ค้นหา

ข้อเสนอ ส.บ.ม.ท ต่อ เสมา 1 เพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษา

สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ได้ติดตามการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาและการบริหารการศึกษา จึงมีข้อคิดเห็นในการจัดการศึกษาและการบริหารการศึกษาที่เป็นปัญหาต้องแก้ไขเร่งด่วนและการกำหนดนโยบายเพื่อคุณภาพการศึกษาในประเทศไทย เสนอต่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.คนใหม่ ดังนี้

งานเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาโดยเร็ว

1.เรื่องสภาพการขาดแคลนครู ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข คือการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว16) ซึ่งเปิดโอกาสให้ครูอัตราจ้างที่สอนเกิน 3 ปี ได้เข้าสอบ แต่มีการสอบเพียงปีละ 1 ครั้ง ทั้งที่มีอัตราเงินเดือน มีตำแหน่งอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม เพราะฉะนั้น ส.บ.ม.ท.จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) อนุมัติหรือสั่งการให้สามารถสอบได้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง หากมีตำแหน่งว่างให้ดำเนินการได้ทันที เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นโรงเรียนทุรกันดาร โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบ โรงเรียนที่มีความยากลำบากในการคมนาคม

 

2.การควบรวม 2 จังหวัด ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทำให้มีความยากลำบาก ไม่สะดวกในการบริหาร และการติดต่อราชการ ทั้งของ สพม.และสถานศึกษา ดังนั้น ควรจัดตั้ง สพม.ให้มีครบทุกจังหวัด โดยไม่ควรนำจำนวนโรงเรียน หรือจำนวนนักเรียน มาใช้เป็นตัวหลักในการจัดตั้ง เพราะจังหวัดแต่ละจังหวัด มีข้อดี ข้อเด่น ข้อด้อย และปัญหา

 

3.ความก้าวหน้าในวิชาชีพของครูและผู้บริหารสถานศึกษา ในการขอมีวิทยฐานะและขอเลื่อนวิทยฐานะ ไม่ควรกำหนดวิธีการใดวิธีการหนึ่ง แต่ควรให้มีวิธีการที่หลากหลาย วิธีการแก้ปัญหา ให้เกิดความเหมาะสม ดังนี้ เกณฑ์ ว13/2556 เน้นให้โรงเรียนได้รับการพัฒนา ทั้งผู้อำนวยการสถานศึกษาและคุณครู เพราะใช้ผลงานดีเด่นมาเป็นผลงานหลักในการขอมีหรือขอเลื่อนวิทยฐานะ แต่ก็ยังมีองค์ประกอบย่อยๆ ตามมา เกณฑ์ ว17/2552 เน้นไปที่การทำผลงานทางวิชาการ ก็เหมาะสำหรับคนที่มีความรู้ความสามารถในเชิงวิชาการงานวิจัย เกณฑ์ ว21/2560 การขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ วิธีการนี้เป็นวิธีการที่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพครู เน้นงานในหน้าที่ครูเป็นหลัก ไม่ต้องมีผลงานดีเด่น ไม่ต้องมีผลงานทางวิชาการ แต่ทำหน้าที่ครูให้สมบูรณ์ที่สุด เกณฑ์ ว9/2564 เน้นการผสมผสาน การจัดการเรียนการสอน และการจัดทำข้อตกลงพัฒนางาน กับผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยเมื่อจะขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ต้องมีการส่งเอกสารหลักฐานในการสอน ซึ่งจะประกอบด้วยเอกสารต่างๆ และที่สำคัญก็คือ คลิปการสอนในเวลาไม่เกิน 60 นาที นวัตกรรมที่ใช้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะว่าครูที่เป็นผู้มีอาวุโส หรือครูที่ไม่มีความถนัดในด้านเทคโนโลยีจะมีความเดือดร้อน ในการจัดทำคลิปการสอน ทั้งๆ ที่ครูเหล่านั้นเป็นครูที่สอนดี แต่การถ่ายทอดให้เป็นเทคโนโลยีให้เป็นไปตามเกณฑ์นี้ ก็เป็นปัญหาของคุณครูเช่นกัน เกณฑ์ ว10/2564 ผู้บริหารสถานศึกษาก็มีความถนัด บริบทของแต่ละบุคคล ซึ่งมีสภาพการปฏิบัติงานที่มีความแตกต่างกันตั้งแต่ขนาดของโรงเรียน สภาพพื้นที่ของโรงเรียน จำนวนนักเรียน จำนวนครู ฉะนั้น จึงควรให้เลือกวิธีการในการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะให้เหมาะสมเช่นกัน เพราะฉะนั้น ทาง ส.บ.ม.ท.จึงเห็นว่าควรให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้มีทางเลือก ในการจัดทำเพื่อขอมีหรือขอเลื่อนวิทยฐานะ ให้เป็นไปตามความเหมาะสม ความถนัดของแต่ละบุคคล

 

4.ปัญหาที่เรื้อรังของการดึงครูออกนอกห้องเรียน สิ่งเหล่านี้มีผลทำให้เกิดความพลาดพลั้ง โดนลงโทษทางวินัย ตั้งแต่เบาสุดไปจนถึงร้ายแรง ถึงขั้นโดนไล่ออกจากราชการ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีเจตนาทำผิด เพราะต้องมาเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุทำการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้น ขอเรียกร้องให้มีการจ้างเจ้าหน้าที่พัสดุและเจ้าหน้าที่การเงินไปประจำที่โรงเรียน โดยอาจจะแบ่งไปตามขนาดโรงเรียน เพื่อความเหมาะสม ปัญหาที่เกิดจากโครงการ กิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน มีมากเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ควรยกเลิกโครงการที่ล้าสมัย และมีการรวบรวมโครงการที่มีความซ้ำซ้อนกัน ให้เป็นโครงการเดียวกัน ปัญหาที่เกิดจากการรายงานข้อมูลต่างๆ ที่เขตพื้นที่ฯสั่งการให้โรงเรียนรายงาน ขอให้ดำเนินการบูรณาการข้อมูลเหล่านี้ของสำนักงานเขตไว้ โดยไม่จำเป็นจะต้องมาขอให้โรงเรียนรายงานซ้ำซ้อน ที่เห็นได้ชัดเจนคือ จำนวนนักเรียน จำนวนครู จำนวนบุคลากรอื่น จำนวนงบประมาณ และเขตพื้นที่ฯควรจะลดหรืองดการเรียกหรือแต่งตั้งครูให้ไปทำหน้าที่ต่างๆ เป็นครั้งคราว

 

งานกำหนดนโยบายเพื่อคุณภาพการศึกษา

1.ด้านผู้บริหารสถานศึกษา เนื่องจากบริบทโรงเรียนของประเทศไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความแตกต่างกัน ควรจะต้องมีการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนอย่างเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน

·      โรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดใหญ่พิเศษ ควรจะต้องมีทักษะในการบริหารคน บริหารเงิน เป็นสำคัญ

·      โรงเรียนขนาดกลาง ก็จะมีความคล่องตัว รองลงมา ผู้บริหารก็ควรที่จะต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อม รอบรู้ รอบคอบ เป็นที่ปรึกษาของครูในโรงเรียนได้ทุกเรื่อง

·      ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็ก ก็จะต้องมีความสามารถในการช่วยเหลือครูทุกด้าน และจะต้องเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ในการบริหารระดมทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อมาช่วยในการจัดการศึกษา

·      โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนชายขอบ โรงเรียนในที่ทุรกันดาร โรงเรียนเสี่ยงภัยก็ควรจะมีวิธีการบริหารจัดการ ซึ่งก็จะต้องเริ่มแรกที่ผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่เช่นนั้นแล้วปัญหาใหญ่ก็คือ ผู้บริหารโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนที่ขาดความพร้อม เมื่อครบคุณสมบัติที่จะย้ายได้ ก็จะมีการย้ายอยู่ตลอดเวลา โรงเรียนเหล่านี้ก็ไม่ได้รับการพัฒนาตามที่ควรจะเป็นไม่มีความต่อเนื่อง บางครั้งขาดผู้บริหารเป็นระยะเวลานับปี

 

2.ด้านการพัฒนาครู เพราะการไปปฏิบัติหน้าที่ครูในโรงเรียนที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก ครูหลายคนท้อถอย ลาออกจากราชการ เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งกำลังเกิดมากขึ้นทุกที ดังนั้น การผลิตครูหรือการพัฒนาครูควรจะต้องให้เป็นไปตามบริบทของโรงเรียนที่มีความแตกต่างกัน

 

3.นโยบายด้านการพัฒนาคุณภาพของนักเรียน เป็นปัญหาใหญ่สุดของประเทศไทยขณะนี้ คือ ด้านคุณภาพของนักเรียน ซึ่งคืออนาคตของชาติ แต่จากกระแสสังคมเราจะพบได้ว่าปัจจุบันสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันหลักๆ ของชาติถูกสั่นคลอนเพราะว่าเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของโรคติดโซเชียลที่เต็มไปด้วยอันตราย และเกิดคำที่ว่าพ่อแม่รังแกฉัน เราจะได้ยินคำว่าลูกฉันดี เรียบร้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาระดับชาติที่ผู้บริหารประเทศไม่ได้ตระหนัก ทุกคนก็จะลงว่าครูสอนมาได้อย่างไร จึงเป็นอย่างนี้ ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า 

 

ปัจจุบันนี้ คนที่สนิทกับนักเรียนที่สุด ไม่ใช่พ่อแม่อีกต่อไปแล้ว ไม่ใช่ครูบาอาจารย์อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นใครก็ไม่ทราบที่นักเรียนพูดคุยกันในโลกโซเชียล ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ และถ้าไม่ได้รับการแก้ไข อนาคตของชาติเหล่านี้นับวันก็จะด้อยคุณภาพและก่อให้เกิดปัญหาของชาติตามมาในที่สุด สภาพการล้มละลายของสถาบันครอบครัว สภาพการล้มละลายของสถาบันการศึกษา เพราะว่าคุณครูไม่สามารถแตะต้องนักเรียนได้เลย ครูก็จะทำหน้าที่เพียงแต่สอนให้ความรู้ แต่ไม่สามารถที่จะทำให้เด็กเป็นคนดีได้ เพราะฉะนั้นควรจะต้องมีวิธีการบริหารจัดการ ในเรื่องคุณภาพนักเรียนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติทุกฉบับที่ล้วนแต่ต้องการให้เด็กเป็นคนดี เป็นคนเก่ง ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม และมีจิตสาธารณะ 

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น