ค้นหา

จัดตั้งศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล 77 จังหวัด

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พร้อมอนุมัติงบประมาณดำเนินงานต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จำนวนปีละ 30,327,930 บาท โดยประมาณ สำหรับจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด รวม 85 ศูนย์การเรียนรู้ และมีการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ จำนวน 151 อัตรา เพื่อดูแลเด็กที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ให้มีโอกาสได้รับบริการทางการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเด็กออกจากโรงพยาบาลแล้ว สามารถกลับเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาเดิม หรือส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัยเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาได้

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อว่า ด้วยปัจจุบันในแต่ละปีมีเด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพจำนวนมากที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่บ้านเป็นเวลานานหรือต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สพฐ.โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ร่วมกับโรงพยาบาลได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด รวม 85 ศูนย์การเรียนรู้ โดยมีการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ จำนวน 151 อัตรา พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อวัสดุสำนักงานและวัสดุสำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับโรงพยาบาลนอกสังกัดกรมการแพทย์ สธ.จำนวน 4 จังหวัด 6 ศูนย์การเรียน และสนับสนุนงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับจัดการเรียนการสอนในศูนย์การเรียนฯ ที่ทันสมัย เหมาะสมกับสภาพความเจ็บป่วยและเพียงพอ เช่น แท็บเล็ตและอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บข้อมูลแบบภายนอก หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น เป็นต้น

 

ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าว จะช่วยให้เด็กที่รักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวนไม่ต่ำกว่า 35,000 คน ได้รับบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องและสามารถส่งต่อเด็กกลับไปยังสถานศึกษาเดิมหรือเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัย สามารถลดปัญหาภาคสังคมได้อย่างมาก เนื่องจากเด็กที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมีโอกาสได้รับบริการทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาอย่างต่อเนื่อง ด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย เหมาะสมกับสภาพความเจ็บป่วย ส่งผลให้เด็กมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม นอกจากนี้ ยังสามารถลดปัญหาค่าใช้จ่ายของภาครัฐในด้านการศึกษา เนื่องจากเมื่อเด็กออกจากโรงพยาบาลแล้ว สามารถกลับเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาเดิมได้อย่างต่อเนื่องหรือส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัย ส่งผลให้เด็กนักเรียนไม่รู้สึกท้อแท้ เบื่อการเรียน และไม่ต้องลาออกจากโรงเรียนในระหว่างภาคการศึกษาและมีความรู้สำหรับใช้ในการประกอบอาชีพอีกด้วย

 

"สพฐ.ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับงบประมาณในการดำเนินงานดังกล่าว โดย สพฐ.พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงาน และเดินหน้าสานต่อนโยบายลงสู่สถานศึกษาและผู้เรียนทั่วประเทศ ตามนโยบาย "เรียนดี มีความสุข" ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายนักเรียนและผู้ปกครอง และยกระดับการศึกษาไทยในภาพรวมทั้งระบบ พร้อมทั้งตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย เพื่อประโยชน์สูงสุดของนักเรียนอย่างแท้จริง" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว 

สพฐ.ขอบคุณ ครม.อนุมัติงบฯจัดตั้งศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล 77 จังหวัด 85 ศูนย์ฯ ดูแลเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่อเนื่อง 

ที่มา ; แนวหน้า วันอาทิตย์ ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2567