ค้นหา

การปรับรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรการผลิตครู

บทความโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา 

ผลกระทบจาก World Disruption ส่งผลต่อระบบการผลิตครูในประเทศไทย อย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ 

1.Population Disruption การป่วนจากการที่ประชากรไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง 

2.Digital Technology Disruption การป่วนจากเทคโนโลยีดิจิตอล 

3.Education Quality Disruption การป่วนจากคุณภาพการศึกษา  

Disruption ต่างๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนความเชื่อเดิม (Old Mindset) ในการผลิตครูไปสู่ความเชื่อใหม่ (New Mindset)   

ข้อเสนอความเชื่อใหม่ (New Mindset) ต่อไปนี้ ผมได้ส่งเข้าไลน์กลุ่มสภาคณบดีครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทยที่จะมีการประชุมระดมสมอง (Brain Storming) ในวันที่ 2-4 ธันวาคม 2562 นี้ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เสียดายที่ผมมีภารกิจสำคัญไปร่วมประชุมไม่ได้ จึงส่งแนวคิดไปเพื่อเป็นประเด็นในการเสวนา การจะปรับเปลี่ยนอย่างไรปรับเปลี่ยนตามแนวคิดของผมหรือไม่แล้วแต่มติที่ประชุมครับ  

แนวทางใหม่ในการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการองค์กรการผลิตครู  

การบริหารจัดการองค์กรการผลิตครู ปัจจุบันองค์กรการผลิตครู เป็นเพียงหน่วยงานระดับคณะ ในสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ คณะ ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วิทยาลัยการศึกษา วิทยาลัยการฝึกหัดครู หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการผลิตและพัฒนาครูที่เรียกชื่ออย่างอื่น หน่วยงานอยู่ภายใต้การดูแลกำกับของสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัด แตกต่างจากอดีตที่การผลิตครูเป็นสถาบันอิสระ อยู่ภายใต้องค์กรหลักระดับกรม ได้แก่ กรมการฝึกหัดครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนหน่วยงานระดับสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตครูโดยตรงมีแห่งเดียวที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ที่มีวิทยาเขต 8 แห่ง ทั่วประเทศ  

ส่วนหน่วยงานระดับคณะที่ผลิตครูในสถาบันอุดมศึกษาเดิมมีไม่กี่แห่ง อาทิ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย การไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบการผลิตและพัฒนาครูโดยตรง ทำให้มีปัญหาในการควบคุมการผลิตครูทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จึงสมควรที่จะจัดรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรการผลิตครู โดยมีการดำเนินการสองระยะ ดังนี้ 

  • ระยะที่หนึ่ง มีคณะกรรมการภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานการอุดมศึกษา ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ควบคุม ดูแล กำกับการผลิตครูทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เนื่องจากสถาบันผลิตครูทั้งหมดอยู่ภายในสถาบันอุดมศึกษา ที่สังกัดสำนักงานการอุดมศึกษา 
  • ระยะที่สอง จัดตั้งสถาบันครูแห่งชาติ (National Institute of Education:NIE) เพื่อแก้ปัญหาการขาดเอกภาพด้านนโยบายและมาตรฐานการผลิต โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้  

1) การจัดตั้งสถาบันครูแห่งชาติ โดยการรวมคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วิทยาลัย และสถาบัน ที่ผลิตครู จากทุกมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นหนึ่งสถาบันผลิตครู โดยใช้ NIE Model ของสิงคโปร์ที่เป็น สถาบัน (Institute) อยู่ใน Nanyang Technological University:NTU  การรวมคณะ/วิทยาลัยผลิตครูในสังกัดของมหาวิทยาลัยของรัฐ 20 แห่ง และมหาวิทยาลัยราชภัฎ 38 แห่ง รวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 58 แห่ง จะเป็นการรวมพลังการผลิตและพัฒนาครู โดยสถาบันครูแห่งชาติจะสามารถควบคุมด้านคุณภาพและปริมาณได้อย่างเป็นเอกภาพ 

2) โครงสร้างสถาบันครูแห่งชาติ ควรมีหน่วยงานบริหาร วิชาการ งานบุคคล งานแผน งานวิจัยและประกันคุณภาพ และงานพัฒนาคุณภาพครูของครู ฯลฯ ที่ตั้งของสถาบันฯในระยะเริ่มต้นควรใช้พื้นที่ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ส่วนระยะยาวควรมีพื้นที่ของสถาบันครูแห่งชาติโดยเฉพาะ เป็นหน่วยงานกำกับ ดูแล ควบคุม ติดตามการดำเนินการตามนโยบาย ไม่มีหน่วยงานการผลิตครูเพิ่ม แต่อาจมีหน่วยงานพัฒนาครูของครูเป็นการเฉพาะ 

3) รูปแบบองค์กร จำแนกดังนี้ 

(1) ระดับวิทยาเขต มี 20 วิทยาเขต โดยแบ่งเขตในภูมิภาค มี 18 วิทยาเขต เช่นเดียวกับภาคการศึกษา (สำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาค)   และกรุงเทพมหานคร 2 วิทยาเขต ใช้พื้นที่และอาคารของมหาวิทยาลัย ที่มีหลักสูตรผลิตครูเป็นที่ตั้งของสภาวิทยาเขต การบริหารวิทยาเขตใช้รูปแบบสภาวิทยาเขต วิทยาเขตแต่ละแห่ง เป็นหน่วยรับนโยบายและปฎิบัติ รวมทั้งควบคุม ดูแล กำกับ การบริหารจัดการระดับคณะ ประสานงานการผลิตและพัฒนาระดับเขต 

(2) ระดับคณะ ใช้พื้นที่และอาคารของมหาวิทยาลัยต้นสังกัดเดิม เป็นสถานที่ปฎิบัติงาน และคณะยังเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยต้นสังกัดเดิม ยังอยู่ในโครงสร้างกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย แต่มีอิสระในการบริหารจัดการตามนโยบายของสถาบันครูแห่งชาติ และรับงบประมาณเพิ่มเติมจากงบปกติที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัดผ่านสถาบันครูแห่งชาติ 

4) รูปแบบการบริหารสถาบันครูแห่งชาติ ในกรุงเทพแบ่งเป็นสองวิทยาเขต ส่วนสถาบันครูในภูมิภาคมี 18 วิทยาเขต ตามเขต.   (ภาค) การศึกษา สถาบันครูที่อยู่ในเขตจังหวัดใดให้อยู่ในสังกัดของวิทยาเขตของแต่ละภาคการศึกษา ซึ่งโดยเฉลี่ยมีภาคการศึกษาละ 4 จังหวัดและแต่ละภาคการศึกษามีสถาบันผลิตครูอย่างน้อย 1 สถาบัน 

5) การผลิตและพัฒนาครูตามความต้องการของแต่ละภาคการศึกษาให้เป็นภารกิจและหน้าที่ของสถาบันผลิตครูที่ตั้งอยู่ในแต่ละวิทยาเขต ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการผลิตและพัฒนาครู อาจารย์ และบุคคลากรทางการศึกษา และให้จัดกลุ่มวิทยาเขต (Cluster) ตามความเข้มแข็งของสถาบันฝ่ายผลิตแต่ละภาค ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ หรือจัดกลุ่มในรูปแบบอื่นตามความเหมาะสม 

6) สถาบันผลิตครูแต่ละวิทยาเขตต้องรับผิดชอบคุณภาพการศึกษาของจังหวัดในภาคการศึกษาเดียวกันกับวิทยาเขต โดยร่วมมือกันกับคณะกรรมการการศึกษาภาคและคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดในเขตพื้นที่ กรณีมีปัญหาเรื่องความเข้มแข็งด้านสาขาวิชาเอกของสถาบันผลิตครูในแต่ละวิทยาเขต ให้สถาบันผลิตครูวางแผนการพัฒนาความเข้มแข็งร่วมกันระหว่างสถาบันในวิทยาเขตเดียวกันหรือสถาบันในภาคการศึกษาที่ร่วมมือกัน 

7) การบริหารตามรูปแบบข้างต้นเป็นการบริหารในลักษณะ "นโยบายเดียว สองระบบบริหาร" เพื่อคุณภาพการผลิตครูและพัฒนาครู การควบคุมปริมาณการผลิตและปริมาณการใช้ครู ดังนี้ 

(1) สถาบันครูแห่งชาติ กำกับดูแล งานพัฒนาคุณภาพครูของครู งานบริหารบุคคลากร งานตำแหน่งวิชาการ งานพัฒนาด้านวิชาการ. ฯลฯ งานกิจการนิสิต เน้นงานคุณภาพนิสิต/นักศึกษาและกิจกรรมเสริมความเป็นครู ฯลฯ การบริหารงานวิชาการเน้นงานหลักสูตร งานคัดเลือกนิสิตนักศึกษาเพื่อรับทุนการศึกษา งานพัฒนาการเรียนการสอน ฯลฯ งานงบประมาณ(จัดสรรเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาคุณภาพทุกด้าน) 

(2) มหาวิทยาลัยต้นสังกัดของคณะ/วิทยาลัย ที่ผลิตครู กำกับดูแลด้านการบริหารองค์กร การบริหารงบประมาณปกติ การประกันคุณภาพ และงานอื่น ๆ 

ารจัดรูปแบบบริหารสองระบบ ควรได้มีการศึกษาและจัดวางระบบในการดำเนินการตามนโยบาย เนื่องจากบริบทการบริหารสถาบันผลิตครู ของประเทศไทยมีความแตกต่างกับประเทศสิงคโปร์ ดังนี้ 

- ประเทศสิงคโปร์ มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน มีสถาบันผลิตครูของรัฐแห่งเดียว คือ NIE ซึ่งเดิมเป็นสถาบันเอกเทศ ต่อมารัฐบาลมีนโยบายให้ยุบรวมเป็นส่วนหนึ่งของ  NTU แต่ยังคงมีอิสระในการบริหาร โดยมีรูปแบบการบริหารที่เป็นความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันครูแห่งชาติ และโรงเรียน โดยตรง 

- ประเทศไทย มีประชากร 67 ล้านคน ในอดีตมีสถาบันผลิตครูโดยเฉพาะคือ โรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู สถาบันราชภัฎ  ในสังกัดกรมการฝึกหัดครู  40 แห่งและคณะครูศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ในสังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐ  16 แห่ง ต่อมาสถาบันผลิตครูทุกแห่ง ได้รับการยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีคณะต่าง ๆ มากมายเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย จากสถาบันผลิตครูโดยเฉพาะเดิมถูกย่อส่วนลงกลายเป็นคณะ/วิทยาลัย ที่ทำหน้าที่ผลิตครูและเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ประเทศไทยไม่มีสถาบันผลิตครูโดยเฉพาะตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา 

การพัฒนารูปแบบองค์กรการผลิตครู จะเป็นการแก้ปัญหาโดยรวมของการผลิตครูทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งของนโยบายการผลิตครูโดยมุ่งคุณภาพโดยรวมอีกด้วย 

บทบาทของสถาบันครูแห่งชาติ 

ระบบการผลิตครูในประเทศไทยมีความจำเป็นต้องทบทวน เนื่องจากการผลิตครูระบบเปิดในปัจจุบัน ก่อให้เกิดปัญหาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ การผลิตครูระบบปิดจะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับนานาประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษาที่กำหนดให้การผลิตครูเป็นระบบระบบปิด 

การผลิตครูระบบปิดมีปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จหลายประการ ดังนี้ 

1) มีคณะกรรมการและหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง (เป็นหน่วยงานประจำไม่ใช่เฉพาะกิจ) มีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแล ประสานงาน และบริหารจัดการ ดังนี้ 

                 (1) กำหนดปริมาณการผลิตครู โดยใช้ข้อมูลของหน่วยงานผู้ใช้ครูทั้งด้านจำนวนและสาขาวิชาเอกมากำหนดเป็นนโยบายการผลิตครูแต่ละปี /ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญคือการลดลงของจำนวนประชากรวัยเรียนทีต้องนำมาประกอบการวางแผนการผลิตครูระบบปิด 

                 (2) กำหนดและประสานงานกลุ่มเครือข่ายสถาบันฝ่ายผลิตเป็น 20 กลุ่ม โดยแบ่งกลุ่ม ดังนี้ กรุงเทพมหานคร 2 กลุ่ม และภูมิภาค 18 กลุ่ม ตามการแบ่งกลุ่มภาคการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เฉลี่ยกลุ่มละ 4 จังหวัด โดยแต่ละกลุ่มจะมีสถาบันผลิตครูอยู่ในแต่ละภาคการศึกษา และกำหนดเกณฑ์การรับเข้าศึกษาของแต่ละกลุ่ม เครือข่าย โดยนิสิตนักศึกษาสามารถเลือกเรียนในสถาบันในกลุ่มเครือข่ายและสถาบันในกรุงเทพมหานครโดยไม่ใช้สิทธิการเลือกสถาบันซ้ำซ้อน 

                 (3)  จัดทำแผนและเสนอของบประมาณเพื่อการบริหารจัดการตามแผนการผลิตครูและพัฒนาครู โดยประสานแผนงบประมาณเพื่อการบริหารที่มีประสิทธิภาพกับสถาบันฝ่ายผลิตครูและสำนักงานภาคการศึกษาและสำนักงานการศึกษาจังหวัดของแต่ละกลุ่มเครือข่าย 

                 (4) บริหารจัดการอื่นๆที่เกี่ยวกับการผลิตครูระบบปิดทั้งระบบ ภายใต้นโยบายการผลิตครูระบบปิดของรัฐ การประสานงานกับสถาบันฝ่ายผลิต การกำหนดคุณสมบัติของนิสิตนักศึกษารับทุน กระบวนการและวิธีการคัดเลือกผู้รับทุน ฯลฯ 

                 (5) ประสานงานกับหน่วยงานผู้ใช้ครู สำนักงานภาคการศึกษา สำนักงานการศึกษาจังหวัด 

2) หน่วยงานผู้ใช้ครูแต่ละหน่วยงานต้องมีแผนการใช้และพัฒนาครูทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว โดยไม่ยึดแต่เพียงจำนวนอัตราตำแหน่งครูปัจจุบันและอัตราเกษียณแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากปริมาณจำนวนโรงเรียน ปริมาณจำนวนครูแต่ละโรงเรียน สาขาวิชาเอกของครู ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งต่อข้อมูลให้คณะกรรมการและหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการผลิตครูระบบปิดทั้งสิ้น 

3) สถาบันผลิตครูต้องพัฒนาคุณภาพความเข้มแข็งทั้ง ครูของครู หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการบริหารจัดการภายใน ให้สนองตอบต่อการผลิตครูระบบปิด รวมทั้งต้องเป็นหน่วยพัฒนาคุณภาพครูประจำการ โดยทำงานควบคู่กับสำนักงานภาคการศึกษา และสำนักงานการศึกษาจังหวัด 

4) ผู้เรียนครูต้องมีคุณภาพ ตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการคัดเลือกผู้เรียน (in put )ซึ่งต้องเป็นตัวป้อนที่มีคุณภาพต่อการผลิตครูระบบปิด จึงต้องได้รับการคัดเลือกจากคุณภาพด้านวิชาการ โดยการกำหนดคุณสมบัติผู้รับทุนตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน ระหว่างการเรียน และมีการติดตามผลเมื่อสำเร็จการศึกษา ระหว่างประกอบวิชาขีพครูอย่างน้อย 2 ปีการศึกษา 

5) ครูประจำการต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพเป็นประจำและต่อเนื่อง ระบบการพัฒนาครูของแต่ละหน่วยงานการศึกษา ต้องถูกกำหนดโดยหน่วยงานตามบริบทที่แตกต่างของแต่ละหน่วยงาน อาทิ รูปแบบ ระยะเวลา เนื้อหา การวัดและประเมินผลการพัฒนา ตัวชี้วัดความสำเร็จ เป็นต้น 

แนวทางการผลิตครูระบบปิดในประเทศไทย จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาของชาติโดยรวม ดังนั้น จึงสมควรที่รัฐจะต้องดำเนินการโดยรีบด่วน และกำหนดให้ "การผลิตครูระบบปิด" เป็นนโยบายแห่งชาติ  

หมายเหตุ การกำหนดจำนวนวิทยาเขตให้เป็นไปตามความเหมาะสม ที่ผมนำเสนอเป็น Mind Mapping เท่านั้น

ที่มา ; EDUNEWSSIAM

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น