บทความโดย วรเชษฐ แซ่เจีย
เทคโนโลยีและเครื่องมือประเภท Generative AI ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถพูดคุยถาม-ตอบข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตหรือฐานข้อมูลเฉพาะได้กำลังอยู่ในกระแสที่ใคร ๆ ต่างก็ให้ความสนใจ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็มีครูจำนวนไม่น้อยที่เริ่มทดลองใช้ในห้องเรียนจริง และนักเรียนบางส่วนเริ่มนำไปใช้ในการทำการบ้านหรือแม้กระทั่งตอบข้อสอบ ทำให้เกิดประเด็นและการถกเถียงเกี่ยวกับการใช้ในโรงเรียนและบทบาทของคนเป็นครูว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
AI ได้คืบคลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ (นานแล้ว)
แม้ส่วนใหญ่จะแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลลบที่อาจเกิดขึ้นและเกิดขึ้นนานแล้ว (เช่น ความไม่ซื่อสัตย์ในการทำงาน ความเสี่ยงต่อการเข้าถึงข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน) แต่ก็มีนักการศึกษาและผู้พัฒนาจำนวนไม่น้อยมองเห็นช่องทางที่จะใช้เทคโนโลยีนี้ให้เกิดประโยชน์ได้ อย่างน้อยที่สุด AI ก็ช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำงานจิปาถะที่อยู่ในกิจวัตรประจำวันของคนทำงานแทนได้ และจำนวนไม่น้อยเราก็ใช้กันอย่างไม่รู้ตัว เช่น การทำนายคำที่จะพิมพ์ต่อไป หรือการแก้ไขการสะกดอัตโนมัติ (หรือ autocorrect) ก็ใช้ความสามารถของ AI เช่นกัน
ในแง่ของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร Valerie Strauss จากสำนักข่าว The Washington Post ได้นำเสนอว่า AI มีบทบาทไม่น้อยในการทำให้ข้อมูลข่าวสารผิด ๆ แพร่กระจายบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว หรืออาจ "ประกอบสร้าง" (fabricate) แหล่งข้อมูลปลอมมาประกอบข้อความที่ระบบสร้างขึ้นด้วย หากไม่มีการตรวจสอบข้อความ ภาพ และวิดีโอก่อนอาจส่งผลลบต่อผู้ใช้ โดยเฉพาะนักเรียนได้ แต่ในขณะเดียวกัน AI เองก็ช่วยให้ผู้ใช้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้เช่นกัน หากมีการใส่ข้อความหรือชุดคำสั่ง (prompt) ที่เหมาะสม ก็สามารถทำให้เท่าทันความผิดปกติที่อาจมองข้ามไปได้
AI = เครื่องมือการเรียนรู้ + ประตูสู่ความเป็นไปได้
ปลายทางของเทคโนโลยี AI ในห้องเรียนและในโลกการศึกษาอาจไม่ใช่การประกาศห้ามใช้ทั้งหมด แต่เป็นการเตรียมผู้สอนและผู้เรียนให้รู้เท่าทันและสามารถหยิบจับ AI ขึ้นมาเป็นเครื่องมือและเป็นผู้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า AI จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและโลกของการทำงานของคนทั่วโลกในอนาคตไม่มากก็น้อย
ถึงที่สุดแล้ว AI และเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและการเตรียมการออกแบบและจัดการเรียนรู้ของครูอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนและทำให้เกิดความเป็นไปได้มากมาย หากคุณครูเข้าใจธรรมชาติของเครื่องมือและพิจารณาเลือกใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทการทำงานของตนเอง ตัวอย่างเช่น การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความเฉพาะบุคคล การเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและครูผ่านการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน การปรับบทบาทความรับผิดชอบในการเรียนรู้ให้อยู่ในมือผู้เรียน หนึ่งในคำแนะนำสำคัญคือการจัดให้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ และจุดประสงค์การเรียนรู้ในบทเรียนนั้นต้องมาก่อน
เมื่อทุกปัจจัยลงตัว…การเรียนรู้ที่ active ย่อมเกิดขึ้นได้
แหล่งอ้างอิง
ที่มา ; EDUCA