ปัจจัยแวดล้อมของการศึกษาที่มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทของเทคโนโลยีที่มากขึ้น การแข่งขันในตลาดแรงงานสูง มีผลทำให้ความต้องการแรงงานมีทักษะเปลี่ยนไป แต่การศึกษาของไทยยังมีหลายประเด็นที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญในการวางแผนแก้ไขอย่างจริงจัง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่นับวันจะสูงขึ้น เมื่อค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีชื่อเสียงจะมีการแข่งขันที่สูง หรือโรงเรียนที่มีหลักสูตรพิเศษอย่างภาษาต่างประเทศ หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้เกิดช่องว่างทางการศึกษามากขึ้น
ขณะที่คุณภาพการศึกษาของไทยที่ลดลง สะท้อนผ่านดัชนีการวัดความสามารถด้านความรู้ระดับประเทศหรือ PISA ซึ่งจะมีผลระยะยาวต่ออนาคตของบุตรหลาน และตลาดแรงงานไทย ทัศนคติการเรียนต่อระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีลดลง จากผลสำรวจพบว่าผู้ปกครองเกือบครึ่ง (49% ของกลุ่มตัวอย่าง) เห็นด้วยกับบุตรหลานที่เริ่มมองว่าการเรียนจบปริญญาตรีหรือสูงกว่าไม่สำคัญต่อการสมัครงานในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าอาชีพอิสระหาเงินได้มากกว่า และปัจจุบันมีหลายคนที่ประสบความสำเร็จและสร้างรายได้จากการใช้เทคโนโลยี ในการสร้างรายได้จากการขายของออนไลน์ การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) และการสร้างรายได้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีผลต่อตลาดแรงงานในระยะข้างหน้า
ดังนั้น เพื่อยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ให้นักเรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้ที่เท่าเทียม และเตรียมทักษะความพร้อมให้กับนักเรียน ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อาทิ
1. การจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
2. การพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป
3. การยกระดับโรงเรียนอาชีวะศึกษาด้วยการเพิ่มงบประมาณในด้านการวิจัยและพัฒนา
4. การพัฒนาและยกระดับความรู้ใหม่ๆ (Upskill และ Reskill) ให้กับบุคลากรผู้สอน รวมถึงการเพิ่มบุคลากรครูผู้สอน
สอดคล้องกับมุมมองของนักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เคยสะท้อนเรื่อง “ผลสอบ PISA สัญญาณเตือนวิกฤตการศึกษา แก้ปัญหาให้ถูกจุด” หลังจากผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA พบว่า นักเรียนไทยอายุ 15 ปี คะแนนลดต่ำลงในทุกด้านทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน โดยนายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า สาเหตุหลักของปัญหาที่ทำให้ผลการประเมิน PISA ของไทยลดลงต่อเนื่องนั้น มาจากการระบบศึกษาของไทยที่อ่อนแอ จาก 2 สาเหตุหลักคือ
1. หลักสูตรของไทยล้าสมัย มีการใช้มาตั้งแต่ปี 2551 หรือ 15 ปีมาแล้ว และแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการปรับหลักสูตรอยู่บ้าง แต่เป็นการปรับเล็กในบางวิชาเท่านั้น ซึ่งในภาพรวมหลักสูตรไทยยังไม่มุ่งให้เด็กนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ เพราะการที่เด็กจะมีสมรรถนะในการประยุกต์ใช้นั้น จำเป็นต้องมีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่เหมาะสม ไปพร้อมๆ กัน เช่น การจะสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จะต้องรู้คำศัพท์ โครงสร้างประโยค ทักษะการออกเสียง และมีทัศนคติในการกล้าสื่อสาร โดยได้รับการฝึกฝนในสถานการณ์ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริง แต่หลักสูตรของไทยมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้ผ่านการจดจำ ในขณะที่การทดสอบของ PISA เน้นนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง การใช้หลักสูตรของไทยไม่มีความยืดหยุ่นเท่าที่ควร แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะให้โรงเรียนสามารถนำหลักสูตรแกนกลางไปปรับเพื่อให้เข้ากับบริบทได้ แต่ในทางปฏิบัติครูยังไม่กล้าทำสิ่งใหม่ ยังทำตามสิ่งที่เคยทำมา อีกทั้งยังมีการกำหนดโครงสร้างเวลาเรียน ทำให้โรงเรียนต้องทำหลักสูตรตามที่สาระวิชาได้กำหนดเอาไว้
2. จุดอ่อนสำคัญอีกประการหนึ่งคือการบริหารทรัพยากร ทั้งด้านคน โดยเฉพาะครู และ งบประมาณ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน ถือว่าไทยลงทุนทรัพยากรด้านการศึกษาค่อนข้างสูง แต่ผลลัพธ์ยังไม่ดี ซ้ำยังลดลงเรื่อยๆ สะท้อนว่าการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพต่ำ อีกทั้งโรงเรียนยังไม่มีอิสระในการจัดการทรัพยากรด้วยตัวเอง หลายโรงเรียนยังขาดแคลนครู โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก มีปัญหาครูไม่ครบชั้น ซึ่งสอดรับกับผลคะแนนของ PISA ที่บ่งชี้ว่าโรงเรียนที่มีครูเพียงพอจะมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีกว่า นอกจากนี้ในปัจจุบันครูต้องแบกรับงานธุรการที่นอกเหนือไปจากการสอนมาก ทำให้ไม่สามารถโฟกัสกับการสอนได้ ซึ่งจากการที่ทีดีอาร์ไอได้ลงพื้นที่สำรวจความเห็นครูใน 8 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ครูต้องทำงานนอกเหนือจากการสอนจำนวนมาก โดยภาระงานที่ครูรู้สึกว่าเป็นปัญหามากที่สุด คือการรายงานผลที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือ หน่วยงานต่างๆ มอบหมายให้โรงเรียนทำ ส่งผลให้ครูสอนนักเรียนได้ไม่เต็มที่
นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ยังได้ยกตัวอย่างการศึกษาของประเทศที่ได้ผลประเมินของ PISA ในเกณฑ์ดี อย่างสิงคโปร์ และฟินแลนด์ ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้ระบบการศึกษาที่ดีจากประเทศเหล่านี้ได้ เช่น สิงคโปร์มีความโดดเด่นในเรื่องของการพัฒนาครู โดยให้ความสำคัญกับการผลิตครูอย่างมาก มีเกณฑ์การคัดเลือกค่อนข้างสูง ครูได้รับค่าตอบแทนที่สูงและได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง จึงทำให้ครูของสิงคโปร์มีคุณภาพ ส่วนฟินแลนด์ มีความน่าสนใจด้านหลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นสร้างสมรรถนะ โดยพยายามให้นักเรียนได้เรียนจากสถานการณ์จริง และเกิดการเรียนรู้แบบข้ามศาสตร์ และให้ความสนใจโลกใหม่ เช่น นาโนเทคโนโลยี ทำให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ทันโลกทันเหตุการณ์
นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ยังแนะนำข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า ไทยควรยกเครื่องการศึกษาใหม่ ปรับใหญ่ทั้งระบบ ทั้งหลักสูตร การใช้ทรัพยากร และการผลิตครู แบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะแรก ซึ่งทำได้ทันที คือการลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนของครูให้เหลือน้อยที่สุด ระยะที่สอง รัฐบาลควรปรับหลักสูตรการศึกษาให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี หรือภายในวาระของรัฐบาล โดยเมื่อปรับหลักสูตรแล้วก็จำเป็นต้องออกแบบให้องค์ประกอบอื่นของระบบการศึกษามีความสอดคล้องกันด้วย ทั้งการผลิตและพัฒนาครู ตลอดจนการสอบและประเมินผล
สำหรับในระยะที่สาม ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหานานนั้น อาจจะเริ่มต้นจากข้อเสนอของธนาคารโลก ในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กและพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและการเรียนการสอน ส่วนโรงเรียนที่ไม่สามารถที่จะควบรวมหรือพัฒนาเป็นเครือข่ายได้ เช่น โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล จำเป็นต้องคงอยู่และมีการจัดสรรงบเพิ่มเพื่อให้มีทรัพยากรที่เพียงพอในการจัดการศึกษา
ที่มา ; SALIKA
เกี่ยวข้องกัน
ถึงเวลา ‘เปลี่ยนสมัย’ บ้าปริญญา รื้อการศึกษาไทยทั้งระบบ
เมื่อใบปริญญาไม่ได้เป็นแค่เพียงวุฒิการศึกษาทางวิชาการ แต่กลายเป็นใบเบิกทางสู่ชีวิตที่ดีขึ้น คอนเนกชั่นที่กว้างไกล หรืออาจเป็นเส้นทางสู่ ‘เก้าอี้’ ที่มีอำนาจ
แต่การศึกษาไทยกำลังไปถูกทิศหรือเปล่า เมื่อกระบวนการเรียนรู้ขาดการสนับสนุนที่เพียงพอ เด็กแห่ออกจากระบบการศึกษาเพราะปัญหาเศรษฐกิจ และการศึกษาระดับปริญญากำลังให้คุณค่ากับ ‘กระดาษแผ่นเดียว
NATION WHY คุยเมืองไทยในบริบทโลก ชวน ครูจุ๊ย — กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า มาวิเคราะห์และมองไปข้างหน้าจากถึงเรื่องวุฒิการศึกษาที่เป็นดราม่าต่อเนื่องหลายสัปดาห์นี้ สู่แนวทางแก้ปัญหาการศึกษาไทย
วุฒิการศึกษา = ใบเบิกทางสู่อนาคตที่ดีขึ้น
“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มันก็ทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วมันคือใบเบิกทางสำหรับหลายๆ คน เขารู้สึกว่ามันจะนำพาชีวิตเขาไปสู่ในรูปแบบที่ดีขึ้นกว่าวันนี้” กุลธิดาแสดงความเห็นต่อกรณีคำร้องที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า น.ส.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภาใช้วุฒิการศึกษาปลอมประกอบการสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) หรือไม่ ยังไม่รวมก่อนหน้านี้ที่มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำนวนไม่น้อยถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับวุฒิการศึกษา
ครูจุ๊ยมองว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า วุฒิการศึกษาในสังคมไทยเป็นมากกว่าใบที่บอกว่าเรียนจบ มีทักษะความรู้อะไร แต่มันมีอีกฟังก์ชันนึงในสังคมไทย คือเป็นใบเบิกทางไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น สถานะทางสังคมที่ดีขึ้น คอนเนกชั่นที่กว้างขวางขึ้น ดังนั้นมันไม่ได้มีฟังก์ชันเชิงวิชาการ เพียงอย่างเดียวเท่านั้นอย่างที่มันเป็น
เช่นเดียวกับคำนำหน้าต่างๆ นานา อันเป็นชุดอคติที่นำมาซึ่ง ‘Privilege’ (สิทธิพิเศษ) หรือคอนเนกชั่นบางอย่าง ที่หากมีคำนำหน้าเหล่านั้นแล้วเราจะได้ประโยชน์อะไรบางอย่างจากมัน ครูจุ๊ยมองว่าในต่างประเทศหากคุณมีคำนำหน้าเชิงวิชาการเหล่านี้ มันอาจจะทำให้คนมองคุณว่ามีทักษะความรู้ด้านใดด้านหนึ่งที่ลึกขึ้น แต่มันอาจไม่ได้นำมาซึ่งคอนเนกชั่นหรือนำมาซึ่งผลประโยชน์อื่นใดอย่างที่มันเป็นในสังคมไทย
“เราดันหลงลืมฟังก์ชันที่แท้จริงของมัน ฟังก์ชันที่แท้จริงของมันคือ คุณเรียนมันแล้วคุณก็ผลิตองค์ความรู้อะไรบางอย่างออกมา ซึ่งสังคมจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่คุณทำ นั่นแหละ ดังนั้นคุณค่าของมันคือสิ่งที่คุณทำ กระบวนการที่คุณทำไปทั้งหมดมันมีส่วนต่อยอดให้องค์ความรู้บางอย่างของสังคมวิชาการในประเทศเรา นี่แหละคือคุณค่าของมันที่เราอาจจะลืมมันไป เพราะเราไปโฟกัสกับอีกก้อนมากกว่า” ครูจุ๊ยกล่าว
สังคม ‘บ้าใบปริญญา’ ที่ไม่มีพื้นที่พัฒนาทักษะ
คำว่า ‘บ้า’ อาจดูแรงในสายตาของครูจุ๊ย แต่เธอให้ความเห็นว่าไม่ใช่ไม่มีข้อเท็จจริงในนั้นเลย หากมองย้อนกลับไป ที่เกิดปรากฏการณ์นี้เพราะว่าทุกคนในสังคมต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด เนื่องจากสังคมไทยไม่ได้เหลือพื้นที่ให้คนทำผิดทำพลาด หรือไปเรียนอย่างอื่นตามที่อยากเรียน การจะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นคือการมีรัฐสวัสดิการ อย่างประเทศแถบสแกนดิเนเวียซึ่งการร่ำเรียนไม่ได้เป็นภาระสำหรับครอบครัว ทำให้นักเรียนเกิดพื้นที่ให้ได้ค้นคว้า ได้ลองศึกษาด้านต่างๆ “เขามีความหรูหราในชีวิต…ในขณะที่เราไม่ได้มีโอกาสนั้นหรอก เราต้องรีบเรียนอะไรก็ได้เพื่อให้มันจบ และเข้าสู่ตลาดแรงงาน
มิหน่ำซ้ำความ ‘บ้าใบปริญญา’ ก็อาจไม่ใช่ใบปริญญาจากที่ไหนก็ได้ เมื่อครูจุ๊ยอธิบายว่าการเดินเข้าสู่เส้นทางปริญญาตรี ก็ยังต้องเผชิญกับการมีภาพจำว่ามหาวิทยาลัยไหนเท่านั้น เมื่อเราพูดว่าการศึกษาเป็นโอกาสที่ดีขึ้นของชีวิต แต่ทุกวันนี้มันเป็นจริงแค่กับบางคนที่เลือกมหาวิทยาลัยที่ ‘ถูกต้อง’ มีวุฒิการศึกษาที่ทุกคนรู้สึกว่าใช่
ถึงเวลา ‘เปลี่ยนสมัย’ การศึกษาไทย
ผู้อำนวยการหญิงของมูลนิธิคณะก้าวหน้า ฉายภาพให้เห็น ‘ปัญหา’ การศึกษาไทยตั้งแต่เด็ก โดยให้ตั้งต้นด้วยการมองภาพคนไทยส่วนมาก และตัดภาพเด็กที่เกิดในบ้านซึ่งมีฐานะพอที่จะส่งเรียนเอกชนหรือมีพี่เลี้ยงได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว คนไทยจำนวนมากเมื่อมีลูกต้องเอาไปฝากปู่ย่าตายาย เนื่องจากช่องว่างระหว่าง 0-2 ขวบ การเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทำได้ยาก และต้องเผชิญกับข้อจำกัดของสวัสดิการไทยที่พ่อกับแม่ไม่สามารถรวมกันลาเลี้ยงลูกได้ 300 วันอย่างประเทศแถบสแกนดิเนเวีย
อย่างไรก็ตามศูนย์เด็กเล็กที่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยต้องเผชิญกับปัญหากฎเกณฑ์ด้านงบประมาณ ที่ครูจุ๊ยมองว่านอกจากจะทำให้ขาดบุคลากรที่จะมาช่วยดูเด็กเล็กในช่วงปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงที่พัฒนาการก้าวกระโดดที่สุด แต่ไทยลงทุนต่ำไปมากในทุกมิติ งบประมาณที่ไม่เพียงพอยังทำให้ท้องถิ่นขาดองค์ความรู้ด้านการจัดการดูแลและอาจนำงบไปทำอย่างอื่นที่ง่ายกว่า
เมื่อโตขึ้นเข้าสู่การศึกษาภาคบังคับ ครูจุ๊ยชี้ให้เห็นว่าเมื่อเทียบสัดส่วนการลงทุนตาม GDP กับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ไทยลงทุนในการศึกษาภาคบังคับเยอะ แต่เป็นการใช้เงิน “ที่ไม่มีประสิทธิภาพ” งบประมาณกระจายตัวไม่ทั่วถึง ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กขาดแขลนต่อไป ส่วนโรงเรียนใหญ่ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
“พื้นฐานเรากระง่อนกระแง่นมาตั้งแต่ต้น” ขณะที่กว่าจะก้าวสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษา ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญคือการหลุดออกจากระบบการศึกษา ครูจุ๊ยอธิบายว่านี่ไม่ได้พังกับแค่เรื่องการศึกษา แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจของครัวเรือนด้วย เพราะการเข้ารับศึกษามีภาระที่ครอบครัวต้องแบก ไม่ใช่เรื่องค่าเทอม แต่มีเรื่องค่าเดินทาง ต้นทุนเวลา ต้นทุนค่าเดินทาง เหล่านี้เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทั้งสิ้น เรื่องถนนหนทางที่มันอาจจะไม่ดี เรื่องระบบขนส่งสาธารณะที่มันไม่มี เขาก็ต้องไปจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้เรียน ถ้าครอบครัวไปไม่ไหวก็หลุดไปเรื่อยๆ ก็จะเหลือเด็กไม่กี่กลุ่มที่จะได้เรียนต่อ”
นอกจากนั้นผลการประเมินต่างๆ ที่ออกมายังคงสะท้อนว่าเด็กไทยยังขาดทักษะ หรือบุคลากรคุณภาพที่สำเร็จการศึกษา ส่วนหนึ่งครูจุ๊ยเสนอให้ภาครัฐกำหนดทิศทางให้ชัดว่าใน 10 ปี ต้องการบุคลากรด้านใดมากขึ้น หรือในบางสาขาอาจลดจำนวนนักศึกษาลง แต่หันไปเพิ่มคุณภาพให้มากขึ้น
ใช้วุฒิปลอมต้องถูกลงโทษ
แม้ว่ากรณี ‘หมอเกศ’ ที่ถูกสังคมตั้งข้อสงสัยว่าใช้วุฒิการศึกษาปลอมหรือไม่ และจะถือเป็นการหลอกหลวงเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นเลือกเป็น สว. หรือไม่ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ กกต.
แต่หากไม่พูดถึงกรณีนี้ ครูจุ๊ยมองว่า สมมติมีกรณีที่ใช้วุฒิปลอมจริง หรืองานวิจัยที่เกิดการก๊อบปี้ เราเริ่มเห็นว่ามันมีบทลงโทษหรือความรับผิดรับชอบที่ตามมาบ้างในบางกรณี แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นในทุกกรณีอย่างที่มันควรจะเป็น คุณใช้วุฒิปลอมแล้วมันเป็นความผิด มันก็ต้องผิดไง คุณก็ต้องรับผิดรับชอบ คุณจะโดนถอดถอนอะไรต่างๆ นาๆ มันก็ควรจะเกิดขึ้น
“จุ๊ยอยากให้ความรับผิดรับชอบเป็นเรื่องที่มันเกิดขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้ มันไม่พ้นผิดลอยนวลอะ แล้วจะบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องการศึกษาเนอะ มันคือทุกเรื่องในประเทศนี้” กุลธิดากล่าวทิ้งท้าย
ที่มา ;msn