ค้นหา

สพฐ.ชงเกณฑ์เฟ้น ‘บิ๊ก ร.ร.’ ห่างไกล โดยไม่มีการสอบ

นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สพฐ.ได้จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ.ประจำปี 2566 เรียบร้อยแล้ว คาดว่ากระบวนการจัดสอบและคัดเลือกทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม บรรจุแต่งตั้งในเดือนสิงหาคม จากนั้นจะประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ (ว16) ซึ่งเดิมกำหนดจะจัดสอบให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคม เพื่อให้บรรจุและแต่งตั้งครูผู้สอนลงไปในโรงเรียนได้เร็วที่สุด แต่เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะกระชั้นเกินไป ทำให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา เตรียมตัวไม่ทัน เพราะเพิ่งจัดสอบครูผู้ช่วยรอบทั่วไปแล้วเสร็จ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ทางเขตพื้นที่เกิดความตึงเครียดเกินไป จึงเลื่อนไปจัดสอบกลางเดือนสิงหาคมแทน ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

นายสุรินทร์กล่าวต่อว่า หลังจากสอบครูผู้ช่วย ว16 เรียบร้อยแล้ว จะจัดสอบผู้อำนวยการสถานศึกษา และรองผู้อำนวยการสถานศึกษาในช่วงเดือนกันยายนเพื่อทดแทนอัตราว่าง ซึ่งในส่วนของผู้อำนวยการสถานศึกษามีตำแหน่งว่างรองรับกว่า 4,000 อัตรา ส่วนรองผู้อำนวยการสถานศึกษาจะมีอัตราว่างมากกว่าผู้อำนวยการสถานศึกษา เพราะโรงเรียนแต่ละแห่งมีรองผู้อำนวยการสถานศึกษามากกว่า 1 คน ทั้งนี้ ในการเปิดสอบผู้อำนวยการสถานศึกษา และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่ผ่านมาพบปัญหาเขตพื้นที่ที่มีโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เช่น เกาะแก่ง ภูเขาสูง ไม่มีผู้สมัครเข้าไปเป็นผู้บริหาร ดังนั้น ในการสอบครั้งนี้ สพฐ.จึงยกร่างหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้บริหารโรงเรียนที่มีปัญหาดังกล่าว โดยจะเปิดให้คัดเลือกในลักษณะพิเศษ อาทิ ใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์ หรือประเมินจากแฟ้มสะสมงาน เป็นต้น แต่จะเพิ่มเงื่อนไขพิเศษ เช่น จะต้องเป็นผู้บริหารในโรงเรียนที่บรรจุแต่งตั้งไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนห่างไกลไม่มีผู้บริหารโรงเรียน 

การคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนกรณีพิเศษ เพื่อบรรจุและแต่งตั้งในพื้นที่ห่างไกล เคยทำมาแล้วในช่วงปี 2558-2559 แต่ต้องยกเลิกไปเนื่องจากมีการปรับโครงสร้าง โอนอำนาจการบริหารงานบุคคลไปให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สพฐ.จึงเสนอหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกผู้บริหารโรงเรียนห่างไกลให้ ก.ค.ศ.พิจารณา ส่วนตัวเข้าใจว่าไม่มีใครอยากไปบรรจุในพื้นที่ห่างไกล ที่ผ่านมาจึงมีคนสมัครน้อย โดยครั้งนี้อาจมีการเพิ่มแรงจูงใจ อาทิ ให้สิทธิพิเศษในการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ เป็นต้น ทั้งนี้ หากคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ให้ความเห็นชอบ จะเริ่มใช้ในการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา และรองผู้อำนวยการสถานศึกษาในเดือนกันยายนนี้ทันที” นายสุรินทร์กล่าว 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 27 มิถุนายน 2566

เกี่ยวข้องกัน

ผ่านเกณฑ์เฟ้น ‘บิ๊ก ร.ร.พื้นที่นวัตกรรม’ เปิดขั้นตอนคัดเลือก-สพท.ตั้งทีมกลั่นกรอง

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุม ก.ค.ศ.ที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เห็นชอบร่างแนวปฏิบัติในการดำเนินการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาไปดำรงตำแหน่งเดิม ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเดิมโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรม จะใช้หลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหารสถานศึกษาเหมือนกับหลักเกณฑ์การย้ายทั่วไป ทำให้อาจไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ดังกล่าว โดยแนวทางการคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรม จะใช้ระบบ hunting system เพื่อให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานนำร่องที่อยู่ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีผู้บริหารเป็นผู้นำการศึกษาที่มีศักยภาพ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ สมรรถนะ ศักยภาพ และประสบการณ์ เหมาะสมกับการปฏิบัติงานในพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา 

 

นายประวิตกล่าวต่อว่า โดยร่างแนวปฏิบัติดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ

·      ให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ที่มีสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสังกัดอยู่ พิจารณาเห็นชอบให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ต้องมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นพิเศษ

·      ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ประกาศรายชื่อสถานศึกษาดังกล่าว ที่มีตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาว่างอยู่ หรือมีตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาที่คาดว่าจะว่าง พร้อมทั้งคุณสมบัติของผู้บริหารสถานศึกษาที่จะได้รับการพิจารณาเสนอรายชื่อ โดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน

·      ให้ผู้อำนวยการ สพท. ที่มีสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสังกัดอยู่ และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่นั้น เสนอชื่อผู้บริหารสถานศึกษาที่มีคุณสมบัติ และให้สอบถามความสมัครใจของผู้ที่ประสงค์จะให้ย้ายด้วย

·      จากนั้นให้เขตพื้นที่ฯ ตั้งคณะทำงาน โดยให้มีผู้แทนคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่นั้น 3 คน ร่วมพิจารณารายชื่อผู้บริหารสถานศึกษาที่ประสงค์จะให้ย้าย ให้คณะกรรมการกลั่นกรองการย้าย พิจารณากลั่นกรองการย้าย ทั้งนี้ หากมีผู้ที่ยื่นคำร้องขอย้ายประจำปีได้ระบุสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไว้ ให้นำมาพิจารณาร่วมด้วย และ

·      ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ พิจารณาย้าย ส่วนการย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วไป ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิม” นายประวิตกล่าว 

นายประวิตกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ยังอยู่ระหว่างยกร่างหลักเกณฑ์การจัดสอบผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่ที่พิเศษ ที่อยู่ห่างไกล เช่น เกาะแก่ง ภูเขาสูง เป็นต้น เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนผู้อำนวยการโรงเรียน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่ค่อยมีผู้สนใจสมัครสอบคัดเลือก ทำให้เกิดปัญหาโรงเรียนขาดผู้อำนวยการจำนวนมาก ดังนั้น จึงต้องเร่งแก้ปัญหา โดยจะใช้วิธีคัดเลือกเป็นกรณีพิเศษ ขณะเดียวกันจะเพิ่มแรงจูงใจสำหรับผู้ที่มาเป็นผู้อำนวยการในพื้นที่ดังกล่าว โดยจะปรับลดระยะเวลาการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ จากเดิม 4 ปี เหลือ 3 ปี ส่วนค่าตอบแทนพิเศษนั้น ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง เพราะโดยปกติข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่พิเศษ จะได้รับเบี้ยเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนอยู่แล้ว 

 

ผ่านเกณฑ์เฟ้น ‘บิ๊ก ร.ร.พื้นที่นวัตกรรม’ เปิดขั้นตอนคัดเลือก-สพท.ตั้งทีมกลั่นกรอง ก.ค.ศ.ลุยยกร่างเกณฑ์สรรหา ‘ผอ.ร.ร.ไกล’ 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 28 มิถุนายน 2566

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น