ค้นหา

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปี 2567 เริ่มแล้ว มี 8 มหาวิทยาลัยเข้าร่วม

มีใครสนใจจะอยากเรียนคณะครุศาสตร์ หรือมองหาทุนการศึกษาอยู่บ้างไหมเอ่ย ตอนนี้ทางโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ประกาศรายละเอียดและมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ รุ่นที่ 5 หรือสำหรับ #dek67 ออกมาแล้ว

 

สำหรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการที่สร้างโอกาสทางการศึกษา และส่งเสริมนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้เรียนหลักสูตร “ครุศาสตรบัณฑิต” หรือ “ศึกษาศาสตรบัณฑิต” และกลับไปปฏิบัติหน้าที่ครูในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นท้องถิ่น หรือภูมิลำเนาของตัวเอง ไม่น้อยกว่า 6 ปี 

โดยโครงการนี้จะมอบทุนการศึกษา ตามรายละเอียดดังนี้

-ค่าเทอม ไม่เกิน 30,000 บาท/คน/ปี

-ค่าที่พัก ไม่เกิน 2,000 บาท/คน/เดือน

-ค่าครองชีพ 6,000 บาท/คน/เดือน

-ค่าตำราและอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น 2,000 บาท/คน/เดือน 

รายชื่อมหาวิทยาลัย-สาขาวิชาที่เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 5

-มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย

-มหาวิทยาลัยขอนแก่น สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยและประถมศึกษา (เอกคู่)

-มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี สาขาวิชาการประถมศึกษา

-มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สาขาวิชาการประถมศึกษา

-มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย/สาขาวิชาการประถมศึกษา

-มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (จ.ราชบุรี) สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย

-มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย

-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว.ปัตตานี สาขาวิชาการประถมศึกษา 

คุณสมบัติผู้ขอรับทุน

-กำลังศึกษาอยู่ ม.6 หรือเทียบเท่า

-บิดา/มารดา/ผู้ปกครอง และผู้ขอรับทุน มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตตำบล ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลที่ผู้รับทุนจะไปบรรจุแต่งตั้งและปฏิบัติงานหลังสำเร็จการศึกษาตามที่โครงการกำหนด

-GPAX 5 ภาคเรียน ไม่ต่ำกว่า 2.50.

ใครที่สนใจโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จะต้องติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ที่แต่ละมหาวิทยาลัยโดยตรง ซึ่งจะมีทั้งมหาวิทยาลัยที่เปิดรับผ่านระบบ TCAS และไม่เข้าร่วมระบบ TCAS โดยจะเริ่มต้นในช่วงตุลาคม - พฤศจิกายน 2566 นี้ 

โครงการครูรัก(ษ์) ถิ่น ปี 2567 มาแล้ว มีเพียง 8 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม ได้ทุนค่าเทอม-ที่พัก-ค่าครองชีพ

 

 

 

ที่มา ; FB Dek-D's TCAS สอบติดไปด้วยกัน

ข้อมูลเกี่ยวกัน

โครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น 

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างโอกาสสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้ศึกษา พัฒนาศักยภาพกลับมาเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในชุมชน ภายใต้เป้าหมายและผลลัพธ์เหล่านี้ 

·      สร้างโอกาส ส่งเสริมนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และมีจิตวิญญาณการป็นครู ได้เข้ารับการศึกษาและกลับไปพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ของตนเอง

·      เพิ่มการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กในพื้นที่ห่างไกล เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู
ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล และยังมีบทบาทเป็นครูนักพัฒนาชุมชนเพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ให้แก่ชุมชนที่เป็นภูมิลำเนาของตนเอง การศึกษาในพื้นที่ของตนเอง

·      พัฒนาคุณภาพชีวิต ของเด็กในชุมชน เด็ก ๆ ได้รับการศึกษา ตามมาตรฐาน โรงเรียนมีศักยภาพ
ภายใต้เป้าหมายระยะยาว เกิดเครือข่ายระหว่าง ชุมชนและโรงเรียน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ทางการศึกษา

·      ขยายเครือข่ายของสถานศึกษา เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาประเทศไทยให้สอดคล้องกับบริบทและพื้นที่ของเมืองไทยยิ่งขึ้น ได้พัฒนาระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เกิดเครือข่ายระหว่างองค์กร ผ่านการสนับสนุนนักเรียนทุน เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ระหว่างสถาบัน ยกระดับเป็นสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู โดยความร่วมมือของ 6 หน่วยงาน ศธ. อว. สพฐ. กคศ. คุรุสภา และกสศ.

จากการวิเคราะห์ของคณะวิจัยธนาคารโลก ร่วมกับการสอบทานฐานข้อมูล สพฐ. พบว่าประเทศไทยมีโรงเรียนราว 2,000 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่อาจจะควบรวมได้ (Protected School หรือ Standalone) ได้แก่ โรงเรียนบนพื้นที่สูง โรงเรียนตามแนวชายขอบ โรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเกาะแก่ง โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลให้ดำรงอยู่ต่อไปได้เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนในท้องถิ่น อย่างไรก็ตามพบว่า ปัญหาของโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล คือ ครูขอย้ายบ่อยเพราะไม่ใช่คนในท้องถิ่น และไม่มีครูมาทดแทน ครูจึงไม่พอกับชั้นเรียน โดยเฉพาะครูที่สอนระดับชั้นประถมศึกษา จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น 

เป้าหมายของโครงการ

·      สร้างโอกาสให้กับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีใจรักในวิชาชีพครู และมีศักยภาพในการเรียนรู้ ได้เรียนจบจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีอย่างมีคุณภาพ มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีสมรรถนะพื้นฐานของวิชาชีพครู มีสมรรถนะการเรียนรู้ในศตวรรณที่ 21 มีสมรรถนะของการเป็นนักพัฒนาชุมชน และกลับไปเป็นครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง

·      ครูรุ่นใหม่ นวัตกรรมการผลิตและพัฒนาครู หลักสูตรการผลิตและพัฒนาครูแนวใหม่ และสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู

·      พัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 1,500 แห่ง มีครูเพียงพอ และเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน 

กรอบแนวคิดการดำเนินงาน “ครูรัก(ษ์)ถิ่น

·      สร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล

·      นวัตกรรมการผลิตและพัฒนาครูคุณภาพสูงที่สอดคล้องกับความต้องการ

·      พัฒนาโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล (ปัญหาหลักในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

อัตราการโยกย้ายของครูสูง ขาดแคลนครูและบุคลากร เด็กไม่ได้รับการศึกษา อย่างมีประสิทธิภาพ

คนในชุมชนส่วนใหญ่ มีฐานะยากจน) 

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และเพิ่มโอกาสให้นักเรียนจากครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสที่มีฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 แรกของประเทศ ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ (learning access & learning outcome) และกลับไปเพิ่มโอกาสให้นักเรียนในชุมชนบ้านเกิดตนเองเพื่อลดวงจรความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ห่างไกลอย่างยั่งยืน นักเรียนที่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี และมีจิตวิญญาณความเป็นครู ได้รับทุนเรียนครูจนจบปริญญาตรีอย่างคุณภาพปีละประมาณ 300 คน จำนวน 5 รุ่น ได้บรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลระดับตำบลประมาณ 2,000 แห่ง อัตราครูจะเพียงพอต่อความต้องการภายในระยะเวลา 10 ปี 

วัตถุประสงค์

·      ผลิตครูรุ่นใหม่ทั้งหมด 1,500 คน ตอบสนองความต้องการของโรงเรียนตามแหล่งชุมชน

·      ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานพัฒนาศักยภาพครูและหน่วยงานที่ใช้ครูตั้งแต่ต้นทาง

·      ปรับบริบทการผลิตและพัฒนาบุคลากรครูให้สอดคล้องกับสภาพงานในชุมชนที่ห่างไกล

·      สร้างเครือข่ายสำหรับหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ 

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น สนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ผลิตและพัฒนาครูกว่า 15 แห่ง ทั่วประเทศ ในการเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง มุ่งผลิตครูคุณภาพเพื่อสนองความต้องการของชุมชน ทั้งการพัฒนาหลักสูตรการผลิตและพัฒนาครู การจัดกระบวนการเรียนรู้แนวใหม่ และกิจกรรมสร้างเสริมความเป็นครูเพื่อให้ได้บัณฑิตครูคุณภาพตามเป้าหมาย สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อเป็นนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตและพัฒนาครู (Systems change) อันจะนำไปสู่การร่วมมือกันยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศอีกด้วย 

ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ

1.ประชาสัมพันธ์ สื่อสารโครงการ

2. เปิดรับสถาบันการศึกษาเข้าร่วมโครงการ

3. คัดเลือกสถาบันการศึกษาตามเกณฑ์คุณภาพเพื่อเป็นสถาบันผลิตครู

4.การค้นหา คัดกรองและคัดเลือกนักเรียนกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้รับทุน

5.การพัฒนาและสร้างครูคุณภาพ

6.จัดกระบงนการผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ ให้มีสมรรถนะกับการทำงานในโรงเรียนและชุมชนพื้นที่ห่างไกล

7. ติดตาม ประเมินผลเชิงพัฒนาและวิเคราะห์ผลการทำงานตลอดจนความเสี่ยงต่างๆ

8.จัดทำฐานข้อมูลโรงเรียนห่างไกลและอัตราบรรจุแต่ละปี(ร่วมกับต้นสังกัด)


ผลการดำเนินงานโครงที่ผ่านมาทางการศึกษา

·      ครูสาขาประถมศึกษาและปฐมวัยภายใต้เป้าหมาย 1,500 คน โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 3 รุ่น รวมอยู่ที่ 867 คน

·      สถาบันผลิตและพัฒนาครูทั้ง 15 แห่ง ได้ปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของโรงเรียนและชุมชน

·      เกิดเป็นเครือข่ายในระดับอุดมศึกษา ใน 4 ภูมิภาค เพื่อออกแบบกระบวนการพัฒนาครูในพื้นที่ห่างไกล

·      การพัฒนาและยกระดับคุณภาพของผู้บริหาร ครู บุคลากรในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล

·      เกิดกระบวนการพัฒนาของโรงเรียนในโครงการ 697 แห่ง อีกทั้งยังเกิดระบบ ครูพี่เลี้ยง และฐานข้อมูลแลกเปลี่ยนสำหรับนำไปใช้พัฒนาการศึกษา 

ข้อมูลสำคัญ

·      ประกาศ กสศ. เรื่อง ผลการคัดเลือกให้เป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีการศึกษา 2567

 

 

เกี่ยวข้องกัน

การฝึกหัดครูกับทิศทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศ 

วันที่ 21 กันยายน 2566 รศ.ดร. ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ได้รับเกียรติกล่าวปาฐกถา หัวข้อ การฝึกหัดครูกับทิศทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศ” ในการประชุมความร่วมมือเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครู โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 5 ปีการศึกษา 2567 และกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายการทำงานร่วมกันของสถาบันพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น  จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ณ โรงแรมทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร         

ตามที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินงานสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน ภายใต้โครงการ "ครูรัก(ษ์)ถิ่น" ประกอบด้วย

1) กระทรวงศึกษาธิการ

2) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

3) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

4) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และ

5) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

โดยมีเป้าหมายการผลิตและพัฒนาครูสอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนในชุมชนพื้นที่ห่างไกล จำนวน 1,500 คน ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 นั้น ปัจจุบันได้มีการเตรียมการดำเนินงานในปีการศึกษา 2567 โดยการพิจารณาคัดเลือกและประกาศรายชื่อสถาบันการศึกษาและหลักสูตรที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้เป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีการศึกษา 2567 ครอบคลุม 4 ภูมิภาคตามแผนการดำเนินงานแล้ว ในการนี้จึงได้จัดการประชุมลงนามความร่วมมือร่วมกับสถาบันผลิตและพัฒนาครูที่เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น และชี้แจงการทำงานเพื่อให้เข้าใจเป้าหมายการดำเนินงานผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกัน โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เป็นประธานเปิดการประชุม และได้เรียนเชิญ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การฝึกหัดครูกับทิศทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศ” โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการ ภาคีเครือข่าย และสถานศึกษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม 

ซึ่งเลขาธิการ ก.ค.ศ. ได้กล่าวถึงบทบาทการขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เชื่อมโยงกับการกำหนดอัตรากำลังของข้าราชการครูฯ และเงื่อนไขการบรรจุและแต่งตั้งครูรุ่นใหม่ตามโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน ทั้งนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบการฝึกหัดและการพัฒนาครู ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ปรับเปลี่ยนระบบการประเมินมาตรฐานตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ตามเกณฑ์ PA โดยหวังให้เรื่องนี้เป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพข้าราชการครูฯ ให้มีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลลัพธ์กับผู้เรียนต่อไป และภายหลังจากการกล่าวปาฐกถาดังกล่าว ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสถาบันพระบรมราชนก ยังได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมกับผู้เข้าร่วมการประชุมในการร่วมกันผลิตและพัฒนาครูที่ดีและมีคุณภาพสู่สังคม เพื่อเป็นการร่วมกันยกระดับการศึกษาของประเทศไทยให้มีคุณภาพและเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวงการการศึกษาไทยด้วย 

ที่มา ; สำนักงาน ก.ค.ศ.

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น