มติชนมติครู : ประเมินผู้เรียนเชิงรุก ในยุค Active Learning
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดนโยบาย และจุดเน้นประจำปีงบประมาณ 2566 ไว้หลายนโนบาย เพื่อให้สถานศึกษาได้นำไปเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับของครูผู้สอนโดยตรงนั้น ได้แก่ จุดเน้นที่ 6 ที่กล่าวไว้ว่า
“ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม และมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ (Active Learning) มีการวัด และประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน (Assessment for Learning) เพื่อให้เกิดสมรรถนะกับผู้เรียนทุกระดับ”
จากนโยบาย และจุดเน้นดังกล่าว ส่งผลให้ทิศทางการจัดการเรียนการสอนในประเทศไทยในขณะนี้ เป็นการจัดการเรียนรู้เชิงรุก
ในส่วนของการออกแบบ และการจัดการเรียนรู้ให้เป็นการเรียนรู้เชิงรุกนั้น สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนสถานศึกษาเอง ต่างพากันจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการจัดการเรียนรู้เชิงรุกในรูปแบบต่างๆ ทั้ง online และ on-site ส่งผลให้ครูทั้งประเทศมีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก
แต่ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นครูคนหนึ่งในระบบการศึกษาไทย ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า ส่วนใหญ่การจัดอบรมจะเน้นให้ความรู้ในเรื่องของการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ และนำเสนอตัวอย่างกิจกรรมเท่านั้น ไม่ได้ลงลึกในเรื่องของแนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแนวคิด Active Learning
ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้ย้อนไปทบทวนความรู้เดิม ตลอดจนสืบค้นความรู้ใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ เกี่ยวกับการวัดและประเมินผล ซึ่งผู้เขียนพบว่า ที่จริงแล้วการวัดและประเมินผลนั้น มีหลากหลายวิธี เช่น การทดสอบ การสังเกต การสัมภาษณ์ การเขียนสะท้อนผลการเรียนรู้ การประเมินตนเอง ฯลฯ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียน และเพื่อพัฒนาผู้เรียน
จากการวิเคราะห์พบว่า วิธีการวัดและประเมินผลที่ครูนิยมใช้ เช่น การทดสอบ การสังเกตพฤติกรรม ล้วนแล้วแต่เป็นการรอให้ครูผู้สอนประเมินผู้เรียน นับว่าเป็นการประเมินเชิงรับ (Passive assessment) ซึ่งการประเมินเชิงรับก็เป็นวิธีการที่ดี แต่ในยุคที่อะไรๆ ก็เชิงรุก อะไรๆ ก็ Active Learning ครูผู้สอนก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการวัดและประเมินให้เข้ากับยุคสมัยแห่งการเรียนรู้เชิงรุก การให้ผู้เรียนประเมินตนเอง (Self-assessment) เป็นวิธีการประเมินที่ให้ผู้เรียนได้ประเมินตนเองผ่านการเขียน ซึ่งสามารถประเมินตนเองได้ทันทีหลังจากเรียน ซึ่งวิธีการนี้จัดว่าเป็นการประเมินเชิงรุก (Passive assessment) จัดได้ว่าวิธีการนี้เหมาะสมกับยุคสมัยเป็นอย่างยิ่ง
การประเมินตนเองเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ (Self-assessment for improvement) เป็นการประเมินตนเองของผู้เรียน โดยการเขียนพรรณนาตอบคำถามในแบบประเมินตนเอง ซึ่งไม่ใช่การประเมินเพื่อตัดสิน แต่เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ เน้นให้ผู้เรียนประเมินตนเอง โดยมีชุดคำถามเป็นตัวช่วยในการสะท้อนคิดเพื่อประเมินตนเอง
ตัวอย่างคำถามที่ผู้สอนใช้กระตุ้นให้ผู้เรียนสะท้อนคิด ประเมิน และตรวจสอบการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.นักเรียนได้เรียนรู้อะไรจากการทำกิจกรรมนี้/การเรียนวิชานี้
2.นักเรียนมีวิธีการเรียนรู้ในเรื่องนี้อย่างไร
3.สิ่งที่นักเรียนทำได้ดีในการเรียนคาบนี้/วิชานี้คืออะไร
4.สิ่งที่นักเรียนควรพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นคืออะไร
5.นักเรียนรู้สึกอย่างไรกับคาบเรียน/วิชานี้ ฯลฯ
ในส่วนของการนำวิธีการประเมินตนเองไปใช้นั้น ผู้เขียนนำไปใช้เมื่อจัดการเรียนรู้ ผ่านไปได้สักระยะหนึ่ง กล่าวคือก่อนสอบกลางภาค ผู้เขียนได้ให้นักเรียนตอบคำถามเพื่อการประเมินตนเองลงในสมุดประจำวิชา โดยก่อนที่จะให้ผู้เรียนประเมินตนเอง ผู้เขียนได้อธิบายความหมาย และความสำคัญของการประเมินตนเองให้ผู้เรียนได้รู้จักก่อน เนื่องจากผู้เรียนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับวิธีการประเมินในรูปแบบนี้ รวมทั้ง อธิบายคำถามเพื่อการประเมินตนเองในภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจ เพื่อให้ผู้เรียนตอบคำถามได้ตรงประเด็น
ตัวอย่างคำตอบของผู้เรียนจากคำถามที่ว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเรียนวิชาหลักภาษาไทย “คำศัพท์ที่เคยเขียนไม่ถูกก็เขียนถูก คำที่ไม่รู้ความหมายก็รู้ความหมาย”, “ได้แนวทางการทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย”, “รู้ความหมายของคำศัพท์มากขึ้น เขียนคำศัพท์ภาษาไทยได้ถูกต้อง ใช้คำคล้ายความหมายต่างได้ถูกต้อง”, “ได้เรียนรู้คำแปลกๆ หลายคำ คำจากภาษาอื่นที่เราเข้าใจอยู่แล้ว แต่พอเปลี่ยนเป็นคำในภาษาไทย บางคำไม่คุ้นหูเลย แปลกไปเลย ซึ่งเป็นอะไรที่เปิดโลกภาษาไทยมาก”
สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการให้ผู้เรียนประเมินตนเองนั้น ประการที่ 1 คือครูผู้สอนได้เรียนรู้ความคิดของผู้เรียน ได้รับรู้มุมมองของผู้เรียน ได้รู้ว่าผู้เรียนเข้าใจ ไม่เข้าใจเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งครูผู้สอนสามารถนำข้อมูลจากการประเมินตนเองของผู้เรียนนี้ ไปพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของตัวครูผู้สอนเอง ทั้งนี้ คำตอบของผู้เรียนนั้น อาจจะไม่ได้สะท้อนความรู้ความเข้าใจของผู้เรียนที่มีต่อเนื้อหาสาระที่เรียนโดยตรง แต่มักสะท้อนการเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่า ประการที่ 2 คือผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการประเมินตนเอง ได้ฝึกทักษะการสะท้อนคิด ได้สะท้อนผลการเรียนรู้ และทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ อีกทั้ง ยังได้พัฒนาทักษะการเขียนสื่อสารอีกด้วย
ล่าสุด สพฐ.มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2566 เรื่องซักซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวชี้วัดระหว่างทาง และตัวชี้วัดปลายทางฯ ซึ่งมีเนื้อหาความตอนหนึ่งที่น่าสนใจว่า “…ตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และเน้นการประเมินในระหว่างการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ที่เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียนเป็นหลัก (Formative Assessment) ผ่านมโนทัศน์ของการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ (Assessment for learning) และการประเมินขณะเรียนรู้ (Assessment as learning) ด้วยวิธีการประเมินที่หลากหลาย โดยเน้นการวัดและประเมินผลแบบไม่เป็นทางการ (Informal Assessment) เช่น การสังเกตพฤติกรรม การสอบปากเปล่า การพูดคุย การใช้คำถาม การเขียนสะท้อนการเรียนรู้ การประเมินตนเอง เพื่อนประเมินเพื่อน เป็นต้น…”
จากข้อความดังกล่าวข้างต้น เป็นการเน้นย้ำให้เห็นกันชัดๆ ว่า การประเมินตนเองเป็นหนึ่งในวิธีการประเมินผู้เรียนที่ สพฐ.แนะนำ มีความน่าสนใจ และเหมาะสมกับยุคสมัยที่อะไรๆ ก็ Active Learning
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 10 กันยายน 2566
เกี่ยวกัน
อาจารย์ มช. เขียนถึงเศรษฐา ช่วย ‘หยก’ อยู่ในระบบการศึกษา แนะมอบหมาย ‘ภูมิธรรม’
จากกรณีที่ ศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ อาจารย์สถาบันพหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เสนอแนะทางออกกรณี น.ส.ธนลภย์ ผลัญชัย หรือหยก เยาวชน พ้นสภาพการเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โดยเสนอให้รัฐบาลสามารถเข้ามามีบทบาทช่วยให้เยาวชนไม่หลุดจากระบบการศึกษา โดย ศ.ดร.นงเยาว์โพสต์ข้อความระบุว่า
“กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ และพรรคเพื่อไทยโปรดช่วยหาช่องทางติดตามผู้ปกครองหยกโดยด่วน ให้หยกได้อยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ถ้าทำไม่สำเร็จคงต้องดูว่าใครที่เหมาะสมและหยกเองก็ไว้วางใจ ใจจริงอยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายภารกิจนี้ให้คุณภูมิธรรม รองเลขาฯพรรคกาวใจของเพื่อไทยช่วยคลี่คลาย อย่าให้หยกต้องเดินอยู่ตามลำพังเลย”
ล่าสุด ศ.ดร.นงเยาว์แชร์โพสต์ดังกล่าวอีกครั้ง พร้อมเขียนข้อความระบุว่า ประกาศจุดยืนอย่างสิ้นคิดตรงนี้ จะติดต่อคุณแม่ของหยกและหยกได้อย่างไร
ขอบคุณคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ อาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และคุณแขก คำผกา ที่ช่วยอธิบายสิ่งที่ดิฉันเรียกร้องรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยในฐานะที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจนคาดว่าได้สร้างความเข้าใจวงกว้างต่อสิทธิอันพึงมีพึงได้ของคุณหยกเรื่องการศึกษาและความเป็นพลเมืองและดิฉันเองในฐานะผู้สอนหนังสือที่ศรัทธาการสร้างความรู้และจินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของชีวิตและสังคม แน่นอนว่า ความปกติใหม่ย่อมสร้างความว้าวุ่นต่อระเบียบและผู้รักษาระเบียบ ยังไม่นับถึงต้นทุนชีวิตที่อาจถูกพรากไปของหยกและเยาวชนคนอื่นๆ นับร้อยนับพันชีวิต
คิดว่าจะถือโอกาสนี้เขียนอะไรยาวๆ เกี่ยวกับการศึกษาในแง่มุมความคิดของ John Dewey เรื่องการศึกษากับประชาธิปไตย ที่ค้างไว้ “การศึกษาเพื่อจรรโลงระบบย่อมสร้างการเรียนรู้ในแบบที่แตกต่างจากการศึกษาเพื่อหวังการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความหวังใหม่ๆ” สำหรับหยกและเยาวชนคนอื่นๆ นั้นถ้าเขาเลือกที่จะสู้กับระบบโครงสร้างผนังทองแดงกำแพงเหล็กน้อยกว่านี้ ปัญหาเขาคงคลี่คลายได้โดยคนธรรมดาอย่างเราๆ ไม่ต้องขอความใส่ใจจากรัฐบาลและเจ้ากระทรวงต่างๆ สังคมไทยเราเห็นเด็กไร้บ้านคนไทยบริจาคจนต้องขอปิดสมุดบัญชี แต่มิใช่กรณีเด็กที่ทวงถามถึงระเบียบสังคมใหม่ แปลกใจไหมล่ะ
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 10 กันยายน 2566
เกี่ยวกัน
"คำถามถึงรัฐมนตรีศึกษา" จันโททัย
คนไทยทั้งประเทศคิดว่ามีความคิดเหมือนกัน คือ เป็นห่วงเรื่องการศึกษาของเรา ซึ่งถดถอยมาหลายปีเต็มทีด้วยหลายสาเหตุ
มีผู้รู้หลายท่าน ได้พยายามให้ข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงศึกษา บางคนก็พูดจนปากจะฉีกถึงตูดการศึกษาก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น
สิ่งต่อไปนี้ก็เป็นคำถามถึงกระทรวงศึกษาอีกนั่นแหละว่า
"เรียนรู้สู่โลกกว้าง ให้สิ่งรอบข้างเป็นครู"
ทำไม ไม่มีการอบรมครู ให้รู้เรื่องทฤษฎีการศึกษาดี ๆ สำหรับเด็ก ๆ หรือสำหรับผู้ใหญ่ก็ตาม ควรมีคำถามต่อไปว่า อบรมไปแล้วมีการนำไปปฏิบัติต่อกี่คนกี่แห่ง ได้ผลอะไรบ้าง ความชัดเจนของนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ เงื่อนไของค์ประกอบอื่น ๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้มีหรือไม่
เพราะอบรมไปอย่างเดียว ก็คงไม่สามารถเปลี่ยนครูที่สอนแบบเดิม ๆ มาหลายสิบปีได้ ไม่ว่าจะใช้เงินไปกี่พันล้านอย่างที่กระทรวงศึกษาทำอยู่
ทำไม ต้องมีแต่โรงเรียนที่ปรับปรุงสวยงามเหมือนรีสอร์ท มีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นแต่ผลการเรียน เน้นแต่คะแนนสูงๆ โดยไม่สนใจว่าผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้สอนไปกู้เงินมาทำโรงเรียนเป็นหนี้กี่ล้าน ไม่สนใจปัญหาความทุกข์ยากหนี้สินการทำมาหากินของพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน จึงมีแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมบ้าง ปัญหาชุมชนบ้าง ปัญหาเกี่ยวกับการทะเลาะเบาะแว้งของวัยรุ่น
คงจะไม่มีประโยชน์ ถ้าเป็นโรงเรียนยอดเยี่ยม แต่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหาของชุมชน อาจเป็นได้แค่โรงเรียนตัวอย่างของกระทรวงศึกษาธิการ
ทำไม ไม่สร้างโรงเรียนที่เป็นต้นแบบของโรงเรียนที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม หรือเป็นโรงเรียนที่เด็กไปเรียนแล้วมีความสุขมีความสนุกสนาน เรียนจบแล้วสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เป็นฉที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่แปลกแยกออกไป ไม่แย่งนักเรียนจากโรงเรียนต่างตำบลต่างอำเภอเพื่อมาเรียนโรงเรียนในระดับจังหวัดเพียงไม่กี่โรงเท่านั้น
น่าคิดนะครับท่านผู้เป็นใหญ่ทั้งหลายครับ จะทำอย่างไรกันดีครับที่จะทำให้การศึกษาของเราเชิดเฉลารุ่งเรืองมากกว่านี้ครับ
ที่มา ; EDUNEWSSIAM