ค้นหา

เตรียมความพร้อมของครูสู่นักเรียนด้วย Digital Citizens

บทความโดย นางสาววัลลภาภรณ์ พานทอง

       

ในโลกยุคปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว การติดต่อสื่อสารระหว่างกันสามารถทำได้ตลอดเวลาเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ผู้คนทั่วทั้งโลกเกิดการเชื่อมโยงระหว่างกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ส่งผลให้พฤติกรรมในการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน

ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมและการเมืองที่นำเทคโนโลยีมาช่วยในการตัดสินใจวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ด้านเศรษฐกิจที่สังเกตได้ผ่านการซื้อขายในระบบอินเทอร์เน็ต โดยไม่มีขีดจำกัดในสถานที่และเวลา ด้านการคมนาคมที่มีการผลิตยานพาหนะที่ช่วยให้การเดินทางรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงด้านการศึกษาที่การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกเวลา ครูจึงมีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมทั้งตนเองและนักเรียนเพื่อให้สามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่ไร้พรมแดนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Digital Era VS Digital Citizens

ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ สอดแทรกเข้ามาอำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการที่ไม่รู้จบให้กับการดำเนินชีวิตของพวกเราทุกคนมากขึ้น ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ Digital Era หรือโลกในยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว และแน่นอนว่าคนส่วนมากมักใช้สื่อโซเซียลมีเดีย (Social media) ต่าง ๆ ที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยภูมิคุ้มกันที่ดีในการปรับตัวเข้าสู่โลกแห่งยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไวเช่นนี้ด้วย

DQ Institute จึงได้ทำการศึกษาและวิจัยคุณลักษณะพื้นฐานที่ต้องมีของมนุษย์ในโลกยุคดิจิทัลอย่างปลอดภัย ซึ่งเรียกว่า Digital Citizens หรือพลเมืองดิจิทัล ประกอบด้วยคุณลักษณะพื้นฐานทั้งหมด 8 ประการ ได้แก่


1) Digital citizen identity (การสร้างตัวตนบนโลกดิจิทัล) การใช้งานในโลกออนไลน์จำเป็นต้องระบุตัวตนก่อน พลเมืองดิจิทัลที่ดีจึงควรระบุตัวตนที่แท้จริงด้วยความซื่อสัตย์ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์
2) Screen time management (การสร้างความสมดุลที่ดีในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล) โลกออนไลน์มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่เสมอ บางครั้งเราอาจอยู่บนโลกออนไลน์มากกว่าคนรอบข้าง พลเมืองดิจิทัลที่ดีจึงควรจัดการเวลาหรือการทำกิจกรรมในโลกออนไลน์ให้สมดุลกับการใช้ชีวิต
3) Cyberbullying management (การป้องกันตนเองจากการกลั่นแกล้งในโลกดิจิทัล) การใช้งานในโลกออนไลน์สามารถพบเจอความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อตนเองหรือคนรอบตัว พลเมืองดิจิทัลที่ดีจึงควรจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างชาญฉลาด
4) Cybersecurity management (การป้องกันภัยคุกคามบนโลกดิจิทัล) ในโลกออนไลน์อาจมีผู้ไม่หวังดี สร้างภัยคุกคามต่อระบบคอมพิวเตอร์ทั้งมัลแวร์หรือไวรัสต่าง ๆ เพื่อขโมยข้อมูล พลเมืองดิจิทัลที่ดีจึงควรรู้วิธีการป้องกันข้อมูลจากสร้างความปลอดภัยของรหัสผ่านและจัดการการคุกคามทางไซเบอร์

5) Privacy management (การจัดการข้อมูลส่วนตัวบนโลกดิจิทัล) โลกออนไลน์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว พลเมืองดิจิทัลจึงต้องสามารถจัดการข้อมูลส่วนตัวที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์อย่างมีวิจารณญาณเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของตนเองและผู้อื่น
6) Critical thinking (การเข้าใจและรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล) บนโลกดิจิทัลที่ใครก็สามารถสร้างเนื้อหาขึ้นมาได้ทั้งที่เป็นข้อมูลจริงและข้อมูลเท็จ พลเมืองดิจิทัลที่ดีจึงต้องสามารถจำแนกข้อมูลด้วยเหตุและผล รวมทั้งการติดต่อสื่อสารออนไลน์ที่น่าเชื่อถือหรือน่าสงสัย
7) Digital footprints (การเข้าใจในร่องรอยดิจิทัล) ทุกการกระทำบนโลกดิจิทัล มักมีร่องรอยดิจิทัลไว้อยู่เสมอ พลเมืองดิจิทัลที่ดีจึงต้องเข้าใจในธรรมชาติของร่องรอยทางดิจิทัล ผลกระทบของร่องรอยทางดิจิทัลที่มีต่อชีวิตจริง และการจัดการด้วยความรับผิดชอบ
8) Digital empathy (การเห็นอกเห็นใจบนโลกดิจิทัล) การสื่อสารที่รวดเร็วในโลกออนไลน์อาจทำให้ละเลยความเข้าใจในความรู้สึกและอารมณ์ของตนเองหรือผู้อื่นไปบ้าง การแสดงถึงความใส่ใจในโลกออนไลน์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พลเมืองดิจิทัลสามารถอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขได้ ครูพร้อม นักเรียนพร้อมสู่สังคมในโลกดิจิทัล

ในสภาวะที่การใช้ชีวิตในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว ครูจึงเป็นคนแรก ๆ ที่ควรพัฒนาคุณลักษณะในการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมทั้งสื่อโซเซียลมีเดียด้วย 8 คุณลักษณะพื้นฐานที่ต้องมีของพลเมืองในโลกยุคดิจิทัล (Digital citizens) เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการเตรียมความพร้อมและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีของนักเรียนในการเข้าสู่โลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและมีวิจารณญาณ ทั้งในการใช้สื่อโซเซียลมีเดีย การรับข้อมูลข่าวสาร และการจัดการตนเองให้ปลอดภัยจากอันตรายบนโลกไซเบอร์

เนื่องจากการพัฒนาทักษะต่าง ๆ สามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวของครูเอง แล้วจึงนำไปสู่การพัฒนานักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งครูยังสามารถสอดแทรกคุณลักษณะดังกล่าวในการเลือกเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพจริง นอกจากที่นักเรียนสามารถเข้าใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยสนับสนุนและบ่มเพาะนิสัยรักเรียนจนกลายเป็นทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ติดตัวนักเรียนไป ซึ่งถือเป็นทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21

ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ในโลกยุคดิจิทัลจึงเป็นความท้าทายบทใหม่ของครูสำหรับการเตรียมความพร้อมให้ตนเองและนักเรียนสามารถเผชิญหน้าสู่โลกที่เต็มไปด้วยสื่อโซเซียลมีเดีย เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างปลอดภัย มีวิจารณญาณ ถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งมีประสิทธิภาพด้วย Digital Citizens หรือพลเมืองดิจิทัลของ DQ Institute ทั้ง 8 คุณลักษณะ

อ้างอิง
DQ Institute. (2019, March 22). World’s first global standard for digital literacy, skill and readiness launched by the Coalition for Digital Intelligence. 
https://www.dqinstitute.org/news-post/worlds-first-global-standard-for-digital-literacy-and-skills-launched-by-the-coalition-for-digital-intelligence/

ภัทรา จรรยาธรรม. (2564). การบริหารสถานศึกษาเอกชนในยุคดิจิทัล. [วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร]. DSpace at Silpakorn University. https://sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/26790 

ที่มา : EDUCA

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น