เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี 2566 ซึ่งจะมีการสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป วันที่ 24 มิ.ย. 2566 ภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ วันที่ 25 มิ.ย. 2566 และประกาศรายชื่อผู้ผ่าน ภาค ก และ ภาค ข เพื่อมีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ค ภายในวันที่ 3 ก.ค. 2566 ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ (สศศ.) 205 แห่ง ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 172,026 คน ตำแหน่งว่าง 7,813 อัตรา ใน 63 กลุ่มวิชานั้น
ในวันที่ 24 มิ.ย. ตนจะไปตรวจเยี่ยมสนามสอบครูผู้ช่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งรวมการเตรียมความพร้อมการจัดสอบที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ได้กำชับให้ สพฐ. ดำเนินการด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเบื้องต้นยังไม่พบการรายงานปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ทั้งนี้ขอฝากเตือนว่าอย่าไปหลงเชื่อกลุ่มคนที่มาแอบอ้างว่าสามารถทำให้ได้บรรจุเป็นข้าราชการครูจากการสอบครั้งนี้ได้ ซึ่งหากใครมีข้อมูลความไม่ชอบมาพากลในการสอบดังกล่าว ให้สามารถแจ้งมาที่ตนโดยตรงหรือส่วนกลางพร้อมจะตรวจสอบให้ทันที โดยขอให้การสอบครูผู้ช่วยปี 2566 เป็นไปด้วยความโปร่งใสยุติธรรมและตรวจสอบได้ เพื่อให้ได้ครูที่เป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน
สำหรับเรื่องการออกข้อสอบครูผู้ช่วยนั้น มีสถาบันการศึกษาที่ร่วมออกข้อสอบแบ่งเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ ได้แก่
· มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 9 แห่ง Cluster ที่ 1, 3, 4, 8, 9, 12, 13, 17 และ 18
· มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี Cluster ที่ 2
· มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช Cluster ที่ 5
· มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี Cluster ที่ 6
· มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี Cluster ที่ 7
· มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี Cluster ที่ 10, 11
· มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี Cluster ที่ 14
· มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ Cluster ที่ 15
· มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย Cluster ที่ 16
· มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขตบริหารงานการศึกษาพิเศษ
ซึ่งตนได้ย้ำเป็นนโยบายไปแล้วว่าการออกข้อสอบจะต้องตอบโจทย์บริบทของแต่ละพื้นที่ ต้องมีความยืดหยุ่นต้องไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป และทุกมหาวิทยาลัยที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมรับผิดชอบออกข้อสอบจะต้องจัดทำข้อสอบเป็นมาตรฐานกลางที่ใช้วัดคนที่จะมาเป็นครูจะต้องเน้นการแก้ปัญหาหรือทักษะเฉพาะหน้าให้มากขึ้นไม่ใช่เน้นการสอบด้านเนื้อหาวิชาการอย่างเดียว ซึ่งข้อสอบถือเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อที่จะได้ครูตรงกับความต้องการ
ที่มา ; เดลินิวส์ 21 มิถุนายน 2566
เกี่ยวข้องกัน
สั่งสอบครูผู้ช่วยใหม่ 3 เขต หลัง มรภ.อุดรฯ ส่งข้อสอบผิดชุด
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ.ประจำปี 2566 ซึ่งจัดสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป วันที่ 24 มิถุนายน และสอบภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ วันที่ 25 มิถุนายน นั้น การจัดสอบวันนี้ มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เปิดสอบรวม 205 แห่ง ใน 63 กลุ่มวิชา ผู้มีสิทธิสอบรวม 169,595 คน เข้าสอบ 167,673 คน ขาดสอบ 1,922 คน ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่พบปัญหาว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุดรธานี จัดส่งข้อสอบผิดพลาดใน 3 เขตพื้นที่ฯ คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) หนองคาย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) หนองคาย เขต 2 และ สพม.บึงกาฬ ดังนั้น จึงสั่งให้จัดสอบใหม่ในวันที่ 26 มิถุนายน เบื้องต้นได้มอบหมายให้นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติกร (สพร.) ลงพื้นที่แก้ปัญหา และให้กำลังใจผู้เข้าสอบ
“ความผิดพลาดครั้งนี้เกิดจาก มรภ.อุดรธานี จัดส่งข้อสอบผิดพลาด โดยการสอบวันนี้ สพป.หนองคาย เขต 2 และ สพม.หนองคาย จะต้องสอบวิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป สพม.บึงกาฬ สอบวิชาภาษาจีน แต่ มรภ.อุดรธานี กลับจัดส่งวิชาเอกภาษาไทยมาให้ ทำให้ไม่สามารถจัดสอบได้ จึงต้องยกเลิกการสอบในวันนี้ไปก่อน และขอให้ มรภ.อุดรธานี ไปออกข้อสอบใหม่ เพื่อจัดสอบในวันที่ 26 มิถุนายน มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาทุจริตเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเขตพื้นที่ฯ เป็นผู้จัดสอบ โดยจ้างมหาวิทยาลัย 10 แห่งในการออกข้อสอบ ซึ่งจะแบ่งตามคลัสเตอร์จังหวัด ดังนั้น ข้อสอบแต่ละกลุ่มจังหวัดจึงเป็นข้อสอบคนละชุด ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การจัดสอบครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่กระจายอำนาจไปให้เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการ และประสานมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อออกข้อสอบ และจัดสอบ ดังนั้น แม้จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้าง ก็คงต้องให้กำลังใจกันต่อไป” นายอัมพร กล่าว
นายอัมพรกล่าวต่อว่า การเลื่อนสอบครั้งนี้ มีผู้ได้รับผลกระทบรวม 394 คน แบ่งเป็น สพม.หนองคาย 81 คน สพป.หนองคาย เขต 2 จำนวน 282 คน และ สพม.บึงกาฬ 31 คน โดย มรภ.อุดรธานีจะต้องรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการออกข้อสอบใหม่ รวมถึง ค่าที่พัก และค่าเดินทางของผู้เข้าสอบด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานว่าผู้เข้าสอบ สพป.ชุมพร เขต 1 เกิดอาการช็อกระหว่างการสอบ ทางเขตพื้นที่ฯ จึงนำตัวส่งโรงพยาบาล เมื่อผู้เข้าสอบฟื้น ทางแพทย์ผู้รักษาประเมินอาการว่าสามารถสอบต่อได้ ทางเขตพื้นที่ฯ จึงนำข้อสอบไปให้สอบที่โรงพยาบาล โดยมีกรรมการคุมสอบ 2 คน ส่วนอีกรายท้องแก่ใกล้คลอด มีอาการน้ำเดิน ทางสนามสอบจึงได้เตรียมรถพยาบาล หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็พร้อมพาผู้เข้าสอบไปโรงพยาบาลเพื่อคลอดบุตรได้ทันที
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 25 มิถุนายน 2566