ในระหว่างที่สังคมให้ความสนใจกับข่าวการเลือกนายกรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลจะมีใครบ้าง แต่ไม่ว่าจะใครจะเป็นรัฐบาล การเข้ามาบริหารจัดการมีความยากและยากยิ่งกว่ารออยู่ เพราะสถานะการคลังในวันนี้ “ไม่มีเงิน”
แม้ว่าปีนี้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 คาดว่าจะล่าช้ากว่ากำหนดไม่เกิน 6 เดือน โดย“งบประจำ” สามารถใช้หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบประมาณปีก่อนไปพลางๆ ก่อนได้ ส่วนงบลงทุนต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ ปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับนโยบาย เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ก่อน ถึงจะเริ่มเบิกจ่ายงบลงทุนได้
ท่ามกลางความล่าช้า กระทรวงการคลังได้ทบทวนสถานการณ์การทางการคลัง รายรับ รายจ่าย และหนี้สินของรัฐบาล รวมทั้งยังจัดทำเป็นแผนการคลังระยะปานกลางในปีงบประมาณ 2566-2570 (medium term fiscal framework หรือ MTFF) เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการคลังในอนาคต และแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษี 22 รายการ เพื่อหารายได้ให้มากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากความสามารถในการหารายได้ของรัฐบาลเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
· เศรษฐกิจฟื้น แต่ขีดความสามารถหารายได้รัฐบาลลดลง
หากสำรวจรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2557 การหารายได้มีสัดส่วนอยู่ 18.31% ของ GDP ปีงบประมาณ 2566 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 13.36% ของ GDP แม้ปีงบประมาณ 2567 คาดว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 หากกระทรวงการคลังไม่ดำเนินการปรับโครงสร้างภาษี คาดว่าในปีงบประมาณ 2570 สัดส่วนรายได้ของรัฐบาลเมื่อเทียบกับ GDP จะอยู่ที่ 13.22%
ในด้านรายจ่ายรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นตลอด 35 ปีที่ผ่านมา มีการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลอยู่ 6 ครั้ง ที่เหลือใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายมากกว่ารายได้ และใช้วิธีการออกพันธบัตรกู้เงินมาชดเชยการขาดดุล พูดง่ายๆ ก็คือ กู้เงินมาใช้จ่ายนั่นเอง
เมื่อประสบวิกฤติเศรษฐกิจในแต่ละช่วง อาทิ น้ำท่วมใหญ่ปี 2544, การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ไม่มีเงินงบประมาณเพียงพอที่จะนำมาใช้แก้วิกฤติเศรษฐกิจ ทางออกที่ทำได้คือออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้ยืมเงิน หนี้สาธารณะจึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นภาระที่รัฐบาลต้องจัดงบประมาณมาชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้จัดงบประมาณมาชำระหนี้ในส่วนเงินต้น 100,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยอีก 199,450 ล้านบาท และชดใช้เงินคงคลังอีก 597 ล้านบาท
ทั้งนี้ยังไม่รวมกับสิ่งที่รัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา ใช้นโยบายกึ่งการคลัง สั่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ดำเนินโครงการ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลชดเชยค่าใช้จ่าย การสูญเสียรายได้จากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ที่เรียกว่า “ภาระผูกพัน ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561” พูดง่ายๆ ก็คือ ให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเหล่านี้สำรองจ่ายเงินไปก่อน จากนั้นรัฐบาลตั้งงบประมาณมาชดเชยให้ในอนาคต เช่น โครงการจำนำข้าว โครงการประกันรายได้เกษตรกร มาตรการช่วยเหลือ SMEs และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น
การดำเนินนโยบายกึ่งการคลังดังกล่าวนี้ กลายเป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณมาใช้หนี้ให้กับแบงก์รัฐ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2563 ตั้งบประมาณรายจ่ายมาใช้หนี้ภาระผูกพัน ตามมาตรา 28 คิดเป็นวงเงิน 133,128 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 99,221 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 82,696 ล้านบาท
· ติดหนี้แบงก์รัฐกว่า 1 ล้านล้านบาท
การดำเนินมาตรการ หรือนโยบายกึ่งการคลังกลุ่มนี้ต้องอยู่ภายใต้กรอบของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีมติขยายสัดส่วนวงเงินการใช้จ่ายเงิน ตามมาตรา 28 จากเดิมมีเพดานอยู่ที่ 30% เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 35% ของวงเงินงบประมาณประจำปี
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลมีภาระผูกพันตามมาตรา 28 คงค้างอยู่ที่ 1,039,920 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 33.35% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2565 จึงเหลือกรอบวงเงินในการดำเนินนโยบายกึ่งการคลังได้อีกไม่มากนัก ดังนั้น ในทุกๆ ปีรัฐบาลต้องจัดงบประมาณมาใช้หนี้ให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อเปิดวงเงินให้รัฐบาลสามารถดำเนินมาตรการกึ่งการคลังได้ต่อไปอีก
· นอกงบฯ เหลือเงินให้รัฐบาลใหม่ทำ “มาตรการกึ่งการคลัง” เพียง 18,000 ล้าน
ล่าสุด ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 มีมติปรับลดสัดส่วนการใช้จ่ายเงินตาม มาตรา 28 จาก 35% ลงมาเหลือ 32% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปัจจุบันเหลือวงเงินในการดำเนินนโยบายกึ่งการคลังได้อีกประมาณ 18,000 ล้านบาท นี่จะเป็นข้อจำกัดของรัฐบาลชุดใหม่ ที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะซูเปอร์เอลนีโญ
· งบฯ 1 ใน 3 เป็นเงินเดือน สวัสดิการ ข้าราชการ กว่า 1 ล้านล้านบาท
คราวนี้มาดูเงินในงบประมาณ โครงสร้างของงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ (งบประจำ) และถ้ารวมงบฯ ชำระต้นเงินกู้ และงบฯ ชดใช้เงินคลังจะมีสัดส่วนประมาณ 80% ของวงเงินงบประมาณแต่ละปี ที่เหลืออีกประมาณ 20% เป็นงบลงทุน ซึ่งในรายจ่ายของงบประจำ 80% นี้ มีรายจ่ายที่ยากแก่การตัดประมาณ 66% ของวงเงินงบประมาณแต่ละปี โดยเฉพาะเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าคอบแทนของบุคลากรภาครัฐ มีรายจ่ายอยู่กว่า 600,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ในงบกลางมีรายจ่ายด้านสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐอีก 472,877 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินบำเหน็จ บำนาญบุคลากรของภาครัฐ 310,600 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาล 74,000 ล้านบาท เงินสมทบ-ชดเชยที่รัฐบาลต้องนำส่ง กบข. 72,370 ล้านบาท ปรับวุฒิ เลื่อนขั้น ขึ้นเงินเดือนประจำปีอีก 11,547 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือบุตร-เยียวยากรณีเสียชีวิตระหว่างรับราชการอีก 4,360 ล้านบาท
รวมรายจ่ายประจำที่ตัดทิ้งไม่ได้ ทั้ง 2 ก้อนมีวงเงินรวม 1,094,252 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 35% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2565 ซึ่งรายจ่ายประเภทนี้ไม่สามารถตัดทอนได้เลย เพราะเป็นสิทธิที่บุคลากรภาครัฐต้องได้รับตามกฎหมาย
· งบฯ สวัสดิการ ของประชาชน เกือบ 4 แสนล้าน
นอกจากรายจ่ายสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐแล้ว ยังมีรายจ่ายสวัสดิการของประชาชนที่เกิดขึ้นตามนโยบายรัฐอีก เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้พิการ เบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ เงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าอาหารกลางวันและนมโรงเรียน เงินอุดหนุนกองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม กองทุนผู้สูงอายุ เป็นต้น ยกตัวอย่าง ในปีงบประมาณ 2565 มีรายจ่ายสวัสดิการของประชาชน รวมอยู่ในงบประจำอีก 370,750 ล้านบาท รายจ่ายกลุ่มนี้ก็ตัดทอนแทบไม่ได้เลย แถมยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย
· ไฟเขียวแผนการคลัง 5 ปี ตั้งงบฯ ขาดดุลไม่เกิน 3% ของ GDP
จากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มรายจ่ายประจำ ไม่ว่าจะเป็นงบฯ ชำระหนี้และภาระผูกพันตามมาตรา 28, งบสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ และประชาชนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่สัดส่วนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเทียบกับ GDP มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการคลังจึงแผนการคลังระยะปานกลางปีงบประมาณ 2566-2570 เสนอให้ที่ประชุม ครม. ผ่านความเห็นชอบไปในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2565 เพื่อใช้ในการบริหารนโยบายการเงินการคลังให้อยู่ภายใต้กรอบ และสัดส่วนที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 กำหนด โดยปรับลดระดับของการขาดดุลงบประมาณเหลือไม่เกิน 3% ของ GDP นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในอนาคต และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ภาครัฐต้องลดบทบาทของการดำเนินมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ลง โดยเน้นการดำเนินนโยบายการคลัง แบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (targeted fiscal policy) ฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย และการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง (fiscal space) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รองรับการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล และความเสี่ยงที่ประเทศอาจจะต้องเผชิญอีกในอนาคต รวมทั้งรักษาระดับเครื่องชี้วัดทางการคลังต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
แผนการคลังฯ ฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการปรับลดระดับของการขาดดุลงบประมาณ โดยกำหนดเพดานการขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 3% ของ GDP เพื่อควบคุมระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบที่คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังฯ กำหนด คือ ไม่เกิน 70% ของ GDP หากดำเนินแผนการคลังฉบับนี้โดยตั้งงบขาดดุลไม่เกิน 3% ของ GDP และไม่มีออกกฎหมายพิเศษให้อำนาจกระทรวงการคลังก่อหนี้ในระดับสูงเข้ามาเพิ่มเติมอีก คาดว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2570 หนี้สาธารณะจะมียอดคงค้างอยู่ที่ 13.79 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 61.25% ของ GDP ข้อมูลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 หนี้สาธารณะมียอดคงค้างอยู่ที่ 10.92 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 61.15% ของ GDP โดยที่ยังไม่ได้รวมนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยที่แจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ให้กับประชาชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปี ขึ้นไป ที่ต้องใช้เงินประมาณ 560,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินนโยบายหาเสียงเหล่านี้ ส่วนใหญ่ระบุเอาไว้กว้างๆ ว่าใช้แหล่งเงินจากการบริหารงบประมาณประจำปี ลดรายจ่ายที่ซ้ำซ้อน และการปรับโครงสร้างระบบภาษี หรือหารายได้ตัวใหม่ๆ เป็นต้น
แต่ละนโยบายใช้เงินมากมายขนาดนี้ ถามว่าถ้าไม่กู้ ก็ต้องเก็บภาษีเพิ่ม หรือขึ้นภาษีได้หรือไม่ เพราะเงินงบประมาณและนอกงบประมาณมีภาระผูกพันที่สั่งสมกันมาในอดีตถึงปัจจุบัน รอรัฐบาลจัดงบฯ มาใช้หนี้ค้างอยู่มากมาย เงินในงบประมาณมีอยู่ก็แทบไม่มีอะไรให้ตัด ฐานะการคลังของประเทศรับไหวไหม รัฐบาลจะถังแตกหรือไม่ หากในอนาคตเกิดวิกฤติขึ้นมาอีกจะเอาเงินที่ไหนมาแก้ปัญหา เป็นปมความเสี่ยงที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นปมร้อนที่นับวันจะร้อนมากขึ้นๆ
เจาะฐานะการคลังของไทยรับรัฐบาลชุดใหม่ เศรษฐกิจของประเทศฟื้น แต่ขีดความสามารถหารายได้ของรัฐบาลมีแนวโน้มลดลง รายจ่ายประจำเพิ่มตามโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เผย 1 ใน 3 ของงบประมาณ เป็นเงินเดือน สวัสดิการ ขรก. บุคลากรภาครัฐ และประชาชน นอกงบฯติดหนี้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ แบงก์รัฐกว่า 1 ล้านล้าน เหลือเงินให้รัฐบาลชุดใหม่ทำ “มาตรการกึ่งการคลัง” แค่ 18,000 ล้านบาท ชง ครม. ไฟเขียวแผนการคลัง 5 ปี ตั้งงบขาดดุลไม่เกิน 3% ของ GDP ตั้งแต่ปี ’67 คุมยอดหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลัง
ที่มา ; Thaipublica 3 สิงหาคม 2023
เกี่ยวข้องกัน
ก.พ. คาดไม่เกิน 10 ปี เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ แซงเงินเดือนข้าราชการ
จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (aged society) มาตั้งแต่ปี 2565 โดยมีสัดส่วนของประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าประชากรกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 28% ในปี 2574 กลายเป็นภาระหนักของรัฐบาลต่อ ๆ ไป ที่จะต้องจัดหางบประมาณมาดูแลคนกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรภาครัฐและประชาชนทั่วไป แต่ละปีใช้งบประมาณกว่า 8 แสนล้านบาท นำมาจัดระบบสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ เงินสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินช่วยเหลือบุตร รวมทั้งจัดระบบสวัสดิการดูแลประชาชน เช่น จัดระบบรักษาพยาบาลผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ่ายเงินอุดหนุนกองทุนประกันสังคม จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยเอดส์ ค่าเลี้ยงดูบุตร เงินอุดหนุนที่ต้องสมทบเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (กองทุนประชารัฐฯ) ค่าอาหารกลางวันเด็ก และนมโรงเรียน เป็นต้น
ขณะที่รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ เกือบทุกพรรคต่างชูนโยบายรัฐสวัสดิการ เช่น นโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ซึ่งต้องใช้เงิน 560,000 ล้านบาท ถามว่าจะหาเงินมาจากไหน ถ้าไม่กู้เพิ่ม ก็ต้องปรับขึ้นภาษี ตัดทอนงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน ซึ่งก็ได้เงินมาไม่มากอย่างที่ต้องการใช้
ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการหารายได้และลดรายจ่าย โดยเตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งมีทั้งการปรับโครงสร้างภาษี 22 รายการ ขยายฐานการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ๆ เช่น ภาษีซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยุบรวมรายการค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและกำหนดวงเงินสูงสุดใหม่ ปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ปรับลดภาษีเพื่อสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันและเศรษฐกิจสีเขียว ส่วนมาตรการด้านการปรับลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล โดยพุ่งเป้าไปที่การทบทวนสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวย เพื่อนำเงินงบประมาณไปช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย
ยังไม่ทันได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 มีตัวแทนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค, เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม และตัวแทนผู้สูงอายุ รวมตัวกันมายื่นหนังสือคัดค้านแนวความคิดดังกล่าวต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ในข้อเท็จจริง หากนำค่าใช้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐแล้ว ต้องถือว่าน้อยมาก โดยในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลตั้งงบฯ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 78,530 ล้านบาท ใช้ดูแลผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน ส่วนงบฯ เบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ เงินบำเหน็จลูกจ้างประจำ เงินช่วยพิเศษข้าราชการบำนาญที่เสียชีวิต และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ รายจ่ายส่วนนี้บรรจุไว้ในงบกลางมีประมาณ 322,790 ล้านบาท ดูแลบุคลากรภาครัฐประมาณ 3 ล้านคน ซึ่ง 2 รายการนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายจ่ายที่ยากแก่การตัดทอน นับวันก็จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
· สำนักงาน ก.พ. คาดไม่เกิน 10 ปี งบ “บำเหน็จ-บำนาญ” แซง “เงินเดือน” ขรก.
จากข้อมูลในรายงานสรุปภาพรวมการบริหารกำลังคน และแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นำเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ได้ทำประมาณการค่าใช้ด้านบุคลากรภาครัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2564 ระบุว่า
“งบประมาณรายจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 10.82% ต่อปี ขณะที่งบบุคลากร ประเภทเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เฉลี่ยอยู่ที่ 1.73% ต่อปี และจากการประมาณการในเบื้องต้น คาดว่างบฯ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ มีแนวโน้มจะสูงกว่างบบุคลากรภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี”
ปัจจุบันในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลตั้งงบบุคลากรเตรียมไว้จ่ายเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ วงเงิน 614,448 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.30% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.185 ล้านล้านบาท
ส่วนงบฯ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญข้าราชการ, บำเหน็จลูกจ้างประจำ, เงินทำขวัญข้าราชการและลูกจ้าง, เงินทดแทนข้าราชการวิสามัญ, ค่าทดแทนสำหรับผู้ที่ได้รับอันตรายจากการรักษาความมั่นคงของประเทศ, เงินช่วยพิเศษข้าราชการบำนาญที่เสียชีวิต และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ในปีงบประมาณ 2566 ตั้งเอาไว้ในงบกลาง 322,790 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10.13% ของวงเงินงบประมาณปีนี้และในอนาคตกำลังจะเพิ่มขึ้นมาอีก 1 เท่าตัว วิ่งแซงงบฯ เงินเดือนบุคลากรภาครัฐ
ถามว่ากระทรวงการคลัง และสำนักงาน ก.พ. ได้เตรียมแผนรับมือภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไว้เสนอรัฐบาลชุดใหม่ไว้หรือไม่ อย่างไร
นอกจากรายจ่ายด้านเงินเดือน เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของบุคลากรภาครัฐแล้ว ยังมีค่ารักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐและครอบครัวที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุ จากปีงบประมาณ 2557-2560 ตั้งงบฯ รักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐเอาไว้ที่ 60,000 ล้านบาท พอปีงบประมาณ 2561 เพิ่มเป็น 63,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเป็น 70,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 เพิ่มเป็น 71,200 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564-2565 เพิ่มเป็นปีละ 74,000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566 เพิ่มเป็น 76,000 ล้านบาท ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ค่ารักษาพยาบาลของบุคลากรภาครัฐมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยอยู่ที่ 4.08% ต่อปี
· ปี ’65 ควักเงินคงคลัง 23,597 ล้าน โปะงบรักษาพยาบาล-บำเหน็จบำนาญ
จากข้อมูล บางปีตั้งงบฯ ไว้ไม่พอใช้จ่าย ก็ต้องเบิกเงินคงคลังมาใช้ก่อน อย่างในปีงบประมาณ 2565 ยืมเงินคงคลังมาใช้จ่าย 23,597 ล้านบาท แบ่งเป็นค่ารักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐ 7,650 ล้านบาท เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญบุคลากรภาครัฐ 15,041 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐอีก 906 ล้านบาท
ถัดมาเป็นรายจ่ายที่รัฐบาลตั้งไว้ในงบกลางเป็นเงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยที่รัฐบาลนำส่งเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน โดยในปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายประเภทนี้เอาไว้ที่ 47,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 ปรับลดลงมาเหลือ 45,411 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 เพิ่มเป็น 46,053 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 ลดลงเหลือ 45,924 ล้านบาท จากนั้นก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2561 เพิ่มเป็น 47,623 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเป็น 54,845 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 เพิ่มเป็น 62,780 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเป็น 69,707 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 เพิ่มเป็น 72,370 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 เพิ่มเป็น 75,980 ล้านบาท ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รายจ่ายส่วนนี้มีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยอยู่ที่ 8.86% ต่อปี
ลำดับถัดมาเป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ในงบกลาง เพื่อปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการประจำปี เลื่อนขั้นเลื่อนระดับ ปรับวุฒิ หรือได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ในระหว่างปี โดยในปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายส่วนนี้เอาไว้ 15,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 เพิ่มเป็น 16,500 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 เพิ่มเป็น 16,930 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 ลดลงเหลือ 10,465 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561 ลดลงเหลือ 9,939 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเป็น 11,490 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ลดลงเหลือ 10,465 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเป็น 15,500 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 ลดลงเหลือ 11,547 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566 ลดลงเหลือ 10,000 ล้านบาท ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รายจ่ายส่วนนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 19.45%
รายการถัดมาเป็นเงินช่วยเหลือการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือบุตร และเงินพิเศษกรณีเสียชีวิตระหว่างรับราชการ ในปีงบประมาณ 2557 ตั้งงบฯส่วนนี้เอาไว้ 4,740 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 เพิ่มเป็น 5,025 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 เพิ่มเป็น 5,258 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560-2561 ลดลงมาเหลือปีละ 5,255 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 ลดลงเหลือ 5,235 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ลดลงเหลือ 4,940 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเป็น 5,008 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 ลดลงเหลือ 4,360 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 ลดลงมาเหลือ 4,200 ล้านบาท
ตัวสุดท้าย เป็นรายจ่ายที่รัฐบาลตั้งไว้เป็นเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างประจำ โดยในปีงบประมาณ 2557 ตั้งงบประมาณรายจ่ายส่วนนี้เอาไว้ 914 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 ลดลงเหลือ 806 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 เพิ่มเป็น 842 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 ลดลงเหลือ 819 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561 ลดลงเหลือ 720 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 ลดลงเหลือ 700 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ลดลงเหลือ 670 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ลดลงเหลือ 640 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 ลดลงเหลือ 570 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566 ลดลงเหลือ 500 ล้านบาท โดยรายจ่ายส่วนนี้ช่วง 7 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ 7.08% ต่อปี
รวมค่าใช้จ่ายเงินเดือนและสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปีงบประมาณ 2557 ตั้งงบเงินเดือนและสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐเอาไว้ที่ 865,800 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 เพิ่มเป็น 889,674 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 เพิ่มเป็น 942,312 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 ลดลงมาเหลือ 931,962 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561 เพิ่มเป็น 943,940 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเป็น 992,507 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 เพิ่มเป็น 1,051,293 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเป็น 1,106,725 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 ลดลงเหลือ 1,094,822 ล้านบาท และในปี 2566 เพิ่มเป็น 1,103,918 ล้านบาท โดยรายจ่ายกลุ่มนี้คิดเป็น 1 ใน 3 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 3.13% ต่อปี
เจาะงบเงินเดือน-สวัสดิการบุคลากรภาครัฐ ก.พ. คาดไม่เกิน 10 ปี เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ แซงเงินเดือนข้าราชการ ปี’65 ต้องควักเงินคงคลังโปะงบรักษาพยาบาล-บำเหน็จบำนาญ-ค่าเล่าเรียนบุตร 23,597 ล้านบาท
ที่มา ; Thaipublica 11 สิงหาคม 2023
เกี่ยวข้องกัน
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ภาระหรือสวัสดิการสังคม
ยังเป็นคำถามใหญ่ของสังคม และเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลใหม่ต้องวางแผนให้ดีในประเด็น "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ว่าจะมีการจ่ายเงินอย่างไรให้รัดกุม ทั่วถึง ไม่มีใครตกสำรวจ ไปถึงหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการเบิกจ่ายเพื่อไม่ให้ทั้งประชาชนและรัฐเสียผลประโยชน์
สัญญาณที่กระทรวงกระทรวงมหาดไทย แก้ไขระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่ใช้วันที่ 12 ส.ค.2566 เปลี่ยนคุณสมบัติผู้รับเงินเบี้ยยังชีพ จากไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เปลี่ยนเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) กำหนดเป็นการตีกรอบว่า “คุณสมบัติคนที่ควรได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ” ในอนาคตที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 12.9 ล้านคน หรือ 20 % จากประชากรทั้งหมดอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้าจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (super aged society) มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีสูงถึง 28 % ของประชากรทั้งหมด
จากปัจจุบันที่มีอัตราการจ่ายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคนละ 600-1,000 บาทต่อเดือน โดยในปีงบประมาณ 2563 ใช้งบประมาณ 56,462 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 9.96 ล้านคน ,ปีงบประมาณ 2564 ใช้งบประมาณ 79,300 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 10.4 ล้านคน ส่วนปีงบประมาณ 2565 ใช้งบประมาณ 82,341 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 10.9 ล้านคน ขณะที่ปีงบประมาณ 2566 เบิกจ่ายถึงเดือน ก.ค.2566 รวม 71,057 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 11.2 ล้านคน โดยมีการประเมินว่าในปีงบประมาณ 2566 จะมีการใช้งบประมาณรวม 86,000 ล้านบาท ซึ่งอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (super aged society) มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีสูงถึง 28 % ของประชากรทั้งหมด จึงจำเป็นต้องหารูปแบบที่เหมาะสมในการจ่ายสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ
มีการคำนวณว่าผู้สูงอายุที่แสดงสิทธิ 11 ล้านคน รัฐบาลต้องจ่าย “เบี้ยผู้สูงอายุ” อยู่ 89,000 ล้านบาท นั้นมีคนที่จนจริงเพียง 4 ล้านคน ดังนั้นนโยบายที่เป็นสวัสดิการถ้วนหน้านั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่จะต้องมีวิธีการและรูปแบบที่เหมาะสม ทำอย่างไรให้คนที่จนจริงๆได้รับการดูแลอย่างสมควรที่จะต้องได้รับและไม่ตกหล่นไปจากระบบ ไม่ซ้ำซ้อนจากนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้และไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ ที่สำคัญต้องไม่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ซ้ำซ้อนกับสิทธิสวัสดิการอื่นๆ
เป็นการบ้านข้อที่ยากของรัฐบาลใหม่จะต้องมาพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมว่าจะดำเนินการอย่างไร ระหว่างการทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ ด้วยการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าคนละ 3,000 บาท หรือจ่ายถ้วนหน้า 1,000 บาทตามที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอไว้ พร้อมกับทำตามรูปแบบ Targeting คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายให้ถูกต้องเหมาะสม หรือจะใช้แบบผสม และอีกรูปแบบหนึ่งคือจ่ายแบบถ้วนหน้า 1,000 บาท และเพิ่มให้ส่วนผู้ยากจนตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดไว้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มคนที่ทั้งสูงวัยและยากจน แต่ที่สำคัญต้องเป็นธรรม เหมาะสมและไม่เป็นภาระงบประมาณ
‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จุดกระแสถกเถียงเดือด ‘ให้ทุกคน’ หรือ ‘เฉพาะคนจน’ ดีกว่า?
กรณีรัฐบาลรักษาการปรับเกณฑ์ใหม่ “เบี้ยผู้สูงอายุ” จากเดิมที่ให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปแบบ “ถ้วนหน้า” มาเป็น “เฉพาะคนจนหรือไม่มีรายได้” ทำให้เกิดกระแสถกเถียงเดือดในสังคม ซึ่งมีทั้งกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพใหม่
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมา เมื่อรัฐบาลรักษาการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ในการรับเบี้ยผู้สูงอายุ จากแต่เดิมที่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับแบบ “ถ้วนหน้า” เปลี่ยนเป็น “ต้องพิสูจน์ความจนก่อน” ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ก่อให้เกิดความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยขึ้นมา
สำหรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือ เบี้ยคนแก่ เป็นเงินบำนาญผู้สูงอายุที่อายุครบ 60 ปีขึ้นไป มีผลบังคับใช้ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552 ด้วยการใช้ระบบขึ้นทะเบียนก่อนเปลี่ยนแปลงเป็นการยืนยันสิทธิ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือคุณสมบัติด้านรายได้ มีเพียงการระบุว่า จะต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการอื่นอยู่ก่อนแล้ว
หลักเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุเปลี่ยนไปอย่างไร
เดิมนั้นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปแบบ “ถ้วนหน้า” โดยที่ผู้นั้นต้องไม่ได้รับสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐ อย่างเงินบำนาญ เบี้ยหวัด และบำนาญพิเศษ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุจัดสรรเงินรายเดือนให้ตามขั้นบันไดดังนี้
– ผู้สูงอายุ อายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท
– ผู้สูงอายุ อายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท
– ผู้สูงอายุ อายุ 80-89 ปี จะได้รับ 800 บาท
– ผู้สูงอายุ อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
แต่หลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 12 ส.ค. 2566 จะเปลี่ยนจากแทนที่จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้าทุกคน ก็เปลี่ยนเป็นผู้ที่มีอายุใกล้จะถึง 60 ปีตั้งแต่ 12 ส.ค. 2566 เป็นต้นไป ต้องผ่านการพิสูจน์ความจนก่อนว่า “ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ”
ส่วนรายละเอียดของหลักเกณฑ์ว่า รายได้ไม่เพียงพอนั้นควรอยู่ในช่วงรายได้เท่าไร ประกอบอาชีพอะไร ฯลฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ลงนามหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่นี้กล่าวว่า ต้องรอรายละเอียดจากคณะกรรมการผู้สูงอายุในการชี้ขาดอีกทีและสำหรับผู้ที่ได้รับเงินผู้สูงอายุอยู่แต่เดิมแล้ว ก็ยังคงได้รับเหมือนเดิม
สังคมไทยเสียงแตกเรื่อง “เบี้ยผู้สูงอายุ”
· ฝ่ายสนับสนุน
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันไทยกำลังแบกงบประมาณการคลังที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จากที่เคยตั้งไว้ 50,000 ล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้านบาทต่อปี และแตะ 90,000 ล้านบาทแล้วในปีงบประมาณ 2567 อีกทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกตามจำนวนผู้สูงอายุในไทยที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ การใช้งบประมาณเบี้ยผู้สูงอายุในกลุ่มคนที่จำเป็นและเดือดร้อนกว่า จะสร้างความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว
นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ตามนี้ครับ อย่าพยายามบิดเบือนครับ ยกตัวอย่างเช่น เจ้าสัวสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ เจ้าของห้างเซ็นทรัลได้เบี้ยสูงอายุด้วยมันยุติธรรมมั้ย? หรือคุณหญิงสุดารัตน์ได้ด้วย ยุติธรรมมั้ย? ช่วยตอบหน่อยครับ” พร้อมโพสต์ภาพประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ด้วยข้อความว่า “เบี้ยสูงอายุ คนเก่าได้เหมือนเดิม เกณฑ์ใหม่คนรวยไม่ได้”
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า มีวิธีคิดเบี้ยผู้สูงอายุได้หลายแบบ และย้อนถามว่า “ถ้าคนอย่างผมได้ด้วยเนี่ย คุณว่ายุติธรรมหรือไม่” “ผมเป็นข้าราชการเกษียณแล้วมีบำนาญ มีบำนาญ 60,000 กว่าบาท คุณคิดว่าควรได้ไหม นั่นแหละเป็นสิ่งที่เขาจะพิจารณาว่า คนแบบใดไม่ควรได้ คนแบบใดควรได้” และนายอนุพงษ์ย้ำว่า อย่ามองด้านเดียวว่าไปตัดสิทธิ์ สรุปแล้วจะตัดไม่ตัดอย่างไร อยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะกำหนดเกณฑ์มา แต่ตนคิดว่าต้องตัด คนอย่างตนไม่ควรจะได้
นายชินภัสร์ กิจเลิศสิริวัฒนา รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ชี้แจงกรณีหลักเกณฑ์ใหม่เบี้ยผู้สูงอายุผ่านเฟซบุ๊กว่า
1. เบี้ยผู้สูงอายุคนเดิมยังได้ครบอยู่
2. เกณฑ์ใหม่ใช้สําหรับผู้สูงอายุที่พึ่งครบ 60 ปีที่ไม่มีรายได้เพียงพอ (การวัดความจนถึงจะได้เบี้ยคนชราต้องดูกันอีกทีจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ)
3. ตั้งแต่ปี 62- 65 โดยเฉลี่ยทุกปีจะมีผู้สูงอายุเพิ่ม 500,000 คน ปี 62 มีผู้สูงอายุ 11.13 ล้านคน ปี 63 11.63 ล้านคน ปี 64 12.13 ล้านคน ปี 65 12.57 ล้านคน
“เนื่องด้วยประเทศไทยกําลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผมเชื่อว่ากฎหมายใหม่นี้ จะทำให้เรามีวินัยการคลังมากขึ้น ใช้เงินให้ตรงจุด ถูกคน ถูกเป้าหมาย” นายชินภัสร์ระบุ
· ฝ่ายคัดค้าน
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกลมองว่า หลักเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาเป็นการกระทบสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรง โดยในปัจจุบัน ไทยมีผู้สูงอายุอยู่ 11 ล้านคน และหากใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจนในการพิจารณาจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ จะไม่ครอบคลุม และจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น อีก 6 ล้านคน จะถูกรัฐลอยแพ
นายวิโรจน์ยังเสริมอีกว่า ข้อมูลบัตรคนจนที่ผ่านมามีข้อมูลตกหล่นอยู่มากมาย ไม่ควรนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ อีกทั้งการบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน อาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ก็เป็นได้
นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) มองว่า เบี้ยผู้สูงอายุควรยกระดับเป็นระบบบำนาญประชาชนถ้วนหน้า การที่รัฐจะมากำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มคนยากจน เท่ากับขัดต่อหลักการสิทธิสวัสดิการแบบถ้วนหน้า และขาดการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกทั้งกระบวนการพิสูจน์ความยากจนยังมีการตกหล่นจำนวนมาก
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กคัดค้านระเบียบใหม่ดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นการทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เป็นระบบที่รัฐบาลเลือกปฏิบัติ และสร้างบุญคุณในฐานะการช่วยเหลือ หรือแบ่งคนรวยคนจน ทั้งที่จริงคือ สวัสดิการที่รัฐพึงจัดหาให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว
“แนวคิดเช่นนี้นอกจากจะสะท้อนปัญหาว่ารัฐบาลหาเงินไม่ได้ ใช้เงินไม่เป็นแล้ว ยังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทย”
คุณหญิงสุดารัตน์ย้ำเพิ่มเติมว่า รัฐบาลต้องเลิกทำให้คนไทยกลายเป็นคนอนาถา หยุดรัฐสงเคราะห์ แต่ต้องเริ่มวางรากฐานรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ทนายเกิดผล แก้วเกิด โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวต่อกรณีดังกล่าวว่า “การตัดงบเบี้ยคนชรา และเพิ่มหลักเกณฑ์มากขึ้น เพราะงบประมาณมีไม่พอ น่าจะแก้ปัญหาไม่ถูกจุดนะครับ คุณต้องไปตัดงบ ในส่วนที่ไม่จำเป็นหรือ เกินความจำเป็น เช่น การซื้อเรือดำน้ำ งบเงินตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ เช่น เงินเดือน สว. เป็นต้นถึงจะถูก..ไม่ใช่มาตัดงบเบี้ยยังชีพคนแก่”
จากกรณีความเห็นต่างในเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าว ฝ่ายที่สนับสนุนการจำกัดกลุ่มคนที่ได้รับ มองว่าเพื่อลดภาระคงคลังที่หนักขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ควรจัดสรรงบประมาณให้ตรงกับผู้เดือดร้อนและยากไร้มากกว่า
ขณะที่ฝ่ายคัดค้านมองว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถือเป็นสิทธิ์ที่ผู้สูงอายุควรได้รับทุกคน ในเมื่อข้าราชการได้รับเงินบำนาญแล้ว ทำไมผู้สูงอายุที่จ่ายภาษีเหมือนกันถึงไม่ได้รับสวัสดิการนี้เช่นเดียวกัน
ความเห็นเหล่านี้ก็เป็นมุมมองทั้งสองฝ่ายที่กำลังถกเถียงและยังหาข้อสรุปในสังคมไม่ได้ในขณะนี้
'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' ทางที่จะไปต่อ คนได้รับไม่ถูกตัดเงิน
'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' ทีดีอาร์ไอชี้ 2 ทางเลือก “แบบถ้วนหน้า”เพิ่มได้เป็น 1,000 บาท หวั่นพรรคการเมืองแข่งอัพยอดสูงขึ้น ระยะยาวต้องใช้งบฯทะลุ 7 แสนลบ. ระวังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำรอยละตินอเมริกา มุ่งให้สวัสดิการไม่คำนึงถึงรายได้รัฐ
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีการประกาศล่าสุดว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวยังไม่แน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในทางปฏิบัติ เนื่องจากคนตัดสินคือคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เท่ากับเป็นการโยนเผือกร้อนให้รัฐบาลใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร ดังนั้น สถานการณ์การได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังเป็นเหมือนเดิมจนกว่ารัฐบาลใหม่จะมาตัดสินใจจะเปลี่ยนหรือไม่
· 2 ทางเลือกเบี้ยยังชีพ
ประเทศไทยสามารถมี 2 เส้นทาง ซึ่งทางทฤษฎีทั้ง 2 ทางมีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือ
1. แบบเดิม ให้แบบถ้วนหน้า ได้ทุกคน แต่งบประมาณแพง หรือ
2. Targeting ที่จะต้องมีกลไกในการคัดกรองต่างๆนานา งบประมาณลดลง แต่มีความเสี่ยงที่จะเลือกกลุ่มเป้าหมายถูกหรือไม่ จะมีปัญหาคนที่อยากจะช่วยกลับไม่ได้ ส่วนคนที่อยากคัดกรองออกกลับดหนีการคัดกรองจนได้รับเงิน ซึ่งเกิดขึ้นตอนที่ให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยสภาพัฒน์ประมาณการมีคนจน 4ล้านคน แต่จากการสำรวจกลับพบว่า คนจนกว่า 50 % ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แปลว่า 2 ล้านคนไม่ได้รับบัตร นี่คือการตกหล่นเมื่อใช้ระบบ targeting ขณะที่มีผู้ได้รับบัตร 12 ล้านใบ แปลว่าคนที่ไม่จนได้รับบัตร
ยังเพิ่มเป็น 1,000 บาท/เดือนได้
สถานการณ์ปัจจุบันให้แบบขั้นบันไดตามอายุ 600,700,800 และ 1,000 บาทต่อเดือน ใช้งบประมาณปีละไม่ถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งทางวิชาการอ้างอิงจากงานวิจัยที่สรุปให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พบว่า ถ้าดูสถานะด้านการคลังยังสามารถให้เบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มได้อีก โดยไม่สุ่มเสี่ยงทางด้านการคลัง อยู่ที่ 1,000 บาทแบบถ้วนหน้าได้รับเท่ากันทุกคน โดยจะใช้งบประมาณราว 1.2 แสนล้านบาทต่อปี
ดังนั้น สถานการณ์การคลังตอนนี้ยังให้แบบถ้วนหน้าได้ ในฐานผู้สูงอายุมีจำนวนราว 12 ล้านคน แต่มีข้อกังวล ในอนาคตอีก 10 -15ปี ที่มีผู้สูงอายุราว 20 ล้านคน จะมีความเสี่ยง ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 70 % ต้องใช้เงินงบประมาณ 2 แสนล้านบาท งบฯอาจทะลุถึง 7 แสนล้านบาท
“แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ นโยบายการเมืองแข่งกันหาเสียงจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดือนมากขึ้น ไม่ได้ให้ในตัวเลขที่เหมาะสม แต่กระโดดไปให้ที่ 3,000 บาท สูงขึ้น 3 เท่า แปลว่าจะต้องใช้งบประมาณ 3.6 แสนล้านบาท และในอนาคตจากที่คำนวณแล้วจะอยู่ที่ 7 แสนกว่าล้านบาทต่อปี”ดร.นณริฏ กล่าว
ฉะนั้น อนาคตถ้าให้แบบถ้วนหน้าจะมีความเสี่ยง จึงเป็นโจทย์ว่าหากรัฐจะดำเนินนโยบายแบบถ้วนหน้า จะต้องหาเงินมาใช้ในส่วนนี้ให้ได้ 7 แสนล้านบาทต่อปี ข้อเสนอเรื่องให้แบบ Targeting เริ่มมีมุมในอนาคต โดยจำนวนผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับเบี้ยยังชีพหายไปราว 50 % จะต้องใช้งบฯราว 3.5 แสนล้านบาท ยังพอที่จะจัดการได้ ในการหาเงินมาใช้
· หวั่นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
ดร.นณริฏ กล่าวด้วยว่า ข้อสรุป คือ ปัจจุบันควรให้แบบถ้วนหน้า เดือนละ 1,000 บาทเท่ากันทุกคน ซี่งสถานะการคลังยังดำเนินการได้ แต่ในระยะยาวต้องดูที่นโยบายหาเสียงจะแข่งกันเพิ่มตัวเลขเบี้ยผู้สูงอายุอยู่ที่จำนวนเท่าไหร่ หากเพิ่มขึ้นมากก็เป็นความท้าทายว่าจะยังสามารถดำเนินการแบบก้าวหน้าได้หรือไม่ ซึ่งหากหาเงินไม่ได้ปีละ 7 แสนล้านบาทมาใช้ในส่วนนี้ประเทศจะเกิดวิกฤต กรณีศึกษาตัวอย่างประเทศแถบละตินอเมริกาที่ให้สวัสดิการมาก โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงแหล่งรายได้ของรัฐ จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น เวเนซุเอลา อาเจนติน่า ศรีลังกา
ดังนั้น หากทำไม่ได้ก็จะต้องมาคิดเรื่อง Targeting ที่จะช่วยลดการใช้เงินไปได้มาก แต่ก็มีจุดอ่อนจะต้องคิดค้นวิธีการที่จะคัดกรองได้ดีที่สุดมาใช้ในการเลือกคนให้ตรงเป้าหมายจริงๆ
“ที่สำคัญไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกแนวทางใดมาใช้จะต้องกำหนดยั่งยืน อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะถ้าปีนี้ใช้แบบ Targeting ปีหน้าใช้แบบถ้วนหน้า จะไม่สามารถสร้างองคาพยพในการดำเนินการได้ ต้องเลือกทางใดทางหนึ่งแล้วเดินทางนั้นไปยาว” ดร.นณริฏ กล่าว
· นโยบายหาเสียงมองแค่สั้นๆ
ต่อข้อถามพิจารณาจากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆแล้วเป็นอย่างไร ดร.นณริฏ กล่าวว่า เป็นการมองแบบสั้นๆ ซึ่งดังที่บอกระยะสั้นไม่มีปัญหาทางการคลัง พอจะหาเงินมาโปะได้แน่นอน แต่ลืมคิดไปหรือไม่ว่าสวัสดิการที่ให้ไปแล้ว จะลดหรือยกเลิกไม่ได้ง่ายๆ นโยบายต่างๆจะมีภาระผูกพันไปในระยะยาว ซึ่งรัฐบาลที่จะเข้ามาในช่วง 4 ปีที่บริหารจะไม่มีปัญหา หากไม่ได้คิดว่าอีก 10-20ปีข้างหน้าจะหาเงินมาอย่างไร เป็นสิ่งที่อันตราย และยิ่งแข่งกันให้ในจำนวนที่สูงขึ้นมากจนเกินควร ยิ่งอันตรายและมีความเสี่ยง หากจะดำเนินการต้องบอกแหล่งที่มาของเงินด้วย ไม่ใช่แค่กู้มาโปะ
ที่มา ; กรุงเทพธุรกิจ 17 ส.ค. 2566