ค้นหา

เทคนิคช่วยจำ ทำงานมีประสิทธิภาพ ฉบับคนขี้ลืม

อาการขี้หลงขี้ลืมหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้น เป็นความผิดปกติทั้ง 4 ด้าน คือ 1.ด้านความจำ 2.ด้านความคิด 3.ด้านคำพูด 4.ด้านพฤติกรรมหรือการกระทำ

เทคนิคการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพฉบับคนขี้ลืม ต้องมีเทคโนโลยีจะสามารถช่วยได้ ทำงานให้เป็นระบบ เลี่ยงการ Multitasking ที่ทำให้คุณไขว้เขว ความจำดีได้ต้องร่างกายพร้อม และบริหารสมอง

ไอเดียในการช่วยแก้ปัญหาความจำ เริ่มจากจดช่วยจำ สุขภาพดี อัดเสียงไว้ คิดบวกกับตัวเอง ตั้งเวลาเตือนความจำ แปะๆ โพสต์อิท และเตือนความจำด้วยรูปภาพ 

เคยสงสัยกันหรือไม่? ว่าทำไมบางคนยังไม่ทันแก่ก็มีอาการหลงๆ ลืมๆ เสียแล้ว ทั้งการหาของไม่เจอ การลืมทำนู่นทำนี่ ซึ่งปัญหานี้ก็สร้างความหงุดหงิดหรือในบางครั้งก็สร้างปัญหาใหญ่ตามมาได้  

ภาวะสมองล้า ขี้ลืมบ่อย สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนวัยทำงาน ซึ่งการชะลอภาวะสมองเสื่อม ต้องเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็ก ทั้งด้านโภชนาการ และการกระตุ้นพัฒนาการ เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ก็ต้องไม่ละเลยการดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน

อาการขี้ลืมเป็นอาการที่มักพบได้ในผู้สูงวัย แต่การขี้ลืมนั้นมีหลายแบบ ซึ่งบางอาการนั้นเป็นสัญญาณเตือนถึงการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อมประเภท “อัลไซเมอร์หากคนในบ้านมองข้ามอาการเหล่านี้ และไม่สามารถพบการดำเนินโรคได้ก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ช้าลง การรักษาก็จะยากยิ่งขึ้น

หากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้สูงวัยสังเกตเห็นอาการหรือพฤติกรรมที่คาดว่าจะเป็นโรค “อัลไซเมอร์” ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางป้องกันและชะลอการดำเนินโรค ทำให้การดำเนินชีวิตของผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะขี้หลงขี้ลืมได้นั้น

1.พักผ่อนไม่เพียงพอพาขี้หลงขี้ลืม

หากพักผ่อนไม่เพียงพอติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน หรือนอนน้อยกว่า 7-8 ชั่วโมง จะทำให้สมองทำงานหนักต่อเนื่องจนเกิดความเหนื่อยล้าส่งผลให้เราไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย รวมถึงเกิดอาการขี้ลืมได้ 

2.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูญความจำชั่วขณะ

การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หรือดื่มทุกวันจะส่งผลกระทบต่อสมองในส่วนของฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ การทำงานของสมองในส่วนนี้จะลดลงทำให้เกิดอาการหลงลืมในระยะเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้บางคนจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลาดังกล่าว

3.สภาวะความเครียดสมองทำงานหนัก

ไม่ใช่เพียงแค่ความเครียดเท่านั้น ความรู้สึกด้านลบที่ส่งผลต่อความรู้สึก เช่น ความกังวล หรืออารมณ์เศร้า เป็นสาเหตุที่ส่งผลต่อความทรงจำเช่นกัน เนื่องจากเมื่อเราตกอยู่ในสภาวะเหล่านี้จะทำให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทมากกว่าปกติ มีผลให้เกิดปัญหาด้านความจำ นอกจากนี้ยังเสี่ยงอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย

4.โรคบางชนิดและยา ผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึง

โรคบางโรคสามารถส่งผลต่อการทำงานของสมองในทางอ้อม เช่น โรคอ้วน ไขมันในเลือดที่สูงจะส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติ และสามารถส่งผลต่อความทรงจำ นอกจากนี้การรักษาโรคด้วยยาบางชนิดยังมีผลข้างเคียงกับการทำงานของสมอง เช่น ยาระงับประสาท หรือยาลดไขมันในเลือด เป็นต้น

5.การเปลี่ยนแปลงของร่างกายยากจะหลีกเลี่ยง

 เป็นสาเหตุที่ยากจะหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะอายุที่มากขึ้นในวัยตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ความจำอาจมีปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ถึงแม้จะป้องกันได้ยาก แต่การดูแลตนเองให้เหมาะสมตามช่วงวัยจะสามารถช่วยรักษาสภาพของร่างกายให้เสื่อมช้าที่สุดได้

 

สังเกตอาการขี้หลงขี้ลืมทั่วๆ ไป หรืออัลไซเมอร์

จะเห็นได้ว่าในเรื่องของความจำและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นจะมีมากมายหลายอย่าง แต่จะมีรายละเอียดที่ต่างกันระหว่างอาการของโรคอัลไซเมอร์กับความขี้หลงขี้ลืมทั่วๆ ไป ที่เป็นการหลงลืมชั่วคราวจากสาเหตุอื่น พญ. นภาศรี ชัยสินอนันต์กุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 1 จึงให้ข้อสังเกตไว้ดังนี้

1. ความจำแย่ลง หลงลืม จนรบกวนชีวิตประจำวัน

หากผู้สูงวัยมีปัญหาด้านความจำระยะสั้น คือมีอาการหลงลืมสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมวันสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะลืม หรือมักถามอะไรซ้ำๆ เดิมๆ ทั้งๆ ที่เพิ่งถามไป นั่นคือสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์ แต่หากเกิดอาการหลงลืมเพียงครั้งคราว พอเวลาผ่านไปสามารถนึกขึ้นได้หรือจำได้ นั่นไม่ใช่อาการของโรคอัลไซเมอร์

2. ความสามารถในการวางแผนหรือแก้ไขปัญหาลดลง

ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะใช้เวลาในการทำกิจวัตรประจำวันง่ายๆ ที่เคยทำเป็นประจำนานมากขึ้นกว่าปกติ รวมทั้งกิจวัตรประจำวันที่มีขั้นตอนซับซ้อน อาจเนื่องจากจำขั้นตอน กระบวนการในการทำไม่ได้ เช่น การใส่เสื้อผ้า การติดกระดุมเสื้อ หรือลืมบางส่วนของการทำบางสิ่ง เช่น ทำอาหารแล้วลืมใส่เครื่องปรุง หรือลืมว่าใส่เครื่องปรุงไปแล้วจึงใส่เพิ่มอีก ทำให้รสชาติอาหารเปลี่ยนไป

มีปัญหาในการช่วยเหลือตัวเอง เช่น การรับประทานอาหาร การอาบน้ำ การขับถ่าย การไม่แปรงฟัน หรือหวีผมเองไม่ได้ หรือทำแบบไม่ถูกต้อง การคิดคำนวณตัวเลข ด้านการใช้เงินมักไม่สามารถซื้อของตามรายการ ไม่สามารถชำระเงินตามใบเสร็จ จะจ่ายเงินแก่พนักงานเก็บเงินมากกว่าปกติ แต่ในผู้สูงอายุทั่วไปนั้น การจ่ายเงินผิดอาจจะเกิดจากการหยิบแบงค์ผิด หรือได้ยินยอดเงินไม่ถนัด มองไม่ชัด หรือแค่เข้าใจผิด และเกิดเพียงครั้งคราวเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่อาการของอัลไซเมอร์

 

3. ทำงานที่คุ้นเคยได้ยากลำบากมากขึ้น หลงทาง

ผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์จะรู้สึกยากลำบากในการทำงานทั้งๆ ที่เป็นงานที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านหรืองานในที่ทำงาน ลืมทางที่เคยไปเป็นประจำ ทำให้ขับรถหลงทางบ่อยๆ ลืมทางเข้าสำนักงานที่ปกติเข้าออกเป็นประจำ หรือหาทางกลับบ้านไม่ถูกทั้งๆ ที่เคยเดินทางเส้นนี้เป็นประจำ สูญเสียทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน ลืมวิธีการใช้โทรศัพท์ การใช้เครื่องไฟฟ้า

แต่สำหรับผู้สูงวัยทั่วไปที่มีความยากลำบากในการทำกิจกรรมบางอย่างที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน เช่น การใช้ไมโครเวฟอุ่นอาหาร การใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ต้องใช้ระบบสัมผัส ความยากลำบากนี้จะเกิดขึ้นเพียงครั้งคราว แบบนี้ยังไม่ใช่อาการของโรคอัลไซเมอร์

4. สับสนเรื่องเวลาและสถานที่

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะสับสนในเรื่องวัน เวลา สถานที่ ฤดูกาล หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆ ได้อย่างไร แต่ในผู้สูงอายุปกติ อาจจะสับสนในเรื่องวันที่ ว่าวันนี้เป็นวันอะไรของสัปดาห์ แต่ก็จะนึกออกและรับรู้ได้ในภายหลัง

5. ไม่เข้าใจในภาพที่เห็นและไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างภาพที่เห็นกับตัวเอง

เวลาที่ผู้ป่วยเดินผ่านกระจกหรือส่องกระจกมักจะคิดว่าไม่ใช่ตัวเอง คิดว่ามีคนอีกคนอยู่ในกระจกนั้นหรือมีคนอยู่ในห้องนั้นอีกคน เพราะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เห็นคือกระจกที่ทำหน้าที่สะท้อนภาพอยู่ แต่ในผู้สูงอายุปกติ การไม่เข้าใจสิ่งที่เห็นจะเกิดจากความผิดปกติทางสายตา ที่เกิดจากความเสื่อมของจอตา ทำให้มองเห็นไม่ถนัด เลยไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นคืออะไร

6. รู้สึกมีปัญหาในการค้นหาหรือใช้คำที่เหมาะสมในการพูดหรือเขียน

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักมีปัญหาในการเข้าร่วมวงสนทนา เช่น มักหยุดพูดระหว่างสนทนาอยู่ และไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรต่อ การพูดคุยจะไม่ลงรายละเอียดเพราะหลงลืมข้อมูลที่เคยจำได้ มักเรียงลำดับในการใช้คำผิด พูดคำหรือประโยคซ้ำ นึกคำพูดไม่ออก และเรียกชื่อสิ่งของผิด ไม่สามารถเรียกชื่อสิ่งของเช่น เก้าอี้ รถ แต่ในผู้สูงอายุปกติ อาจมีการนึกคำไม่ออกบ้าง แต่เกิดเพียงครั้งคราวและสามารถนึกคำนั้นๆ ได้

7. ลืมของ

เมื่อผู้ป่วยวางของในตำแหน่งใหม่ที่ไม่เคยวางมาก่อนและไม่สามารถย้อนนึกกลับไปได้ว่า วางสิ่งของเหล่านั้นไว้ที่ไหน และเมื่อพบสิ่งของเหล่านั้นก็มักคิดว่ามีคนขโมยไป หรือมีคนหยิบเปลี่ยนที่วาง หรือการวางสิ่งของผิดที่ผิดทางและยังคงใช้ชีวิตต่อไปเหมือนไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติ เช่น เก็บรีโมตทีวีไว้ในตู้เย็น

พอจะหาของใช้ในบ้านที่เก็บเป็นประจำก็หาไม่เจอเพราะลืมตำแหน่งที่เคยวางสิ่งของนั้นเป็นประจำ หรือมองหาสิ่งของนั้นในที่ที่ไม่น่าจะไปวางได้ แต่ในผู้สูงอายุปกติ แม้จะวางของผิดที่หรือลืมว่าวางไว้ที่ไหนในบางครั้ง แต่เมื่อหาพบก็จะรู้ว่าตัวเองวางของไว้ผิดที่เอง

8. ความสามารถในการตัดสินใจลดลงหรือสูญเสียไป

ผู้ป่วยมักตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรกับตนเองในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ไม่อาบน้ำ ไม่ทำผม เมื่อจะไปงานสำคัญ แต่ถ้าเป็นผู้สูงวัยทั่วไป อาจจะเกิดจากความเบื่อหน่าย หรือเหนื่อยจนไม่อยากอาบน้ำ ไม่อยากแต่งตัวก็ได้

9. มีการแยกตัวและลดการเข้าสังคมลง

ผู้ป่วยรู้สึกไม่อยากร่วมกิจกรรมที่เคยชอบ ไม่อยากทำงานที่เคยทำโดยไม่มีเหตุผล ไม่อยากพบปะผู้คน เฉื่อยชา ไม่สนใจหรือตื่นเต้นต่อสิ่งรอบข้าง เก็บตัวอยู่แต่ในห้องเพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าตนเองมีปัญหา แต่สำหรับสถานการณ์นี้ในผู้สูงอายุปกติ อาจจะเกิดจากการเหนื่อยล้าจากการทำงาน  มีปัญหาในครอบครัว จึงไม่อยากทำกิจกรรมอะไรเพราะยังเครียดอยู่

10. อารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีอาการหงุดหงิดง่ายขึ้นเมื่ออยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย มีอาการสับสน หวาดระแวง ซึมเศร้า วิตกกังวล หวาดกลัว สำหรับในผู้สูงอายุปกติก็อาจเกิดพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปได้เช่นกัน แต่จะไม่ถาวร จะกลับมาอารมณ์ดี พูดคุยร่าเริงปกติ เพราะการเกิดภาวะต่างๆ นั้น จะเกิดขึ้นเพราะสถานการณ์รอบด้านในขณะนั้นทำให้เป็น พอพ้นจากสถานการณ์นั้นก็หายเองได้

จากอาการและพฤติกรรมทั้งหมดนี้ จะสังเกตได้ว่าอาการขี้หลงขี้ลืมหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้น เป็นความผิดปกติทั้ง 4 ด้าน คือ 1.ด้านความจำ 2.ด้านความคิด 3.ด้านคำพูด 4.ด้านพฤติกรรมหรือการกระทำ เราจึงต้องพิจารณาถึงทุกด้านไปพร้อมๆ กัน ว่าอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเข้าเกณฑ์การเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ เพราะปัญหาความจำหรือการหลงลืม จริงๆ แล้วก็พบได้ในคนปกติด้วย แต่หากไม่แน่ใจก็ควรมาปรึกษาแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

 

วัยทำงาน หากไม่อยากสมองเสื่อมก่อนวัยอันควร ?

  • ควรตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำทุกปี : เช่น การตรวจภาวะไขมัน, เบาหวาน, ความดันโลหิต ควบคู่กันไปก็จะช่วยชะลอการเสื่อมได้ ด้วยชุดโปรแกรมตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อม
  • ควบคุมอาหารที่เป็นไขมันอิ่มตัว
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จัด
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ทำกิจกรรมฝึกสมองสม่ำเสมอ
  • อารมณ์ดี, ไม่เครียด, ไม่คิดมาก
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ระวังการเกิดอุบัติเหตุทางสมอง

 

เทคนิคการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ฉบับคนขี้ลืม

เทคโนโลยี ช่วยได้เยอะ

นอกจากเทคโนโลยีจะให้ความบันเทิงได้แล้ว ยังสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวของคุณได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถลงวันเวลาที่มีประชุมหรือวันที่ต้องออกไปดูงานนอกออฟฟิศ ไว้ใน Online Calendar ไม่ว่าจะเป็น Google Calandar, Outlook Calendar หรือ Calendar ของระบบ iOS โดยปฏิทินออนไลน์แบบนี้มีข้อดีตรงที่มีระบบเก็บข้อมูลแบบ Cloud ดังนั้นผู้ใช้สามารถเข้าถึงปฏิทินส่วนตัว เพื่อเช็กตารางงานต่าง ๆ ได้ตลอดเวลาจากทุกอุปกรณ์ที่มีอินเทอร์เน็ต

แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มักลืมเรื่องงานยิบย่อยอยู่บ่อย ๆ สิ่งที่จะช่วยชีวิตคุณได้คือแอปฯ ประเภท Reminder หรือแอปฯ To do list เช่นแอปฯ Tick Tick หรือ Google Task เพียงพิมพ์หัวข้อที่ต้องทำพร้อมระบุวันเวลาที่อยากให้แอปฯ แจ้งเตือน และเมื่อคุณทำงานสำเร็จลุล่วงก็ติ๊กหัวข้อนั้นออกจากรายการ หรือถ้าคุณเป็นคนที่อยู่ ๆ ก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาได้ในระหว่างกินข้าวหรือระหว่างอยู่ในลิฟต์ จะให้จดไอเดียใส่สมุดก็ไม่สะดวกซะด้วย แอปฯ ประเภท Sticky Note ที่เหมือนกับกระดาษ Post-it อย่าง Sticky Widget, StickMe หรือ Google Keep ก็เหมาะให้คุณจดไอเดียเอาไว้กันลืม

สำหรับคนที่ต้องเดินทางไปทำงานตามสถานที่ต่าง ๆ บ่อยจนแทบไม่ได้เข้าออฟฟิศ การมีอุปกรณ์ที่พกพาสะดวก สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างไอแพดหรือแท็บเล็ตก็จะช่วยให้คุณไม่ต้องแบกเอกสารพะรุงพะรังไปทุกที่ ไม่ต้องกังวลว่าจะลืมเอกสารฉบับไหนตราบที่คุณเก็บไฟล์ไว้ในเครื่องหมดแล้ว

หากมีเรื่องที่ต้องจดบันทึกอย่างจริงจัง เช่น จดสรุปการประชุม ก็สามารถใช้อุปกรณ์คู่กับตัวเครื่องอย่าง Stylus Pen ได้อีกด้วย นอกจากนั้นปัจจุบันมีแอปฯ สมุดจดอย่าง Notability ที่ปรับรูปแบบการจดได้ตามใจแถมยังมีฟังก์ชันอัดเสียงระหว่างจด ที่ถ้ากลับมาอ่านสรุปแล้วพบว่าพลาดเนื้อหาการประชุมตรงไหนไปก็กดเล่นไฟล์เสียงฟังไปได้ในตัว

 

ทำงานให้เป็นระบบ

หันไปทางซ้ายก็งาน ทางขวาก็งานเหมือนกัน ทำอันไหนก่อนดีเนี่ย?!”

เคยไหมที่งานต่าง ๆ ถาโถมเข้ามาจากทุกทิศทางจนหัวปั่น มัวแต่เร่งทำงานบางชิ้นให้เสร็จจนดันลืมสังเกตไปเลยว่ามีงานชิ้นไหนที่ยังไม่ได้ทำรึเปล่า มารู้ตัวว่าลืมทำก็ตอนเจ้านายทวงถามซะแล้ว ปัญหานี้แก้ไขได้เพียงลองเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อช่วยให้เราไม่หลงลืมงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งไป

เริ่มจากการจัดลำดับความสำคัญของงานว่าในบรรดางานทั้งหมดที่เรามีอยู่ในมืองานไหนสำคัญมากน้อยกว่ากันและงานไหนด่วนที่สุด จากนั้นก็เริ่มเรียงลำดับว่าควรทำชิ้นไหนก่อนหลัง ตั้งเดดไลน์เอาไว้ให้งานของตัวเองแต่ละชิ้นด้วย คุณจะใช้วิธีการจัดการงานด้วย Eisenhower Box ก็ได้เพราะจะช่วยให้เห็นภาพงานทั้งหมดได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ในกรณีเป็นงานใหญ่ที่ทำร่วมกันทั้งทีม คุณยิ่งต้องคุยกับเพื่อนร่วมทีมให้ชัดเจนว่าคุณจะทำส่วนของคุณเสร็จและส่งต่อให้เพื่อนได้เมื่อไหร่

 

วิธีจัดลำดับความสำคัญของงานและบริหารเวลาด้วย Eisenhower Box

เมื่อทำงานเสร็จและส่งให้หัวหน้า หัวหน้าอาจมีการคอมเมนต์จุดที่ยังต้องแก้ไข หรือถ้าเป็นงานที่ส่งแล้วส่งเลยคุณสามารถกลับมาทบทวนกับตัวเองได้ว่ามีจุดไหนบ้างที่ยังบกพร่อง หรือมีตรงไหนที่ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร อย่าปล่อยให้ไอเดียเหล่านั้นหลุดลอยไป แนะนำให้เปลี่ยนมันให้กลายเป็นตัวอักษรบันทึกมันเอาไว้ในสมุดโน้ตคู่ใจหรือพิมพ์เก็บเอาไว้ในอุปกรณ์ใกล้ตัวอย่างโทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำงาน เท่านี้มันก็อยู่กับเราไปอีกนาน โปรเจกต์ต่อ ๆ ไปในอนาคตก็จะออกมาเพอร์เฟกต์ยิ่งขึ้นเพราะคุณรู้แล้วว่ารอยรั่วจากงานครั้งที่แล้วมีอะไรบ้าง

 

เลี่ยงการ Multitasking ที่ทำให้คุณไขว้เขว

คุณคงเคยมีโมเมนต์ที่งานรัดตัวมาก ๆ จนแทบจะต้องแยกร่างทำงาน ซึ่งมันก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หลาย ๆ คนใช้วิธีการ Multitasking เข้าช่วย การ Multitasking คือการทำงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เช่น การโทรศัพท์คุยงานกับหัวหน้าไปพร้อม ๆ กับการพิมพ์ตอบอีเมลลูกค้า เพราะคิดว่ามันเป็นวิธีการทำงานที่ประหยัดเวลา ช่วยให้งานเสร็จสิ้นทันเดดไลน์ แต่เดี๋ยวก่อน! การ  Multitasking ไม่ใช่อะไรที่เหมาะกับทุกคน คนที่ทำงานหลายอย่างพร้อมกันแล้วมีประสิทธิภาพสูงนั้น มีส่วนมาจากนิสัยพื้นฐาน การถูกฝึกและปรับสมองให้รองรับกับการทำงานแบบนี้ และยังต้องเป็นคนที่จัดลำดับความสำคัญเก่งอีกด้วย

 

ความจำจะดีได้ ร่างกายต้องพร้อม

ถ้าอยากมีความจำที่ดีร่างกายก็ต้องอยู่ในภาวะที่รองรับต่อการจดจำด้วย ถามว่าทำได้ยังไงบ้าง? คำตอบอาจฟังดูจำเจแต่มันคือสิ่งที่ได้ผลจริง อย่างแรกก็คือการออกกำลังกาย เพราะจะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้นและมีออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงสมองมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการสร้างสารเคมีที่เรียกว่า BDNF (Brain-Derived Neurotrophic Factor) ที่มีผลต่อการเติบโตของเซลล์ประสาทโดยเฉพาะในสมองส่วนความจำ

ต่อมาก็คือเรื่องของอาหารการกิน ปัจจุบันมีวัตถุดิบมากมายที่มีผลดีต่อสมองและความจำ อย่างเช่น ข้าวกล้องงอก อาหารจำพวกธัญพืช เนื้อปลา ไปจนถึงผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถเข้าไปทำลายเนื้อสมองส่วนความจำและการเรียนรู้ได้

สุดท้ายคือการนอนให้เพียงพอ สมาคมระบบประสาทวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่าสมองของมนุษย์ซึมซับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเรียกขึ้นมาประมวลซ้ำในระหว่างที่เรานอนหลับซึ่งส่งผลต่อความทรงจำของเรา โดยผู้ใหญ่วัยทำงานส่วนมากควรนอนให้ได้ประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าคุณนอนหลับไม่เพียงพอกระบวนการดังกล่าวจะถูกขัดขวาง ยิ่งบ่อยครั้งสมองของคุณก็จะเริ่มลืมเลือนสิ่งที่เคยทำหรือสิ่งที่คุณตั้งใจว่าจะทำ เพราะฉะนั้นอย่ามองข้ามความสำคัญของการพักผ่อนร่างกายเป็นอันขาด

 

กิจกรรมบริหารสมอง ลับคมความจำ

หลังจากดูแลบริหารร่างกายแล้วก็ถึงเวลาของการบริหารสมอง เดี๋ยวนี้มีเกมและกิจกรรมมากมายที่นอกจากความสนุกแล้วยังท้าทายต่อทักษะความคิดของคุณอีกด้วย เกมฝึกไอคิวบางเกมถูกดัดแปลงให้ออกมาอยู่ในรูปแบบแอปพลิเคชันที่คุณสามารถโหลดมาเล่นในโทรศัพท์ได้ ยกตัวอย่างเช่น เกมทายคำ เกมต่อคำศัพท์ ซูโดกุ หรือถ้าไม่สะดวกเล่นบนโทรศัพท์คุณจะใช้วิธีเล่นเกมกระดานของจริงกับเพื่อนสนิทก็ยังได้

นอกจากนี้คุณสามารถท้าทายการทำงานของสมองได้ด้วยการลงมือทำในสิ่งที่ไม่คุ้นชิน เช่น การเปลี่ยนเส้นทางขับรถจากที่ทำงานกลับบ้านหรือจะเป็นการเปลี่ยนที่วางของที่ใช้เป็นประจำเพื่อให้สมองได้ประมวลผลกับข้อมูลใหม่ ๆ แต่หากคุณชอบความสงบและไม่ได้ชอบกิจกรรมทีบอกไป การนั่งสมาธิ ก็เป็นวิธีที่จะช่วยให้จิตใจของคุณได้จอจ่อ ไม่วอกแวก และเมื่อคุณมีสมาธิที่ดีขึ้นคุณก็สามารถโฟกัสกับงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

 

7 ไอเดียช่วยจำสำหรับคนทำงาน

เชื่อว่าคนทำงานที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่างคงต้องเคย ทำงานพลาด ทำงานไม่ครบ หรือทำงานตกหล่น เนื่องจากเกิดอาการหลง ๆ ลืม ๆ กันแน่นอน ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นต่อไป อาจส่งผลร้ายต่อการทำงานในอนาคตได้ 

1.จดช่วยจำคุณไม่จำเป็นต้องนำข้อมูลทั้งหมดบนโต๊ะทำงาน เข้ามาใส่ในสมอง เพียงแค่คุณเรียบเรียงความคิดของคุณใหม่ แล้วจดมันลงไปสมุดพกที่คุณสามารถเปิดอ่านได้ทันทีที่คุณต้องการ วิธีการนี้จะช่วยตอกย้ำความจำให้กับคุณได้เป็นอย่างดี

2.สุขภาพดี ความจำดีคงเป็นเรื่องดีไม่น้อยหากคุณมีเวลาออกกำลังกายก่อนหรือหลังทำงานอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการมีสุขภาพแข็งแรง ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ พักผ่อนเพียงพอ จะช่วยให้สมองของคุณได้ผ่อนคลาย จะช่วยให้คุณมีสมาธิดี และเพิ่มความจำให้กับคุณ

3.อัดเสียงไว้เลยหากคุณต้องประชุมสำคัญ ซึ่งอาจมีระยะเวลายาวนาน ลองเลือกใช้วิธีการอัดเสียงลงบนเครื่องบันทึกเสียง หรือโทรศัพท์ที่คุณใช้อยู่ เพื่อป้องกันการผิดพลาดของข้อมูล หากคุณฟังผิด หรือฟังไม่ทัน ก็สามารถกลับมาฟังเสียงที่อัดไว้ได้ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำความทรงจำให้กับคุณได้

4.คิดบวกกับตัวเองว่ากันว่าหากคุณมองตัวเองในแง่ลบ คุณจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ ลองหัด คิดบวก ให้กับตัวเอง ให้กำลังใจตัวเอง แล้วคุณจะสามารถทำมันได้ดี ยกตัวอย่างเช่น หากคุณคิดว่า คุณเป็นคนขี้ลืม ความจำสั้น คุณก็จะเป็นคนขี้ลืมอยู่อย่างนั้น ลอง เปลี่ยนวิธีคิด ว่าคุณจำมันได้ มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองได้ฟัง ได้รับข้อมูลมาแล้ว คุณจะเห็นผลลัพธ์ที่แตกต่าง

5.ตั้งเวลาเตือนความจำบางครั้งคุณอาจต้องใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ใกล้ตัวช่วยคุณทำงาน ปัจจุบันคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนสามารถเชื่อมต่อระบบอีเมลกับปฏิทินออนไลน์ได้ หากคุณมีนัดสำคัญ หรือมีกำหนดงานที่ต้องทำ ลองตั้งเวลาให้มันเตือนคุณล่วงหน้าก่อนกำหนดซัก 1 วัน เพื่อที่คุณจะได้มีเวลาเตรียมจัดการกับมัน อีกทั้งยังสามารถช่วยเตือนความจำเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ของคุณได้อีกด้วย

6.แปะๆ โพสต์อิทคุณอาจหากระดาษโน้ตแผ่นเล็ก ๆ หลากสีสันมาช่วยดึงดูดสายตา แปะไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เตือนว่าเมื่อเปิดคอมขึ้นมาคุณต้องทำอะไรบ้าง หรือแปะไว้ที่โทรศัพท์ เตือนว่าคุณต้องโทรหาใครบ้าง เป็นต้น

7.เตือนความจำด้วยรูปภาพรูปภาพอาจช่วยคุณเตือนความจำได้ดีกว่าข้อความ ติดรูปภาพสวย ๆ ไว้ที่ โต๊ะทำงาน นอกจากย้ำเตือนถึงสิ่งที่คุณต้องทำแล้ว ยังช่วยผ่อน คลายความเครียดจากการทำงาน ได้อีกด้วย

อ้างอิง: jobthai ,phyathai ,petcharavejhospital ,jobsDB.com

ที่มา ; กรุงเทพธุรกิจ 08 พ.ค. 2024

เกี่ยวข้องกัน

เทคนิคการอ่านเรื่องราวเพื่อให้เกิดการจดจำได้อย่างง่าย 

1. สร้างเรื่องราวในจินตนาการ

เมื่อคุณอ่านหนังสือ ลองสร้างภาพและเรื่องราวในจินตนาการที่เชื่อมโยงกับเนื้อหา คิดว่าตัวคุณกำลังเป็นตัวละครในเนื้อหาและมีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้นๆ การจินตนาการถึงสถานการณ์จะช่วยให้คุณจำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น เพราะคุณไม่ได้เพียงแค่อ่าน แต่กำลัง “อยู่” ในเหตุการณ์นั้น การสร้างเรื่องราวจากเนื้อหาจะช่วยให้ความทรงจำของคุณแข็งแรงและมีชีวิตชีวามากขึ้น 

2. จับคู่ข้อมูลกับสิ่งที่คุณรู้

ลองจับคู่ข้อมูลใหม่กับสิ่งที่คุณคุ้นเคยหรือสิ่งที่มีอยู่แล้วในความทรงจำ การผูกเนื้อหากับสิ่งที่คุณคุ้นเคย เช่น ประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นหรือเหตุการณ์สำคัญในชีวิต จะทำให้คุณสามารถดึงข้อมูลนั้นมาใช้ได้ง่ายขึ้น เหมือนกับการทอผ้าของความรู้ที่มีลวดลายซับซ้อน ความทรงจำจะเหนียวแน่นขึ้นเมื่อมันถูกทอรวมกันกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในใจของเรา 

3. ใช้ภาพสีสันสดใส

ลองใช้ภาพ สีสัน และรูปทรงต่างๆ ในการจดจำสิ่งที่อ่าน เช่น การวาดภาพหรือใช้สีไฮไลท์ที่แตกต่างกันไปในหัวข้อสำคัญ สมองของเราจะตอบสนองต่อสิ่งที่สดใสและมีสีสันอย่างรวดเร็ว การใช้ภาพช่วยให้เนื้อหานั้นชัดเจนและเรียบง่ายในการดึงมาใช้เมื่อจำเป็น เปรียบเสมือนกับการติดป้ายไฟให้ความจำของคุณในสมอง 

4. แบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วนเล็ก ๆ

การอ่านเป็นบทใหญ่อาจทำให้ข้อมูลล้นและยากต่อการจำ แบ่งเนื้อหาเป็นส่วนย่อย ๆ ให้คุณสามารถจดจำทีละน้อย แล้วค่อย ๆ ต่อจิ๊กซอว์ของความรู้จนเต็มภาพ การแบ่งเนื้อหาช่วยให้คุณเห็นเส้นทางและโครงสร้างของข้อมูล ทำให้สมองรับข้อมูลได้ง่ายดายขึ้น และไม่รู้สึกว่าเป็นภาระหนัก 

5. ใช้การเล่าเรื่องเพื่อทบทวน

การเล่าเรื่องให้ตัวเองหรือผู้อื่นฟังเกี่ยวกับสิ่งที่ได้อ่านจะช่วยให้คุณทบทวนเนื้อหาในรูปแบบของการสนทนา การเล่าเรื่องเป็นการจำลองความรู้ใหม่ในสไตล์ที่เป็นของคุณเอง และเมื่อคุณพูดออกมา คุณจะเข้าใจและจำได้ดีขึ้น การพูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้คือการทำให้ความรู้เหล่านั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวคุณ 

6. ตั้งคำถามและตอบด้วยตัวเอง

ลองตั้งคำถามจากเนื้อหาที่คุณอ่าน เช่น “ทำไมสิ่งนี้จึงสำคัญ” หรือ “เนื้อหานี้มีประโยชน์อย่างไร” การตั้งคำถามกระตุ้นให้คุณค้นหาและทำความเข้าใจในเนื้อหา และยังช่วยให้คุณจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้ง การถาม-ตอบกับตัวเองเปรียบเสมือนการทำข้อสอบในจินตนาการที่ทำให้สมองของคุณเตรียมพร้อมต่อความจำอย่างแท้จริง 

7. ใช้การนอนหลับให้เป็นประโยชน์

หลังจากที่คุณอ่านหรือทบทวนเนื้อหาแล้ว ให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนเพียงพอ การนอนหลับช่วยเสริมการบันทึกข้อมูลในสมอง เพราะเมื่อเรานอน สมองจะประมวลผลและเก็บข้อมูลในความทรงจำระยะยาว การนอนหลับเป็นเหมือนการ “ดาวน์โหลด” ความรู้ทั้งหมดที่ได้อ่านเข้าไปสู่พื้นที่ที่ปลอดภัยในจิตใจ 

แนะนำหนังสือเทคนิคการเรียนเล่มนี้ >>>

แค่รู้เทคนิคเรียนลัด จัดเต็มวันละชั่วโมงเดียวพอ ออร่าอนาคตสดใสเห็น ๆ 

ที่มา ; FB สหายสอบ

เกี่ยวข้องกัน

10 ข้อคิดจากหนังสือ 52 วิธี ฝึกสมองให้จำอะไรก็ได้ง่าย ๆ โดยอัตโนมัติ และจำได้นาน 

1.การฝึกฝนเป็นกุญแจสู่ความจำที่ดีขึ้น การพัฒนาความจำไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว แต่เกิดจากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ยิ่งฝึกสมองมากเท่าไร ความจำก็ยิ่งดีขึ้น 

2.เชื่อมโยงข้อมูลใหม่กับข้อมูลที่รู้อยู่แล้ว การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลใหม่กับข้อมูลเดิมที่เราคุ้นเคย ทำให้เราสามารถจดจำสิ่งใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้น 

3.การใช้ภาพจินตนาการช่วยเสริมความจำ การสร้างภาพในจินตนาการหรือการคิดเป็นภาพช่วยให้สมองจดจำข้อมูลได้ดีขึ้น เพราะภาพช่วยให้ข้อมูลชัดเจนและน่าสนใจมากขึ้น 

4.การใช้คำย่อหรือคำจำง่าย เทคนิคการใช้คำย่อ คำคล้องจอง หรือคำที่มีความหมายพิเศษ ช่วยให้เราจำข้อมูลที่ซับซ้อนหรือน่าเบื่อได้ดีขึ้น 

5.แบ่งข้อมูลออกเป็นส่วนย่อย ๆ การแบ่งข้อมูลเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ง่ายต่อการจดจำ ช่วยให้เราสามารถจำได้ง่ายขึ้น แทนที่จะพยายามจำข้อมูลทั้งหมดในคราวเดียว 

6.ใช้เทคนิคการทบทวนซ้ำๆ การทบทวนข้อมูลอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีที่ดีในการย้ำข้อมูลและทำให้ความจำอยู่กับเราได้นานขึ้น 

7.พักผ่อนสมองให้เพียงพอ สมองต้องการการพักผ่อน การนอนหลับให้เพียงพอและการทำกิจกรรมที่ช่วยให้สมองผ่อนคลาย เช่น การนั่งสมาธิ ช่วยให้สมองมีความจำดีขึ้น 

8.ใช้หลายประสาทสัมผัสในการเรียนรู้ การใช้ประสาทสัมผัสหลายด้าน เช่น การฟัง การมองเห็น และการสัมผัส ช่วยให้ข้อมูลถูกจดจำได้ดีขึ้น เพราะสมองมีช่องทางหลากหลายในการเก็บข้อมูล 

9.ฝึกฝนการจดจำแบบเชิงโครงสร้าง การจัดโครงสร้างข้อมูลให้เป็นลำดับ เช่น การใช้แผนภาพหรือตาราง จะช่วยให้สมองสามารถจดจำและเรียกคืนข้อมูลได้ง่ายขึ้น 

10. การออกกำลังกายช่วยเสริมสมอง การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ดีต่อร่างกาย แต่ยังช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังสมอง และเสริมสร้างความจำและสมาธิ 

ที่มา ; FB พลังสมอง