เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงกรณีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานในการลงนามข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ว่าด้วย “การสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ” ของ 4 กระทรวง อาทิ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงแรงงาน และกระทรวง อว. เมื่อวันที่ (17 พ.ย.) ที่ผ่านมาว่า สิ่งที่รองนายกฯอนุทินได้มอบนโยบายมานี้มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง อว.ที่ได้มอบให้กับคณะผู้บริหารเมื่อวันที่ 6 พ.ย.66 โดยยึดมั่นชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเน้นหลักคุณธรรม อีกทั้งให้ความสำคัญกับเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติและจริยธรรม
ปลัดกระทรวง อว.กล่าวว่า ในส่วนของข้าราชการใหม่ได้มีการให้นโยบายว่าการรับข้าราชการใหม่ในการสอบภาค ข. หรือภาค ค. กำหนดให้มีการเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เข้าไปเพื่อที่จะได้ให้ผู้สมัครได้แสดงวิสัยทัศน์และในขั้นสัมภาษณ์ก็จะมีการถามซ้ำอีกครั้งเพื่อเป็นการกลั่นกรองบุคลากรเข้ามาสู่ระบบราชการ ซึ่งแนวทางนี้ก็จะนำไปใช้กับองค์การมหาชน ซึ่งมีอยู่สิบกว่าแห่ง อีกทั้งหน่วยงานในกำกับด้วย สำหรับมหาวิทยาลัยก็จะเข้าไปเน้นย้ำอีกทีโดยใช้วิธีการที่เหมาะสม
ปลัดกระทรวง อว.กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อปี 2564 ทางกระทรวง อว.มีการจัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสาตร์แห่งประเทศไทย หรือธัชชา (TASSHA : Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and arts) ประกอบด้วย 5 สถาบัน คือสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา, สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง, สถาบันโลกคดีศึกษา, สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น โดยใช้เทคโนโลยีที่เรามีอยู่เข้าไปพัฒนาประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย อาทิ วัด ดินแดนสุวรรณภูมิ ฯลฯ นี่คือการสอดรับกับนโยบายของรองนายกฯอนุทินเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการปลูกจิตสำนึกให้รักชาติและรักแผ่นดินไทย โดยเห็นว่าควรพัฒนาร่วมกัน เพราะเราเป็นซอฟต์เพาเวอร์ ทุกอย่างถ้ามีการจัดระบบให้ดีจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนประเทศไทยมากขึ้น
นายเพิ่มสุขกล่าวด้วยว่า คำว่า รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีนัยอยู่คือ
· รักชาติ ทุกประเด็นจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เมื่อไปคุยกับนานาชาติต้องคำนึงว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไร
· ทุกศาสนา เราจะต้องเข้าให้ถึง เข้าไปบำรุง ให้ความเคารพนับถือ และ
· สถาบันกษัตริย์ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของความมั่นคงของประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่ให้นโยบายกับข้าราชการกระทรวง อว. เพราะการปลูกจิตสำนึกเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป
‘เพิ่มสุข’ ขานรับนโยบาย ‘อนุทิน’ ทันที รับข้าราชการใหม่ภาค ข.-ค. ยึด ‘ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์-หลักคุณธรรม’ พร้อมชู ‘ธัชชา : TASSHA’ ใช้เทคโนโลยีพัฒนาประวัติศาสตร์
ที่มา; มติชนออนไลน์ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566
เกี่ยวข้องกัน
‘อนุทิน’ ปัดสั่งขุดวิชาประวัติศาสตร์ แจงมีอยู่แล้ว ผุดไอเดียสอบราชการ ต้องรู้เรื่อง ปวศ.ด้วย
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สำนักงานใหญ่ หลักสี่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย (มท.1) กล่าวกรณีที่โซเชียลมีเดียตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันมีการบรรจุวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และจริยธรรมศึกษา ไว้ในหลักสูตรแล้วว่า มันมีการสอนอยู่แล้ว แต่เราอย่าไปสอนให้เด็กท่องจำ เราต้องใส่ค่านิยมเข้าไป เหมือนสมัยก่อนเราให้เด็กมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย พูดถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของบรรพบุรุษ สอนให้ร้องเพลงให้เกิดความเข้มแข็ง มีความสำนึกในการเป็นประชาชนคนไทย ทั้งนี้ ต้องเน้นสอน ทัศนศึกษา พาไปดูสถานที่ประวัติศาสตร์ เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสซักถามกลับมาด้วยว่าตรงนี้เคยเป็นสมรภูมิอย่างไร จริงหรือไม่ ดอนเจดีย์เป็นที่ทำยุทธหัตถี ทำไมมีหลายที่เคลมไปว่าทำที่นั่น ให้เด็กได้ซักถามเราจะได้พิสูจน์กัน ผมไม่ได้มาต่อล้อต่อเถียงกับคำที่บอกว่าไม่ได้สอนประวัติศาสตร์
เมื่อถามว่า จะใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยในการส่งเสริมหน้าที่พลเมืองอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า ตนได้ถาม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ระบุว่า มันไม่เคยออกหลักสูตร เพียงแต่มุ่งเน้นการสอบแอดมิชชั่นส์มากกว่า ตอนนี้เราต้องทำให้เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งให้เกิดประโยชน์จากการเรียนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เรากำลังจะมีนโยบาย เช่น ถ้าจะมารับราชการต้องมีการตั้งข้อสอบ ทำให้คนทราบถึงประวัติศาสตร์ เวลาสอบสัมภาษณ์ก็ต้องให้ทราบถึงประวัติและหน้าที่พลเมือง ทราบถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ถ้าสัมภาษณ์แล้วยังร้องเพลงชาติไทยไม่ครบ อย่างนี้ก็ไม่ใช่แล้ว อีกหน่อยเราจะต้องทำให้วิถีชีวิตสอดคล้องกับการศึกษาด้วย เช่น การถามจากการเรียนประวัติศาสตร์มีการปฏิวัติมากี่ครั้ง มีเลือกตั้งมากี่ครั้ง ทุกครั้งมีนายกฯชื่ออะไร ซึ่ง รมว.ศธ.ก็จะมีการแถลงออกมา
“อย่างละครเรื่องพรหมลิขิตที่ออกอากาศทางช่อง 3 อะไรแบบนี้ มีความภาคภูมิใจหรือไม่ นอกเหนือจากบทโรแมนติก ตอนไปพูดถึงบรรพบุรุษของเรา พระเจ้าแผ่นดินของเรา ขุนนาง นักรบ ที่ทำทุกอย่างเพื่อรักษาบ้านเมืองของเรา ทุกอย่างมีคุณค่า มีวัฒนธรรมประเพณี ทำให้เราเป็นประเทศที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร ซึ่งทุกอย่างเป็นนัยทั้งหมด” นายอนุทินกล่าว
ที่มา; มติชนออนไลน์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566
เกี่ยวข้องกัน
สพฐ.สั่งปรับวิธีสอนประวัติศาสตร์ ปลูกฝังนักเรียนรักชาติ ดันภูมิปัญญาสู่ซอฟต์เพาเวอร์
ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ โดยลงนามบันทึกข้อตกลง “แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย” ระหว่าง 4 กระทรวงหลักนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะที่ดูแลเด็กและเยาวชนกว่า 6.5 ล้านคน ให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกความเป็นไทย ภูมิใจในชาติ และยึดมั่นสถาบันหลักอย่างมาก ได้กำหนดเป็นนโยบาย และจุดเน้นของ สพฐ.ปีงบประมาณ 2567-2568 โดยได้สั่งการนโยบายแก่ผู้บริหาร สพฐ.ในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 245 เขตพื้นที่ จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้
าที่ ร.ต.ธนุกล่าวอีกว่า สำหรับจุดเน้น และนโยบาย 2 ข้อแรก ที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างสำนึกความเป็นไทย ภาคภูมิใจในชาติ และยึดมั่นสถาบันหลัก ได้แก่
· ข้อ 1 การปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ ทุกโรงเรียนทั่วประเทศมีกิจกรรมการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 สู่การปฏิบัติ โดยเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่เป็นวิถีชีวิตประจำวันในโรงเรียน และ
· ข้อ 2 การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และประชาธิปไตย ที่เน้นให้ผู้เรียนได้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองคุณภาพ รู้จักรากเหง้าตัวตน ประวัติศาสตร์ชาติ ด้วยการใช้สื่อการสอนที่ทันสมัย เหมาะกับเด็กยุคใหม่
“การที่รัฐบาลมีวิสัยทัศน์บูรณาการแนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่าง 4 กระทรวง เป็นการช่วยลดภาระครู เพราะจะมีภาคีเครือข่ายจากกระทรวงต่างๆ เป็นแนวร่วม สนับสนุนองค์ความรู้ สื่อ และแหล่งการเรียนรู้ ช่วยให้พัฒนาเด็กและเยาวชนได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งผมได้กำชับผู้อำนวยการ สพท.และผู้บริหารสถานศึกษา พร้อมเปิดรับการทำงานร่วมกับองค์กรภาคส่วนต่างๆ เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดกับนักเรียนเป็นสำคัญ” ว่าที่ ร.ต.ธนุกล่าว
ว่าที่ ร.ต.ธนุกล่าวต่อว่า มั่นใจว่าโรงเรียนทุกแห่งมีการเรียนการสอนที่ปลูกฝังความรักความภาคภูมิใจในชาติ และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ ที่เป็นวิถีปฏิบัติของโรงเรียนอยู่แล้ว โดยเฉพาะรายวิชาประวัติศาสตร์ ที่ สพฐ.ได้ประกาศให้สถานศึกษาจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ แยกออกมา 1 รายวิชาอย่างชัดเจน กำหนดให้ระดับประถม ใช้เวลาเรียน 40 ชั่วโมงต่อปี หรือสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ระดับมัธยมต้น 40 ชั่วโมงต่อปี และระดับมัธยมปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง
“โดยมอบหมายนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ.และทีมวิชาการ พัฒนารูปแบบแนวทางการปลูกฝังจิตสำนึกรักชาติ และได้สั่งการ สพท.ทุกเขต เป็นพี่เลี้ยงแก่โรงเรียน ทบทวนรูปแบบ วิธีการจัดการเรียนการสอนที่ทำอยู่ว่าเป็นอย่างไร ให้ใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning เพื่อนักเรียนได้รู้จักรากเหง้า เข้าใจเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น และประเทศชาติในแง่มุมต่างๆ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์ เชิงประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ท่องจำตามหนังสือ คลิปวิดีโอ หรือจำตามที่ครูบอกเล่า เพื่อนักเรียนจะได้เข้าใจ และเห็นบทเรียนจากเรื่องราวในอดีต เชื่อมโยงความเป็นมาเป็นไปสู่สังคมปัจจุบัน เห็นแนวทางภูมิปัญญาที่เป็น Soft Power เห็นคุณค่าอดีตที่ต่อยอดสู่อนาคต ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และหน้าที่พลเมืองได้” ว่าที่ ร.ต.ธนุกล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566
เกี่ยวข้องกัน
‘ปลัด อว.’ ขานรับ! เข้มสอบภาค ข.-ค. ยึด ‘ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์-หลักคุณธรรม’
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวหลังจากที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการลงนามข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ว่าด้วย “การสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ” ของ 4 กระทรวง อาทิ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงแรงงาน และกระทรวง อว. เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 66 ที่ผ่านมาว่า สิ่งที่รองนายกฯ อนุทิน ชาญวีรกูล ได้มอบนโยบายมานี้ มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง อว. ที่ได้มอบให้กับคณะผู้บริหาร เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66 โดยยึดมั่น ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเน้นหลักคุณธรรม อีกทั้งให้ความสำคัญกับเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติ และจริยธรรม
ในส่วนของข้าราชการใหม่ ได้มีการให้นโยบายว่า การรับข้าราชการใหม่ในการสอบภาค ข. หรือภาค ค. กำหนดให้มีการเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เข้าไปเพื่อที่จะได้ให้ผู้สมัครได้แสดงวิสัยทัศน์ และในขั้นสัมภาษณ์ก็จะมีการถามซ้ำอีกครั้งเพื่อเป็นการกลั่นกรองบุคลากรเข้ามาสู่ระบบราชการ ซึ่งแนวทางนี้ก็จะนำไปใช้กับองค์การมหาชน ซึ่งมีอยู่สิบกว่าแห่ง อีกทั้งหน่วยงานในกำกับด้วย สำหรับมหาวิทยาลัยก็จะเข้าไปเน้นย้ำอีกทีโดยใช้วิธีการที่เหมาะสม
ปลัดกระทรวง อว. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อปี 2564 ทางกระทรวง อว. มีการจัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ “ธัชชา” (TASSHA : Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and arts) ประกอบด้วย 5 สถาบัน คือ สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา, สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง, สถาบันโลกคดีศึกษา, สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น โดยใช้เทคโนโลยีที่เรามีอยู่เข้าไปพัฒนาประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย อาทิ วัด ดินแดนสุวรรณภูมิ ฯลฯ นี่คือการสอดรับกับนโยบายของรองนายกฯ อนุทิน เป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการปลูกจิตสำนึกให้รักชาติ และรักแผ่นดินไทย โดยเห็นว่าควรพัฒนาร่วมกัน เพราะเราเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ทุกอย่างถ้ามีการจัดระบบให้ดีจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนประเทศไทยมากขึ้น
"เพิ่มสุข" ขานรับนโยบาย "อนุทิน" ทันที รับข้าราชการใหม่ภาค ข.-ค. ยึด “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์-หลักคุณธรรม” พร้อมชู “ธัชชา : TASSHA” ใช้เทคโนโลยีพัฒนาประวัติศาสตร์
ที่มา ; เดลินิวส์ 19 พฤศจิกายน 2566