เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย ปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ถึงวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมานั้น
ข้อมูลเบื้องต้น มีผู้สมัครอยู่ที่ 171,954 คน ใน 205 เขตพื้นที่ อัตราว่างที่สามารถบรรจุแต่งตั้งได้ จำนวน 7,813 อัตรา ใน 63 กลุ่มวิชา และมีผู้สมัครสอบมีสิทธิสอบภาค ก จำนวน 169,595 ราย โดยมีการสอบข้อเขียน ภาค ก วันที่ 24 มิถุนายน ภาค ข วันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา และได้ประกาศผลการสอบเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ไปแล้วนั้น
ในโลกโซเชียลได้มีการแชร์ ผลการสอบภาค ก และภาค ข ของผู้สอบแข่งขันเป็นครูผู้ช่วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานีเขต 2 ซึ่งมีผู้เข้าสอบ 1,347 ราย สอบผ่าน 32 ราย โดยกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ดนตรีสากล และเกษตร/เกษตรกรรม/เกษตรศาสตร์ ไม่มีผู้สอบผ่าน
พร้อมกันนี้มีการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ข้อสอบที่ออกโดย “มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี” ว่าต้องการวัดมาตรฐานคนที่จะมาเป็นครูในด้านไหน เนื่องจากข้อสอบเน้นการท่องจำ ความจำล้วนๆ แต่อยากให้ครูสอนเด็กคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ นำไปใช้แก้ปัญหาเป็น เห็นข้อสอบแล้วก็อย่าไปว่าครูที่สอนให้เด็กท่องสูตรคูณ
พร้อมยกตัวอย่างข้อสอบ เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่เข้าสอบแสดงความเห็นว่า ข้อสอบไม่มีการทดสอบคุณภาพ บางข้อถามมาตรา บางข้อถามชื่อ พ.ร.บ. บางข้อถามวันประกาศใช้ ขณะที่สวนดุสิตออกข้อสอบให้เขตพื้นที่อื่น เอาเนื้อหามาแล้วแต่งโจทย์ให้วิเคราะห์ ถามว่าการถามวันประกาศใช้วัดอะไรได้นอกจากความจำ แถมวัดไม่ตรงจุดประสงค์ หนักกว่านั้น บางข้อถามไปถึงทีมฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้แชมป์ 3 แชมป์ (ทริปเปิลแชมป์) เป็นสมัยที่เท่าไหร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เข้าสอบรายหนึ่งได้แชร์ข้อสอบว่า มีการถามว่าอันดับโลกของทีมวอลเลย์บอลหญิงอยู่อันดับที่เท่าไรด้วย ทั้งที่การแข่งขันรายการล่าสุดยังไม่จบและอันดับยังมีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอว่าในการสอบครั้งนี้มหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบมีมาตรฐานที่ไม่เหมือนกันในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ดังนั้น สพฐ.ควรจะต้องมาทบทวนในส่วนนี้ด้วย เพื่อให้การสอบคัดเลือกเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
โซเชียลวิจารณ์ ข้อสอบครูผู้ช่วย ถาม ‘แมนซิตี้’ ได้ทริปเปิลแชมป์สมัยที่เท่าไร ชี้เน้นท่องจำ สพป.อุบล เขต 2 ผ่านแค่ 32 คน
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 3 กรกฎาคม 2566
เกี่ยวข้องกัน
เทียบผลสอบครูผู้ช่วย สพฐ. ภาค ก/ข หลายเขต พท. วิชาเอกเดียวกันแต่ยอดผู้สอบ’ผ่าน-ตก’ต่างกันลิบ
ตั้งคำถามคุณภาพมหา’ลัย!สอนเอง-ออกข้อสอบเอง
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 EduGuide 4.0 รายงานข่าวเกี่ยวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายหลังการประกาศผลการสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และสอบภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รอบทั่วไป ประจำปี พ.ศ.2566 ของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) รวม 205 แห่งทั่วประเทศ
โดยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่ออกมาในทำนองข้อสอบโดยภาพรวมในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดต่างๆ ตามกลุ่มเขตตรวจราชการ (คลัสเตอร์) ที่ร่วมกันว่าจ้างมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อสอบ อาจไม่มีมาตรฐานหรือไม่? ทั้งนี้ เพราะข้อสอบในเขตพื้นที่การศึกษาบางกลุ่มคลัสเตอร์ อาจจะมีระดับความยากเกินไปหรือไม่? จนมีผู้สอบผ่านน้อยมาก หลายวิชาเอกไม่มีผู้สอบผ่านเลย เช่น วิชาเอกคอมพิวเตอร์ และหลายสาขาวิชาเอก มีผู้สอบผ่านเพียงคนเดียว เช่น ภาษาไทย
จนมีการตั้งคำถามว่า "สอบผ่านน้อยอย่างนี้ก็ขายหน้าสถาบันอุดมศึกษา ที่ผลิตคนจบปริญญาตรีออกมามีความรู้ตามเอก ตามสาขา มากน้อยแค่ไหน? เสียงบประมาณ เสียเวลาทั้งคนราชการ และลูกหลานที่ไปสอบ หรือว่าคนระดับจบปริญญาตรีต้องมีความรู้ เพียงแต่ข้อสอบนำมาวัดมันห่วยแตก เรียนมาเรื่องต้มไก่ แต่ถามเรื่องซกเล็ก เรียนมาเรื่องซกเล็ก แต่ถามเรื่องก้อยไข่มดแดง"
บ้างก็วิจารณ์ว่า "มหาวิทยาลัยเองที่สอน และที่มาออกข้อสอบเอง สอนเอง สอบเอง ถ้าลูกศิษย์ไม่มีคุณภาพจำนวนมากอย่างนี้ ก็ควรยุบมหาวิทยาลัยแห่งนั้นได้แล้ว"
ในขณะเดียวกันข้อสอบในเขตพื้นที่การศึกษาของบางกลุ่มคลัสเตอร์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจมีระดับความง่ายสูงเกินไปหรือไม่? เพราะมีผู้สอบผ่านค่อนข้างมาก เช่น ในวิชาเอกภาษาไทย กลุ่มเขตพื้นที่การศึกษาใน จ.ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สุรินทร์ มีจำนวนผู้สอบผ่านค่อนข้างมาก เป็นต้น
EduGuide 4.0 นำเสนอการประกาศผลการสอบภาค ก/ข ในบางเขตพื้นที่การศึกษา ดังต่อไปนี้
ผลสอบครูผู้ช่วย สพฐ.66 ภาค ก/ข ส่อบานปลาย 2 แกนนำ"ครู-ผอ."วิจารณ์เละ-ส.ส.ก้าวไกลตรวจสอบ
ตั้งคำถามโยงนโยบาย สพฐ.? ให้มหา'ลัยออกข้อสอบ
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 EduGuide 4.0 รายงานข่าวความคืบหน้ากรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายหลังการประกาศผลการสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และสอบภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รอบทั่วไป ประจำปี พ.ศ.2566 ของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) รวม 205 แห่งทั่วประเทศ
เริ่มจาก นายสานิตย์ พลศรี นายสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ให้สัมภาษณ์ EduGuide 4.0 ว่า ตนได้สรุปประเด็นเกี่ยวกับปัญหาการสอบครูผู้ช่วยในภาพรวมของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดต่างๆ ตามกลุ่มเขตตรวจราชการ (คลัสเตอร์) ที่มีการร้องเรียนเข้ามายังสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ และได้รับข้อมูลจากผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีดังต่อไปนี้
1. การสอบครูผู้ช่วยสังกัด สพฐ. รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2566 ต้องใช้งบประมาณมากถึง 80-100 ล้านบาท สพฐ.ต้องตัดมาจากงบฯโครงการอื่น
2. มหาวิทยาลัยบางแห่งคิดราคาค่าออกข้อสอบ 500 บาทต่อผู้เข้าสอบ 1 คน บางมหาวิทยาลัยคิดราคา 1,000 บาทต่อคน
3. การกระจายอำนาจให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดต่างๆ ตามกลุ่มเขตตรวจราชการ (คลัสเตอร์) ดำเนินการเรื่องทำข้อสอบแข่งขันฯเลยแพง
4. สพฐ.แจ้งว่า เพื่อให้มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาได้มีส่วนร่วม
5. ข้อสอบจะไม่ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพราะว่ามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งออกข้อสอบ จึงไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่เครื่อง ชั่ง ตวง วัด
6. ข้อสอบวิชาเอกเดียวกัน บางเขตง่าย บางเขตยาก ทั้งๆ ที่เป็นครูไทยด้วยกันิ
7. ยังไม่เจอโจทย์เดียวกันหรือทำนองเดียวกัน แต่เฉลยไม่เหมือนกัน
8.เมื่อกระจายอำนาจให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดต่างๆ ตามกลุ่มเขตตรวจราชการ (คลัสเตอร์) ดำเนินการเรื่องทำข้อสอบแข่งขันฯเ ก็กลายเป็นเบี้ยหัวแตก เปลืองเงินค่ากรรมการออกข้อสอบ และจัดทำข้อสอบที่มีจำนวนมาก
9. แต่ถ้าทำเป็นบางมหาวิทยาลัย แล้วพิมพ์จำนวนมาก กระจายข้อสอบไปทั้งประเทศ จะถูกกว่ามาก
10. ที่สำคัญมหาวิทยาลัยบางแห่งยังไม่เป็นมืออาชีพ จึงเกิดความผิดพลาดเรื่องข้อสอบผิดซองดังที่เป็นข่าว
11. ควรจะให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาที่มีศึกษานิเทศก์อยู่แล้วออกข้อสอบ จะประหยัดมาก และจะรู้ถึงสภาพการคัดคนมาเป็นครูในเขตพื้นที่การศึกษาของตนเอง
12. มหาวิทยาลัยบางแห่งแทบไม่อยากรับงานนี้ แต่ก็เหมือนถูกเขตพื้นที่การศึกษาขอร้องให้ทำ โดยอ้างนโยบาย สพฐ.ที่ให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ทำข้อสอบ
13. เมื่อคนทำข้อสอบเขาไม่อยากทำ จึงทำให้งานออกมาไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่?
14. ที่สำคัญที่สุดคือ การทำบันทึกข้อตกลง TOR ว่าจ้างทำข้อสอบ ได้กำหนดในเรื่องชั้นความลับไว้อย่างไร หากชั้นความลับไม่รัดกุม ความเสียหายจะเกิดกับ สพฐ. ไม่ได้เกิดกับ มหาวิทยาลัย และ
15. ความไม่รอบคอบ ทั้งๆ ที่การสอบผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) เมื่อคราวที่แล้วในปี พ.ศ.2565 ยังมีปัญหาความผิดพลาดคาราคาซัง ยังไม่ใส่ใจจำเอามาเป็นบทเรียน กรณีอย่างนี้ใครรับผิดชอบ หรือคิดว่าผ่านแล้วก็แล้วไป ช่างหัวมัน?
นายสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าวต่อว่า ในการตรวจรับงานจ้างจัดทำข้อสอบของเขตพื้นที่การศึกษาและมหาวิทยาลัย คงไม่ใช่เพียงแค่การตรวจรับข้อสอบ ซองข้อสอบ ครบเรียบร้อยหรือไม่ แต่ต้องตรวจการรักษาความลับด้วย เข่น อาจารย์ที่ออกข้อสอบเป็นติวเตอร์หรือไม่ การจัดอาคารสถานที่ในการออกและทำข้อสอบรัดกุม เก็บความลับได้หรือไม่ การเดินทางไปส่งข้อสอบ ได้ตรวจสอบระยะเวลาสัมพันธ์กับระยะทางหรือไม่ เป็นต้น เรื่องสำคัญต่างๆ เหล่านี้ ได้มีการกำหนดในการตรวจรับงานด้านความลับของทางราชการหรือไม่
"ในอดีตเคยมีความรัดกุม เพราะมองว่าปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการของข้อสอบแข่งขันฯครูผู้ช่วย อาจจะเกิดขึ้น เมื่อก่อนจึงมีการส่งตัวแทนจาก สพฐ.มาตรวจเยี่ยมเขตพื้นที่การศึกษาที่ออกข้อสอบ เพื่อให้มั่นใจในเรื่องการรักษาความลับ"
นายสานิตย์ กล่าวด้วยว่า ถึงแม้หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯครูผู้ช่วยครั้งนี้ ซึ่งกำหนดตาม ว 14/2566 ในข้อ 9 เหมือนล็อคผู้ออกข้อสอบ แต่การกำหนดให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ต่างๆ เป็นผู้ออกข้อสอบนั้น เป็นนโยบายของ สพฐ.หรือไม่? แม้ว่า ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประจำ ศธ.ว่า "การจัดสอบแข่งขันฯครูผู้ช่วย รอบทั่วไปครั้งนี้ มีเงื่อนไขผูกมัดจากหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่กำหนดให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นในการออกข้อสอบ ซึ่ง สพฐ.ก็พยายามทำอย่างดีที่สุด เพื่อให้เราได้ครูตรงกับความต้องการ" ก็ตาม
ขณะที่ ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา (ส.พ.บ.ค.) อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมฯ และอดีตนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยกับ EduGuide 4.0 ว่า ตนได้โพสต์ข้อความและการประกาศผลสอบครูผู้ช่วย ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และสอบภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ที่ผ่านมา ในโซเชียลเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า
"รัฐมีงบประมาณเพียงพอในการจ้างครู แต่กำหนดหลักเกณฑ์การจ้างอันเป็นการกีดกันบุคคลไม่ให้มาเป็นครู? สงสารเด็กที่ไปสอบบรรจุครูเพื่อการมีงานทำแต่สอบไม่ผ่าน สงสารเด็กที่รอครูให้ไปสอน แต่ไม่มีครูสอน เพราะนโยบายห่วยๆ ของผู้มีอำนาจบาง “ตน”
ศธ.ประสบความล้มเหลวในการพัฒนานักเรียน นักศึกษาด้านภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ แต่ก็ยังบังคับบุคคลที่ประสงค์สอบบรรจุเป็นครูต้องสอบผ่านวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศสาตร์ มีข้อสอบวิชาละ 50 ข้อ ส่งผลให้ผลการสอบบรรจุครูแทบไม่มีใครผ่าน เกิดความเสียหายมาก เด็กๆ ตกงาน เป็นภาระของสังคม โรงเรียนไม่มีครูสอน วิกฤตแบบนี้ไม่เคยเกิดมาก่อนในยุคก่อน ครูพลศึกษา ครูนาฏศิลป์ ครูภาษาไทย ฯลฯ จำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษได้ หรือจำเป็นต้องแก้สมการเก่ง หรือไม่
คณิตศาสตร์มีสอบการแก้สมการ อยากทราบว่าทุกวันนี้การแก้สมการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอะไรบ้าง คงเป็นประเทศเดียวในโลกที่ "มีงบประมาณเพียงพอในการจ้างครู แต่กำหนดหลักเกณฑ์การจ้างอันเป็นการกีดกันบุคคลไม่ให้มาเป็นครู” …ทำได้ไงฟะ!
ขอเสนอแนะบ้างว่า ให้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. หรือของทุกกระทรวง ตั้งแต่เชี่ยวชาญขึ้นไป ต้องสอบ Toeic ให้ได้คะแนนไม่น้อยกว่า 700 คะแนน ใครไม่ผ่านเกณฑ์นี้ให้ตกไปเลย ไม่แต่งตั้ง เพราะระดับนี้ไปต่างประเทศบ่อย ต้องใช้ภาษาอังกฤษระดับสื่อสารได้ จะได้ไม่ต้องหนีบล่ามติดตัวไปด้วย เปลืองงบประมาณ และอายเขา อีกทั้งต้องผ่านการสอบการแก้สมการสามชั้น รวมถึงวิชา Analysis Geometry ด้วย เพราะเป็นผู้บริหารระดับสูง ต้องมีทักษะการคิด วิเคราะห์ที่สูง"
EduGuide 4.0 รายงานด้วยว่า รองศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท ทองบุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และอดีตประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้โพสต์ในโซเชียลเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ข้อความว่า "ข้อสอบครูผู้ช่วย บางคลัสเตอร์มีอะไรผิดปกติหรือไม่ แจ้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้แล้ว พรุ่งนี้จะมีการตรวจสอบ และประชุมปรึกษาหารือ แล้วจะรายงานผลให้ทราบโดยด่วน"
ที่มา ; eduguidenews
ตัวอย่างข้อสอบ
รวมข้อสอบ 3 ปีย้อนหลัง เพื่อเป็นแนวทางในการสอบ และใครอยากดูความยากความง่ายของข้อสอบแต่ละปี เชิญชม
#ข้อสอบเก่า ปี 2563 (ออกโดยสวนดุสิต)
@ภาค ก พาร์ทคิดวิเคราะห์ :
https://www.facebook.com/100001979592045/posts/3218130794929542/?d=n
@ภาค ก พาร์ทข้าราชการที่ดี :
https://www.facebook.com/100001979592045/posts/3211563402252948/?d=n
@ภาค ข วิชาเอก
-คณิตศาสตร์ :
https://www.facebook.com/100001979592045/posts/3217183351690953/?d=n
-ชีววิทยา :
https://www.facebook.com/105856968379646/posts/105877308377612/
-เคมี :
https://www.facebook.com/100003772681331/posts/1988097807992623/?extid=MSQYleDrp6Y5TtqK&d=n
@ภาค ข มาตรฐานการสอน :
https://www.facebook.com/100009709953884/posts/1315722212094765/?d=n
@ภาค ข กฎหมายการศึกษา :
https://www.facebook.com/100001979592045/posts/3214550085287613/?
#ข้อสอบเก่า ปี 2564 (ออกโดยสวนดุสิต)
@ข้อสอบ ภาค ก
1,วิชาการคิดวิเคราะห์
https://www.facebook.com/105031567814712/posts/500882138229651/
2.วิชาภาษาอังกฤษ
https://www.facebook.com/105031567814712/posts/500937764890755/
3.วิชาความรู้และลักษณะของการเป็นข้าราชการที่ดี https://www.facebook.com/105031567814712/posts/501003244884207/
@ภาค ข
1,วิชาการศึกษา
https://www.facebook.com/105031567814712/posts/501590638158801/
2.วิชากฎหมายและแนวทางปฏิรูป
https://www.facebook.com/105031567814712/posts/501484594836072/
3.วิชาเอก
- วิชาเอกคณิตศาสตร์
https://www.facebook.com/105031567814712/posts/502143758103489/
- วิชาเอกชีวะ
https://www.facebook.com/105031567814712/posts/501444094840122/
- วิชาเอกเคมี
https://www.facebook.com/100003772681331/posts/2447374782064921/
- วิชาเอกฟิสิกส์
https://www.facebook.com/1444029485907167/posts/2958194144490686/
- วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป
https://www.facebook.com/105031567814712/posts/501999664784565/
- วิชาเอกวิทยาศาสตร์
https://www.facebook.com/100002461694703/posts/4777539045671438/?d=n
- วิชาเอกภาษาไทย
https://www.facebook.com/105031567814712/posts/502930458024819/
- วิชาเอกภาษาอังกฤษ
https://www.facebook.com/105031567814712/posts/502713324713199/
- วิชาเอกคอมพิวเตอร์
https://www.facebook.com/105031567814712/posts/502306311420567/
- วิชาเอกเกษตร
https://www.facebook.com/105031567814712/posts/502629464721585/
- วิชาเอกปฐมวัย
https://www.facebook.com/105031567814712/posts/503029474681584/
- วิชาเอกพละ
https://www.facebook.com/105031567814712/posts/502718381379360/
- วิชาเอกสุขศึกษา
https://www.facebook.com/105031567814712/posts/502349114749620/
- วิชาดนตรีสากล ดุริยางคศิลป์ ดนตรีศึกษา
https://www.facebook.com/129952712584283/posts/261450582767828/
#ข้อสอบ ปี 2566 (ออกโดยสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาค รวมทั้งสวนดุสิต)
@ข้อสอบ ภาค ก
1,วิชาการคิดวิเคราะห์
https://www.facebook.com/100057330014700/posts/775154641072196/
2.พาร์ทคณิตศาสตร์ วิชาคิดวิเคราะห์
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=775602184360775&id=100057330014700
3.วิชาข้าราชการที่ดี
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=775222457732081&id=100057330014700
4.วิชาภาษาอังกฤษ
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=775064907747836&id=100057330014700
@ข้อสอบ ภาค ข
1,วิชาการศึกษา
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=775818054339188&id=100057330014700
2.วิชากฎหมายการศึกษา
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=775841984336795&id=100057330014700
3.วิชาเอกคณิตศาสตร์
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=776275384293455&id=100057330014700
4.วิชากฎหมายคลัสเตอร์สุราษฎร์
https://www.facebook.com/100057330014700/posts/775786304342363/
5.วิชากฎหมาย คลัสเตอร์เชียงใหม่
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=775851554335838&id=100057330014700
เกี่ยวข้องกัน
สอบ 1.69 แสน ‘ครูผู้ช่วย’ ผ่าน 42,952 คน ชี้ออกแบบการสอบดีที่สุดแล้ว
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย รอบทั่วไป สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 ได้ดำเนินการสอบเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศผลสอบครูผู้ช่วยภาค ก และภาค ข ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาแต่ละเขต ซึ่งในการประกาศผลสอบนั้น ทำให้มีประเด็นถกเถียงในเรื่องของข้อสอบพบว่า กลุ่มคลัสเตอร์ที่ใช้ข้อสอบของมหาวิทาลัยสวนดุสิต (มสด.) เกณฑ์ผู้สอบผ่าน 30% อ.ก.ค.ศ.การศึกษาพิเศษใช้ข้อสอบของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เกณฑ์ผู้สอบผ่าน 40% ขณะที่กลุ่มคลัสเตอร์ที่ใช้ข้อสอบของมหาวิทาลัยราชภัฏ เกณฑ์ผ่าน 10% รวมถึงมีบางเขตพื้นที่ในวิชาเอกไม่มีผู้สอบผ่าน
โดยกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้น อาจทำให้บางเขตพื้นที่ได้ครูไม่ทันใช้ เนื่องจากไม่มีผู้สอบผ่าน ซึ่ง สพฐ. ได้วางแผนเบื้องต้นว่า หากเขตพื้นที่ไหนไม่มีผู้สอบผ่าน ทำให้ไม่ได้ครูเข้าไปทดแทนอัตราว่างนั้น จะให้ทำเรื่องขอใช้บัญชีจากเขตพื้นที่อื่นแทน แต่มีหลักการว่าจะต้องขอใช้บัญชีในจังหวัดเดียวกันก่อน หากจังหวัดเดียวกันไม่มี ก็ขอใช้บัญชีข้ามเขตได้ ดังนั้นตนคิดว่าการดำเนินการดังกล่าว น่าจะเพียงพอต่อการใช้ครูในปีนี้
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นที่มีเสียงสะท้อนจากผู้เข้าสอบที่ต้องการให้ข้อสอบเป็นมาตรฐานกลางนั้น ตนมองว่าไม่อยากให้มีการเปรียบเทียบกันระหว่างสาขาวิชาเอก เพราะปัญหาการสอบครั้งนี้ สพฐ. จะวิเคราะห์ต่อไปว่า ผู้ที่สอบไม่ผ่านจำนวนมากอาจมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ข้อสอบยากเกินไปหรือไม่ และข้อสอบวิชาเอกในวิชาอังกฤษและคณิตศาสตร์ที่กลุ่มผู้สมัครวิชาเอกอื่น เช่น พลศึกษา ดนตรีสากล มาสอบไม่ผ่านเกณฑ์ 60% เป็นต้น ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ สพฐ. จะให้มหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบวิเคราะห์ผลกระบวนการสอบว่ามีจุดด้อยอย่างไร และผู้สมัครที่สอบผ่านและที่สอบไม่ผ่านมาจากสาเหตุใดบ้าง ซึ่งตนเชื่อว่าการสอบครูผู้ช่วยรอบทั่วไปครั้งนี้ จะนำปัญหาต่างๆ ที่พบเรื่องข้อสอบ ไปวางแนวทางการสอบในอนาคต ที่จะมีข้อสอบที่เป็นมาตรฐานกลางต่อไป
“ที่ผ่านมา สพฐ. เคยเป็นหน่วยงานกลางผู้จัดจ้างมหาวิทยาลัยเดียวออกข้อสอบเอง แต่พอทำแล้วกลับมีเสียงสะท้อนออกมาว่า สาเหตุใดไม่ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่งที่อยู่ตามภูมิภาคเป็นผู้ออกข้อสอบเองจะดีกว่าหรือไม่ เพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏก็ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตครูอยู่แล้ว อีกทั้งเมื่อเรียนอยู่ภูมิภาคไหนก็จัดสอบตามภูมิภาคนั้น ซึ่งประเด็นนี้จึงเป็นที่มาของการกระจายตามกลุ่มคลัสเตอร์จับคู่กับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นออกข้อสอบ เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตครูออกมาเอง จึงเท่ากับว่ามหาวิทยาลัยได้ออกข้อสอบให้ลูกศิษย์ตัวเองได้สอบอยู่แล้ว ทั้งนี้ สพฐ. พยายามออกแบบการสอบอย่างดีที่สุดในการจัดสอบให้มีความเป็นธรรมและตอบโจทย์ความต้องการครูในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการได้ครูบรรจุใหม่ในท้องถิ่น จะได้ไม่ต้องทำเรื่องโยกย้ายกลับภูมิลำเนาบ้านเกิดของตัวเองอีก แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติกลับมีปัญหา ซึ่งจากนี้ไป จะต้องไปดูว่ามหาวิทยาลัยควรมีเป้าหมายและนำข้อมูลจากเสียงสะท้อนต่างๆ ไปปรับปรุง เพื่อการสอบครูผู้ช่วยครั้งต่อไป จะต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีผู้สอบผ่านภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ จำนวน 42,952 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 25.59 ของผู้เข้าสอบ โดยมีผู้เข้าสอบทั้งหมด 167,862 ราย
“อัมพร” เซ็งผลสอบครูผู้ช่วย'66 ชี้ สพฐ. ออกแบบการสอบดีที่สุดแล้ว แจงเคยเป็นหน่วยงานกลางออกข้อสอบเอง แต่กลับถูกมองว่าควรให้ มรภ. แต่ละแห่งตามภูมิภาคเป็นผู้ออกข้อสอบ เพราะเป็นผู้ผลิตบัณฑิตครู
ที่มา ; เดลินิวส์ 4 กรกฎาคม 2566
เกี่ยวข้องกัน
สพฐ.เต้นเร่งสางสาเหตุคัดครูผู้ช่วยไม่ผ่านอื้อ สั่งเช็กมาตรฐานข้อสอบ
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม จากกรณีเกิดกระแสวิจารณ์สำหรับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 เมื่อวันที่ 24-25 มิถุนายนที่ผ่านมานั้นมีอัตราว่าง 7,813 อัตราใน 63 กลุ่มวิชา ผู้มีสิทธิสอบภาค ก จำนวน 169,595 ราย โดยได้ประกาศผลสอบภาค ก และ ข แล้วเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา และจะมีการสอบภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง วิชาชีพ และการปฏิบัติงานในสถานศึกษา วันที่ 16 กรกฎาคม
ทั้งนี้ ในการสอบคัดเลือก มี 8 สถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้ออกข้อสอบคัดเลือกในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละจังหวัดที่รวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ 18 คลัสเตอร์ โดยสถาบันอุดมศึกษาที่ออกข้อสอบให้แต่ละคลัสเตอร์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มรภ.อุดรธานี มรภ.อุบลราชธานี มรภ.เชียงใหม่ มรภ.เชียงราย และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทั้งนี้ ในโลกโซเชียลได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ข้อสอบของเขตพื้นที่การศึกษาใน จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.อำนาจเจริญ ที่ออกโดย มรภ.อุบลราชธานี ว่าเน้นการท่องจำมากเกินไป เช่น ข้อสอบถามว่า ทีมแมนเชสเตอร์ซิตี้ คว้า 3 แชมป์ในฤดูกาลเดียวเป็นสมัยที่เท่าไร อันดับโลกของ ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ขณะเดียวกันยังมีการแสดงความเห็น มาตรฐานข้อสอบที่ออกแต่ละมหาวิทยาลัยอาจมีความแตกต่างกัน
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าการมอบหมายให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบตามกลุ่มจังหวัด ทั้ง 18 คลัสเตอร์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสอบแข่งขันที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด ทั้งนี้ เดิม สพฐ.จากกระจายอำนาจการจัดสอบลงไปที่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด แต่เนื่องจากเป็นการจัดสอบครูผู้ช่วยครั้งแรก หลังมีการถ่ายโอนงานบริหารบุคคล จากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) กลับคืนมาให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ดังนั้น จึงขอให้จัดสอบและออกข้อสอบรวมเป็นคลัสเตอร์จังหวัด ซึ่งแต่ละคลัสเตอร์ จะมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่อยู่แล้ว ดังนั้นจึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ดำเนินการออกข้อสอบ เพื่อความสะดวกในการจัดส่งสอบข้อสอบ ประหยัดค่าบริหารจัดการไปด้วย
นายอัมพร กล่าวต่อว่า ใน 18 คลัสเตอร์ มี 11 คลัสเตอร์ มอบหมายให้ มสด.เป็นผู้ออกข้อสอบ เนื่องจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญ ส่วนที่เหลือใช้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ตัวเอง โดยในส่วนที่ มสด.ออกข้อสอบ มีผู้สอบผ่านเฉลี่ยอยู่ที่ 32.25% ซึ่งถือว่าอยู่ในมาตรฐาน แต่คลัสเตอร์อื่น มีผู้สอบผ่านต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะข้อสอบค่อนข้างยาก อาทิ มรภ.เชียงใหม่ สอบผ่านแค่ 15% คลัสเตอร์ มรภ.อุดรธานี ประมาณ 10.40% แต่ที่หนักที่สุดคือคลัสเตอร์ มรภ.อุบลราชธานี สอบผ่านไม่ถึง 5% ดังนั้นจึงมอบหมายให้ นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ.ไปขอข้อมูลทุกมหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุว่า ที่สอบไม่ผ่านเพราะสาเหตุใด เพื่อเสนอคณะกรรมการ ก.ค.ศ. เพื่อปรับปรุงต่อไป
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 5 กรกฎาคม 2566
เกี่ยวข้องกัน
เลขาฯ สพฐ.ยอมรับข้อสอบครูผู้ช่วยยาก เพราะต้องคัดคนมาเป็น ‘แม่พิมพ์’
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า กรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 ว่าข้อสอบยากเกินไป ทำให้บางเขตพื้นที่การศึกษาไม่มีผู้สอบผ่านในสาขาที่เปิดรับสมัคร ขณะเดียวกันยังแสดงความเห็นกรณีมอบหมายให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบตามกลุ่มจังหวัด ว่าอาจทำให้ข้อสอบมีมาตรฐานไม่เท่ากันนั้น การมอบหมายให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบตามกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 คลัสเตอร์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสอบแข่งขันที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด
“ทั้งนี้ เดิม สพฐ.กระจายอำนาจการจัดสอบลงไปที่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด แต่เนื่องจากเป็นการจัดสอบครูผู้ช่วยครั้งแรก หลังมีการถ่ายโอนงานบริหารบุคคลจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) กลับคืนมาให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ดังนั้น จึงขอให้จัดสอบ และออกข้อสอบรวมเป็นคลัสเตอร์จังหวัด ซึ่งแต่ละคลัสเตอร์จะมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่อยู่แล้ว ดังนั้น จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ดำเนินการออกข้อสอบ เพื่อความสะดวกในการจัดส่งข้อสอบ ประหยัดค่าบริหารจัดการ และหากผู้เข้าสอบอยู่ในพื้นที่ตัวเองอยู่แล้ว สามารถสอบได้ จะช่วยแก้ปัญหาการย้ายออกจากพื้นที่ไปด้วย” นายอัมพร กล่าว
นายอัมพรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ใน 18 คลัสเตอร์ มี 11 คลัสเตอร์ มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) เป็นผู้ออกข้อสอบ เนื่องจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ยังไม่เชี่ยวชาญ ส่วนที่เหลือใช้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ตัวเอง โดยในส่วนที่ มสด.ออกข้อสอบ มีผู้สอบผ่านเฉลี่ยอยู่ที่ 32.25% ซึ่งถือว่าอยู่ในมาตรฐาน แต่คลัสเตอร์อื่นๆ มีผู้สอบผ่านต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะข้อสอบค่อนข้างยาก อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เชียงใหม่ สอบผ่านแค่ 15% คลัสเตอร์ มรภ.อุดรธานี สอบผ่าน 10.40% แต่ที่หนักที่สุดคือคลัสเตอร์ มรภ.อุบลราชธานี สอบผ่านไม่ถึง 5% ดังนั้น จึงมอบหมายให้นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ.ไปขอข้อมูลทุกมหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุว่าที่สอบไม่ผ่านเพราะสาเหตุใด เพื่อเสนอคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ปรับปรุงต่อไป
นายอัมพรกล่าวอีกว่า สำหรับเขตพื้นที่ฯ ที่ไม่มีผู้สอบผ่านในสาขาที่เปิดรับนั้น เบื้องต้นจะชดเชยส่วนหนึ่ง โดยจะให้เปิดสอบสาขาวิชาเอกที่ขาด ในการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว16) กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ สังกัด สพฐ.ซึ่งจะเปิดรับสมัครวันที่ 21-27 กรกฎาคม สอบข้อเขียนภาค ก ความรอบรู้และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู และสอบภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง วันที่ 19 สิงหาคม สอบสัมภาษณ์ วันที่ 20 สิงหาคม และประกาศผลสอบภายในวันที่ 24 สิงหาคม ขณะเดียวกันบัญชีของ กศจ.เดิมจะหมดอายุในเดือนกันยายนนี้ และจะต้องดำเนินการจัดสอบอีกรอบในปี 2567 ดังนั้น เขตพื้นที่ฯ ที่ยังขาดแคลนครูในสาขาวิชาเอกใด ก็สามารถเปิดสอบได้อีกครั้งในปี 2567
“ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องออกข้อสอบยาก ส่วนหนึ่งเพราะเป็นการสอบแข่งขัน เพื่อคัดเลือกคนเข้ามาเป็นครู ซึ่งต่างจากการสอบคัดเลือกครู ว16 ซึ่งจะคัดเลือกจากผู้ที่เป็นบุคลากรที่หน้าที่ปฏิบัติการสอน มีประสบการณ์อยู่แล้ว ดังนั้น ความยากง่ายของข้อสอบ จึงต้องมีความแตกต่างกัน” นายอัมพร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภาพรวมการจัดสอบแข่งขันครูผู้ช่วย ปี 2566 มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และ อ.ก.ค.ศ.สำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เปิดสอบรวม 205 แห่ง ใน 63 กลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ผู้มีสิทธิสอบภาค ก และภาค ข 169,595 คน เข้าสอบภาค ก และภาค ข รวม 167,862 คน ผู้สอบผ่านภาค ก และภาค ข เพื่อเข้ารับการประเมินภาค ค รวม 42,952 คน คิดเป็น 25.29%
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่ไม่มีผู้สอบผ่าน คือ ภาษาเวียดนาม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เลย หนองบัวลำภู และพระพุทธศาสนา สพม.ยะลา กลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่ไม่มีผู้สมัคร คือ ภาษาอังกฤษ สพม.แม่ฮ่องสอน และอรรถบำบัด สศศ.
เลขาฯ สพฐ.ยอมรับข้อสอบครูผู้ช่วยยาก เพราะต้องคัดคนมาเป็น ‘แม่พิมพ์’ เผยคลัสเตอร์ มรภ.อุบลฯ ผ่านไม่ถึง 5% เร่งวิเคราะห์หาสาเหตุ เปิดตัวเลขสอบครูผู้ช่วยปี’66 เกือบ 1.7 แสนราย สอบผ่าน 4.2 หมื่นคน
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 5 กรกฎาคม 2566
เกี่ยวข้องกัน
อลเวงข้อสอบ ทางออกครูผู้ช่วย
กลายเป็นประเด็นร้อนแรง เมื่อโลกโซเชียลแชร์ผลการสอบภาค ก และภาค ข ของผู้สอบแข่งขันเป็นครูผู้ช่วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุบลราชธานี เขต 2 มีผู้เข้าสอบ 1,347 ราย แต่ “สอบผ่าน” เพียง 32 ราย และพบว่า กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ดนตรีสากล และเกษตร/เกษตรกรรม/เกษตรศาสตร์ “ไม่มี” ผู้สอบผ่านเลยแม้แต่คนเดียว
นอกจากนี้ ยังวิจารณ์ “ข้อสอบ” ที่ออกโดย “มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุบลราชธานี” ว่าต้องการวัด “มาตรฐาน” ด้านใดของผู้ที่จะมาเป็นครู เพราะข้อสอบเน้นการท่องจำล้วน ๆ ซึ่งวัดอะไรไม่ได้นอกจากความจำ และวัดไม่ตรงจุดประสงค์
ที่ฮือฮาก็น่าจะเป็นคำถามเกี่ยวกับทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ 3 แชมป์ (ทริปเปิลแชมป์) เป็นสมัยที่เท่าไหร่ และถามถึงอันดับโลกของทีมวอลเลย์บอลหญิง ทั้งที่การแข่งขันรายการล่าสุดยังไม่จบ และอันดับยังเปลี่ยนแปลงได้อีก
เหล่านักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องมองว่าน่าจะเป็นเพราะ มรภ.อุบลราชธานี เป็น “มือใหม่” หัดออกข้อสอบ ไร้ประสบการณ์ ทำให้การตีความกรอบและหัวข้อในการออกข้อสอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) “ผิดเพี้ยน” ไป
ขณะที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) ออกข้อสอบรอบนี้มากถึง 11 คลัสเตอร์ มีประสบการณ์ในการออกข้อสอบครูผู้ช่วยมาหลายครั้ง ใช้วิธีเอาเนื้อหามาแต่งโจทย์ และให้ผู้เข้าสอบวิเคราะห์
จึงเกิดเสียงเรียกร้องให้ สพฐ. “ทบทวน” วิธีการใหม่ เนื่องจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำหน้าที่ออกข้อสอบแต่ละคลัสเตอร์ รวมทั้งประเทศ 18 คลัสเตอร์ มาตรฐานข้อสอบไม่เหมือนกัน เพื่อให้การ “สอบคัดเลือก” ครูผู้ช่วยเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดี มรภ.อุบลราชธานี ได้ชี้แจงดราม่าข้อสอบ ระบุว่าที่สอบผ่านกันน้อยเพราะการสอบภาค ก มีผู้สมัคร 1 หมื่นกว่าคน สอบได้ 2 พันกว่าคน แต่เมื่อสอบภาค ข มีผู้สอบผ่าน 400 กว่าคน ส่วนตัวคิดว่าข้อสอบภาค ก ใช้ได้ เมื่อดูตามวิชาเอกจะมีเฉพาะบางวิชาเอกที่สอบไม่ผ่าน เช่น ภาษาจีน ภาษาเกาหลี เป็นต้น ที่มีผู้สมัครน้อย เพียงวิชาเอกละ 2 คน และอีกวิชาเอกที่ไม่มีผู้สอบผ่านคือ พลศึกษา ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้เข้าสอบบางคนไปติวมาแต่ข้อสอบออกไม่ตรง เพราะเป็นครั้งแรกที่ สพฐ.ให้ มรภ.อุบลราชธานีช่วยออกข้อสอบ แต่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปสรุปและรายงานเพื่อดูความยากง่ายของข้อสอบ และการตรวจสอบมีข้อผิดพลาดหรือไม่
ขณะที่ นายสวงค์ บุญปลูก รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มสด. ในฐานะกำกับดูแลศูนย์บริการทดสอบของ มสด.และรับผิดชอบในการออกข้อสอบครูผู้ช่วยในรอบนี้ถึง 11 คลัสเตอร์ กล่าวว่า การออกข้อสอบครูผู้ช่วยจะยึดตามกรอบหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ค.ศ.กำหนด แบ่งเป็นหัวข้อ โดยมหาวิทยาลัยที่รับหน้าที่ออกข้อสอบต้องนำหัวข้อที่ได้ไปขยายความเพื่อออกข้อสอบให้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ โดย มสด.มองว่าหัวข้อที่กำหนดมาเป็นการกำหนดในภาพกว้าง จึงต้องออกข้อสอบให้เชื่อมโยงกับวิชาชีพครู ต้องสอดคล้องกับเทคโนโลยีและสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะเป็นการสอบแข่งขันคัดเลือกครูในปัจจุบันที่จะต้องไปสอนเด็กในอนาคต
ส่วนประเด็นดราม่าข้อสอบของบางมหาวิทยาลัยออกในลักษณะท่องจำ และมีคำถามเกี่ยวกับทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ นายสวงค์มองว่า อยู่ที่การตีความของมหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบ เข้าใจว่าอาจตีความในหัวข้อสภาพความเปลี่ยนแปลงในสังคม แต่ไม่ได้เชื่อมโยงกับวิชาชีพ อาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยยังขาดประสบการณ์
อย่างไรก็ตาม หากดูภาพรวมการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี 2566 ที่ผ่านมา มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ และ อ.ก.ค.ศ.สำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เปิดสอบรวม 205 แห่ง ใน 63 กลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ผู้มีสิทธิสอบภาค ก และภาค ข 169,595 คน เข้าสอบภาค ก และภาค ข รวม 167,862 คน มีผู้สอบผ่านภาค ก และภาค ข เพื่อเข้ารับการประเมินภาค ค รวม 42,952 คน หรือคิดเป็น 25.29% ของผู้เข้าสอบทั้งหมด
สำหรับกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่ไม่มีผู้สอบผ่านคือ “ภาษาเวียดนาม” ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เลย หนองบัวลำภู และ “พระพุทธศาสนา” ของ สพม.ยะลา ส่วนกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่ไม่มีผู้สมัครคือ “ภาษาอังกฤษ” ของ สพม.แม่ฮ่องสอน และ “อรรถบำบัด” ของ สศศ. ไม่เฉพาะคลัสเตอร์ที่ มรภ.อุบลราชธานี ที่มีเสียงวิจารณ์ว่าไม่ได้มาตรฐานและมีผู้ผ่านการคัดเลือกน้อย แต่มีอีกหลายๆ คลัสเตอร์ ที่เจอะเจอปัญหาเดียวกันนี้
จากการวิเคราะห์เบื้องต้นของ สพฐ.ในการสอบครูผู้ช่วย ปี 2566 แบ่งการจัดสอบเป็นคลัสเตอร์ตามกลุ่มจังหวัด 18 คลัสเตอร์ พบว่าข้อสอบที่ออกโดย มสด.มีผู้ผ่านเกณฑ์ 32.25% ส่วน มศว ออกข้อสอบให้ สศศ.มีผู้สอบผ่านกว่า 40% มรภ.เชียงใหม่ ผ่าน 15% ขณะที่ มรภ.อุดรธานี ผ่านประมาณ 10%
แต่ที่สาหัสที่สุดเห็นจะเป็น มรภ.อุบลราชธานี ที่สอบผ่านไม่ถึง 5% รวมถึงมหาวิทยาลัยทางภาคใต้ที่มีผู้ผ่านน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้ขาดแคลนครู
ทั้งนี้ ผู้บริหาร สพฐ. มอบให้ นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ. ไปขอข้อมูลจากทุกมหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ และวางแผนแก้ไขปัญหา ก่อนเสนอคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ส่วนแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะขอใช้บัญชีจากคลัสเตอร์ใกล้เคียงในแต่ละภาค หรือข้ามภาค จะพอกับตำแหน่งที่ว่างหรือไม่ แต่ถ้าไม่พอก็อาจจะต้องจัดสอบอีกรอบในคลัสเตอร์ที่จำเป็นและขาดแคลน
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ถ้าดูจากผลการสอบครั้งนี้คิดว่าในปี 2567 จะจัดสอบอีกครั้ง เพราะผลการขึ้นบัญชีอาจไม่เพียงพอต่อการเรียกใช้บัญชีในปีหน้า จะพอเฉพาะเรียกใช้ปี 2566 อย่างไรก็ตาม ต้องรอผลการวิเคราะห์อีกครั้ง รวมถึงจะส่งข้อมูลให้ ก.ค.ศ.วิเคราะห์หลักเกณฑ์และวิธีการว่าสาเหตุที่ทำให้ครูสอบผ่านน้อยเกิดจากปัจจัย หรือสาเหตุใด เช่น ข้อสอบยากเกินไป หรือบางวิชาผู้เข้าสอบไม่มีความถนัด เป็นต้น เมื่อได้ผลวิเคราะห์แล้วจะเสนอข้อมูลให้ ก.ค.ศ.ใช้ปรับปรุง
พร้อมเสนอ 2 แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น คือ 1.บางคลัสเตอร์มีผู้สอบผ่าน 30-40% ดังนั้น อาจให้เรียกใช้บัญชีจากคลัสเตอร์ที่มีผู้สอบผ่านเกินบัญชีก่อน และ 2.ถ้ายังไม่มีสาขาวิชาเอกที่เปิดรับจริงๆ ก็อาจต้องเปิดสอบใหม่
“บางมหาวิทยาลัยเพิ่งออกข้อสอบเป็นครั้งแรก จากนี้คงต้องนำข้อมูลจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาประมวลผล ทั้งความยากง่ายของข้อสอบ และสาขาวิชาเอกที่ไม่มีผู้สอบผ่าน เพื่อวิเคราะห์และหารือกับ ก.ค.ศ.เชื่อว่าการจัดสอบครั้งต่อไปจะไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้นอีก” นายอัมพรกล่าว
ส่วนสาเหตุที่ต้องออกข้อสอบ “ยาก” นายอัมพรมองว่า ส่วนหนึ่งเพราะเป็นการ “สอบแข่งขัน” เพื่อ “คัดเลือก” คนเข้าไปเป็นครู การจัดสอบครั้งนี้เป็นการกระจายอำนาจ ดังนั้น จะกระจายอำนาจให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ จัดสอบเหมือนเดิมเป็นทิศทางที่ดีที่สุดในเวลานี้ แต่ถ้าจะปรับจริงๆ เคยมีข้อเสนอให้สำนักงาน ก.ค.ศ.เป็นหน่วยงานกลางจัดสอบภาค ก และภาค ข แล้วนำผลการสอบไปยื่นกับเขตพื้นที่ที่เปิดรับเพื่อสอบภาค ค เช่นเดียวกับการสอบเข้ารับราชการพลเรือนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งหากทำได้จริงจะช่วยแก้ปัญหามาตรฐานข้อสอบ รวมถึงปัญหาอื่นๆ ให้หมดไป
ขณะที่ นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวว่า ได้หารือกับนายอัมพรแล้ว ที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ค.ศ.เคยมีความเห็นว่าควรจัดสอบโดยมาตรฐานกลาง แต่ สพฐ.อยากกระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่ และให้สถาบันอุดมศึกษาในแต่ละพื้นที่ออกข้อสอบ ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ.คาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดปัญหาเรื่องมาตรฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้น ต้องรอให้ สพฐ.สรุปข้อมูล เพื่อนำมาพิจารณาว่าจะปรับระบบการจัดสอบครั้งต่อไปอย่างไร
ต้องรอดูบทสรุปว่าผู้เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหา และจะมีทางออกอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อสอบมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ที่ใช้ในการคัดเลือกครู ขณะเดียวกันก็สามารถคัดกรองคนดี คนเก่ง และมีจิตวิญญาณความเป็นครู เข้าไปทำหน้าที่แม่พิมพ์ที่ดี
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 8 กรกฎาคม 2566
เกี่ยวข้องกัน
ร้องผลสอบครูผู้ช่วย ผิดปกติ สอบวิชาเอกได้ 0 คะแนนพรึบ ถามเขตพื้นที่ฯ กลับนิ่ง จี้สพฐ.ชี้แจง
กลายเป็นประเด็นดราม่าทันที หลังจากที่เริ่มมีการประกาศคะแนนสอบของผู้เข้าสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แต่กลับมีคลัสเตอร์การสอบหนึ่ง ที่อาจจะมีปัญหา หลังจากที่มีผู้เข้าสอบหลายคนมาร้องเรียนตามเพจ และโลกออนไลน์จำนวนมาก คือ การสอบในคลัสเตอร์ 14 ประกอบได้ด้วยจังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ที่ออกมาร้องเรียนถึงผลคะแนนที่ผิดปกติ โดยผู้เข้าสอบคนหนึ่งโพสต์คลิปลงใน TikTok ตั้งข้อสังเกตุ ว่า หลังจากประกาศผลสอบครูผู้ช่วยแล้ว พบว่า หลายเขตพื้นที่การศึกษา มีตัวเลขการสอบผ่านภาค ก. ข. ที่ดูแล้วอาจจะผิดปกติ เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 5 มีผู้เข้าสอบหลายคน ที่สอบวิชาเอกได้ 0 คะแนน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หรือในคะแนนความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ซึ่งวิชานี้ประกอบด้วยวิชาภาษาไทย และคณิสศาสตร์ จำนวน 100 คะแนน แต่กลับมีคนได้ 0 คะแนน ทั้งที่มหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) อุบลราชธานี ผู้รับผิดชอบในการข้อสอบ ออกประกาศมาว่า ข้อสอบ ภาค ก ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ มีการออกข้อสอบผิดพลาด ดังนั้นจะให้คะแนน ผู้เข้าสอบฟรี 1 คะแนน แต่เมื่อออกประกาศคะแนนจริงๆ แม้จะไม่สามารถทำได้เลย ก็ควรจะได้ 1 คะแนน แต่ที่น่าแปลกก็คือผู้เข้าสอบที่ได้ 0 คะแนนนั้น เรียนวิชาเอกคณิตศาสตร์มา ดังนั้นไม่มีทางที่จะได้ 0 คะแนน นอกจากนี้ ผู้เข้าสอบ เริ่มพบความผิดปกติหลายอย่าง เช่น กระดาษข้อสอบ บางห้องเกิน บางห้องไม่พอ ข้อสอบมีลักษณะที่ไม่เหมาะสม ไม่รู้ว่าต้องการวัดความรู้ ความสามารถอะไรกับผู้สอบ บางข้อสอบไม่อัพเดตเนื้อหาความถูกต้อง ที่สำคัญยังพบว่าเวลาไปสอบ เมื่อตรวจผู้เข้าผ่านเครื่องสแกน ไม่มีการร้องเตือนใดๆ ทั้งทีใส่แหวน นาฬิกาอยู่กับตัว ผู้เข้าสอบหลายคน ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อสอบ พอร้องไปที่เขตพื้นที่ฯ และมหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบ กลับนิ่งเฉย และที่สำคัญคือ พบว่าหลังจากประกาศคนสอบผ่าน ภาค ก และ ข และ ผ่านไปไม่กี่วันกลับมีประกาศผู้สอบผ่านเพิ่มเติม และมีประกาศออกมาเรื่อยๆ จึงอยากจะเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่ฯ มหาวิทยาลัยผู้ออกข้อสอบ และหน่วยงานที่ตรวจข้อสอบ ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อให้ผู้เข้าสอบสิ้นสงสัย และเพื่อความ ความโปร่งใส ความยุติธรรม
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 10 สิงหาคม 2566