ค้นหา

สพฐ. เร่งแก้ปัญหาสอบครู ว14-ว16 เล็งเปิดเฟ้นรอบ 2

ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แก้ปัญหาขาดแคลนครู หลังมีผู้เกษียณอายุราชการกว่า 15,000 อัตรา ซึ่งแม้จะได้รับการคืนอัตราเกษียณ แต่ไม่สามารถบรรจุแต่งตั้งได้ เนื่องจากการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. (ว14) มีผู้สอบผ่าน และขึ้นบัญชีได้น้อย ขณะที่การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ (ว16) ก็ยังมีอัตราว่างเหลืออยู่กว่า 1,200 อัตรา ทำให้เกิดปัญหา เพราะแม้จะมีอัตรา และตำแหน่ง แต่ก็ไม่สามารถเรียกบรรจุแต่งตั้งได้ เพราะมีผู้ที่สอบขึ้นบัญชีไม่เพียงพอนั้น ตนรับทราบปัญหา และเร็วๆ นี้ จะเชิญฝ่ายบุคคลมาหารือ เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม การทำงานของผม จากนี้จะจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งเรื่องการสอบครูถือเป็นปัญหาในลำดับต้นๆ ที่ต้องเร่งแก้ไข อย่างเช่น การสอบครู ที่ควรจะต้องปรับหลักเกณฑ์ ให้ท้องถิ่น หรือจังหวัด เป็นผู้จัดสอบ เพื่อคัดคนในพื้นที่มาเป็นครู ทั้งนี้ แม้หลักเกณฑ์ต่างๆ จะออกโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) แต่ผู้ที่เสนอคือ สพฐ.ในฐานะผู้ใช้โดยตรง” ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าว 

ว่าที่ ร.ต.ธนุกล่าวต่อว่า ส่วนที่ ส.บ.ม.ท.เสนอว่า การสอบครูผู้ช่วยทั้ง ว14 และ ว16 ไม่ควรจำกัดไว้แค่ปีละ 1 ครั้ง แต่ควรเปิดกว้างให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสอบไปมากกว่าปีละ1 ครั้ง หรือจัดสอบได้ทันทีเมื่อมีอัตราว่าง โดยไม่ต้องรอปฏิทินของ สพฐ.เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูนั้น ที่ผ่านมาไม่ได้ห้ามว่าจะต้องสอบปีละครั้ง แต่เข้าใจว่าที่กำหนดให้จัดสอบในช่วงเดียวกันปีละ 1 ครั้ง เพราะการสอบมีต้นทุน หากอัตราว่างน้อยแล้วเปิดสอบ อาจไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น 

ขณะนี้ สพฐ.กำลังคิดว่าถ้าจังหวัดหนึ่ง สมมุติว่ามี 5 เขตพื้นที่ฯ ก็รวมกัน และสอบที่จังหวัดได้หรือไม่ เพราะหากเปิดสอบแค่เขตพื้นที่ฯ อาจมีแค่ 10 อัตรา แต่ถ้ารวมกัน 5 เขตพื้นที่ฯ ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 50-100 อัตรา คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้จัดสอบ และจะไปตอบโจทย์ที่ผมเสนอให้ท้องถิ่น หรือจังหวัด เป็นผู้จัดสอบ และถ้ารวมกันไปสัก 100 ตำแหน่ง จะเปิดสอบมากกว่าปีละ 1 ครั้งก็ได้ เพราะหลักเกณฑ์ไม่ได้กำหนดว่าต้องสอบปีละครั้ง ซึ่งตอนผมเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ก็จัดสอบปีละ 2 ครั้ง” ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าว

ว่าที่ ร.ต.ธนุกล่าวอีกว่า ส่วนที่นายอัมพร พินะสา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีนโยบายให้จัดสอบครูผู้ช่วย ว16 อีกครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู เพราะยังมีอัตราว่างเหลืออยู่กว่า 1,200 อัตรานั้น ขอดูปฏิทินของสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ.ก่อนว่าวางปฏิทินไว้อย่างไร แต่เบื้องต้นคงเดินตามเดิม เพราะนโยบายของผม เรื่องคน ถ้าขาดก็ต้องเติมให้เร็ว ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องเตรียมคนให้พร้อมก่อนเปิดภาคเรียน 

เกี่ยวข้องกัน

“ธนุ” เดินหน้าจัดสอบครูผู้ช่วยกรณีพิเศษเดือน ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา  รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการเปิดรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ. 2566 ว่า สำหรับนโยบายการสอบครูผู้ช่วยทั้งกรณีทั่วไป และกรณีพิเศษนั้น ตนจะกำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของสพฐ.ที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะขณะนี้สพฐ.ยังมีอัตราขาดแคลนครูผู้สอนอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มครูผู้ช่วยกรณีพิเศษที่ยังมีอัตราว่างเหลือกว่า 1,000 อัตรา ดังนั้นเราจะเร่งให้มีการจัดสอบโดยเร็ว เพื่อเติมเต็มครูผู้สอนให้ครบชั้นก่อนที่จะเปิดภาคเรียนใหม่ เพราะเรื่องครูถือเป็นนโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับนโยบายของเลขาธิการกพฐ.คนเดิมที่กำหนดว่าจะให้มีการสอบครูผู้ช่วยกรณีพิเศษอีกรอบในช่วงเดือนธันวาคมนี้นั้น ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล (สพร.) ไปจัดทำร่างปฎิทินการสอบแล้ว อีกทั้งในปีการศึกษา 2567 ตนเตรียมจะกำหนดให้มีการสอบครูผู้ช่วยถึงสองครั้งอีกด้วย 

ด้านนายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผอ.สพร. กล่าวว่า ขณะนี้เลขาธิการกพฐ.ได้มอบหมายเรื่องดังกล่าวมาแล้ว เพื่อให้สพร.ดำเนินการสำรวจข้อมูลของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาว่าแต่ละเขตพื้นที่และสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ (สศศ.) จะมีอัตราว่างในการจัดสอบและมีวิชาเอกจำนวนเท่าไหร่บ้าง เพราะแต่ละเขตพื้นที่จะมีตัวเลขอัตราว่างไม่เท่ากัน โดยหลังจากสำรวจข้อมูลมาได้ครบทั้งหมดจะกำหนดเป็นร่างปฎิทินการรับสมัครและการจัดสอบ พร้อมกับจัดตั้งงบประมาณในการดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งเรื่องจัดทำปฎิทินการสอบครูผู้ช่วยกรณีพิเศษจะอยู่ในไตรมาสการดำเนินงานระหว่างเดือนตุลาคมไปจนถึงธันวาคม 2566 โดยเบื้องต้นอาจจะรับสมัครในเดือนพ.ย.และจัดสอบในเดือนธ.ค.2566 

“ธนุ” เดินหน้าจัดสอบครูผู้ช่วยกรณีพิเศษเดือนธ.ค.นี้ มอบสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล สำรวจข้อมูลอัตราว่างและวิชาเอก ก่อนจัดทำร่างปฎิทินรับสมัครต่อไป 

ที่มา ; เดลินิวส์ 16 ตุลาคม 2566

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น