ค้นหา

สพฐ.พร้อมวิเคราะห์ผลสอบครูผู้ช่วยหลังเสียงสะท้อนอื้อ

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ขณะนี้การจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย รอบทั่วไป สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 ได้ดำเนินการสอบเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 24-25 มิ.ย. ซึ่งภาพรวมของการจัดสอบเรียบร้อยดี แต่ในการสอบครั้งนี้ ตนได้พบเสียงสะท้อนถึงการข้อสอบจากผู้เข้าสอบเช่นนั้นว่า ข้อสอบแต่ละมหาวิทยาลัยร่วมกับกลุ่มคสัสเตอร์ของแต่ละ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษานั้น มีความยากง่ายแตกต่างกัน รวมถึงข้อสอบบางข้อมีความผิดพลาดและเนื้อหาที่ออกมีความล้าสมัยไม่ตรงกับปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จัดส่งข้อสอบผิดพลาดใน 3 เขต คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) หนองคาย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) หนองคาย เขต 2 และ สพม.บึงกาฬ จนมีผู้ได้รับผลกระทบจากการต้องเลื่อนสอบหลายร้อยคน โดยตนจะประสาน สพฐ. ให้ตรวจสอบและดำเนินการจัดสอบใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายต่อไป ทั้งนี้ ศธ. จะนำเสียงสะท้อนของการสอบครั้งนี้มาปรับปรุงแก้ไขต่อไป ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตเนื้อหาข้อสอบครูผู้ช่วยจะมีความเป็นกลางและยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น 

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การจัดสอบครูผู้ช่วยรอบทั่วไปครั้งนี้ ได้มีเงื่อนไขผูกมัดจากเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่กำหนดให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นในการออกข้อสอบ ซึ่ง สพฐ. ก็พยายามทำอย่างดีที่สุด เพื่อให้เราได้ครูตรงกับความต้องการ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ส่วนประเด็นเสียงสะท้อนจากผู้เข้าสอบถึงความยากง่ายของข้อสอบในแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์นั้น ตนไม่อยากให้คิดเช่นนั้น ซึ่งขอให้รอประกาศผลสอบออกมาก่อน จากนั้น สพฐ. จะมาวิเคราะห์ข้อสอบอีกครั้งว่า ข้อสอบของแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์มีความยากง่ายจริงหรือไม่ รวมถึงมีผู้ผ่านการสอบและไม่ผ่านการสอบกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเมื่อผลสอบออกมาเป็นอย่างไร เราจะวางแผนแก้ปัญหา และในการสอบครูผู้ช่วยรอบทั่วไปในปีหน้า เชื่อว่าข้อสอบจะมีมาตรฐานกลางที่มีความเหมาะสมอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ สพฐ. กำลังเตรียมที่จะประกาศรับสมัครครูผู้ช่วย รอบกรณีพิเศษ ภายในเดือน ก.ค. นี้ และจะดำเนินการสอบในเดือน ส.ค. ซึ่งการสอบครูผู้ช่วยกรณีพิเศษนี้ จะเป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ดำเนินการจัดสอบเอง โดยคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

สพฐ. พร้อมวิเคราะห์ผลข้อสอบ เชื่อปีหน้าได้ข้อสอบที่เป็นมาตรฐานกลาง เผย เตรียมพร้อมสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ประกาศรับสมัครเดือน ก.ค. นี้ 

ที่มา ; เดลินิวส์ 26 มิถุนายน 2566

เกี่ยวข้องกัน

มรภ.อุดร แจงเหตุส่งข้อสอบครูผู้ช่วยผิดพลาด ยันไม่มีทุจริต-ข้อสอบรั่ว  

เมื่อเวลา 15.15 น. วันที่ 27 มิถุนายน ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุดรธานี ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดี, ผศ.ดร.ชาติชาย ม่วงปฐม, ดร.เอกราช ดีนาง รองอธิการบดี, ผศ.ดร.ปุณรัตน์ พิพิธกุล คณบดีคณะครุศาสตร์ และ ผศ.จรินทร์ทิพย์ ประชุมรัตน์ ผู้ประสานงาน ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ยอมรับความผิดพลาด “ข้อสอบครูผู้ช่วยผิดซอง” แนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยยืนยันไม่มีการทุจริตแน่นอน 

ผศ.ดร.คณิศรากล่าวว่า ได้รับประสานจากสื่อตั้งแต่เมื่อวาน แต่เราขอไปทบทวนดูก่อนว่า มันมีกระบวนการรั่วไหล หรือทุจริตหรือเปล่า ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญอันดับแรก รวมทั้งการเคลียร์กระบวนการให้ชัดเจน ให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด ว่าไม่ได้เกิดจากการรั่วไหล กระบวนการยังต้องเดินต่อ ทั้งการไปชี้แจงกับเขตการศึกษา รวมถึงการมาตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงขอเลื่อนมาแถลงในวันนี้ 

มรภ.อุดรธานี ได้รับการประสานจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุดรธานี เรื่องการจัดสอบกระจายมาภูมิภาค จนเริ่มมีการประชุมออนไลน์เมื่อ 8 มิถุนายน นำไปสู่การทำ TOR ในกลุ่มที่ 10 และ 11 เมื่อ 12 มิถุนายน จากนั้นลงนาม MOU 19 มิถุนายน ซึ่งเราให้ความสำคัญในเรื่อง 1.มาตรฐานของข้อสอบ และ 2.การป้องกันไม่ให้ข้อสอบรั่วไหล ทำให้เรามีคณะกรรมการ และคณะทำงาน 3 ชุดที่เป็นความลับ มีการกักตัว ปิดระบบสื่อสาร ชุดแรกอำนวยการ ดูแลเรื่องธุรการ และจัดส่งข้อสอบ ชุดที่สองฝ่ายวิชาการ ออกข้อสอบตามมาตรฐาน และชุดที่สาม ฝ่ายประมวลผล” ผศ.ดร.คณิศรากล่าว 

ผศ.ดร.คณิศรากล่าวต่อว่า มรภ.อุดรธานี จะไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ เมื่อเกิดความผิดพลาดเราก็ยอมรับ และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการทุจริต ไม่มีข้อสอบรั่วไหล ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาด จากความเหนื่อยล้าของผู้ปฏิบัติเร่งรีบ แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะหยิบยกขึ้นมาแก้ตัว 

ด้าน ดร.เอกราช ดีนาง รองอธิการบดี กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเช้าวันที่ 25 มิถุนายน เป็นการสอบวิชาเอก 27 วิชา 607 ห้องสอบ ใน 6 จังหวัด พบปัญหา 3 สนามสอบ สนามแรก สพป.หนองคาย เขต 2 มี 12 ห้อง 283 คน วิชาวิทยาศาสตร์ เมื่อเปิดซองข้อสอบพบว่า 11 ห้องเป็นซองวิชาวิทยาศาสตร์ อีก 1 ห้องเป็นซองวิชาภาษาไทย สนามสอบ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) หนองคาย มีสอบ 2 วิชา คือ วิชาวิทยาศาสตร์ 3 ห้อง ไม่ผิดพลาด และวิชาเคมี 2 ห้อง ผิดพลาด 1 ห้องเป็นซองวิชาวิทยาศาสตร์ และสนามสอบ สพป.บึงกาฬ มีสอบภาษาจีน 2 ห้อง ผิดพลาด 1 ห้อง เป็นซองวิชาภาษาอังกฤษ 

หลังพบเกิดความผิดพลาด 3 สนาม 4 ห้อง จึงได้มีการหารือกันทันที แล้วมีคำสั่งให้ยุติการสอบ 4 ห้อง และมีมติให้ มรภ.อุดรธานี จัดสอบใหม่ โดยใช้โครงสร้างข้อสอบเหมือนเดิม ความยากง่ายเท่าเดิม โดยสอบใหม่เช้าวันที่ 26 มิ.ย.66 มรภ.อุดรธานีได้ออกข้อสอบใหม่บ่ายวันที่ 26 มิ.ย.66 พร้อมจัดส่งข้อสอบไปได้ทัน และจัดสอบได้ครบทุกคน ส่วนผู้เข้าสอบได้รับผลกระทบ 393 คน เราได้ขออภัยในความผิดพลาด และได้เยียวยา เป็นค่าที่พักและอาหาร 1,000 บาท ซึ่งบางรายมีค่าตั๋วเครื่องบิน รวมทั้งค่าตอบแทนอาจารย์คุมสอบด้วย” ดร.เอกราชกล่าว 

ดร.เอกราชกล่าวด้วยว่า กว่า 20 ปีแล้วที่ มรภ.อุดรธานี ไม่ได้จัดสอบลักษณะนี้มาเลย ซึ่งถือเป็นบทเรียนจนเกิดผิดพลาด จากใส่ข้อสอบผิดซอง นอกจากใน 3 สนามสอบ และ 4 ห้อง ยังมีปัญหาเล็กน้อยในเรื่องธุรการ กรณีข้อสอบเดินทางไปล่าช้า แต่ก็เป็นไปตามเกณฑ์เงื่อนไขเวลา หรือกระดาษคำตอบไม่ตรงกับจำนวนข้อสอบ ก็สามารถจัดส่งได้ทันเวลา ซึ่งกระบวนการสอบถือว่าจบแล้ว เป็นไปตามระเบียบทุกประการ บทเรียนครั้งนี้คือเรื่องความละเอียดรอบคอบ 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 27 มิถุนายน 2566

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น