แถลงนโยบายต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้วเป็นวันแรก 11 กันยายน สำหรับก้าวแรกของรัฐบาลใหม่ที่มี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวเรือใหญ่
ที่มุ่งเน้นประเด็นเศรษฐกิจอันเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย
ทว่า อีกหนึ่งด้านที่ไม่อาจหลงลืมได้ นั่นคือ การศึกษา ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการขับเคลื่อนเม็ดเงินในกระเป๋า อันมี การอ่าน เป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้ และมีหนังสือ เป็นหนึ่งในเครื่องมือหลัก
โดยรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐาได้ประกาศนโยบายปฏิรูปการศึกษา สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้
“การเรียนรู้ของคนจะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ยั่งยืน ช่วยหนุนเสริมนโยบายที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ และต่อยอดต่อไป”
คือมุมมองของ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ที่ย้ำว่า การอ่านคือพื้นฐานการเรียนรู้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นประเด็นที่รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นการเรียนรู้ แม้นโยบายที่แถลงจะไม่ได้พูดถึง การอ่าน อย่างชัดเจน ส่วนตัวมองว่ามี 2 ส่วนที่สัมพันธ์กัน กล่าวคือ
· ส่วนแรก รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างพื้นที่เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถตอบโจทย์ประชากรทุกช่วงวัยได้ อย่างในอดีตมีองค์กรอย่าง ทีเค พาร์ค (TK Park อุทยานการเรียนรู้) และ OKMD หรือ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ที่ช่วยให้เกิดการสร้างการเรียนรู้ สิ่งที่ตามมา คือ เรื่องของพื้นที่ของห้องสมุดต่างๆ ซึ่งสามารถใช้นโยบายในการผลักดันให้ประชาชนทุกช่วงวัยเข้าไปใช้พื้นที่ เกิดความสนใจที่จะเข้าไปค้นหา ขวนขวายหาความรู้ต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับการอ่าน
· ส่วนที่ 2 คือ หนังสือ ซึ่งรัฐบาลสามารถเข้ามาช่วยผลักดันอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ได้
“มีหลายคนก็พูดถึงราคาหนังสือที่อาจมีราคาสูงเกินกว่าที่ประชาชนจะเข้าถึงได้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากตลาดหนังสือในประเทศไทยที่ไม่ได้ใหญ่มากพอที่จะทำให้มีราคาย่อมเยา ในส่วนนี้รัฐบาลสามารถเข้ามาช่วยอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ รวมถึงสื่อการอ่าน และการสนับสนุนการแปลผลงานและการจัดพิมพ์หนังสือต่างๆ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นภาระหน้าที่ของหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทวงวัฒนธรรมก็ดี กระทรวงศึกษาธิการก็ดี หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ดี ในการที่จะผลักดันเรื่องเหล่านี้ที่จะช่วยให้การอ่านและการเรียนรู้นั้นเชื่อมโยงและหมุนเวียนกันไป” อนรรฆกล่าว
ไม่ถามไม่ได้ ว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ในรัฐบาลเศรษฐา 1 ตรงสเปกหรือไม่ ?
อนรรฆ ตอบว่า เพิ่งมาใหม่ ต้องให้เวลา “ก็คงต้องให้เวลาในการขับเคลื่อนตัวนโยบายก่อน อยากฝากประเด็นในแง่ของการอ่านและการเรียนรู้ ซึ่งกระทรวงการศึกษาธิการ มักถูกมองว่าดูแลเรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่ความจริงครอบคลุมถึงพื้นฐานของการผลักดันการเรียนรู้ ซึ่งมีการอ่านเป็นเรื่องสำคัญ เลยอยากฝากในเรื่องนี้ให้พิจารณาว่าจะมีการส่งเสริมการอ่านทั้งในระดับนักเรียนและประชากรทุกช่วงวัยอย่างไร
“กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าของห้องสมุดจำนวนมากในประเทศไทย จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์อย่างไรให้เกิดการเข้าถึงหนังสือที่หลากหลาย สามารถตอบโจทย์กลุ่มต่างๆ ในสังคม” กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์กล่าว
เมื่อถามถึงประเด็น การเรียนรู้ตลอดชีวิต อนรรฆเผยว่า ต้องทำงานแบบข้ามกระทรวง พร้อมย้ำว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ใช่แค่การพัฒนาทักษะ แต่เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมของประเทศซึ่งมี การอ่าน เป็นปัจจัยสำคัญ
“การเรียนรู้ตลอดชีวิตอยู่ในหลายกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ก็เป็นส่วนหนึ่ง รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้กระทรวงมหาดไทย รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มันต้องคุยกันในหลายกระทรวง เพราะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่ตอบทักษะส่วนตัวของกลุ่มประชากร ตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่ตอบความต้องการส่วนบุคคล แต่ตอบความต้องการของประเทศชาติ ที่ต้องการคนคุณภาพ สามารถสร้างสรรค์คุณค่าทางเศรษฐกิจสังคมให้กับประเทศได้ และเศรษฐกิจจะไปต่อไม่ได้เลย ถ้าทัศนคติประชาชนในสังคม ไม่ได้มีมายด์เซตที่ต้องการแสวงหาการเติบโต การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ การเรียนรู้ของคนจะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ยั่งยืน ช่วยหนุนเสริมนโยบายที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ และต่อยอดต่อไป”
ความเห็นของ อนรรฆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น สอดคล้องพอดิบพอดีกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย เพื่อสร้างมูลค่าและสร้างรายได้ ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ทักษะ ให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ รวมถึงการประกาศปฏิรูปการศึกษา สร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ ไว้ในเป้าหมายระยะกลางและระยาว พร้อมให้คำมั่นว่า จะเป็น 4 ปีที่แห่งการวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ โดยยึดหลักนิติธรรม
ส่วนประเด็น เหลื่อมล้ำ นั้น ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ผลักดันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มองว่า รัฐบาลควรมุ่งเน้นสร้าง พลเมืองตื่นรู้ (Active citizen) ไม่ควรมองแค่ว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องสิทธิ ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าหรือรายได้ หากแต่การตระหนักรู้จะนำไปสู่เกิดการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจและสังคม แบบที่พิสูจน์แล้วในหลายประเทศว่าสังคมที่เสมอภาคเติบโตได้ดีกว่า สังคมที่เหลื่อมล้ำ
เมื่อถามว่า สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวัยเรียน รัฐบาลสามารถที่จะส่งเสริมให้มีความเป็นพลเมืองได้อย่างไร การอ่าน ช่วยได้มากน้อยเพียงใด ?
ษัษฐรัมย์ ตอบชัดทันทีว่า ทั้ง 2 อย่างต้องไปด้วยกัน ทั้งการที่รัฐบาลจะจัดแมททีเรียล การลดหย่อนภาษีหนังสือ ก็จะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ราคาถูก
“แต่เรื่องใหญ่ที่สำคัญ ก็เหมือนกับเรื่องเด็ก คือถ้าเด็กท้องหิว หรือไม่มีเงินไปเรียน สุดท้ายแล้วระบบการศึกษาก็จะพังลงไป เช่นเดียวกัน ถ้าเราอยากให้คนสามารถต่อยอดความรู้ต่างๆ ได้ เราต้องทำให้คนว่าง ต้องหาทางลดชั่วโมงการทำงานของคน เพิ่มค่าจ้างต่อชั่วโมงของเขาให้สูงขึ้น โดยที่เรื่อง Upskill Reskill จะเกิดขึ้นได้เอง ถ้าคนว่าง มั่นคง ปลอดภัย คนก็จะสามารถวางแผนตัวเองไปอยู่ในเซ็กเตอร์ที่มันมีมูลค่าสูงมากขึ้นได้ แต่ถ้ายังคนต้องทำงาน ทำโอทีเพื่อใช้หนี้นอกระบบแบบที่เป็นอยู่ ต้องทำงาน 40-50 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพื่อใช้หนี้ หรือจ่ายปัจจัยพื้นฐาน ก็พัฒนาสกิลไม่ได้อยู่ดี” ษัษฐรัมย์ อธิบาย ก่อนทิ้งท้ายว่า เรื่องเหล่านี้ต้องเชื่อมโยงกัน
การพัฒนาคุณภาพคน 1 คน เกี่ยวพันกับเรื่องการสร้างความปลอดภัยทางสังคมด้วย
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 12 กันยายน 2566
เกี่ยวข้องกัน
เปิดคำแถลงนโยบาย “รัฐบาลเศรษฐา” ชู 5 ประเด็นเร่งด่วน
การแถลงนโยบายรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อที่ประชุมรัฐสภาจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน 2566 โดยนโยบายมีทั้งเรื่องเร่งด่วน เรื่องที่ต้องดำเนินการในระยะกลาง และระยะยาวตลอดการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยใช้เวลา 50 นาที แถลงนโยบายมีเนื้อหา ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
นายเศรษฐา ได้แถลงต่อรัฐสภา โดยมีเนื้อหาว่า สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยเปรียบเสมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของเราในหลากหลายส่วน ภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายก็ฟื้นฟูได้ช้าจนมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นที่มาของความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่น เพื่อดึงดูดการลงทุนและฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจของเราอีกครั้ง
สำหรับ นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายนี้จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชน เปิดประตูให้ภาคธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล
ทั้งนี้ นายเศรษฐาได้ชู 5 นโยบายเร่งด่วน โดยเป็นนโยบายระยะสั้น กระตุ้นเศรษฐกิจ
1. การเติมเงิน 10.000 บาท ผ่าน Digital Wallet กระตุกเศรษฐกิจประเทศ
2. แก้ปัญหาหนี้ พักหนี้เกษตรกร -ประคองภาระหนี้สิน SME ที่ได้ผลกระทบจากโควิด-19
3. ลดภาระค่าพลังงานไฟฟ้า -ก๊าซหุงต้ม -น้ำมัน
4. เร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
5. มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ
โดยมีรายละเอียดตามเอกสาร คลิก>>>
เปิดคำแถลงนโยบาย “รัฐบาลเศรษฐา” ต่อที่ประชุมรัฐสภา ชู 5 ประเด็นเร่งด่วน แก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน เดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท – ลดราคาน้ำมัน – ค่าไฟฟ้า – สร้างรายได้การท่องเที่ยว – ทำประชามติ แก้รัฐธรรมนูญ
ที่มา ; Thaiplubica 11 กันยายน 2023
เกี่ยวข้องกัน
‘นายกฯ’ ยาหอม" ลดภาระงานครู - หนุนปฏิรูปศึกษา-ส่งเสริมการอ่าน- แก้เหลื่อมล้ำ – เรียนอย่างสุข "ปลัดศธ." คุย! งบ”ปี 67 พร้อมเสนอ รมว.ศธ.
จากหลักการและเหตุผล ประเทศไทย กำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีคนสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจ จากการลดลงของสัดส่วนประชากรช่วงวัยทำงาน และมีแนวโน้มที่รัฐจะต้องให้การดูแลช่วยเหลือเพิ่มขึ้น สัดส่วนของผู้สูงวัยที่มากขึ้น เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อฐานะทางการคลังของรัฐบาล ทั้งในเรื่องของสวัสดิการและงบประมาณด้านสาธารณสุข ขณะที่การสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อมาทดแทน กลายเป็นความท้าทายจากการที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปี มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากความท้าทายเชิงปริมาณแล้ว การศึกษาของประเทศไทย ยังมีความท้าทายเชิงคุณภาพ ที่ยังไม่สามารถผลิตบุคลากร ให้ตอบสนองต่อความต้องการของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ นักเรียน นักศึกษาที่เรียนจบใหม่ ไม่สามารถหางานทำที่ตรงกับสายงาน หรือจำเป็นต้องทำงานในสายงานที่มีรายได้ต่ำกว่าความสามารถทางวิชาชีพ
ในด้านการศึกษา รัฐบาลจะดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษา และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้ กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง
มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ จัดทำหลักสูตรและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน
ส่งเสริมงานวิจัย และ พัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยไม่ละเลยการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศ และการปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ เพื่อให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกสมัยใหม่อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม
รัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อความมีคุณภาพของครู ทั้งประเทศ รวมไปถึงครูแนะแนว เพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับคำแนะนำด้านเนื้อหาของวิชาการและการเข้าถึงข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกเรียนและประกอบอาชีพ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียนทุกคน
นอกจากนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ทั้งสายวิชาการและสายอาชีพให้มีรายได้จากวิชาที่เรียน โอกาสฝึกงานระหว่างเรียน เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถตรงต่อความต้องการของการจ้างงาน
และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
เมื่อวันที่ 11 ก.ย.นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้เดินทางเข้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพร้อมมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของศธ.และข้าราชการอย่างไม่เป็นทางการนั้น
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ต้องการให้มีการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 11 ก.ย.ก่อน จากนั้นจะประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ในวันที่ 12 ก.ย.และ วันที่ 14 ก.ย.นี้ จะแถลงนโยบายการศึกษาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนท์ เพื่อให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และผู้บริหารโรงเรียนได้รับฟังนโยบายพร้อมกันทั่วประเทศ ทั้งนี้สำนักงานปลัดศธ.จะสร้างเครือข่ายระบบสารสนเทศในการยิงไลฟ์สด ให้รับชมร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปฎิบัติและยกระดับผู้เรียนที่มีคุณภาพต่อไป
ปลัดศธ.กล่าวต่อไปว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้ให้ความสำคัญกับเส้นทางวิชาชีพข้าราชการ โดยเฉพาะการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงจะมีแนวทางอย่างไรให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ และการลดภาระงานครู
ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ขอให้ทุกคนทำงานกันอย่างเต็มที่ เพราะชอบการลงพื้นที่โดยที่ไม่แจ้งล่วงหน้า ขณะเดียวกันตนได้นำแผนงบประมาณปี 67 ไปรายงานให้ได้รับทราบถึงรายละเอียดการจัดทำแผนงบดังกล่าวแล้ว ต้องรอว่าจะมีนโยบายใดอะไรเพิ่มเติมจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูนอีกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้ผู้บริหารองค์กรหลักฯ เตรียมฟังการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมด้วย เพื่อนำมาปรับใส่ในการจัดทำแผนงบประมาณปี 67 ของศธ.
หลังจากนั้นตนจะเสนอแผน งบ 67 ให้พล.ต.อ.เพิ่มพูน พิจารณาอีกครั้ง จะปรับหรือเพิ่มเติมแผนดังกล่าวหรือไม่
สรุปนโยบายของคณะรัฐมนตรี “นายเศรษฐา ทวีสิน ” แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ได้กำหนดแนวทางดำเนินการนโยบายด้านการศึกษา ไว้ในกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศ ระยะกลางและระยะยาว เพื่อเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน ดังนี้
ที่มา ; EDUNEWSSIAM