เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่สวนนงนุชพัทยา จ.ชลบุรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดประชุมผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหาร สพท. ว่า ขอฝากนโยบายของตนให้ ผอ.สพท. และผู้บริหารสถานศึกษานำสู่การปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นนโยบายลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง การเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินครู ซึ่งนโยบายเรียนดีมีความสุข คือ ความสุขของครูและนักเรียน เพราะการเรียนที่มีความสุขไม่ใช่แค่ทำให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่รวมไปถึงอนาคตของเด็กที่มีความสุขด้วย นอกจากนี้ อยากฝากให้ครูได้เข้าไปกรอกแบบสอบถามว่าอยากให้ตนทำนโยบายใดบ้างที่เร่งด่วนและมีความสำคัญ และอยากให้ช่วยเหลือปัญหาของครูในด้านไหน หรือนโยบายใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขต่อไป รวมถึงอยากให้ครูและผูับริหารทุกคนได้รักในวิชาชีพของตัวเอง เพราะหากมีความรักในวิชาชีพแล้ว ก็จะทำงานในหน้าที่ได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ ขอฝากให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ไปจัดทำแผนปฏิบัติการตามนโยบายของตนที่ได้สั่งการเอาไว้ด้วย
“ผมได้ดูนิทรรศการความสำเร็จ 2 ทศวรรษ สพฐ. สานต่อพื้นฐานการศึกษา พัฒนาอนาคตเด็กไทยแล้วถือเป็นนิทรรศการที่ดี ผมขอชื่นชมแต่นิทรรศการมีหลายอย่างมากทำให้ผมชมไม่ทั่วถึง ดังนั้นฝากผู้เกี่ยวข้องได้นำผลงานนิทรรศการต่างๆ เหล่านี้ใส่ไว้ในแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ยูทูบ เป็นต้น เพื่อที่ผมจะใช้เวลาว่างมานั่งเปิดรับชม และให้คนทั่วไปได้เห็นและนำไปต่อยอดขยายผลได้” รมว.ศธ. กล่าว
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้มีนโยบายที่จะลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง และขอให้ ผอ.สพท.ทุกคน ได้นำนโยบายของ รมว.ศธ. ลงสู่การปฏิบัติด้วย ซึ่งที่สำคัญคือการนำหลักอริยสัจสี่ มาใช้ในการดำเนินชีวิต เพราะเป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่แก้ปัญหาต่างๆ ได้ ส่วนเลขาธิการ กพฐ. คนใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าแทนตน เนื่องจากจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้นั้น ตนมองว่า สพฐ. เป็นองค์กรขนาดใหญ่ หากไม่ได้บุคคลที่เข้าใจงานก็ต้องมานั่งเรียนรู้งานกันใหม่ และผลกระทบที่จะตามมาคือความล่าช้าไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากได้เลขาธิการ กพฐ. ที่มีต้นทุนมีความเข้าใจก็จะต่อยอดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ เพราะเราเจอวิกฤติทางการศึกษาจากสถานการณ์โควิดที่สูงมาก หากจะต้องมาจมกับการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกทิศทางจะเป็นปัญหาภายหลังได้ ทั้งนี้หากไม่ใช่ลูกหม้อของ สพฐ. ก็ต้องมีความเข้าใจงานด้วย ไม่ใช่มาดำรงตำแหน่งแล้วจับวางงานไม่ได้ หรือต้องขอใช้เวลาศึกษา 1 ปี แบบนี้จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการอย่างแน่นอน
“ผมขอไม่ฝากอะไรกับเลขาธิการ กพฐ. คนใหม่ แต่ผมห่วงเรื่องการพัฒนาการศึกษามากกว่า โดยเฉพาะกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาสุขอนามัยนักเรียน ปัญหาสังคม เพราะทุกวันนี้เด็กต้องเผชิญกับภัยความรุนแรงทุกรูปแบบ ซึ่งเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ทั้งนี้เราจะต้องทำให้เด็กมีความสุข ครูมีความสุขก่อน พร้อมกับติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ผู้เรียนด้วย เพื่อให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นและมีทักษะชีวิตในการเอาตัวรอดจากสังคมได้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
รมว.ศธ.แนะ ผอ.สพท. ใช้หลักอริยสัจสี่บริหารการศึกษา ด้าน "อัมพร" ฝากเลขาธิการ กพฐ. คนใหม่ ติดอาวุธทางปัญญาให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข
ที่มา ; เดลินิวส์ 19 กันยายน 2566
ข่าวเกี่ยวกัน
สพฐ.พร้อมหนุนนโยบาย”เพิ่มพูน” เดินหน้าลดภาระครู
เมื่อวันที่ 18 ก.ย.นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่าตามที่พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายการศึกษาอย่างเป็นทางการไปเมื่อเร็วๆนี้ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ
1.ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอน มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ครูคืนถิ่นโยกย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมด้วยความโปร่งใสไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง แก้ไขปัญหาหนี้สินครู จัดหาอุปกรณ์สอนและสวัสดิการ 1ครู 1 แท็บเล็ต และ
2.ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ด้วยการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาเรียนฟรีมีงานทำยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือโครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต หนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนคุณภาพนั้น
เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จากนี้ไปในแต่ละประเด็นที่รมว.ศธ.กำหนดเราจะกลับไปสำรวจข้อมูลพื้นฐานในปัจจุบันควมขาดแคลนในประเด็นต่างๆ เช่น อุปกรณ์แท็บเลตมีนักเรียนขาดแคลนและมีความจำเป็นที่ต้องใช้งานจำนวนเท่าไหร่อย่างไร ซึ่งจากนั้นสพฐ.จะต้องมาจัดทำแผนบริหารจัดการด้านงบประมาณปี 2567 ว่าจะปรับแผนงบดังกล่าวจากหมวดไหนและจะจัดสรรได้อย่างไรบ้าง เพราะเราต้องมาทบทวนแผนงบประมาณปี 2567 ที่สพฐ.ได้มีการจัดทำไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะขอปรับหรือขอเพิ่มเติมงบประมาณจากส่วนไหนได้ หรือหากงบประมาณที่จะใช้จัดสรรในการแจกแท็บเล็ตไม่เพียงพอก็อาจจะต้องจัดทำแผนงบประมาณขยายต่อในปี 2568 หรือ 2569 ได้เช่นกัน ทั้งนี้สพฐ.จะเตรียมจัดทำแผนงบประมาณตามนโยบาย เพื่อเสนอรมว.ศธ.พิจารณาต่อไป ส่วนแผนงบประมาณปี 2567 ของสพฐ.จะต้องรื้อใหม่หมดหรือไม่นั้น ขณะนี้เราต้องนำนโยบายของรัฐบาลและศธ.ไปเปรียบเทียบกับกรอบงบประมาณ ซึ่งหากนโยบายส่วนไหนตรงกับก็ไม่จำเป็นต้องปรับอะไรมาก
สพฐ.พร้อมหนุนนโยบาย "เพิ่มพูน เดินหน้าลดภาระครู วางแผนจัดสรรอุปกรณ์แท็บเล็ต
ที่มา ; เดลินิวส์ 18 กันยายน 2566
เกี่ยวข้องกัน
‘เพิ่มพูน’ มอบนโยบายบิ๊กเขตพื้นที่ฯ ฝากการบ้านผู้บริหาร คิดแนวทาง เดินหน้า เรียนดี มีความสุข
เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่สวนนงนุช จ.ชลบุรี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวมอบนโยบายในการประชุมผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงเปิดงาน 2 ทศวรรษ “สานต่อพื้นฐานการศึกษา พัฒนาอนาคตเด็กไทย” โดยมีผู้บริหาร ศธ.และบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมกว่า 1,000 คน
โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวตอนหนึ่งว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาพบกับผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกคนในวันนี้ หลังจากที่ได้พบและพูดคุยผ่านระบบออนไลน์ในการมอบนโยบายเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้สื่อสารนโยบายของ ศธ.แก่ทุกคนอีกครั้ง ซึ่งถือว่าทุกคนเป็นผู้นำทางการศึกษาในพื้นที่ และถือเป็นโซ่ข้อกลางที่สำคัญในการเชื่อมต่อนโยบายสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดคุณภาพทางการศึกษา สู่สถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีเป้าหมายสำคัญสูงสุดคือ ตัวผู้เรียน ในการทำอย่างไรให้ “เรียนดี มีความสุข”
รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ศธ.จึงกำหนดนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาขั้นพื้นฐานใน 3 ด้าน ได้แก่
1.ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (1 นักเรียน 1 Tablet)
2.มุ่งเน้นเรื่องโรงเรียนคุณภาพ ตั้งเป้าที่ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ โดยทำให้โรงเรียนมีคุณภาพเท่าเทียมกัน เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กในชนบทได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับเด็กในเมือง และ
3.ระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต
ทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนรู้จักตนเอง ในที่นี้หมายถึงรู้จักความถนัดและความสามารถของตน เพื่อจะนำไปสู่การเลือกเรียนในสาขาวิชาต่างๆ อย่างเหมาะสม นำพาไปสู่การมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวในอนาคต ส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn)
โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่อาจจะไม่มีความถนัดทางด้านวิชาการ แต่มีความสามารถและความถนัดทางด้านวิชาชีพ คหกรรม โดยส่งเสริม สนับสนุนให้สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพได้ด้วยตนเอง โดยมีครูผู้สอนเป็นโค้ชแนะแนวทาง พร้อมกับการสร้างเครือข่ายในชุมชนและท้องถิ่น เพื่อแสวงหาพื้นที่ในการประกอบอาชีพ หรือหารายได้ระหว่างเรียนให้กับผู้เรียน
“ผมอยากเน้นย้ำนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ทั้งความสุขของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ปกครองและชุมชน และไม่ใช่แค่ความสุขในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสุขในอนาคต ดังนั้น ขอฝากผู้บริหารทุกระดับให้นำนโยบายไปคิดว่า ในภาระหน้าที่ของตนเองจะร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่างไร ทั้งนี้ ในการทำงาน ผมพูดเสมอว่า เมื่อมาเป็นเสมา 1 แล้ว จะต้องไม่เพิ่มภาระให้ใคร แต่จะต้องเข้ามาช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น เบาขึ้น ผมและทีมงานจะไม่มาสร้างภาระให้ทุกคนอย่างแน่นอน ทั้งนี้ จากการดูกิจกรรมภายในงาน พบว่าปัจจัยความสำเร็จคือต้องมีหัวใจที่จะทำงาน ซึ่งอยากให้ทุกคนไปขับเคลื่อนให้ครูและนักเรียนมีหัวใจที่จะทำงานสอนและรักที่จะเรียน“ พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้เยี่ยมชมนิทรรศการสรุปผลงาน 20 ปีของ สพฐ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายเดิมที่ สพฐ.ทำเมื่อปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย โอกาสทางการศึกษา รวมถึงเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพใน 4 ด้าน ซึ่งรัฐมนตรีให้ความชื่นชมและได้ขอให้ สพฐ.ไปจัดทำสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจะได้วิเคราะห์และเผยแพร่ให้คนเห็นได้ง่าย
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยังย้ำนโยบายลดภาระครู นักเรียนและผู้ปกครอง และตอนท้ายรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยังย้ำว่า สิ่งสำคัญคือ กระบวนการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ โดยได้ยกประเด็นของอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เน้นในเรื่องของเหตุ โดยให้ดูว่าเกิดจากอะไร เมื่อรู้สาเหตุแล้วจะมีวิธีแก้อย่างไร ซึ่งจะต้องเรียบง่ายและประหยัด โดยยกตัวอย่างเรื่องความปลอดภัย อาจไม่จำเป็นต้องติดกล้องวงจรปิด แค่รณรงค์ให้เด็กไม่เดินคนเดียว ไปไหนมาไหนไปกับเพื่อน ก็จะเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น เป็นต้น
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 19 กันยายน 2566
เกี่ยวข้องกัน
รมช.ศธ.พบผู้บริหาร สพฐ. พร้อมช่วยลดภาระข้าราชการ ลุยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก
เมื่อวันที่ 22 กันยายน นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินทางตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร สพฐ.เข้าร่วม
นายสุรศักดิ์กล่าวว่า สพฐ เป็นองค์กรที่สำคัญในการดูแลจัดการศึกษา เป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุด เพราะมีบุคลากรในสังกัดมากถึง 5 แสนคน การดำเนินงานภายใต้นโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศึกษา เป็นสิ่งที่ตนตระหนัก และหลายนโยบายมีความเกี่ยวข้องกับ สพฐ.โดยตรง ทั้งนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ นโยบายเรื่องการแนะแนว การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น ก็เกี่ยวข้องกับ สพฐ.ในการพิจารณาโยกย้ายครูกลับไปอยู่ในภูมิลำเนาของตัวเอง
“นโยบายหลักๆ จะเกี่ยวข้องกับการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการลดภาระนักเรียน การสร้างอาชีพระหว่างเรียน ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มอบหมาย ผมตระหนักว่าจะต้องทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้ประสบความสำเร็จมากที่สุด ผมรู้ว่าตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เป็นตำแหน่งที่สำคัญ จะต้องทำให้ดีที่สุดและจะเข้ามาทำให้กลไกส่งเสริมการทำงานของข้าราชการมีความง่ายขึ้น
“จะไม่เข้ามาเป็นตัวถ่วง เป็นภาระ หรือขัดขวางการทำงาน โดยขอเน้นย้ำตามแนวทางของ พล.ต.อ.เพิ่มพูนในเรื่องความเรียบง่าย การลงพื้นที่ตรวจราชการต่างๆ ใครไม่เกี่ยวข้องก็ขอให้ทำงานตามหน้าที่ ไม่อยากให้ มาเป็นขบวนใหญ่ๆ ซึ่งส่วนตัวผมเองก็ไม่อยากให้ทุกคนเสียเวลา แต่ใครที่เกี่ยวข้องก็ขอให้มา เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพ” รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าว
รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาที่ได้รับฟังข้อมูลมา ทั้งอัตราการเกิดลดลง โรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ครูไม่ครบชั้น ขาดนักการภารโรง ทั้งหมดเหล่านี้จะต้องมีวิธีที่จะทำให้ดีขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน การยุบหรือควบรวมโรงเรียน เป็นแนวทางที่ทำกันมานาน แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งหวังว่านโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ จะไปช่วยตอบโจทย์เรื่องดังกล่าว ช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก หากสามารถดำเนินการสร้างคุณภาพให้ชุมชนไว้ใจ ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องตั้งคณะทำงานในเรื่องต่างๆ เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 22 กันยายน 2566
เกี่ยวข้องกัน
‘สุรศักดิ์’ มอบนโยบายผู้บริหารสพฐ. และตรวจเยี่ยมทำความคุ้นเคย
วันที่ 22 กันยายน 2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เดินทางไปมอบนโยบายแก่ผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) พร้อมตรวจเยี่ยม โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิกาาคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(เลขาธิการ กพฐ.) พร้อม ผู้บริหาร สพฐ.รับมอบนโยบาย
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า สพฐ. เป็นองค์กรที่สำคัญในการดูแลจัดการศึกษา เป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุด เพราะมีบุคลากรในสังกัดมากถึง 5 กว่าแสนคน การดำเนินงานภายใต้นโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นสิ่งที่ตนตระหนัก และหลายนโยบายมีความเกี่ยวข้องกับสพฐ.โดยตรง ทั้ง นโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ นโยบายเรื่องการแนะแนว การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ครูคืนถิ่น ก็เกี่ยวข้องกับ สพฐ. ในการพิจารณาโยกย้ายครูกลับไปอยู่ในภูมิลำเนาของตัวเอง
“นโยบายหลัก ๆ จะเกี่ยวข้องกับการลดภาระครู และบุคลากรทางการศึกษา แลการลดภาระนักเรียน การสร้างอาชีพระหว่างเรียน การแก้หนี้ครู ทั้งหมดนี้ เป็นนโยบายที่ รมว.ศธ. มอบหมาย ผมตระหนักว่า จะต้องทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ผมรู้ว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. เป็นตำแหน่งที่สำคัญ จะต้องทำงานให้ประสบความสำเร็จ ทำงานอย่างเต็มที่ และจะเข้ามาทำให้กลไกส่งเสริมการทำงานของข้าราชการทำงานได้ง่ายขึ้น จะไม่เข้ามาเป็นตัวถ่วง เป็นภาระ หรือขัดขวางการทำงาน และขอเน้นย้ำตามแนวทางของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ในเรื่องความเรียบง่าย การลงพื้นที่ตรวจราชการต่าง ๆใครที่ไม่เกี่ยวข้องก็ขอให้ทำงานตามหน้าที่ไป ไม่อยากให้ มาเป็นขบวนใหญ่ ๆ ซึ่งส่วนตัวผมเองก็ไม่อยากให้ทุกคนเสียเวลาทำงาน แต่ใครที่เกี่ยวข้องก็ขอให้มา เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพ” รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. กล่าว
รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาที่ได้รับฟังข้อมูลมา ทั้งอัตราการเกิดลดลง โรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ครูไม่ครบชั้น ขาดนักการภารโรง ทั้งหมดนี้ จะต้องมีวิธีที่จะทำให้ดีขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน การยุบหรือควบรวมโรงเรียน เป็นแนวทางที่ทำกันมานาน แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งหวังว่า นโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ จะไปช่วยตอบโจทย์เรื่องดังกล่าว ช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก หากสามารถดำเนินการสร้างคุณภาพให้ชุมชนไว้ใจ ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องตั้งคณะทำงานในเรื่องต่าง ๆเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ ส่วนการเดินหน้านโยบายแจกแท็บเล็ตนักเรียนและครูนั้น ได้ให้คณะทำงานศึกษาระยะแรกจะทำอย่างไรมจะซื้อหรือจะเช่า ก็จะดูว่าอันไหนคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดและดีที่สุด และดูว่าเบื้องต้นจะแจกจ่ายให้เด็กในระดับชั้นใด เพื่อเป็นการเริ่มต้น ซึ่งขณะนี้แต่ละหน่วยงานอยู่ระหว่างการปรับคำของบประมาณ 2567 ให้สอดคล้องกับนโยบาย
ด้านนายอัมพร กล่าวรายงานว่า สพฐ.มีนักเรียนที่ต้องดูแลตั้งแต่อนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งสิ้นกว่า 6.5 ล้านคน มีโรงเรียนในสังกัด 29,315 โรงเรียน จำแนกเป็นระดับก่อนประถมศึกษา จำนวน 8 แสนกว่าคน ประถมฯกว่า 2 ล้านคน มัธยมต้นกว่า 1 ล้านคน ชั้นมัธยมปลายประมาณ 1 ล้านคน ซึ่ง สพฐ.มีเด็กที่ต้องดูแล 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือกลุ่มเด็กด้อยโอกาส และพิการ กลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ และเด็กกลุ่มปกติ โดย สพฐ.มีโรงเรียนอยู่ทั้งหมด 29,315 โรงเรียน จำแนกเป็นสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) 183 เขต มีจำนวน 10,000 กว่าโรงเรียน, สังกัด สพม.62 เขต มี 2,000 กว่าโรงเรียน และมีโรงเรียนด้อยโอกาสและพิการอยู่ 3 ประเภท คือโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 53 แห่ง และโรงเรียนเฉพาะความพิการ 53 แห่ง และมีศูนย์การศึกษาพิเศษที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ 77 ศูนย์
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมของบุคลากร สพฐ.มีบุคลากรอยู่ 3 ส่วน คือบุคลากรที่อยู่ส่วนกลาง คือ สพฐ. จำนวน 1,286 คน บุคลากรในเขตพื้นที่การศึกษา(สพป.,สพม.) จำนวน 14,000 กว่าคน บุคลากรที่อยู่ในโรงเรียนตั้งแต่ ผอ.โรงเรียน และครูลงไป มีประมาณ 5 แสนกว่าคน สำหรับปัญหาที่อยากให้คิดร่วมกัน คือใน 10 ปีที่ผ่านมา อัตราเด็กเกิดน้อยลง ขณะที่การคมนาคมสะดวกมากขึ้น ประกอบกับผู้ปกครองให้ความสำคัญกับมิติด้านคุณภาพการจัดการศึกษามากขึ้น ทำให้มีสภาวะเด็กเกิดน้อยและมาเรียนในเมืองมากขึ้น ทำให้โรงเรียนขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ที่อยู่ในชนบท ในหมู่บ้าน กลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้เกิดปัญหาครูไม่ครบชั้น ครูไม่ครบวิชา ขณะที่ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบาย กำลังคนภาครัฐ (คปร.) ยกเลิกตำแหน่งนักการภารโรง ที่เป็นลูกจ้างประจำของทุกโรงเรียน หากเสียชีวิต หรือลาออกให้ตำแหน่งจะยุบตามตัว ทำให้ขณะนี้บางโรงเรียนไม่มีภารโรง ครูและเด็กในบางโรงเรียน ต้องมาทำหน้าที่แทนภารโรงไปด้วย รวมถึงกระทบเรื่องอาหารกลางวัน ทำให้ครูมีภารงานที่ไม่ใช่งานสอนเพิ่มมากขึ้น
อีกปัญหาหนึ่งคือ การขับเคลื่อนมติด้านคุณภาพ ที่ยังไม่สามารถทำได้มาตรฐาน ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว ส่งผลให้คะแนนการทดสอบต่าง ๆ ทั้งการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต คะแนนประเมินตาม โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ยังค่อนข้างมีปัญหา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความท้าทายที่จะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง และจากปัญหาดังกล่าว ผมจึงได้มีนโยบายเดิม อาทิ ต้องการเห็นโรงเรียนมีความปลอดภัย และเป็นโรงเรียนแห่งความสุข ลดความเหลื่อมล้ำ และความด้อยโอกาสของนักเรียน การยกระดับคุณภาพผู้เรียน โดยมุ่งปรับหลักสูตรให้เป็นฐานสมรรถนะ ปรับการเรียนการสอนแบบ Active Learning เปลี่ยนขบวนการวัดและประเมินผล โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย รวมถึงได้มีการแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาต่างหากเป็น 8+1 และในปีที่ผ่านมา สพฐ.ได้พัฒนาครูหมดแล้ว เป็นต้น”นายอัมพร กล่าว
นายอัมพร กล่าวอีกว่า สพฐ.ได้มีการเพิ่มคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ได้ยุบ ให้กระจายไปยู่ในตำบลต่าง ๆ และจะปรับจูนให้ตรงกับนโยบาย 1 โรงเรียนคุณภาพ 1 อำเภอต่อไป และให้มีโรงเรียนราชประชานะเคราะห์เพิ่มขึ้น และมีโรงเรียนเฉพาะความพิการเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปีการศึกษาหน้าก็จะสามารถรับนักเรียนได้สำหรับโรงเรียนที่เกิดขึ้นใหม่นี้
ที่มา ; แนวหน้า วันศุกร์ ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2566
เกี่ยวข้องกัน
นายก ส.บ.ม.ท.ให้กำลังใจ "เพิ่มพูน" รมว.ศธ. ชงสะสาง 6 ปัญหาเร่งด่วน ลดงานครู-วิทยฐานะ-แก้หนี้-บรรจุครู ผช.ว่างหมื่นอัตรา-ร.ร.นิติบุคคล-ตั้งกรมมัธยม
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 EduGuide 4.0 รายงานข่าว ดร.ณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวถึงกรณี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ อดีตที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยเสนอสเปคบุคคลที่จะเข้ามานั่งเป็น รมว.ศธ.ว่า อยากได้นักการศึกษา เพราะรู้และเข้าใจงานการศึกษา แต่เมื่อไม่ใช่ก็ไม่เป็นไร
เชื่อว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูนเป็นคนดี มีความสามารถ เป็นถึงระดับผู้บริหารของ สตช.มาก่อน จึงสามารถนำความรู้และประสบการณ์การบริหารงาน สตช.มาบริหารงาน ศธ.ได้เช่นกัน โดยอาจจะตั้งที่ปรึกษาและทีมงานที่เป็นนักการศึกษามืออาชีพเข้ามาช่วยงาน ซึ่งตน รวมทั้งชาว ส.บ.ม.ท.พร้อมให้กำลังใจผลักดันงานการศึกษาชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
นายก ส.บ.ม.ท.กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากฝาก พล.ต.อ.เพิ่มพูนได้ช่วยผลักดันอย่างเร่งด่วนหลายเรื่อง 1.อยากให้ลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการสอนของครูลง เช่น การที่ครูต้องเข้าไปรับผิดชอบในเรื่องการเงิน และพัสดุ ทั้งนี้ ควรมีบุคลากรสนับสนุนการสอนให้กับโรงเรียนต่างๆ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวโดยตรง รวมไปถึงตำแหน่งนักการภารโรงด้วย
2.การส่งเสริมขวัญและกำลังใจให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษา โดยเฉพาะเรื่องวิทยฐานะ รูปแบบของการประเมินควรมีความแตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ เช่น ครูในโรงเรียนห่างไกล หรืออยู่ตามภูเขา เกาะแก่ง ควรจะมีรูปแบบการประเมินที่แตกต่างจากครูที่อยู่ในตัวเมือง แต่ทุกวันนี้รูปแบบการประเมินกลับออกแบบมาให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนทั่วประเทศต้องประเมินเหมือนกันหมด
3.การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู แม้ในช่วงที่ผ่านมา ศธ.จะมีความพยายามแก้ไข แต่ก็ยังทำอะไรได้ไม่มากนัก ซี่งเรื่องนี้ประเด็นอยู่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดต่างๆ และสถาบันการเงิน ที่พยายามนำเรื่องของสวัสดิการเข้ามาใช้กับครู แต่กลายเป็นกับดักดอกเบี้ยแพงกว่าปกติที่ครูเข้าไปติดกับ ดังนั้น จึงต้องลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยครูให้ได้
4.ปัญหาสถานศึกษาขาดแคลนครู ทุกวันนี้มีอัตราว่างเหลือ แต่ไม่สามารถหาคนเข้ามาบรรจุในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้ 8,000-10,000 อัตรา แม้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเปิดสอบบรรจุทั้งรอบทั่วไป กรณีพิเศษ พื้นที่พิเศษ ว14 , ว16 และ ว 17 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถหาบุคคลได้เท่ากับจำนวนที่เปิดรับ ทำให้แต่ละปีมีตัวเลขของอัตราที่ว่างสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ
ตนขอเสนอว่า การแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนที่สุดคือ ควรผลักดันกลุ่มครูอัตราจ้าง และครูพนักงานราชการให้เข้าสู่ตำแหน่งข้าราชการครูผู้ช่วย โดยอาจจะใช้วิธีการประเมินแทนการสอบ เชื่อว่าจะช่วยเติมครูเข้าสู่ตำแหน่งว่างในโรงเรียนได้ทั้งหมด
5.ควรให้อิสระโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง มีอำนาจในการบริหารงานอย่างคล่องตัวในรูปแบบของโรงเรียนนิติบุคคล
6.ควรแยกงานในส่วนที่เกี่ยวกับมัธยมศึกษาออกจาก สพฐ.มาเป็นกรม เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน เหมือนกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า สพฐ.ใหญ่มาก การบริหารงานจึงดูเทอะทะไม่คล่องตัว แต่หากทำไม่ได้ ก็ควรผลักดันให้มีสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (สพม.) ให้ครบทั้ง 77 จังหวัด ดร.ณรินทร์ กล่าว
ที่มา ; eduguidenews
เกี่ยวข้องกัน
ไม่ไกลเกินฝัน! ‘เพิ่มพูน’ นั่ง รมว.ศธ. คุมบังเหียน ส่งนโยบาย ‘เรียนดีมีความสุข’
หลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ภายใต้หัวเรือใหญ่อย่างนายเศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งในครม.เศรษฐาได้ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” อดีตที่ปรึกษาพิเศษตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” ภายใต้รหัส “เสมา1” คนใหม่อย่างเป็นทางการ และเป็นธรรมดาที่คนนามสกุล “ชิดชอบ” ย่อมจะได้รับการจับตามองจากสังคมทุกย่างก้าว
โดยพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดใจบอกว่า ตนไม่กังวลกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นตำรวจมาคุมครู ซึ่งเมื่อได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่ดังกล่าวตนจะต้องทำให้ดีที่สุด พร้อมทุ่มเทแรงกายและแรงใจอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพราะที่ผ่านมาเคยทำงานวงการศึกษามาบ้าง โดยในอดีตเคยสร้างโรงเรียนในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งตนเชื่อว่าการศึกษาคือการสร้างคน ส่วนปัญหาการเมืองภายในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องระวังเป็นพิเศษหรือไม่นั้น ตนไม่กังวลเรื่องดังกล่าว ขอให้ทุกคนทำงานเพื่อชาติเพื่อส่วนรวม เนื่องจากเรามีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างคุณภาพครูและนักเรียน
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้แม้ศธ.จะเป็นกระทรวงที่ใหญ่และมีโครงสร้างการทำงานที่ซับซ้อน แต่ตนเชื่อว่าไม่มีตนทุกคนก็ทำงานกันได้ แต่เมื่อตนเข้ามารับตำแหน่งรมว.ศธ.แล้วอยากขอให้ทุกคนต้องทำงานให้ดีขึ้นและมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งเราเข้ามาเป็นผู้นำและผู้สนับสนุนให้การทำงานวงการศึกษาขับเคลื่อนให้สำเร็จ สำหรับการมาสวมบทบาทรัฐมนตรีศึกษาในยุคนักเรียนไม่ยอมจำนนนั้น ตนมองว่าเราอยู่ในสังคมเดียวกัน และเป็นสังคมประชาธิปไตย ดังนั้นเราควรจะเคารพสิทธิส่วนบุคคลและต้องไม่ก้าวล่วงสิทธิของผู้อื่น นอกจากนี้ในเรื่องการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่นในวงข้าราชการถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล อีกทั้งยังถูกบรรจุให้เป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้นจึงเป็นนโยบายที่ตนต้องมากำชับให้ทุกส่วนราชการในศธ.ต้องดำเนินการปฎิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย
“การทำงานของผมมีความสบายๆง่ายๆไม่มีอะไรซับซ้อน โดยผมมีหลักคิดการในการทำงานคือ มีความสุข รักที่จะทำ และทำในสิ่งที่รัก อย่างไรก็ตามขอฝากครูและนักเรียนทั่วประเทศให้ได้รับทราบพร้อมกัน โดยเร็วๆนี้ผมจะเปิดช่องทางการสื่อสารผ่านระบบไลน์ เพื่อให้ทุกคนได้เข้ามาสะท้อนความคิดเห็นนโยบายการศึกษา รวมถึงการร้องเรียนปัญหาด้านต่างๆด้วย ซึ่งทุกข้อความจะส่งถึงผมโดยตรงและจะรีบดำเนินการแก้ไขให้ทุกคนทันที” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ยังอธิบายถึงนโยบายการศึกษา “เรียนดีมีความสุข” ว่า นโยบายต่างๆที่กำหนดไว้ได้มอบให้ฝ่ายบริหารไปวางแผนงานแล้ว ซึ่งขอเวลาวางแผนนโยบายต่างๆก่อน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฎิบัติ ขณะที่แผนงบประมาณปี 2567 จะต้องปรับแผนใหม่ทั้งหมดหรือไม่นั้น ตนให้ฝ่ายจัดทำแผนงบดังกล่าวไปดูแล้วว่านโยบายใดที่สอดคล้องกับรัฐบาลบ้าง หรือนโยบายใดที่ไม่จำเป็นก็ให้ปรับลดงบลง ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณจะต้องดูตามความจำเป็นและความเหมาะสม และเป็นการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าด้วย
ทั้งนี้นโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอน มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ปรับระบบการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เน้นตามสภาพจริงลดการทำเอกสาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น โยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการ เช่น รวมหนี้เป็นก้อนเดียว พักชำระดอกเบี้ยให้แก่ครูทุกคนที่เป็นลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงินโดยรัฐบาล การจัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ หรือ1 ครู 1 Tablet ในการช่วยจัดการเรียนการสอน
ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา เรียนฟรี มีงานทำ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือ 1นักเรียน 1 Tablet ส่งเสริมการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีอย่างจริงจัง ออกแบบระบบการเรียนการสอนในแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เรียนที่ไหนก็ได้ และร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพการจัดทำระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนสามารถเข้าสู่แหล่งความรู้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย พัฒนาการศึกษาผ่านระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีทักษะที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และมีหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความสนใจและความต้องการของผู้เรียน การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษา
นโยบายดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จได้หรือไม่คงต้องฝากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง “จับมือไว้แล้ว (ทำ) ไปด้วยกัน”
วัดใจ “เพิ่มพูน” เจ้าของรหัสเสมา1 ไม่ไกลเกินฝัน! นั่ง รมว.ศธ. คุมบังเหียน ส่งนโยบาย 'เรียนดีมีความสุข'
ที่มา ; เดลินิวส์ 27 กันยายน 2566