช่น การหลอกลวงให้ถ่ายคลิป หรือสตรีมมิ่งร่างกายโป๊เปลือย แล้วนำไปข่มขู่แบล๊กเมล์ หรือบังคับให้เข้าสู่วงจรค้ามนุษย์ เป็นต้น ทั้งนี้ นักศึกษากลุ่มสิงโต ปนป.12 ได้ส่งมอบสื่อชุด #NoGoTell: Stop Online Child Sexual Abuse เรื่อง เคสสุดท้ายให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดกิจกรรม หรือประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามทางเพศออนไลน์ และวิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยบอกเล่าผ่านน้ำเสียงของคุณแม่ ซึ่งสูญเสียลูกชายที่เป็นทั้งความหวังและความรักไปก่อนเวลาอันควร เนื่องจากถูกหลอกลวงจากคนแปลกหน้าผ่านสื่อโซเชียลมิเดียให้ถ่ายคลิปทางเพศ และถูกแบล๊กเมล์จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด โดยกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะได้นำสื่อชุดดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างสันติสุขในสังคมต่อไป (สามารถรับชมสื่อดังกล่าวผ่านทาง KPI Channel ที่ https://youtu.be/_2tMHIGve9k)
น.ส.ตรีนุชกล่าวด้วยว่า การแก้ไขจัดการปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต ภายใต้โครงการประชารัฐยุติธรรมนำเด็กปลอดภัย เป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศธ.ให้ความสำคัญ นับแต่การจัดตั้งโครงการความปลอดภัยสถานศึกษาหรือ MOE Safety Center เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขและจัดการปัญหาการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างสุ่มเสี่ยง ไม่มีภูมิคุ้มกัน อันอาจนำไปสู่การตกเป็นผู้เสียหายในขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ การจัดทำหลักสูตรอบรมให้แก่เด็กและเยาวชน และการจัดทำสื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงภัยอันตราย ตลอดจนความรู้เมื่อตกเป็นผู้เสียหายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงเป็นช่องทางที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไม่ให้ถูกละเมิดทางเพศนับแต่ต้นเหตุ
นางจตุพรกล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ได้นิ่งเฉยต่อปัญหาเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ จึงได้ดำเนินการปกป้อง คุ้มครอง และช่วยเหลือเด็กและเยาวชน โดยได้บูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ให้เกิดเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย (Thailand Safe Internet Coalition) เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับเด็ก เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบการคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยบนโลกออนไลน์อย่างแท้จริง อีกทั้งการจัดตั้งศูนย์ COPAT เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาระบบคุ้มครอง และสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างครอบคลุม
Ms. Starla Sanchez สำนักงานการสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (HSI) กล่าวว่า อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคม แต่สำหรับเด็กและเยาวชนแล้วอาจจะเป็นได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ คือ อาจสุ่มเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะตกเป็นผู้เสียหายผ่านทางการหลอกลวงในโลกอินเตอร์เน็ต ดังนั้น การที่วันนี้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันแสดงเจตจำนงในการป้องกันภัยอาชญากรรมทางเพศออนไลน์ในเด็กและเยาวชนจึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก และขอขอบคุณที่ให้โอกาสสหรัฐอเมริกาในการร่วมงานกับทุกหน่วยงานในโครงการดังกล่าวนี้ และโครงการต่อๆ ไป
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 9 มีนาคม 2566