ค้นหา

ทักษะสำคัญของผู้นำทางวิชาการ ; ผู้นำด้านการศึกษา

บทนำ 

บทความ Leadership Basics หรือ ‘พื้นฐานการเป็นผู้นำ’ เป็นบทความเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ของ “ภาวะผู้นำทางการศึกษา” (Educative Leadership)  การมีภาวะผู้นำทางการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ อย่างที่ผู้อำนวยการโรงเรียนหลายแห่งเห็นตรงกันว่า  เป้าหมายหลักของการเป็นผู้นำในสถานศึกษาคือการพัฒนาการเรียนการสอน โดยมองว่าทุกองคาพยพของสังคมโรงเรียนนั้นเป็นผู้เรียนรู้ (Learners) 

ผู้นำในองค์กรขนาดใหญ่ เช่น Shell Microsoft และ SONY ได้นำกระบวนทัศน์ของการเป็นผู้นำทางการศึกษามาใช้ภายในองค์กร เช่นเดียวกับโรงเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษา ภาวะผู้นำทางการศึกษามิได้เป็นเพียงความสามารถในการปรับปรุงการเรียนการสอนเท่านั้น เช่นเดียวกัน องค์กรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือองค์กรที่สามารถ 'เรียนรู้ในโลกธุรกิจขององค์กรเอกชน การเรียนรู้นี้จะต้อง 'รวดเร็วกว่า’ คู่แข่ง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าองค์กรจะสามารถก้าวทันความรู้ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของยุคข้อมูลข่าวสาร ความเป็นผู้นำด้านการศึกษาในสถานศึกษา คือ การสร้างความมั่นใจว่าการเรียนรู้สามารถมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผลลัพธ์ได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นใจว่าผลลัพธ์เหล่านี้จะสอดคล้องกับค่านิยม ความรู้ และเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมในปัจจุบันได้ บทความนี้นำเสนอภาวะผู้นำทางการศึกษาทั้ง 3 มิติ ภายใต้พื้นฐานความเป็นผู้นำต่อไปนี้:

  • ภาวะผู้นำที่แท้จริง
  • ภาวะผู้นำทางวัฒนธรรม
  • ภาวะผู้นำทางวิชาการ

 

ภาวะผู้นำที่แท้จริง

ภาวะผู้นำที่แท้จริงถูกกำหนดโดยค่านิยมของสังคม โดยเชื่อว่าความเป็นผู้นำที่แท้จริงต้องมีคุณลักษณะที่มีความน่าเชื่อถือ ซื่อสัตย์ และมีความมุ่งมั่นที่จะประพฤติตนตามหลักศีลธรรมและหลักจริยธรรม  ลักษณะผู้นำถูกพิจารณาจากพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความยุติธรรม ความเห็นอกเห็นใจ และความซื่อสัตย์  ผู้นำที่แท้จริงจะยกระดับตนเองและผู้อื่นให้มีจริยธรรมและความตระหนักทางสังคมให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจไม่ประสบความสำเร็จก็ตามแต่อย่างน้อยก็ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ ด้วยความโปร่งใส และความสุจริตอย่างแท้จริง ภาพในอุดมคติของความเป็นผู้นำที่แท้จริงจึงมักแสดงออกถึงบุคคลทั่วไปที่น่าเชื่อถือและพึ่งพาได้ แม้จะอยู่ภายใต้แรงกดดันแต่ก็พยายามที่จะรักษาศีลธรรม เอาใจใส่ และขับเคลื่อนด้วยมโนธรรม เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? เมื่อมองด้วยสายตาที่ดูถูกเหยียดหยามที่ได้จากบทเรียนเรื่อง ‘ความโลภในช่วงทศวรรษที่ 90’ และความผิดพลาดที่ตามมาของบริษัทสตาร์ทอัพหลายๆ แห่ง คือการไม่ลงทุนในด้านการเงิน เวลา รวมถึงการพัฒนาทักษะของคนในองค์กร สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการดำเนินการโดยบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ  ความไว้วางใจจึงเป็นค่านิยมขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 และเป็ยเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับการสร้างความไว้วางใจ ซึ่งก็คือลักษณะความเป็นผู้นำที่แท้จริง

ภาวะผู้นำที่แท้จริงจะมีลักษณะเป็นผู้ที่พยายามค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาและบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ โดยเน้นย้ำถึงความสามารถในการเอาใจใส่และเข้าใจความต้องการของบุคคลภายในองค์กร ผู้นำที่แท้จริงแสดงความฉลาดทางอารมณ์ดังต่อไปนี้

  • ความสามารถในการแสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ
  • ความสามารถในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยอารมณ์ (ไม่ปฏิเสธพวกเขา)
  • ความเต็มใจที่จะอุทิศเวลา ความพยายาม และทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้ ตามความต้องการของผู้ติดตาม
  • ดำเนินตามแนวทางที่เป็นพื้นฐานทางศีลธรรมอันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง
  • ความเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อบรรลุความสำเร็จ รวมทั้งเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมของทุกคนในเวลาที่สมควรและเหมาะสม

ภาวะผู้นำที่แท้จริงนั้นเป็นสิ่งที่ “อันตราย” เพราะต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับอารมณ์ของผู้คนซึ่งเป็นสิ่งที่ทำความเข้าใจได้ยาก และอาจเกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มครูผู้สอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและการพัฒนาของนวัตกรรม (ซึ่งอาจเกิดขึ้นในโรงเรียนได้ตลอดเวลา)

แม้ว่าหัวหน้าผู้อำนวยการฯ จะมีความเห็นอกเห็นใจและมีค่านิยมของผู้นำที่แท้จริง แต่ครูก็มักจะมองผู้นำด้วยการตั้งข้อสงสัย หากไม่ใช่การเยาะเย้ยถากถาง และหากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนั้นไม่เป็นประโยชน์เฉพาะตนสำหรับครูเหล่านั้น ผู้นำมักจะได้รับการพิจารณาว่าเป็นคนชอบบงการ ไม่จริงใจ และอาจถึงกับเป็นคนหลอกลวงได้หากไม่มีแนวทางที่เน้นผลลัพธ์และการกำหนดเป้าหมายที่มีประสิทธิผล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พนักงานเห็นว่าผู้นำมีความจริงใจและเต็มใจที่จะรับความเสี่ยงส่วนตัวเพื่อให้ชีวิตของทุกคนดีขึ้น

ภาวะผู้นำที่แท้จริงจึงเกี่ยวข้องกับการเอาใจใส่ต่อมนุษยสัมพันธ์ ไม่เพียงแต่ต้องการการฟังอย่างกระตือรือร้น แต่ยังเน้นถึงความอดทน ความผ่อนปรน ความเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมกับอารมณ์ขันอย่างเหมาะสม และที่สำคัญที่สุดคือการเป็นผู้ที่มีความยืดหยุ่นในระดับสูง


ภาวะผู้นำทางวัฒนธรรม

ผู้นำทางวัฒนธรรมมีมุมมองต่อโรงเรียน คือเป็นสถานที่สำหรับ 'การแสวงหาความรู้' หรือระบบการเรียนรู้ เป็นชุมชนของผู้เรียน หรือ 'ชุมชนแห่งการเรียนรู้ซึ่งต่างกับผู้นำกลุ่มอื่นที่มองว่าโรงเรียนคือองค์กรที่ให้ความรู้  ภาวะผู้นำทางวัฒนธรรมจึงเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรมขององค์กรให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ทุกองค์กรล้วนมีฐานทางวัฒนธรรมที่มั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน มี 'ผลิตภัณฑ์' ขององค์กรคือบุคลากร แนวคิดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการยึดมั่นในตัวตนของสถาบัน การสร้างค่านิยมและความเชื่อให้กับสถานศึกษาอันจะนำไปสูงการพัฒนา การเปลี่ยนแปลง และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ผู้นำด้านวัฒนธรรมที่เข้มแข็งจะสามารถพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรให้เปิดรับความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเข้ามาได้มากขึ้น รวมทั้งยังสร้างความไว้วางใจภายในกลุ่มบุคลากรสถานศึกษาว่าจะได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนอย่างเต็มที่ ประเด็นดังกล่าวจึงส่งเสริมให้ผู้นำเข้ามามีส่วนร่วมในแนวทางที่เป็นนวัตกรรมและนำความรู้ใหม่ๆ มาใช้ในสถานศึกษา

ความเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมในมิติของสถานศึกษานั้นไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับที่มนุษย์นั้นรู้จักกับโรงเรียน  ประวัติศาสตร์ยุโรปและเอเชียนั้น มักจะระบุถึงบทบาทของผู้ใหญ่บ้านหรือครูประจำหมู่บ้านเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านวัฒนธรรม ร่วมมือกับผู้สอนศาสนาหรือพระ ในการทำหน้าที่ส่งต่อประเพณีและประวัติศาสตร์ของภูมิภาคไปยังคนรุ่นต่อไป โดยยังคงไว้ซึ่ง “สิ่งที่ถูกต้อง” และต้องเป็นไปได้ เรื่องราวที่จะส่งต่อเริ่มตั้งแต่การหว่านพืชไปจนถึงการจัดพิธีแต่งงาน

ปัจจุบัน ผู้นำทางวัฒนธรรมตระหนักดีว่าวัฒนธรรมคือสิ่งที่เชื่อมโรงเรียนไว้ด้วยกัน วัฒนธรรมเชิงบวกของโรงเรียนมีส่วนช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จ  ผู้อำนวยการโรงเรียนนั้นมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำทางวัฒนธรรม แต่ไม่สามารถทำได้หากขาดการสนับสนุนจากผู้นำในระดับกลาง  วัฒนธรรมของโรงเรียนส่งผลต่อโรงเรียนในทุกมิติ นับตั้งแต่การเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เข้มแข็งและคิดบวกเพื่อสร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้เป็นสถานที่ปลอดภัย ทุกคนเห็นคุณค่า และให้ความเคารพ


ภาวะผู้นำทางวิชาการ

ผู้นำทางวิชาการหรือเรียกอีกอย่างว่า ผู้นำในการเรียนรู้  ตัวอย่างเช่น โรงเรียนที่ไม่สามารถจัดการสอนวิชาคณิตศาสตร์ได้อย่างทั่วถึง บุคลากรท่านใดท่านหนึ่งในโรงเรียนแห่งนั้นต้องสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนได้  มาถึงจุดนี้จึงเกิดคำถามขึ้น: ภาวะผู้นำประเภทใดที่จะส่งเสริมการปรับปรุงด้านการคำนวณ หรือในเรื่องอื่นๆ เช่น การรู้หนังสือ วิชาวิทยาศาสตร์ หรือวิชาศิลปะ?

ผู้นำในการเรียนรู้ในโรงเรียนมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสอนและการเรียนรู้ โดยจะช่วยให้ครูและบุคลากรในโรงเรียนค้นพบความหมายที่แท้จริงในหน้าที่ของตน ขณะเดียวกัน การลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถให้แก่บุคลากรจะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรและเปลี่ยนแปลงแนวทางการสอนของโรงเรียน

ความเป็นผู้นำในการเรียนรู้จะเชื่อมโยงการพัฒนาหลักสูตรเข้ากับวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตของโรงเรียน  นอกจากนี้ยังวางให้ประเด็นด้านการเรียนและการสอนเป็นตัวกำหนดทิศทางการตัดสินใจของโรงเรียน แนวคิดดังกล่าวจะช่วยยกคุณภาพของการสนทนาภายในชุมชนการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางปฏิบัติด้านการศึกษาและการส่งเสริมนวัตกรรมส่วนบุคคล

บทบาทความเป็นผู้นำทางวิชาการมีได้หลายรูปแบบ ดังนี้

  • การมุ่งเน้นที่คุณภาพของการปฏิบัติในห้องเรียน และการยกระดับมาตรฐานการสอน
  • กลั่นกรองวิธีการประเมินนักเรียน หรือการส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตร
  • การริเริ่มและอำนวยความสะดวกในการพัฒนาวิชาชีพของบุคลากรในสถานศึกษา
  • การรวบรวมและติดตามหลักฐานการเรียนรู้

 

คุณลักษณะของผู้นำทางการศึกษา 

ผู้นำด้านการศึกษา

  • พัฒนาและปลูกฝังภาวะแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม
  • ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา และเปิดรับให้มัการวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์
  • ดูแลให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ด้านนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาบุคลากร


ผู้นำทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสามารถรับรู้ได้จากเกณฑ์ต่อไปนี้ (Macpherson & Vann, 1996)

  • ความสามารถในการพัฒนาและรักษาภาวะแวดล้อมในโรงเรียน โดยสร้างบรรยากาศให้เกิดการตั้งคำถาม หรือเปิดให้เสนอการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพภายในโรงเรียน
  • ให้ความเคารพและรับฟังความเห็นต่าง พร้อมน้อมรับคำวิจารณ์ที่อาจเป็นความรูปที่สำคัญต่อการพัฒนาโรงเรียน
  • ความสามารถในการเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายหรือแนวทางการปฏิบัติ ด้วยวิธีการมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและรูปแบบของการสะท้อนคิด
  • การตระหนักถึงการมีอิสระทางความคิดในการเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้และเติบโต
  • ความรับผิดชอบต่อความเชื่อแบบองค์รวมว่าการตัดสินใจใดๆ ก็ตาม จะได้รับการปกป้องบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม เพื่อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของโรงเรียนในระยะยาว

 

บทสนทนาที่ 1

โรงเรียนได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยผู้อำนวยการฯ คนก่อนหน้านี้ที่ย้ายมาจากโรงเรียนไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานในบริบทพหุวัฒนธรรมในเอเชียได้ เขาและภรรยาจึงตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา  ผู้อำนวยการฯ คนใหม่ คือ คุณสมิธ ได้รับการแต่งตั้งเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาของโรงเรียน

ในวันแรกของการทำงาน คุณสมิธได้เรียกเจ้าหน้าที่อาวุโสมาที่ห้องทำงานของเขา เขากล่าวว่า “พูดตามตรง โรงเรียนกำลังมีปัญหา เราเสียครูที่ดีที่สุดไป เรามีค่าใช้จ่ายที่เกินงบประมาณ เราได้ยกเลิกสิทธิ์พ่อแม่ของเด็ก ผมจึงมาที่นี่เพื่อให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ คุณสามารถพูดอะไรก็ได้ที่คุณต้องการกับผมเมื่อคุณเข้ามาในห้องนี้โดยที่ประตูห้องปิดอยู่ คุณสามารถโต้แย้งกับผมได้ทั้งคืนหากคุณไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของผม แต่เมื่อคุณออกจากห้องนี้ไป คุณจะต้องให้ความภักดีและการสนับสนุนแก่ผมร้อยเปอร์เซ็น และจะไม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่  เราจะมีวัฒนธรรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เข้มแข็งภายในโรงเรียนแห่งนี้ ชัดเจนไหม?”

จงอภิปรายตำแหน่งของผู้นำคนนี้
คุณจะมีวิธีการตอบสนองอย่างไรหากคุณเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสท่านนั้น?
 

4 กลยุทธ์ของการเป็นผู้นำทางการศึกษา

ในข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความเป็นผู้นำนี้ เราจะสำรวจ 4 กลยุทธ์สำหรับการสร้างทักษะความเป็นผู้นำด้านการศึกษา ได้แก่

  • ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงคุณลักษณะส่วนตัว
  • การทำกิจวัตรอย่างซ้ำๆ ทำให้ขาดการฉุกคิด
  • ทำความเข้าใจและพัฒนาการทำงานเป็นทีมอย่างต่อเนื่อง
  • ทบทวนแนวทางการปฏิบัติ

 

1. ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงคุณลักษณะส่วนตัว

การเป็นผู้นำด้านการศึกษา หมายถึง การเรียนรู้ที่จะส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาข้อมูลเชิงลึกส่วนบุคคลในการปรับปรุงการเรียนรู้บางแง่มุมในโรงเรียนที่สังกัด

บทบาทของผู้นำด้านการศึกษาในกระบวนการนี้เน้นการสื่อสารภายในสถานศึกษาให้มีความน่าตื่นเต้น และความคิดริเริ่มที่สดใหม่ (ดัดแปลงจาก Duignan และ Macpherson 1993) แต่อย่างไรก็ตาม การสื่อสารดังกล่าวนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ ผู้นำแต่ละคนต้องค้นหาวิธีการทำงานภายในโครงสร้างของโรงเรียนด้วยตนเอง เช่น ศึกษาวิธีการสื่อสารและโต้ตอบกันระหว่างกลุ่มครูผู้ใต้บังคับบัญชา โดยคำนึงถึงสิ่งที่กลุ่มครูนั้นปฏิบัติเป็นเรื่องปกติ หรือพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับกันภายในกลุ่มครูด้วยกันเอง

ในการสำรวจแนวคิด ควรพิจารณา 2 กลยุทธ์ต่อไปนี้

ไคเซ็น (1) - จัดทำบัญชีรายชื่อเพื่อการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
กำหนดให้ผู้เข้าร่วมนำเสนอแนวคิดใหม่หนึ่งข้อในการประชุมประจำหน่วยงานหรือกลุ่มงาน โดยให้จัดทำบัญชีรายชื่อ ตัวอย่างเช่น หากกลุ่มที่มีสมาชิก 5 คน มีนัดพบปะกันทุกๆ สองสัปดาห์ ในระหว่างการประชุม ให้แต่ละคนรวบรวมแนวคิดที่เป็นนวัตกรรมใหม่ในทุกๆ 10 สัปดาห์

สามารถกำหนดช่วงระยะเวลาที่ต้องการเพื่อเน้นย้ำถึงประเด็นปัญหาที่สำคัญได้ เช่น ใน 5 สัปดาห์แรก แนวคิดใหม่ที่นำเสนอทั้งหมดจะต้องเกี่ยวข้องกับวิธีปรับปรุงการสื่อสารระหว่างบุคลากรในโรงเรียน นักเรียน และผู้ปกครอง และอีก 5 สัปดาห์ข้างหน้ามุ่งเน้นไปที่ปรับปรุงวิธีการจัดการห้องเรียน

ไคเซ็น (2) - สร้างความท้าทาย
ความท้าทายใหม่จะเกิดขึ้นระหว่างการประชุมบุคลากรของโรงเรียน ซึ่งเป็นสิ่งปกติเนื่องจากงานบริหารโรงเรียนต้องดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ที่ละเอียดอ่อน บุคลากรทางการศึกษาจึงต้องคิดหาวิธีในการจัดการปัญหาที่ท้าทายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยจะแบ่งครูออกเป็นกลุ่ม อย่างน้อย 2 กลุ่ม โดยให้ 1 กลุ่ม คิดประเด็นความท้าทายใหม่ๆ ขึ้นมา ในขณะที่อีกกลุ่มต้องคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาความท้าทายอย่างสร้างสรรค์หรือมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่าง ทีม A เป็นฝ่ายคิดประเด็นความท้าทาย - “หากสังเกตว่านักเรียนคนหนึ่งใน เกรด 8 ใช้เวลาทั้งหมดในช่วงพักกลางวันไปกับการนั่งอยู่คนเดียว เธอโดดเดี่ยวและเริ่มไม่ชอบโรงเรียน แม่ของเธอเริ่มไม่สบายใจและไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร” 

ในเวลาสองสัปดาห์ ทีม B ได้คิดหาวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพสำหรับประเด็นความท้าทายดังกล่าว และกลับมาพร้อมกับความท้าทายต่อไปนี้: “จนถึงตอนนี้ หนังสือในห้องสมุดของโรงเรียนสูญหายไปมากกว่า 12 เล่ม โดยหนังสือเกือบทั้งหมดหายไปจากหมวดที่ 7-9 จาก อัตราที่ระบุไว้ข้างต้น ภายในเดือนมิถุนายน ห้องสมุดของเราจะมีหนังสือไม่เพียงพอสำหรับคน!”

 

บทสนทนาที่ 2

ทุกคนมีประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับเรื่องราวของอีรอส  เทพเจ้าปกรณัมกรีก  อีรอสมักจะแสดงถึงความกระปรี้กระเปร่า แรงกระตุ้น และความรู้สึกมีชีวิตชีวา ความรู้สึกเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราเกิดความเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาในทันที  อีรอสมักจะสื่อถึงความโรแมนติก เขาสามารถทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักกันสองคนในที่ที่คนพลุกพล่านสามารถเข้าใจกันและกันได้ทันที  สิ่งที่อีรอสทำนั้นไม่ได้สื่อถึงว่าเขามีความโรแมนติคแต่อย่างใด แต่สิ่งเหล่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลังจากที่เรา - ใช้เวลามากกว่าชั่วโมงในการพยายามทำความเข้าใจเนื้อหาทางวิชาการด้วยความยากเย็น ความเข้าใจอาจเกิดขึ้นได้ทันทีราวกับสายฟ้า   อีรอสยังสามารถเสกพลังวิเศษที่สามารถทำให้ครูเกิดความเข้าใจในตัวเด็กที่เข้าถึงยากได้ในทันที หรือใช้วิธีที่แตกต่างเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในชั้นเรียนให้แก่นักเรียนหรือกลุ่มเด็กๆ  พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวถึงเหตุการณ์เหล่านี้ดูเหมือนจะทำให้การสอนนั้นเกิดความคุ้มค่า  อย่างไรก็ตาม มีใจความสำคัญจากบทสนทนาข้างต้นเกี่ยวกับศักยภาพและพลังงานที่บุคลากรในโรงเรียนจะได้รับจากการเรียนรู้

ให้ปรึกษากับเพื่อนร่วมงานของท่านเกี่ยวกับช่วงเวลาของ 'อีรอส' ที่เกิดขึ้นกับงานของท่านหรืองานของครูท่านอื่นที่ท่านรู้จัก โดยเมื่อพูดถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีการ 'สร้างความแตกต่าง' ในการเรียนรู้กับนักเรียนหรือกลุ่มนักเรียน ที่ท่านเคยพบเจอ ท่านมีความรู้สึกต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร?

 

2. การทำกิจวัตรอย่างซ้ำๆ ทำให้ขาดการฉุกคิด

กิจวัตรที่ครูทำเป็นประจำในโรงเรียนทำให้เกิดความเคยชิน อาจส่งผลให้ครูไม่สามารถมองเห็นภาพของโรงเรียนในฐานะที่เป็นองค์กรหรือหน่วยงาน ครูนั้นมีโลกส่วนตัวที่ปิดขังตัวเองได้ภายใต้ประตูห้องเรียน มีเพียงแค่การเดินทางไปทำงานบริหารเป็นครั้งคราว เช่น การไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองและครู หรือการรายงานความคืบหน้าที่จัด 1 ครั้งต่อภาคการศึกษา ครูสามารถกลายเป็นผู้ที่โดดเดี่ยวและหลบซ่อนตัวจากปัญหาของโรงเรียนที่กำลังขยายใหญ่ขึ้น 

ผู้นำทางการศึกษาต่างกังวลกับการสลายกิจกรรมที่ทำเป็นกิจวัตรนี้ มิเพียงแต่สร้างความกังวลใจแต่ต้องปลูกฝังให้บุคลากรในโรงเรียนตระหนักถึงปัญหาที่ส่งผลต่อโรงเรียน  การเรียนรู้จึงเป็นเรื่องของการรับมือกับความเสี่ยง โดยผู้นำด้านการศึกษาต้องสร้างความมั่นใจว่าโรงเรียนจะได้รับประโยชน์สูงที่สุดเมื่อครูเข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ถึงและประเมินความเสี่ยง เพื่อนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่โรงเรียน

ผู้นำระดับกลางทุกคนจึงต้องหากลยุทธ์ของตนเองในการสลายกิจวัตรประจำวันของครูผู้ใต้บังคับบัญชา โดยตัวอย่างต่อไปนี้จะเป็นการเสนอแนวคิดใหม่ๆ นำไปสู่การพัฒากลยุทธ์ความเป็นผู้นำในแบบของท่าน

ตัวอย่างที่ 1: การให้ครูคอยติดตาม
ในตัวอย่างแรก ผู้อำนวยการโรงเรียนระดับกลาง อาจ "พาคุณครู" เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือการประชุมฝ่ายธุรการที่สำคัญอื่นๆ ทั้งภายในหรือภายนอกโรงเรียน โดยให้เปลี่ยนครูทุกครั้งที่มีการประชุม และสลับกันเข้าร่วมจนครบทุกคน  กิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้ครูทุกคนได้สัมผัสและมีความรู้เกี่ยวกับประเด็นการบริหารโรงเรียนในวงกว้าง

การพาคุณครูเข้าร่วมการประชุมแต่ละครั้งแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจนั้นเป็นกระบวนการที่เปิดกว้าง และผู้นำต้องการให้ครูเข้าใจทุกคนเข้าใจบทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียน วิธีนี้มีประโยชน์ในการสร้างความไว้วางใจ

การที่ผู้อำนวยการฯ 'พาคุณครู' ไปด้วย เป็นโอกาสในการเปิดการสนทนา โดยอาจเริ่มในรูปแบบคำถาม เช่น "คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับการประชุมครั้งนั้น" หรือ “คุณคิดว่าเราสามารถบรรลุสิ่งที่เราต้องการสำหรับโรงเรียนได้หรือไม่”

ตัวอย่างที่ 2: การให้คำปรึกษา
การให้คำปรึกษาหรือเรียกอีกอย่างว่า 'วงจรคุณภาพ' ประกอบด้วยครูกลุ่มเล็กๆ ที่พบปะกันเพื่อจัดการกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทั้งโรงเรียน  จุดประสงค์ของกลุ่มนี้คือให้เป็นคณะทำงานระดับมันสมองให้แก่ผู้บริหารโรงเรียน (หรืออื่นๆ) และสามารถเชื่อมไปถึงข้อมูลที่เป็นประเด็นของโรงเรียน  ที่ปรึกษาประกอบด้วยผู้ที่มีสนใจด้านต่างๆ รวมกลุ่มเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น อาจมีทีมที่ปรึกษาเกี่ยวกับการรู้สารสนเทศ (Information Literacy) การจัดการพฤติกรรมความประพฤติ การมองผู้ปกครองในฐานะหุ้นส่วนของโรงเรียน การตลาดและการส่งเสริม จริยธรรมของโรงเรียน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรทางการศึกษา การเงินและทรัพยากร เป็นต้น 

การจัดตั้งทีมให้คำปรึกษาจะทำให้ครูทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในกลุ่มอย่างน้อยคนละ 1 กลุ่ม โดยโรงเรียนจะแบ่งเวลาครูเข้าร่วมการประชุมที่ปรึกษาในช่วงเวลาที่อยู่ในโรงเรียน โรงเรียนควรกำหนดให้การให้คำปรึกษาภายในโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานขั้นพื้นฐานของครูทุกคน

กิจกรรมการให้คำปรึกษานั้นไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อลดบทบาทในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ธุรการระดับสูงแต่อย่างใด แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงคือการช่วยให้ครูคำนึงถึงสิ่งที่ส่งผลต่อโรงเรียนในมุมมองที่กว้างขึ้น และแยกตัวออกจากกิจวัตรประจำวันในชั้นเรียนที่ตนเองหมกมุ่นอยู่

บทสนทนาที่ 3

โรงเรียนได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำในพิธีสำเร็จการศึกษาอยู่เป็นประจำ  โดยที่ นางสาวเอ (ตำแหน่งหัวหน้าระดับกลางของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย) ไม่กระตือรือร้นที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำในกิจกรรมเพราะเธอเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นานและไม่รู้ว่าตำแหน่งนี้ต้องทำอะไรบ้าง  อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้เสนอชื่อของนางสาวเอเพราะคิดว่าเธอเหมาะสมกับหน้าที่นี้   หลังจากตบปากรับคำเป็นแม่งาน นางสาวเอก็ได้รับรายชื่อของเจ้าหน้าที่และผู้ปกครองกลุ่มที่เคยจัดงานพิธีสำเร็จการศึกษาครั้งที่ผ่านๆ มา พร้อมกับได้รับโฟลเดอร์ที่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับงานเลี้ยงอาหารค่ำในเซิร์ฟเวอร์ของโรงเรียน นางสาวเอจึงได้ทำการศึกษา และติดต่อปรึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ เธอได้ปรึกษากับผู้ปกครองนักเรียนเกี่ยวกับพิธีการต่างๆ รวมถึงเมนูอาหารที่จะใช้ในการจัดเลี้ยง  อย่างไรก็ตาม เธอไม่สามารถติดต่อผู้ปกครองบางท่านเนื่องจากติดต่อไปในชั่วโมงทำงาน เธอจึงฝากข้อความเสียงทิ้งไว้ ซึ่งผู้ปกครองเหล่านั้นไม่ได้มีการติดต่อกลับมาแต่อย่างใด เธอจึงตัดสินใจวางแผนโปรแกรมและเมนูอาหารด้วยตัวเอง   นางสาวเอได้ปรึกษากับผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ เกี่ยวกับแผนงานซึ่งผู้ช่วยฯ ก็เห็นดีเห็นงามกับแผนของเธอ นางสาวเอจึงได้จัดพิมพ์ใบประกาศเพื่อประชาสัมพันธ์พิธีสำเร็จการศึกษาพร้อมระบุรายการอาหารที่จะเสิร์ฟในวันนั้น  วันถัดมา คณะกรรมการผู้ปกครองได้ติดต่อมาหานางสาวเอ โดยสอบถามว่าเพราะเหตุใดจึงตัดขั้นตอนสำคัญออกจากตารางพิธีการ พร้อมแจ้งว่ารายการอาหาร (บุฟเฟ่ต์) ไม่ได้เป็นไปตามประเพณีเดิมของโรงเรียน  นางสาวเอได้รายงานเรื่องดังกล่าวกับผู้อำนวยการฯ ว่าด้วยบทสนทนาที่เริ่มจะรุนแรงและเธอรู้สึกได้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ปกครอง  อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการฯ นั้นเป็นฝ่ายให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ปกครอง โดยอ้างว่ากลุ่มผู้ปกครองเหล่านั้นเป็นผู้มีอิทธิพลและสร้างผลประโยชน์อย่างมากให้แก่โรงเรียน รวมถึงยังเคยเป็นฝ่ายให้ความอนุเคราะห์ด้านอาหารค่ำมาตั้งแต่อดีต  ผู้อำนวยการฯ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า การสำเร็จการศึกษาเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่แพร่หลายและเป็นประเพณีของโรงเรียน จึงได้บอกให้ นางสาวเอยกเลิกใบปลิวโฆษณา และให้ทำรายการใหม่อีกครั้ง

  • ให้ปรึกษากับเพื่อนภายในกลุ่ม
  • ท่านจะทำอย่างไรถ้าท่านเป็นนางสาว 'A' (ตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่ได้รับคำสั่งให้ทำงานนี้ และต่อมาเมื่อได้รับคำสั่งให้แก้ไขโปรแกรมทั้งหมด)?
  • เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้นำด้านการศึกษาอย่างไร

3. ทำความเข้าใจและพัฒนาการทำงานเป็นทีมอย่างต่อเนื่อง

การเป็นผู้นำด้านการศึกษานั้นเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งและดำเนินการทีมการเรียนรู้ ประเด็นดังกล่าวจะกลายเป็นแกนหลักของการพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

ผู้นำด้านการศึกษาควรตระหนักถึงคุณค่าของการทำงานเป็นทีม และควรสร้างทีมการเรียนรู้โดยเฉพาะในกลุ่มที่ที่น่ากังวล เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดมาจากการทำงานเป็นทีม

ทีมจะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มครูมารวมกันเพื่อจุดประสงค์ร่วมกัน ซึ่งสำหรับทีมการเรียนรู้จะแบ่งปันประโยชน์ของการเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมทั้งปรับปรุงกระบวนการสอนในชั้นเรียน

การทำงานเป็นทีมยังมีประโยชน์ในการช่วยแบ่งปันความกระตือรือร้น กระจายความเสี่ยงและงานร่วมกัน ส่วนสำคัญที่สุดของการทำงานเป็นทีมคือการเปิดโอกาสให้สมาชิกแต่ละคนได้ไตร่ตรองถึงวิธีการปฏิบัติและพฤติกรรมของกันและกัน โดยกลุ่มการเรียนรู้อาจจัดเตรียม: 

  • ข้อกังวลในประเด็นที่ถูกและผิด และเสนอแนวความคิดที่นำไปสู่การปฏิบัติทางการศึกษาได้จริง
  • ข้อกังวลเกี่ยวกับการวิเคราะห์ถึงภาวะในปัจจุบันและในอุดมคติ และการสร้างแนวทางที่พึงประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหา

 

วิธีการของการเรียนรู้แบบกลุ่ม (Learning Teams)

ขั้นที่ 1
ให้สมาชิกในทีมรวมถึงผู้นำร่วมกันตัดสินใจว่าจะเน้นงานในด้านใด โดยมีเป้าหมาย คือ การปรับปรุงการสอนและการเรียนรู้ของทีม ตัวอย่างเช่น เน้นเทคนิคการตั้งคำถามในชั้นเรียนโดยครูผู้สอน โดยตั้งเป้าไว้ที่ 10 สัปดาห์ข้างหน้า

ขั้นที่ 2
สมาชิกในทีมกำหนดหน้าที่และงานที่เฉพาะเจาะจง โดยผู้นำจะคอยให้คำแนะนำ ตัวอย่างเช่น สมาชิกในทีมคนหนึ่งอาจมีหน้าที่สังเกตการณ์ในส่วนของการใช้คำถามของท่านอื่น ๆ ในชั้นเรียนของตน  สมาชิกอีกท่านหนึ่งอาจได้รับมอบหมายงานเพื่อค้นหาแหล่งข้อมูล เช่น หนังสือ เว็บไซต์ หรือบทความเกี่ยวกับการปรับปรุงการใช้คำถามในการสอน  สมาชิกอีกท่านอาจได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการพัฒนาเวิร์กช็อปสองชั่วโมงเกี่ยวกับเทคนิคการตั้งคำถามสำหรับทีม

ขั้นที่ 3
สมาชิกแต่ละคนในทีมมุ่งมั่นที่จะทำงานหรือทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จสิ้นภายในกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นการดำเนินงานการตามแผนปฏิบัติการ

ขั้นที่ 4
ทีมการเรียนรู้รายงานความคืบหน้าให้ผู้อื่นทราบเป็นระยะๆ ซึ่งขึ้นตอนนี้จะใช้ทักษะการสะท้อนความคิด  โดยสมาชิกในทีมจะเป็นฝ่ายให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกภายในกลุ่มเพื่อช่วยกันสำรวจความคิดและความคืบหน้าของงาน

กระบวนการแบบวัฏจักร (Cyclical process)
เริ่มดำเนินกระบวนการเรียนรู้อีกครั้งและดำเนินต่อไปแบบวัฏจักร  โดยผู้นำฯ จะมีบทบาทในการรักษาระดับความสนใจภายในทีมไม่ให้ลดลง พร้อมทั้งให้การสนับสนุนทีมอย่างต่อเนื่องในกิจกรรมต่างๆ

ข้อควรพิจารณาสำหรับผู้นำการศึกษาในการจัดตั้งทีมการเรียนรู้
ผู้นำด้านการศึกษาต้องใช้ความพยายามและทักษะในการรวบรวมครูเพื่อตั้งเป็นทีมการเรียนรู้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจเป็นเรื่องยากในการพูดหว่านล้อมและอาจใช้ระยะเวลาเพื่อให้ครูแชร์ประสบการณ์กันภายในกลุ่ม  โดยผู้นำการศึกษาไม่จำเป็นต้องระลึกอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้คือการประเมินและปรับปรุงแนวทางการสอนของครู

ความเชื่อมั่น
ครูต้องมีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน หากใครคนใดคนหนึ่งรู้สึกว่าไม่สามารถพูดได้อย่างเปิดเผยต่อสมาชิกกลุ่มอื่น หรือไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่องานของครูท่านอื่นได้ สิ่งเหล่านี้แสดงออกว่ากระบวนการเรียนรู้แบบกลุ่มนั้นไม่สัมฤทธิ์ผล

การแบ่งปันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
สมาชิกของกลุ่มต้องแบ่งปันความคิดใหม่ๆ และสร้างเป้าหมายร่วมกันคือการทำงานเพื่อประโยชน์แก่โรงเรียน  ซึ่งการเรียนรู้แบบกลุ่มจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่สมาชิกในกลุ่มมีความรู้สึกว่ากำลังถูกสมาชิกท่านอื่นขโมยผลงานของตน หรือรู้สึกว่าสมาชิกท่านอื่นกำลังหลอกลวงให้เสนอไอเดีย ขณะเดียวกันก็อาจพบว่ามีครูจำนวนหนึ่งที่มีความสามารถมากกว่าหรือทำงานหนักกว่าครูท่านอื่นภายในกลุ่ม

การร่วมมือ มิใช่การแข่งขัน
การเรียนรู้จะล้มเหลวในกรณีที่สมาชิกภายในกลุ่มมีความรู้สึกว่าจะต้องแข่งขันกับคนอื่นๆ การแข่งขันเพื่อเลื่อนตำแหน่งระหว่างครูด้วยกันบางครั้งสร้างความคิดที่ผิดๆ ส่งผลให้การเกิดความริษยาในความสำเร็จของผู้อื่น ร่วมถึงผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งต้องเก็บซ่อนความสำเร็จไม่ให้ผู้อื่นได้เห็น แต่ในทางตรงกันข้าม การเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้างานมักขึ้นอยู่กับหลักฐานที่แสดงว่าบุคคลนั้นสามารถทำงานเป็นทีมได้

 

บทสนทนาที่ 4

บทสนทนานี้เผยให้เห็นกลุ่มผู้นำระดับกลางที่กำลังจะหักร้างถางพง โดยมีการลับมีดให้คม “กำหนดแนวทางและขั้นตอนต่างๆ ออกมาเป็นคู่มือ มีโครงการพัฒนากล้ามเนื้อ และโครงการนำเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วมาใช้…….” ผู้นำสูงสุดได้แสดงความคิดริเริ่มด้วยการปีนขึ้นไปบนต้นไม้ที่สูงที่สุดเพื่อให้เห็นภาพรวมและประเมินภูมิทัศน์ เขาได้ตะโกนออกไปว่า "ผิดป่า!" การตอบสนองจากกลุ่มผู้นำระดับกลางนั้นยังคงยึดอยู่กับผืนป่าแห่งนี้ซึ่งเห็นได้ชัดว่าพวกเขามองไม่เห็นถึงประสิทธิภาพในตัวผู้นำ จึงพูดออกไปว่า "หุบปาก! เรากำลังเดินหน้าอยู่” (ดัดแปลงจากโควีย์ 1989:101)

 

4. ทบทวนแนวทางการปฏิบัติด้วยการสะท้อนคิด

บทสนทนาที่ 4

การเป็นผู้นำด้านการศึกษาเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้วิธีการส่งเสริมให้ครูรู้จักการฝึกสะท้อนคิดหรือการทบทวนแนวทางปฏิบัติ

ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้นำด้านการศึกษาประการหนึ่ง คือ ความสามารถในการโน้มน้าวให้ครูผู้ใต้บังคับบัญชามีการทบทวนแนวทางการปฏิบัติ

คำจำกัดความของการสะท้อนคิดนั้นมีมากมาย หนึ่งในคำอธิบายที่สำคัญถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 โดยระบุว่า การสะท้อนคิดเป็นกระบวนการภายในระหว่างบุคคล ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางวิชาชีพของแต่ละคนจึงจะสามารถเกิดขึ้นได้  การสะท้อนคิดยังถือเป็นการแสดงผลลัพธ์จากการทำงานที่ใช้หลักการและเหตุผลในการอธิบายการทำงานของแต่ละคน การใช้แนวคิดในการทบทวนการปฏิบัติจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมและการปฏิบัติงาน (Calderhead & Gates 1993, p.83)

สมมติฐานขั้นพื้นฐานของรูปแบบการสะท้อนคิด คือ  (1) การคิดสะท้อนไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง และ (2) ครูทุกคนจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการสะท้อนคิดอย่างมืออาชีพเพื่อที่จะเป็นครูที่มีประสิทธิภาพที่แท้จริง  ดังนั้นบทบาทของผู้นำด้านการศึกษาจึงเป็นการอำนวยความสะดวกพร้อมกับส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครูในสังกัดให้เกิดการทบทวนแนวทางการปฏิบัติผ่านการสะท้อนคิด

ผู้นำด้านการศึกษาสามารถส่งเสริมกลไกการพัฒนาทางวิชาชีพอย่างเป็นทางการของครู โดยวิธีการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ เพราะการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเป็นกลยุทธ์การจัดการที่ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงความรู้ ความสามารถ และทำความเข้าใจในตนเองของผู้บังคับบัญชา หรือผู้นำแต่ละคน  การเรียนรู้จากการลงมือทำยังช่วยอธิบายวิธีการทำงานเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มโดยพิจารณาจากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสถานที่ทำงาน ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาทักษะของแต่ละคนไปพร้อมๆ กัน

ผู้บังคับบัญชาควรพัฒนาให้เกิดการทบทวนแนวทางการปฏิบัติ หรือการสะท้อนคิด ภายในกลุ่มครูในสังกัด  ถึงแม้แนวทางดังกล่าวจะไม่ได้ระบุอยู่ในกระบวนการที่กำหนดเป็นทางการก็ตาม

ผู้นำด้านการศึกษาต้องมีองค์ประกอบในการ (1) ส่งเสริมให้เกิดการตั้งคำถาม และ (2) เปิดรับคำแนะนำที่สำคัญจากหัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงาน

ส่งเสริมให้มีการตั้งคำถาม
ผู้นำด้านการศึกษาควรส่งเสริมให้ผู้สอนตั้งคำถามกับการสอนขอบตนเอง พร้อมทั้งรับฟังคำแนะนำจากผู้อื่น

ประโยคที่กล่าวว่า “อย่าซ่อม ถ้ายังไม่พัง” เป็นสิ่งย้อนแย้งกับสิ่งที่ผู้นำทางการศึกษานั้นต้องการ เนื่องจากผู้นำทางการศึกษาควรเป็นผู้ที่โน้มน้าวให้หาวิธีการใหม่ๆ หรือหาวิธีการพัฒนาการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา และควรตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวครูนั้นคิดว่าตนทำได้ดีแล้ว

จากประโยคข้างต้น เนื่องจาก “สิ่งที่ทำเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่บ่อยครั้ง เป็นการนำหายนะมาสู่ความตระหนักรู้” ผู้นำทางการศึกษาจึงส่งเสริมให้บุคลากรในสังกัดช่วยกันทลายสิ่งที่ทำเป็นกิจวัตรเพื่อให้เกิดรูปแบบการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่แตกต่างออกไป

  • ส่งเสริมให้มีการตั้งคำถามโดยครูผู้สอน ซึ่งผู้นำทางการศึกษาสามารถนำกลยุทธ์ต่าง ๆ มาใช้ได้
  • สร้างประสบการณ์จากสิ่งที่เคยมีการสะท้อน: โดยระหว่างการประชุม ขอให้ครูจัดทำเรื่องราวเกี่ยวกับ “สิ่งที่โรงเรียนนี้เคยทำมาก่อน ...”
  • เปิดช่องทางข้อร้องเรียน: ตั้งกลไกหมุนเวียนงานของครูผู้สอน ตัวอย่างเช่น กรณีที่มีครูใหม่เข้ามาสามคน จะให้ครูทั้งสามท่านสลับกันเข้าชั้นเรียนของแต่ละคนในช่วงเช้าในหนึ่งครั้งต่อภาคการศึกษา
  • จัดการประชุมครูในห้องเรียนที่แตกต่างกันตามและมีการสลับห้องเรียน โดยครูประจำชั้นแต่ละคนจะพูดถึงสิ่งที่ชั้นเรียนของพวกเขาทำในสัปดาห์ที่ผ่านมา
  • จัดให้มีการตั้งคำถามด้วยวิธีการแปะคำถามบนป้ายกระดานข่าว บันทึกของคณะ หรือจดหมายข่าว
  • โดยเป้าหมายของคำถามควรเป็นการกระตุ้นให้เกิดการวิเคราะห์วิธีการสอนของครู เช่น:

        -“เป็นไปได้ไหมที่จะถามหลายคำถามในชั้นเรียน”

        -“คุณครูเคยได้ยินเรื่องการฝึกสมาธิในชั้นเรียนหรือไม่”

        -“การบ้านขนาดไหนถือว่ามากไปสำหรับเด็กอายุ 15 ปี”

       -“ครั้งสุดท้ายที่ครูพูดกับพ่อแม่ของเด็กที่แย่ที่สุดและดีที่สุดคือเมื่อใด”

       -“การแนะนำแนวทางปฏิบัติ 'Accelerated Literacy' จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของคุณในฐานะครูได้หรือไม่”

       -“การจัดวางผังโต๊ะทำงานครูแบบใหม่จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของนักเรียนได้หรือไม่”

       -“นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเองหรือไม่”


ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รับฟังคำติชมจากผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงาน
บุคลากรทางการศึกษาจำเป็นที่ต้องเปิดรับคำติชมหรือข้อเสนอแนะในด้านการสอน เนื่องจากตัวผู้สอนนั้นไม่สามารถที่จะสะท้อนการทำงานของตนเองได้  ผู้นำทางการศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้บุคลากรทางการศึกษาต้องสร้างพันธมิตรในการสะท้อนการทำงานของตัวเอง

บทบาทของครูผู้สะท้อนคิดนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยวิเคราะห์การสอนของครูผู้สอนได้อย่างแม่นยำและตรงไปตรงมา ดังนั้นทุกคนจึงต้องเปิดรับคำติชมจากผู้อื่นเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ตนเองกระทำอยู่

ผู้นำทางการศึกษาสามารถโน้มน้าวให้ผู้สอนทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่สามารถสะท้อนคิดการสอนได้ดังนี้

จับคู่ให้ครูผู้สอนในช่วงแรกเริ่มปีการศึกษา

  • ให้เวลาครูทำงานกันเป็นคู่ในระหว่างวันที่มีการจัดการเรียนการสอน
  • เรียกร้องให้มีการพัฒนาโปรแกรมการสอนได้เป็นคู่
  • เรียกร้องให้ครูผู้สะท้อนคิดมีการตรวจสอบโปรแกรมการสอนที่ถูกพัฒนาขึ้นมา
  • ร้องขอให้ครูทุกคนหารือเรื่องแผนการสอนกับครูผู้สะท้อนคิด
  • แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของเพื่อนร่วมงานผ่านการทำงานร่วมกับผู้อื่น

 

บทสนทนาที่ 5

ให้กลุ่มการเรียนรู้ มีส่วนร่วมในการอภิปรายเกี่ยวกับกลุ่มนักเรียนที่ไม่สามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยพุ่งเป้าการสนทนาไปที่ Shane นักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน ถึงแม้ว่า Shane จะเข้าร่วมโครงการฟื้นฟูการอ่านก็ตาม (โครงการจัดสอน 1 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์)  ครูประจำชั้นของ Shane เริ่มกระวนกระวายและขอคำแนะนำในการรับมือ เนื่องจากผู้ปกครองของ Shane มีความกังวลว่าเขาจะขาดการพัฒนาในการเรียนรู้ และยังขู่ว่าจะให้ Shane ออกจากโรงเรียน

โดยครูในกลุ่มทั้งห้าคนพูดคุยเรื่องนี้ในการประชุมประจำสัปดาห์ ซึ่งการประชุมกำลังดำเนินมาถึงทางตัน

  • แมรี่ ผู้ประสานงานของกลุ่ม ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ เสนอแนวทางในการเปลี่ยนชั้นเรียนของ Shane
  • แบรี่ หัวหน้ากลุ่มสาระวิชาภาษาอังกฤษ เสนอให้มีการจัดซื้อ "Catch the Reading Bug" ซึ่งเป็นรูปแบบการสอนทักษะการอ่านรูปแบบใหม่ที่มีราคาแพง
  • เจนนิเฟอร์ หัวหน้าฝ่ายบริการนักเรียน อาจารย์ที่พูดน้อยแต่ได้รับการเคารพอย่างมาก เสนอแนวทางที่สามซึ่งเน้นการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ปกครอง

 

บทสรุป 

ภาวะผู้นำด้านการศึกษานั้นคือพื้นฐานของการเป็นผู้นำ ผู้เขียนได้เสนอว่า ภาวะผู้นำทางการศึกษาเป็นกระบวนทัศน์ที่สำคัญสำหรับกลุ่มผู้นำในระดับกลาง เนื่องจากจุดประสงค์ของการเป็นผู้นำโรงเรียนในกลุ่มนี้คือการพัฒนาและปรับปรุงการเรียนรู้ โดยมองว่าทุกองคาพยพในชุมชนโรงเรียนเป็น “ผู้เรียน”  ซึ่งในบทความนี้ ผู้เขียนได้เน้นที่กลยุทธ์ความเป็นผู้นำทางการศึกษา 4 ประการ และสนับสนุนอย่างยิ่งให้ผู้อ่านได้นำกลยุทธ์เหล่านี้ไปใช้ตามความเหมาะสมและบริบทของโรงเรียนที่ท่านสังกัด

ที่มา ; Thailandleadership