ค้นหา

ชงรื้อระบบสอบครูผู้ช่วย ให้ ‘ก.ค.ศ.’ จัดสอบเหมือน ก.พ.

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่สวนนงนุช จ.ชลบุรี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ โดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมกว่า 500 คน ว่าการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ผู้บริหารเขตพื้นที่ได้มาดูระบบบริหารจัดการ การจัดทำแหล่งเรียนรู้ของสวนนงนุชว่ามีวิธีคิดและวิธีปฏิบัติอย่างไร เพื่อนำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตัวเอง 

นายอัมพรกล่าวว่า รวมถึงอยากให้หาวิธีเปิดโอกาสให้นักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มที่ด้อยโอกาสได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ นอกจากนี้ จะเป็นการติดตามการดำเนินการ โดยเฉพาะระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 สพฐ.ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งการเยี่ยมบ้านนักเรียน ให้ครูและโรงเรียนเข้ามาดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทั้งด้านอารมณ์ สังคม สุขภาพร่างกาย เพื่อให้เด็กมีต้นทุนที่พร้อมในการเรียนรู้ โดยเฉพาะหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมากมาย 

นายอัมพรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เมื่อนักเรียนมีความพร้อมแล้ว สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการเตรียมครูผู้สอนให้พร้อม ซึ่งทางเขตพื้นที่จะต้องวางแผนการบริหารจัดการอัตรากำลัง ทั้งเรื่องของการสรรหา บรรจุแต่งตั้งครูและผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงการบริหารจัดการบุคลากรภายในโรงเรียนที่บางแห่งจำนวนเด็กลดลง แต่อัตราครูยังมีอยู่เท่าเดิม ก็ต้องไปดูว่าจะสามารถเกลี่ยอัตราในส่วนที่เกินไปในตำแหน่งใดได้บ้าง ตรงนี้เป็นเรื่องการบริหารจัดการคน รวมถึงเรื่องบริหารจัดการงบประมาณ ซึ่งจะต้องเร่งรัดเบิกจ่ายให้ทันภายใน 3 เดือนก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2566 

นายอัมพรกล่าวด้วยว่า และประการสุดท้ายเป็นเรื่องวิชาการ ที่ผ่านมามีการพูดคุยเรื่องการเรียนรู้ในรูปแบบแอ๊กทีฟเลิร์นนิ่ง ในช่วง 1-2 ปีหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พูดถึงปัญหา Learning loss หรือภาวะการเรียนรู้ถดถอย พูดถึงการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอซีที เข้ามาจัดการการเรียนรู้ ดังนั้น สุดท้ายแล้วจะต้องมาสรุปว่าวิธีการเติมเต็มความรู้ให้กับเด็กนั้นควรมีกี่วิธี และแต่ละกลุ่มจะมีวิธีการเติมเต็มอย่างไร โดยมีเป้าหมายหลักคือคุณภาพผู้เรียน 

ส่วนเรื่อง การสอบครูผู้ช่วย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีครูสอบผ่านได้น้อยนั้น อยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้มีผู้สอบไม่ผ่านจำนวนมาก เพื่อดูว่ามหาวิทยาลัยฝ่ายผลิตเองจะต้องปรับระบบการเรียนการสอนอย่างไร รวมถึงจะต้องส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปพิจารณาด้วยว่าควรจะต้องปรับหลักเกณฑ์การสอบแข่งขันในส่วนใดเพื่อให้ผู้เข้าสอบสามารถสอบบรรจุได้มากขึ้น 

วันนี้หลายฝ่ายยังสับสน แม้แต่ ก.ค.ศ.เองก็ออกมาระบุว่า สพฐ.ไม่อยากให้ส่วนกลางออกข้อสอบ ซึ่งความจริงไม่ใช่ และหากเป็นไปได้ในอนาคตผมอยากให้สำนักงาน ก.ค.ศ.เป็นหน่วยงานกลางดำเนินการจัดสอบ ภาค ก และภาค ข ปีละ 2 ครั้ง คล้ายกับการสอบคัดเลือกข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รวมถึงควรจะต้องมีคลังข้อสอบที่มหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมกันออกอย่างมีมาตรฐาน หากหน่วยงานใดจะจัดสอบก็สุ่มเลือกข้อสอบและจัดสอบโดยหน่วยงานกลาง และถ้าเขตพื้นที่ใดมีอัตราว่างก็นำคะแนนไปยื่นสมัครเพื่อสอบสัมภาษณ์ ภาค ค ได้ทันที ตรงนี้จะทำให้การจัดสอบมีความโปร่งใส เป็นธรรม สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ 

ขณะเดียวกันหากมีบัญชีที่สอบไว้เหมือน ก.พ.ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาการโย้กย้าย เพราะครูสามารถเลือกโรงเรียนด้วยความสมัครใจ ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่ไม่สามารถควบคุมเรื่องการโยกย้ายได้ ปัญหาทั้งหมดผมไม่อยากให้เป็นการแก้แบบย้อนกลับไปกลับมา อยากให้ถอดบทเรียนและแก้ไขไปข้างหน้า เพราะการให้ส่วนกลางจัดสอบและออกข้อสอบก็เคยดำเนินการมาแล้ว โดย สพฐ.ก็จ้างมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) ออกข้อสอบ ตอนนั้นก็บอกว่าไม่ดี ไม่กระจายอำนาจ แต่พอปรับมา กระจายอำนาจให้เขตพื้นที่ดำเนินการก็กลับอยากให้ส่วนกลางจัดสอบอีก ซึ่งในมุมมองของผมเห็นว่าการกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่ดี แต่มหาวิทยาลัยต้องไปดูเรื่องการออกข้อสอบให้สามารถคัดเลือกคนมาเป็นครูได้อย่างเหมาะสม จากนี้ต้องดูว่าต่อไปจะทำอย่างไรให้ดีกว่าเดิม คุ้มค่ากับงบประมาณ รวมถึงสามารถบรรจุแต่งตั้งครูได้ทันก่อนเปิดภาคเรียน” นายอัมพรกล่าว 

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้ได้มอบเป็นข้อเสนอกับที่ประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่แล้ว ส่วนแนวทางแก้ปัญหา โรงเรียนที่ยังมีครูไม่ครบเพราะมีผู้สอบผ่านได้น้อยนั้น เบื้องต้นจะใช้อัตราจากการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว16) กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ สังกัด สพฐ. ซึ่งจะเปิดรับสมัครวันที่ 21-27 กรกฎาคม สอบข้อเขียนภาค ก ความรอบรู้และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู และสอบภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง วันที่ 19 สิงหาคม สอบสัมภาษณ์ วันที่ 20 สิงหาคม และประกาศผลสอบภายในวันที่ 24 สิงหาคม มาชดเชยอัตรากำลังที่ขาดก่อน 

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า หากยังไม่เพียงพอ จะให้มีการขอใช้บัญชีข้ามเขตในพื้นที่ที่มีการสอบขึ้นบัญชีไว้เกินกว่าอัตราที่เปิดรับ อาทิ พื้นที่ที่จัดสอบโดย มสด. ซึ่งมีผู้สอบผ่านได้มาก หรือหากขอใช้บัญชีแล้วยังวิกฤตอยู่ก็ค่อยมาดูว่าจำเป็นต้องจัดสอบอีกรอบหรือไม่ ทั้งหมดนี้ต้องหาข้อสรุปหลังจากมีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการ ก.ค.ศ.และมหาวิทยาลัยฝ่ายผลิตร่วมกันตัดสินใจ 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 11 กรกฎาคม 2566

 

เกี่ยวกัน

ครูรุ่นใหม่แห่ออกหลังได้บรรจุ เหตุระบบเน่าเฟะ วัดมืออาชีพจากรางวัล ซัด สพฐ.เมินแก้

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า กรณีมีดราม่าเรื่องการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 ที่ข้อสอบยากเกินไป ทำให้บางเขตพื้นที่ฯ ไม่มีผู้สอบผ่านในสาขาที่เปิดรับสมัคร ขณะเดียวกันยังแสดงความเห็นกรณีมอบหมายให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบตามกลุ่มจังหวัด ว่าอาจทำให้ข้อสอบมีมาตรฐานไม่เท่ากันนั้น การสอบครูผู้ช่วยเกิดความผิดพลาดปีแล้วปีเล่า เป็นบทเรียนที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข มองว่าประเทศไทยใช้คำว่าถอดบทเรียน ฟุ่มเฟือยมาก แต่เมื่อเกิดอะไรที่ผิดพลาด ก็ไม่เคยแก้ไขเลย เกิดแล้วก็เกิดซ้ำ ไม่เคยแก้ไขปรับปรุง มีแต่ปกป้องระบบที่มีอยู่ 

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า มองว่าการสอบครูผู้ช่วยสะท้อนเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งของวงการการศึกษาไทย คือแค่การตั้งต้นชีวิตการเป็นครู ก็ต้องสอบเอาเป็นเอาตายแล้ว ทั้งที่การบรรจุครูไม่ใช่จำเนื้อหาในการสอบเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องวัด และดูเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย ทำให้เห็นว่าการสอบที่เน้นเนื้อหาเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาไทย ไม่สามารถแก้ไขได้เลย และไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเมื่อคนที่สอบผ่าน และได้รับการบรรจุเข้าเป็นครู จะสอนหนังสือโดยเน้นการสอบเป็นหลัก 

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ไม่แปลกใจเช่นกันว่า การสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือการสอบเป็นครูผู้ช่วย ข้อสอบยากมาก และวัดแค่เนื้อหา แต่ไม่ตอบแก่นสาระวิชาชีพของความเป็นครู และไม่ตอบโจทย์สิ่งที่ควรจะวัดเลย เช่น ให้จำปี พ.ศ.หรือให้จำมาตราของกฎหมาย หรือว่าทีมฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้แชมป์ 3 แชมป์ (ทริปเปิลแชมป์) เป็นสมัยที่เท่าไหร่ ขอถามว่าคำถามเหล่านี้ สามารถเชื่อมโยงให้เราได้ครูที่ดี มีความสามารถในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนอย่างไร การสอบวัดแบบนี้ จะทำให้ได้คนที่มีความตั้งใจ คนที่รักวิชาชีพมาเป็นครูหรือไม่ 

เมื่อคนเหล่านี้สอบผ่านเป็นครูแล้ว จะพบว่าครูพวกนี้ ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน และปัจจุบันจะเห็นว่ามีครูจำนวนไม่น้อยที่สอบบรรจุได้แล้วลาออก เพราะสิ่งที่ครูรุ่นใหม่คาดหวัง และต้องการ กับชีวิตครูในความเป็นจริง ไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้ทำงานไม่นานก็ลาออกเป็นจำนวนมาก โดยที่ส่วนกลาง จะมองว่าสาเหตุที่ครูรุ่นใหม่ลาออกเพราะเหตุผลส่วนตัว แต่ไม่เคยดูเลยว่าระบบที่ได้ครูมา และระบบที่ให้ครูทำงาน ไม่มีความสุข” นายสมพงษ์ กล่าว 

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวว่า จากการวิจัยล่าสุด พบว่าครูไทยส่วนใหญ่ต้องมีรางวัล จึงจะการันตรีเรื่องการเป็นครูมืออาชีพ และการที่ได้รับรางวัล จะไปโยงกับการทำเอกสารจริงปนเท็จ นอกจากนี้ ต้องทำคลิปวิดีโอตัดต่อในการประกวดเพื่อรับรางวัล สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้วิชาชีพครูตกต่ำลงไปอีก ครูรุ่นใหม่เริ่มเห็นความเน่าเฟะของระบบครูที่ผิดแผกแตกต่างจากระบบการจัดการศึกษาทั่วโลก ทุกประเทศวัดครูที่ดีจากพฤติกรรม การจัดการเรียนการสอนของครู แต่ไทยกลับดูที่รางวัล การจัดทำเอกสารของครู ถ้ายังไม่ปฏิรูประบบการฝึกหัดครู ระบบสอบบรรจุครู และระบบการทำงานของครู เราไม่มีทางเดินหน้าพัฒนาการศึกษาไทยได้เลย 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 11 กรกฎาคม 2566

ข่าวเกี่ยวกัน

บิ๊กร.ร.’ ชงแก้เกณฑ์เฟ้นครูห่างไกล-กันดาร เปิดช่องอัตราจ้างเข้ารับการประเมิน ไม่ต้องสอบ 

 

นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ) ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา (ว 19/2566) สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ซึ่งเป็นพื้นที่เกาะ หรือบนภูเขาสูงหรือเป็นหุบเขา หรือพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารที่ไม่สามารถเดินทางด้วยพาหนะใดๆ ได้สะดวกตลอดปี หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ หรือพื้นที่อื่นใด โดยจะใช้วิธีการประเมินประวัติและประสบการณ์ ประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา เป็นต้น นั้น 

 

ส่วนตัวคิดว่า เป็นหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม เชื่อว่าจะสามารถจูงใจให้มีผู้สมัครมาเป็นผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น แก้ปัญหาโรงเรียนขาดแคลนผู้บริหารสถานศึกษา แต่อยากให้เพิ่มในเรื่องการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะให้ใช้วิธีการประเมิน ตาม ว 13/2556 หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญทุกตำแหน่ง แทนการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ว 9/2564) หรือเกณฑ์ PA (Performance Agreement) ทั้งนี้เพราะการประเมิน PA อาจไม่สะดวกในเรื่องอุปกรณ์ และอินเตอร์เน็ต ดังนั้นจึงคิดว่า การประเมินเชิงประจักษ์จากบริบทการทำงานในพื้นที่จริง น่าจะเหมาะสมมากกว่า 

ในส่วนของครูผู้สอน ก็มีปัญหาขาดแคลนเช่นเดียวกับผู้บริหารโรงเรียน ประกอบกับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 ที่ผ่านมา ก็มีผู้สอบผ่านเพียง 25% ไม่เพียงพอต่อการบรรจุแต่งตั้ง และแน่นอนว่า โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เกาะแก่ง ไม่มีใครอยากมาบรรจุ ดังนั้น จึงอยากให้ปรับวิธีการคัดเลือกมาใช้ การคัดเลือกโดยวิธีพิเศษ เช่นเดียวกับการคัดเลือกรองผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียน โดยเปิดโอกาสให้พนักงานราชการ หรือครูอัตราจ้างที่ทำงานในโรงเรียนนั้นๆ อยู่แล้ว มีโอกาสเข้ารับการประเมินความเหมาะสม และกำหนดระยะเวลาให้ครูที่ได้รับการคัดเลือก ต้องปฏิบัติหน้าที่ ไม่น้อยกว่า 4-5 ปีถึงสามารถขอย้ายได้ หากสามารถทำได้ คิดว่าจะแก้ปัญหาขาดแคลนครูได้อย่างรวดเร็ว 

นายณรินทร์กล่าวต่อว่า ส่วนการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว 16) ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานหรือลูกจ้างในโรงเรียนที่ปฏิบัติงานสอนไม่น้อยกว่า 3 ปีมีโอกาสสมัครอยู่แล้วนั้น ก็ยังไม่ช่วยแก้ปัญหา เพราะการคัดเลือกดังกล่าว ก็ยังใช้วิธีการสอบ ไม่ใช่การประเมิน เช่นเดียวกับการคัดเลือกรองผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียน 

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปดูข้อเท็จจริง และความเป็นมา หากพบว่า โรงเรียนดังกล่าวมีปัญหาจากครูมานาน และไม่มีครูไปบรรจุแต่งตั้ง หากได้ครูในพื้นที่ไปทำงาน ก็จะเป็นประโยชน์ แต่เรื่องนี้ สพฐ. มีโครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งทำร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ให้ทุนนักเรียนในพื้นที่ได้เรียนครู และกลับไปพัฒนาท้องถิ่นอยู่แล้ว ดังนั้นข้อเสนอที่ให้จัดประเมินเพื่อคัดเลือกเช่นเดียวกับการคัดเลือกผู้บริหารโรงเรียนนั้น จึงต้องไปดูความเหมาะสม และความจำเป็นประกอบด้วย 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 18 กรกฎาคม 2566

เกี่ยวข้องกัน

เตรียมจัดทำข้อสอบมาตรฐานกลางใช้บรรจุครูผู้ช่วย 

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ หรือ ว16 สังกัดสำนักงาคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2566 ซึ่งมีจำนวนอัตราว่างทั้งสิ้น 8,061 อัตรา โดยเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 21-27 ก.ค. 2566  สอบข้อเขียน ภาค ก ความรอบรู้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู ภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง วันที่ 19 ส.ค. 2566 สอบสัมภาษณ์ วันที่ 20 ส.ค. 2566 และประกาศผลการคัดเลือก ภายในวันที่ 24 ส.ค. 2566 นั้น ซึ่งเป็นการสอบที่เปิดโอกาสให้แก่กลุ่มครูอัตราจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่การสอนในสถานศึกษามาเป็นเวลานานหลายปี ได้มีโอกาสสอบบรรจุเป็นข้าราชการ ทั้งนี้การจัดสอบดังกล่าว ตนขอให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยต้องให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย 

ส่วนประเด็นการสอบครูผู้ช่วยรอบทั่วไปที่มีการดำเนินเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน และมีเสียงสะท้อนถึงการออกข้อสอบที่ไม่ได้มาตรฐาน จนมีข้อเสนอให้มีการจัดทำข้อสอบที่เป็นมาตรฐานกลางนั้น ขณะนี้ได้รับทราบว่า สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำลังวิเคราะห์ข้อสอบจากกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆ อยู่ว่า มีจุดด้อยอย่างไร และผู้สมัครที่สอบผ่านและที่สอบไม่ผ่านมาจากสาเหตุใดบ้าง โดยเจตนารมณ์ของการออกข้อสอบตามกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆ ก็เพื่อต้องการให้เกิดการกระจายอำนาจและมีความโปร่งใสในการปฏิบัติ อีกทั้งสถานศึกษาที่ออกข้อสอบเป็นสถาบันที่ผลิตนักศึกษาครูออกมาเอง จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เมื่อผลสอบออกมาที่ไม่ได้มาตรฐานกลางเช่นนี้ เราจำเป็นจะต้องถอดบทเรียน เพื่อวางแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคต ซึ่งเร็วๆ นี้ จะได้ข้อสรุปทั้งหมดและมีข้อสอบที่เป็นมาตรฐานกลางในการสอบครูผู้ช่วยครั้งต่อไปอย่างแน่นอน” รมว.ศธ. กล่าว 

สำหรับการสอบครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ มีจำนวนอัตราว่างทั้งสิ้น 8,061 อัตรา แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 181 เขต พื้นที่ปกติ 5,487 อัตรา พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) 393 อัตรา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) พื้นที่ปกติ 219 อัตรา พื้นที่ จชต. 13 อัตรา และสำนักงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) พื้นที่ปกติ 1,831 อัตรา พื้นที่ จชต. 118 อัตรา โดยมีกลุ่มวิชาที่เปิดสอบคัดเลือก 50 กลุ่มวิชา

 

รมว.ศึกษาธิการ เผย ก.ค.ศ. จับมือ สพฐ. รื้อระบบการออกข้อสอบครูผู้ช่วยใหม่ พร้อมวิเคราะห์สาเหตุเนื้อหาข้อสอบครูผู้ช่วยรอบที่ผ่านมา เตรียมจัดทำข้อสอบมาตรฐานกลาง ใช้บรรจุครูผู้ช่วยรอบใหม่ในอนาคต 

ที่มา ; เดลินิวส์ 19 กรกฎาคม 2566

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

บิ๊กร.ร.’ ชง ‘ตรีนุช’ โละสอบครูผู้ช่วย ว16 หลังพบสอบผ่านไม่พอบรรจุแต่งตั้ง อัตราว่างกว่า8 พันตน. 

นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนพร้อมด้วยผู้บริหารโรงเรียนที่เป็นสมาชิกสมาคมส.บ.ม.ท. ได้เข้าพบ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อหารือ แนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนครู โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่พิเศษ ซึ่งเป็นพื้นที่เกาะ หรือบนภูเขาสูงหรือเป็นหุบเขา หรือพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารที่ไม่สามารถเดินทางด้วยภาหนะใดๆ ได้สะดวกตลอดปี หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ หรือพื้นที่อื่นใด ทั้งนี้ทางส.บ.ม.ท. ได้เสนอขอให้ปรับวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว16) ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานหรือลูกจ้างในโรงเรียนที่ปฏิบัติงานสอนไม่น้อยกว่า 3 ปีมีโอกาสสมัครอยู่แล้ว จากเดิมที่ใช้วิธีการสอบคัดเลือก มาเป็นวิธีการประเมิน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการศธ. ให้ความสนใจแนวทางดังกล่าว และขอให้ทางส.บ.ม.ท. จัดทำรายละเอียด เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการศธ. พิจารณาอีกครั้ง 

นายณรินทร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวเสนอเพื่อใช้คัดเลือกครูตามว16 จากทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนห่างไกลเท่านั้น เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลจากทางสำนักงบประมาณ พบว่า ขณะนี้มีอัตราว่างตามว16 ว่างอยู่กว่า 8 พันอัตรา สาเหตุเพราะทุกครั้งที่เปิดสอบ จะมีผู้สอบได้เพียง 25% ไม่เพียงพอต่อการบรรจุแต่งตั้ง โดยสาขาที่สอบได้ส่วนใหญ่ จะเป็นสาขาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และสังคมศาสตร์ แต่ยังมีสาขาอื่นที่เป็นความต้องการและสอบได้น้อยอีกจำนวนมาก เช่น พลศึกษา การงานพื้นฐานอาชีพ ที่จะสอบเข้าได้น้อย ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงเสนอให้ยกเลิกการสอบว16 และใช้วิธีการประเมินเพื่อรับเข้าบรรจุแต่งตั้ง โดยผู้สมัคร จะต้องปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือ 3 ปี โดยอยากให้ใช้คัดเลือกครูผู้ช่วยตามว16 ในปีนี้เลย ส่วนการสอบว16 ที่จะเปิดรับสมัครวันที่ 21-27 กรกฎาคม สอบข้อเขียนภาค ก ความรอบรู้และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู และสอบภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง วันที่ 19 สิงหาคม สอบสัมภาษณ์ วันที่ 20 สิงหาคม และประกาศผลสอบภายในวันที่ 24 สิงหาคมนั้น ก็จัดสอบและบรรจุแต่งตั้งไปตามปกติ แต่ถ้ามีอัตราเหลือก็ให้โรงเรียนคัดเลือกตามวิธีพิเศษ 

เชื่อว่าทำแบบนี้จะแก้ปัญหาขาดแคลนครูได้ และยังเป็นการเคลียร์อัตรา ว16 ที่ยังค้างไม่มีการบรรจุแต่ตั้งอีกกว่า 8 พันอัตราให้หมดไปด้วย โดยที่ผ่านมา ผมและผู้อำนวยการโรงเรียนในกลุ่มส.บ.ม.ท. ได้หารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อขออัตราธุรการ ภารโรง ซึ่งยังขาดแคลนอีกจำนวนมาก แต่ทางสำนักงานชี้แจงมาว่า ไม่สามารถจัดสรรให้ได้ เพราะยังมีอัตราว่างที่ยังไม่ได้ใช้อย่าอีกกว่า 8 พันอัตราซึ่งก็คือ ครูผู้ช่วย ตามว16 สาเหตุที่มีอัตราเหลือจำนวนมาก เพราะแต่ละปี มีผู้สอบผ่านแค่25% ดังนั้นหากเลคียร์อัตราว่างในส่วนนี้ได้ ก็จะดำเนินการผลักดันขออัตราธุรการและภารโรงต่อไป ” นายณรินทร์ กล่าว 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น