ค้นหา

บอร์ดก.ค.ศ.ไฟเขียวเกณฑ์บรรจุผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ทุกส่วนราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้การคัดเลือกฯ ของทุกส่วนราชการ เป็นมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากโรงเรียนสังกัด สพฐ. ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนผู้บริหารสถานศึกษา ดังนั้นหากใช้เกณฑ์คัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษาเหมือนกันหมดทุกพื้นที่ ก็อาจทำให้เราไม่ได้ผู้บริหารที่จะไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ ดังนั้นการปรับเกณฑ์ดังกล่าวจะเอื้อให้แก่บุคคลที่อยู่ในพื้นที่นั้น เช่น ระดับรองผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล จะได้รับการพิจารณาบรรจุแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งจะได้ดำรงตำแหน่งในสถานศึกษานั้นๆ ได้นาน ไม่ต้องโยกย้ายไปไหนอีก

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแต่งตั้ง อ.ก.ค.ศ. กรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยให้มีการแต่งตั้งอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นประธานอนุกรรมการ พร้อมเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านกฎหมาย ด้านการศึกษา และด้านการเงินการคลังหรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานบุคคล ด้านละ 1 คน รวม 4 คน 

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำหรับการปรับแก้ระเบียบดังกล่าว ต้องการรองรับการแก้ไขปัญหาโรงเรียนในเขตพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกล เพราะที่ผ่านมา สพฐ. เจอปัญหาเรื่องการประกาศบรรจุแต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว แต่กลับไม่มีคนเข้าไปดำรงตำแหน่ง อีกทั้งเมื่อได้ผู้บริหารที่ถูกบรรจุแต่งตั้ง ก็อยู่ได้ไม่นานและขอย้ายออก ซึ่งประเด็นนี้ส่งผลต่อคุณภาพการบริหารจัดการศึกษา ดังนั้น สพฐ. จึงต้องขอปรับหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้เอื้อต่อผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ได้อยู่โรงเรียนอย่างน้อย 4 ปี 

ที่มา ; เดลินิวส์ 5 กรกฎาคม 2566

 

ขาวเกี่ยวกัน

ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 8/2566

ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)  ครั้งที่ 8/2566 วันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2566 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญเกี่ยวกับเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ

          เดิม ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ สังกัดสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/17 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 และตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ สำหรับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ สังกัดสำนักงาน กศน. ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/2 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2561 
         ในปัจจุบัน ก.ค.ศ. ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใหม่ (ว 3/2564) ดังนั้น การที่จะคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่พิเศษ จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะดังกล่าวแล้ว ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางการบริหาร และต้องคำนึงถึงทักษะการดำรงชีวิตในพื้นที่พิเศษด้วย ก.ค.ศ. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งฯ และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสรุปสาระสำคัญของ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ได้ดังนี้

          1. หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ใช้สำหรับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ทุกส่วนราชการใน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้การคัดเลือกฯ ของทุกส่วนราชการ เป็นมาตรฐานเดียวกัน 
         2. สถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ให้เป็นไปตามที่ส่วนราชการประกาศโดยคำนึงถึงพื้นที่ตั้งของ สถานศึกษา หรือพื้นที่ที่รับผิดชอบในการจัดการเรียนรู้ โดยอาจนำประกาศกระทรวงการคลังหรือกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมและเหมาะสมกับบริบทของแต่ละส่วนราชการ
        3. กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกตามมาตรฐานตำแหน่ง ว 3/2564
        4. ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง กำหนดตัวชี้วัดและคะแนนการ ประเมินตามองค์ประกอบการคัดเลือกที่ ก.ค.ศ. กำหนด 
        5. การประเมิน ให้ผู้ดำเนินการคัดเลือกประเมินตามองค์ประกอบที่ ก.ค.ศ. กำหนด ได้แก่

            1) ประวัติและประสบการณ์

            2) ประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา และผลงานที่ภาคภูมิใจ

            3) แนวคิดในการพัฒนาสถานศึกษาที่สมัครคัดเลือก

            4) สัมภาษณ์ เพื่อให้ได้บุคคลที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์ในการบริหารมีศักยภาพและทักษะในการดำรงชีวิต รวมทั้งมีเจตคติและอุดมการณ์ในการปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ
         6. กำหนดให้ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ต้องได้รับการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้มีการประเมิน 2 ครั้ง ทุก 6 เดือน เพื่อประเมิน การปฏิบัติงานในหน้าที่ และความเหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง เนื่องจากตำแหน่งผู้บริหาร สถานศึกษาเป็นตำแหน่งที่จะต้องขับเคลื่อนงานบริหารจัดการสถานศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของส่วนราชการ ต้นสังกัด และกระทรวงศึกษาธิการ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และคุณภาพการศึกษา รวมทั้งเพื่อให้เป็น มาตรฐานเดียวกับการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ทั่วไป
 

บอร์ดก.ค.ศ.ไฟเขียวเกณฑ์บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ 

ที่มา ; สำนักงาน ก.ค.ศ.

เกี่ยวข้องกัน

สพป.อำนาจเจริญ มึนมรภ.อุบลฯ ขอเพิ่มรายชื่อผู้สอบผ่านครูผช. บี้แจงเหตุผล  

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม นางปติมา กาญจนากาศ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) อำนาจเจริญ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่ประชุมคณะกรรมการ สพป.อำนาจเจริญวันนี้ มีมติให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)อุบลราชธานี ชี้แจงเหตุผลที่มีการเพิ่มเติมรายชื่อผู้สอบครูผู้ช่วยได้ ว่า ที่ให้มรภ.อุบลราชธานี ชี้แจง เพราะก่อนหน้านี้เราได้รับแจ้งว่า มีผู้เข้าสอบ 10 ท่าน ไปร้องมรภ.อุบลราชบุรี เกี่ยวกับข้อสอบที่ยากเกินไป ขอให้มีการตรวจสอบ 

จากนั้นเราก็ทราบมาว่า มรภ.อุบลราชธานี ก็ได้เพิ่มรายชื่อผู้สอบได้ขึ้นมาอีกในแต่ละเขต ซึ่งคลัสเตอร์มรภ.อุบลราชธานี มีทั้งหมด 14 เขต ขณะนี้ทราบว่ามรภ.อุบลราชธานี ได้มีหนังสือแจ้งไปยังทุกเขต บางเขตก็ได้รับหนังสือแล้ว บางเขตยังไม่ได้รับ อย่างสพป.อำนาจเจริญยังไม่ได้รับ เพราะเราจัดประชุมนอกสถานอยู่ที่มุกดาหาร จึงยังไม่ได้รับเอกสาร 

การประชุมในคลัสเตอร์เรา ได้ข้อสรุปว่า ถ้ามรภ.อุบลราชธานี จะเอารายชื่อผู้สอบผ่านเพิ่มมาให้เฉยๆ โดยไม่มีเหตุผลและหลักฐานชัดเจน เราจะไม่ยอมรับ เราไม่สามารถประกาศให้ได้ เพราะไม่รู้ว่ารายชื่อที่เพิ่มมามาจากไหน ทางมรภ.อุบลราชธานี จะต้องชี้แจงหลักการและเหตุผลที่ชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร ทำไมต้องมีการเพิ่มเติมรายชื่อ ซึ่งล่าสุดเราโทรไปถามมรภ.อุบลราชธานี และได้คำตอบว่าทางนั้นกำลังทำหนังสือชี้แจง นำเสนอให้อธิการบดีมรภ.อุบลราชธานี พิจารณาเพื่อลงนามอยู่” นางปติมากล่าว และว่า ทั้งนี้จากทั้งหมด 14 เขต ขณะนี้มีอยู่ 3 เขตที่ยังไม่ได้เปิดซองดู เพราะยังรอคำชี้แจงจากอธิการบดีมรภ.อุบลราชธานีอยู่ 

นางปติมา กล่าวว่า สพป.อำนาจเจริญ มีผู้เข้าสอบ 889 คน สอบผ่าน 19 คน ถือว่าน้อยมาก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเราก็ไม่เคยประกาศผลสอบบรรจุครูผู้ช่วยเพิ่มเติมมาก่อน ที่ผ่านมาประกาศครั้งเดียวก็จบ ฉะนั้นตอนนี้รอฟังคำชี้แจงจาก มรภ.อุบลราชธานีอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การทำข้อสอบ ตรวจข้อสอบ รวมถึงคะแนนสอบสัมภาษณ์ ทาง สพป.อำนาจเจริญ ส่งให้ทางมรภ.อุบลราชธานี ดำเนินการทุกอย่างจนถึงขั้นตอนการประกาศผลคะแนน ทางสพป.อำนาจเจริญ ไม่รู้ว่าใครได้กี่คะแนน ทางมรภ.อุบลราชธานีต้องรับผิดชอบเรื่องที่จะมีการประกาศรายชื่อเพิ่มในครั้งนี้ต่อสังคมให้กระจ่างด้วย 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 5 กรกฎาคม 2566

เกี่ยวข้องกัน

มรภ.อุบลฯ แจงเพิ่มชื่อผู้สอบครูผช.ผ่าน เหตุพบคำตอบกำกวม ให้คะแนนเพิ่มทุกคน ย้ำไม่มีผลต่ออันดับ

จากกรณีที่คณะกรรมการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อำนาจเจริญ มีมติให้มรภ.อุบลราชธานี ชี้แจงเหตุผลกรณีมีการเพิ่มเติมรายชื่อผู้สอบผ่านครูผู้ช่วยได้ภายหลังมีผู้เข้าสอบร้องเรียนว่าข้อสอบยากเกินไป โดยมรภ.อุบลราชธานีส่งรายชื่อเพิ่มเติมให้ โดยไม่ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลประกอบนั้น 

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม รศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) อุบลราชธานี ชี้แจงว่า มรภ.อุบลราชธานี ถือว่าถูกจ้างโดย สพป.คลัสเตอร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ โดย สพป.อุบลราชธานี เขต 1 เป็นหัวหน้าทีม พอผลมันมีความผิดพลาด มีการร้องเรียนว่าคะแนนอาจผิดพลาด ตรวจผิด ใช้เครื่องมือผิดพลาด ทางมหาวิทยาลัยจึงได้ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ในฐานะเป็นผู้รับจ้าง ไปตรวจสอบใหม่

ปรากฏว่ากรรมการฯ เห็นว่ามีคะแนนอยู่ 3 ข้อ ในวิชาความรู้ ความสามารถทั่วไปที่กำกวม เช่น มีคำตอบที่น่าจะถูกทั้ง 2 คำตอบในข้อเดียวกัน กรรมการฯ จึงสรุปว่าต้องยกประโยชน์ให้ผู้เข้าสอบทุกคน โดยเพิ่มคะแนนให้ 3 คะแนนทุกคน ฉะนั้นการเพิ่มคะแนนดังกล่าว ไม่มีผลต่ออันดับที่ 1 ของผู้ที่สอบได้อยู่แล้ว เพียงแต่จะมีผลกับกลุ่มที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่เดิมจะได้คะแนนอยู่ที่ 57, 58, 59 พอเพิ่ม 3 คะแนนดังกล่าว กลุ่มนี้ก็จะถึงเกณฑ์ 60% ซึ่งจะผ่านและขึ้นบัญชีไปเรียงต่อจากอันดับเดิม 

รศ.ธรรมรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการได้สรุปและเสนอมาที่ตน มหาวิทยาลัยก็ทำเรื่องส่งคะแนนและคำวินิจฉัยที่อาจจะเกิดความผิดพลาดหรือกำกวม ส่งไปที่เขตพื้นที่ฯ ต่างๆ ซึ่งทางเขตพื้นที่ฯ จะรับหรือไม่เป็นเรื่องของทางเขตพื้นที่ฯ เราทำตามหน้าที่ ทำตามคิวอาร์ เช่น ถ้าสพป.อำนาจเจริญ ไม่รับ ก็ต้องคุยกันในกลุ่มว่ารับหรือไม่รับ ก็ต้องสรุปมา ซึ่งไม่ควรไปออกข่าวทางสื่อมวลชน การออกข่าวคนละที ต่างคนต่างว่า 

เรื่องนี้เดิมทีเรากลัวที่สุด คือ เรื่องทุจริตข้อสอบ ข้อสอบรั่ว เป็นต้น ทุกคนกลัวกันหมด พอผลออกมากลายเป็นว่าคะแนนที่สอบผ่านน้อย แต่จริงๆ แล้วคนที่จะมาเป็นครูจะต้องเก่ง คนส่วนใหญ่ 80% สอบผ่านและคนที่ได้คะแนนกลางๆ ส่วนมากจะไม่ผ่าน แต่ในเมื่อมีผู้ร้องเรียน เราก็ต้องตรวจสอบ พบว่าเครื่องตรวจข้อสอบถูกต้อง ข้อสอบทำตามขั้นตอนทุกอย่าง เจอเพียงข้อสอบที่มีคำตอบกำกวม ซึ่งเราก็ยกประโยชน์ให้ผู้เข้าสอบทุกคน

ไม่มีใครเสียประโยชน์ ทุกคนได้เพิ่ม 3 คะแนนกันหมด เพียงแต่ก็มีผลทำให้คะแนนเพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 20 กว่าคน ซึ่งก็จะไปต่อคิวขึ้นบัญชีไว้ แต่ก็ไม่มีผลไปแซงคนที่ได้อันดับ 1, 2 , 3 ซึ่งหาก สพป.อำนาจเจริญ ไม่ยอมรับก็ต้องไปคุยกันในกลุ่มคลัสเตอร์ และให้ทำหนังสือมาเป็นทางการ ทางมหาวิทยาลัยก็จะตอบเป็นหนังสืออย่างเป็นทางการ” รศ.ธรรมรักษ์ กล่าว 

รศ.ธรรมรักษ์ กล่าวต่อว่า ทางมรภ.อุบลราชธานี ในฐานะสถาบันผลิตครู อาจารย์ทุกคนอยากให้ลูกศิษย์สอบได้ แต่การสอบได้ เราก็กลัวว่าข้อสอบจะรั่วไหล การออกข้อสอบครั้งนี้ เราแยกอาจารย์ที่ออกข้อสอบทั้งหมดสาขาละ 3 คน รวม 21 สาขา มาเก็บตัวที่ศูนย์ศิลปะ 7 วัน ยึดโทรศัพท์ ห้ามบุคคลภายนอกเข้าออก จ้างเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเฝ้าคนที่เข้าออก ซึ่งมันไม่ง่าย เพราะที่กลัวที่สุดคือเรื่องข้อสอบรั่วไหล 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 6 กรกฎาคม 2566

เกี่ยวข้องกัน

ส่อวุ่น ‘สพป.สุราษฎร์เขต 2’ เร่งถก ก.ค.ศ. แก้ปัญหาสอบครูผู้ช่วยผ่านน้อย ‘พละ-สังคม’ ยังขาด 

นายเลอศักดิ์ รัชณาการ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุราษฎร์ธานี เขต เปิดเผยว่า กรณีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 มีข้อสอบยากเกินไปนั้น ในส่วนของ สพป. เขต 2 กำหนดรับข้าราชการครูผู้ช่วย จำนวน 62 ตำแหน่ง ใน 9 วิชาเอก มีคะแนนผู้สอบผ่านเพียงร้อยละ 13 โดยเฉพาะวิชาเอกพลศึกษาไม่มีผู้สอบผ่านเกณฑ์ และทั้งภาพรวมของจังหวัดสุราษฎร์ธานีใน 4 เขต ทราบว่ามีผู้สอบผ่านเกณฑ์เพียง 1 รายเท่านั้น ในพื้นที่เขต 1 และยังพบว่าในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ก็มีผู้สอบผ่านเกณฑ์น้อยมาก ทำให้การบรรจุข้าราชการครูในครั้งนี้ยังขาดบุคลากรทั้งสองสาขา อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) ว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร 

นายเลอศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการสอบไม่ผ่านเกณฑ์ในส่วนของวิชาเอกพลศึกษา พบว่าผู้เข้าสอบเกือบทั้งหมดไม่สามารถผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 ในการสอบภาค ก.หรือความรู้ความสามารถทั่วไป แต่ในจำนวนที่ไม่ผ่านเกณฑ์เกือบทั้งหมดนั้น พบว่าการทำข้อสอบในภาค ข. ซึ่งเป็นความรู้ความสามารถเฉพาะวิชา สามารถทำคะแนนได้เกินกว่าร้อยละ 60 และถึงแม้ว่าจะนำผลคะแนนภาค ก และภาค ข มารวมกัน ได้เกินกว่าร้อยละ 60 ก็ตามยังถือว่าผู้สอบไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากระเบียบของสำนักงาน ก.ค.ศ. กำหนดให้ผู้สอบจะต้องผ่านเกณฑ์การสอบทั้งในภาค ก และภาค ข ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 

ตรงนี้เราเข้าใจว่า ปัญหาของผู้ที่เข้าสอบในวิชาเอกพลศึกษา จะมีปัญหาเกี่ยวกับความรู้ ในเรื่องวิชาพื้นฐาน เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และตรรกศาสตร์ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับระเบียบราชการ ส่วนในกลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม พบว่าในช่วงที่ผ่านมา สถาบันผลิตบุคลากรทางการศึกษา ได้ยกเลิกในรายวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงทำให้ในกลุ่มนี้ จะมีปัญหาเกี่ยวกับภาค ข คือความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง ซึ่งในการเปิดรับสมัครบุคลากรเข้าสอบแข่งขัน เพื่อเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้เปิดโอกาส ให้ผู้ที่จบในสาขาใกล้เคียง หรือมีสาระเนื้อหาของวิชาคล้ายๆ กัน สามารถสมัครสอบในกลุ่มนี้ได้ จึงทำให้มีผู้สอบผ่านเกณฑ์ได้น้อย” นายเลอศักดิ์กล่าว 

แหล่งข่าวจากสถาบันการศึกษาผู้ออกข้อสอบ ระบุว่า มหาวิทยาลัยออกข้อสอบตามมาตรฐานที่ ก.ค.ศ.กำหนด เพราะเป็นวิชาการพื้นฐานที่ผู้จะเข้ารับราชการควรจะต้องสอบให้ผ่าน เช่นเดียวกับการสอบบรรจุเข้ารับราชการของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 6 กรกฎาคม 2566

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น