จำนวนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่ยังคงเพิ่มขึ้น นับเป็นปัญหาสำคัญที่สื่อถึงความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา ที่สังคมไทยต้องเผชิญกันมาอย่างยาวนาน โดยรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต่างกำหนดนโยบายเชิงรุก เพื่อตอบสนองต่อปัญหานี้
ซึ่งมาในวันนี้ คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติและรับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout และพร้อมเดินหน้าตามมาตรการนี้แล้ว
โดยที่ผ่านมา มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการให้ครอบคลุมในทุกมิติ นั่นคือ มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยกลไกหลักในการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของเด็กและเยาวชนระหว่างหน่วยงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบสารสนเทศกลางในระยะยาวเพื่อรองรับการบูรณาการข้อมูลและการค้นหาให้มีประสิทธิภาพ
3 มาตรการ ตอบสนองมิชชั่น Thailand Zero Dropout
การขับเคลื่อนให้ภารกิจการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ ภาครัฐได้อัปเดต 3 มาตรการสำคัญที่พร้อมขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่เป้าหมายนี้
· มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา
โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ พัฒนการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม ผ่านกลไกจัดการศึกษาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการด้วยกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัด และช่วยเหลือ ดูแล และส่งต่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาด้วยระบบการช่วยเหลือและส่งต่อสำหรับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นรายกรณี
· มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย
มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง ด้วยการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น โดยให้การรับรองคุณวุฒิหรือเทียบโอนคุณวุฒิการศึกษา/ใบประกอบอาชีพหรือวิชาชีพระหว่างการจัดการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นต้น
· มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้
มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn ให้เด็กและเยาวชนอายุ 15-18 ปี ได้พัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เหมาะสมตามศักยภาพและมีรายได้เสริมระหว่างเรียน ด้วยการสนับสนุนให้สถานประกอบการเข้าร่วมจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน มอบหมายให้ รง.พิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสม
ทั้งนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าพื้นที่จังหวัดขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout รวม 25 จังหวัด เพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดออกระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นได้ จำนวน 20,000 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และจะคลอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เป็นต้นไป และสามารถดูแลกลุ่มเด็กเหล่านี้ได้ทั้งหมดจำนวน 1,000,000 คน ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2570 ซึ่งจะทำให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
จากมาตรการที่วางไว้นี้เอง ได้นำลงมาสู่การปฏิบัติจริงแล้วที่ จ.ราชบุรี โดยเมื่อครั้งที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี ได้สื่อสารไว้ว่า
“ในส่วนตัวผมพยายามทำอะไรที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษา ช่วงที่ยังทำงานอยู่ภาคเอกชนจึงให้บริษัทมาลงพื้นที่ เห็นว่าราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีขนาดเหมาะสมพอที่จะช่วยเหลือเด็กทั้งจังหวัดกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการระบาดของโควิด-19 มีเด็กที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาค่อนข้างมาก”
หลังจากการลงพื้นที่จริงของนายกรัฐมนตรี นำสู่การจัดงาน “All for Education Ratchaburi Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน รวมพลังคนราชบุรีไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง” ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อรวมพลังชาวราชบุรี ผลักดันให้จังหวัดราชบุรีเป็นพื้นที่แห่งแรกในประเทศไทยที่จะไม่มีเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาภายในปี 2567
โดยการปักหมุดครั้งสำคัญของโครงการ ราชบุรี Zero Dropout ภายใต้ภารกิจ Thailand Zero Dropout ที่ตั้งเป้าชัดเจนว่าต้องทำให้เด็กทุกคนต้องได้เรียน ซึ่งเริ่มดำเนินงานตามแผนระยะยาว 3 ปี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 โดยจังหวัดราชบุรีได้รับเลือกให้เป็นโมเดลต้นแบบในการสร้างกลไกการเปลี่ยนแปลงการศึกษาระดับประเทศ เพื่อช่วยเด็กหลุดจากการศึกษาเป็น ‘ศูนย์’ ภายในปี 2567
ทั้งนี้ หน่วยงานที่มาร่วมมือกันเพื่อพิชิตภารกิจนี้ คือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสมัชชาการศึกษาราชบุรี เป็นผู้ดำเนินงานหลัก ร่วมด้วย บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ได้สนับสนุนเงินทุนในโครงการจำนวน 100 ล้านบาท เพื่อจุดประกายให้ทุกคนมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเดียวกันคือ ให้เด็กทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุม ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการสำคัญ คือ มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้
ถอดรหัสแนวคิด “การศึกษาที่ยืดหยุ่น ป้องกันเด็กหลุดจากระบบ”
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เคยให้มุมมองสำคัญเรื่องแนวคิด “การศึกษาที่ยืดหยุ่น ป้องกันเด็กหลุดจากระบบ” ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญในการเดินหน้าภารกิจนี้ว่า
“การจัดการศึกษาที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง กล้าคิดนอกกรอบ” คือ ทัศนคติที่สำคัญของการสร้างห้องเรียนแห่งโอกาสเพื่อทำให้เด็กทุกคนได้เข้าสู่การศึกษา และ กสศ. จะสนับสนุนและร่วมมือกับทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน ทุกสถาบันการศึกษา เพื่อทำให้ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบเกิดขึ้นให้ได้และเกิดการขยายผล”
ทั้งนี้ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เป็นการจัดการศึกษาที่มีกฎหมายรับรองถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ที่เปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาในระบบด้วยหลักสูตรทั่วไปตามโรงเรียน การศึกษานอกระบบที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความต้องการของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม และการศึกษาตามอัธยาศัย เรียนรู้ตามศักยภาพและความสนใจ
“สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้ง 3 รูปแบบเลยก็ได้ โดยให้เทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ ทั้งจากสถานศึกษาเดียวกันหรือต่างกัน รวมทั้งการเรียนรู้นอกระบบตามอัธยาศัย ฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์ทำงาน และมาตรา 6 ที่มีใจความว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งตอนนี้เป็นที่น่ายินดีว่ารัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ มีทิศทางและนโยบายสนับสนุนการจัดการศึกษาด้วยแนวคิด 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับครูและโรงเรียนเพื่อทำงานกับเด็กตามนโยบาย Thailand Zero Dropout ที่นายกรัฐมนตรีประกาศมุ่งเป้าลดจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาให้เหลือศูนย์”
“เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลตัวเลขเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาที่ กสศ. ร่วมกับ 3 กระทรวงหลักคือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ทำการสำรวจและพบว่าเด็กเยาวชนวัย 3-18 ปีที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษาซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 1,025,514 คน และมีความคาดหวังว่าการสร้างโอกาสการศึกษาที่ยืดหยุ่นจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถพาเด็กกลับเข้าสู่การศึกษาได้”
เราต้องไม่ลืมว่าการพาเด็กกลับมาเรียนไม่ได้สิ้นสุดที่การพบตัวและพากลับไปที่โรงเรียน แต่การตามเด็กกลับมาแล้วจะทำให้เขาไปต่อได้ ต้องมีแนวทางรับมือที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต มีวิธีการที่เอื้อกับการเรียนรู้ของเด็กที่มีภาระหน้าที่ต่างๆ อาทิต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว หรือต้องไปประกอบอาชีพหารายได้ ดังนั้นเราต้องมีระบบศูนย์การเรียน มีการฝึกอาชีพ มีห้องเรียนแห่งโอกาส โดยเฉพาะในโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็ก”
“อีกประเด็นที่ต้องกล่าวถึงคือในกระบวนการนี้ คือ ครูจะมีบทบาทสำคัญในการประคองชีวิตเด็กคนหนึ่ง ให้ไปถึงโอกาส ให้เข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเห็นความสำคัญของการศึกษา การเตรียมตัวเปิดเทอมใหม่นี้ จึงอยากชวนครูสำรวจครอบครัวศิษย์ เพื่อไปดูข้อเท็จจริงในชีวิตของเขาว่ามีข้อแม้อุปสรรคใด ที่ทำให้เด็กคนหนึ่งขาดเรียนบ่อยหรือมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง แล้วถ้ารู้สภาพจริงที่เด็กเผชิญอยู่ ก็จะสามารถนำข้อมูลนั้นกลับมาวางแผนดูแลช่วยเหลือได้ตรงจุด”
แชร์บทบาทของภาคเอกชนในการจัดการศึกษา เสริมการเรียนรู้ สร้างทักษะอาชีพจำเป็น
และอีกหนึ่งภาคส่วนสำคัญ ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการเดินหน้าภารกิจ Thailand Zero Dropout ที่มานำร่องทำในพื้นที่จังหวัดราชบุรี คือ ภาคเอกชน อย่าง บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน)
สมัชชา พรหมสิริ ผู้บริหารบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมนำเสนอถึงบทบาทภาคเอกชนในการสนับสนุนการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อเด็กทุกคนต้องได้เรียน โดยกล่าวว่า “ในฐานะภาคเอกชนผู้มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราเชื่อว่าทุกภาคส่วนล้วนสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน เพื่อให้มีความรู้และทักษะเพียงพอต่อการประกอบอาชีพ และพร้อมเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญของประเทศ นำมาซึ่งความตั้งใจของแสนสิริในการเดินหน้าโครงการ ‘ราชบุรี Zero Dropout’ ร่วมกับ กสศ. ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อจุดประกายให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาไปด้วยกัน”
“โดยกลไกสนับสนุนการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ที่แสนสิริร่วมออกแบบกับ กสศ. โครงการราชบุรี Zero Dropout นั้น เป็นการทำงานในลักษณะพื้นที่นวัตกรรม หรือ Sand Box โดยเริ่มจากการออกหุ้นกู้มูลค่า 100 ล้านบาทนำมาใช้ขับเคลื่อนงานตามเป้าหมาย พร้อมใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับงานด้านการศึกษาจาก กสศ. ในการระดมทุนเพื่อสร้างระบบดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในจังหวัดราชบุรี ภายในกำหนดระยะเวลา 3 ปี โดยหวังว่าจะพบแนวทางสร้างโอกาสทางการศึกษา และลดจำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาให้เหลือ ‘ศูนย์’”
ตลอดสามปีเราพบว่าหนทางที่ยั่งยืนและเป็นไปได้ที่สุด คือต้องมีการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อตอบโจทย์ชีวิตของเด็กเยาวชนที่หลากหลาย รวมถึงสามารถเชื่อมโลกการเรียนรู้กับการทำงานเข้าด้วยกัน หรือเป็นการสร้างและพัฒนาโครงข่ายของระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่ไม่เพียงสอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้เรียน หากยังต้องตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของภาคธุรกิจเอกชนด้วย”
“โดยนวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เป็น 1 นวัตกรรมที่ กสศ. ร่วมกับโรงเรียนต้นแบบในจังหวัดราชบุรีนำมาใช้ และทำให้เห็นว่าการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียน ที่ต้องอาศัยความกล้าหาญเสียสละของเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน รวมไปถึงครูทุกท่าน คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ได้อย่างไม่ต้องยึดติดอยู่กับการศึกษาเพียงลู่เดียว หรือการวัดประเมินผลด้วยมาตรฐานเพียงแบบเดียว”
“โมเดล 1 โรงเรียน 3 รูปแบบที่เกิดขึ้นผ่านโรงเรียนต้นแบบในจังหวัดราชบุรี เป็นนวัตกรรมความร่วมมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับการศึกษาที่หลายฝ่ายช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้น (Co – Creation For Education) โดยหวังว่าจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและขยายผลออกไปทั่วประเทศ”
ข้อมูล : บทความจากเว็บไซต์ กสศ. เรื่อง
· “ครม. รับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ “Thailand Zero Dropout”
· “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ คือจุดเปลี่ยนของโครงสร้างระบบการศึกษาใหม่แบบ Inside Out + Outside In”
· “‘การศึกษาคือการลงทุนที่ไม่มีวันขาดทุน’ บทบาทภาคเอกชนสามารถสนับสนุนการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อเด็กทุกคนต้องได้เรียน”
ที่มา ; salika May 30, 2024
เกี่ยวข้องกัน
พบเด็ก 1.02 ล้านคนตกหล่นระบบการศึกษาไทย เผย 3 อันดับปัจจัยต้นเหตุ
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 67 คณะรัฐมนตรีเดินหน้ามาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กนอกระบบ Thailand Zero Dropout ผนึกกำลัง 11 หน่วยงาน เชื่อมโยงข้อมูลเด็กนอกระบบ ผุดกลไกระดับจังหวัด มอบผู้ว่าราชการจังหวัด นั่งหัวโต๊ะ สแกนเด็กทุกพื้นที่ นั้น
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เปิดรายงานพิเศษความจริงและความเร่งด่วน ของสถานการณ์เด็กนอกระบบในประเทศไทย จัดทำขึ้นจากการประมวลงานวิจัย องค์ความรู้และข้อค้นพบในพื้นที่การทำงานของ กสศ. ร่วมกับภาคีทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2562-2567 และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายและและมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout)
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า สถานการณ์เด็กเยาวชนนอกระบบ อายุระหว่าง 3-18 ปี ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา ปัจจุบันมีจำนวน 1,025,514 คน หรือร้อยละ 8.41 ของเด็กและเยาวชนอายุ 3-18 ปีทั้งหมด (12,200,105 คน) ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่อยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ (ป.1-ม.3) หรืออายุ 6-14 ปี จำนวนทั้งสิ้น 394,039 คน คิดเป็นร้อยละ 38.42 ของเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา โดยจังหวัดที่มีเด็กและเยาวชนช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ (ป.1-ม.3) หลุดจากระบบการศึกษาสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 61,609 คน ตาก 41,285 คน สมุทรสาคร 20,277 คน เชียงใหม่ 16,847 คน และสมุทรปราการ 14,349 คน
นอกจากนี้ งานวิจัยเชิงสํารวจเพื่่อศึกษาข้อมูลของเด็กนอกระบบการศึกษาภายใต้ “โครงการการสนับสนุนและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนครูและเด็กนอกระบบการศึกษา” ของ กสศ. เก็บข้อมูลจากองค์กรเครือข่าย 67 องค์กร จำนวนกลุ่มตัวอย่างเด็กนอกระบบการศึกษา 35,003 คน พบว่า เด็กนอกระบบส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูงสุดอยู่ในระดับชั้น มัธยมต้น (ร้อยละ 24.25) ขณะที่ร้อยละ 10.63 ไม่เคยได้รับการศึกษาเลย เด็กนอกระบบที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนบุคคล ส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาสูงสุดในระดับประถมต้น (ร้อยละ 30.73) โดยอาชีพของผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีงานประจำ-รับจ้างรายวัน (ร้อยละ 47.11) สะท้อนถึงความไม่มั่นคงด้านรายได้ของครอบครัว อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้เด็กออกนอกระบบการศึกษา สาเหตุของการออกนอกระบบการศึกษา อันดับ 1 มาจากความยากจน (ร้อยละ 46.70) รองลงมาคือ ปัญหาครอบครัว (ร้อยละ 16.14) ออกกลางคัน/ถูกผลักออก (ร้อยละ 12.03) ไม่ได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา (ร้อยละ 8.88) ปัญหาสุขภาพ (ร้อยละ 5.91) อยู่ในกระบวนการยุติธรรม (ร้อยละ 4.93) และได้รับความรุนแรง (ร้อยละ 3.63)
นายพัฒนะพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษาเป็นรายกรณี พบว่า เด็กเผชิญกับปัญหาที่โยงใยซับซ้อนมากกว่า 1 ปัญหา โดยที่ไม่สามารถแก้เพียงเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วจะหลุดพ้นจากวิกฤติได้ ซึ่งปัจจัยที่กระทบต่อการออกนอกระบบการศึกษา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงปัญหาครอบครัวแตกแยก การใช้ความรุนแรง การย้ายถิ่นฐาน ทัศนคติของผู้ปกครองที่ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา ให้ทํางานช่วยเหลือครอบครัว ปัจจัยด้านพฤติกรรม สุขภาวะของนักเรียน เช่น เผชิญความเสี่ยงกับยาเสพติด ตั้งครรภ์ในวัยเรียน เด็กพิการหรือเจ็บป่วย ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม การตกเป็นเหยื่อของการถูกรังแก ถูกบูลลี่ ล้อเลียน เด็กโตเกินกว่าที่กลับมาเรียนซ้ำชั้น ข้อค้นพบที่สำคัญคือ ปัจจัยด้านครูและสถานศึกษา พบว่า การที่เด็กมีทัศนคติไม่ดีต่อการเรียน โรงเรียนและครู มีส่วนสำคัญที่จะช่วยดึงเด็กไม่ให้หลุดออกไปจากการศึกษา ทำให้เห็นประโยชน์ของการเรียน โดยพบว่ามีสาเหตุมาจากขาดการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง หลักสูตรรายวิชาไม่ตอบโจทย์ชีวิต มุ่งเน้นเรียนเพื่อแข่งขัน ลักษณะของครูผู้สอน ทั้งการลงโทษ การใช้ความรุนแรงทั้งโดยวาจาและการกระทำ ภาระงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น การบ้าน การส่งงาน เป็นต้น สอดคล้องกับผลการศึกษาของโครงการวิจัยเรื่อง “การคาดการณ์อนาคตการศึกษาทางเลือก” (Foresight for Alternative Education) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับ กสศ. ระบุว่าหนึ่งในผลกระทบต่อโอกาสการศึกษาของเยาวชนผู้ด้อยโอกาส คือ ความผิดหวังต่อระบบการศึกษา ซึ่งสร้างผลกระทบลบ ทำให้เยาวชนขาดแรงจูงใจ ความตั้งใจ และความทุ่มเทในการเข้ารับการศึกษาเพราะไม่เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เยาวชนต่อต้านการศึกษาทุกรูปแบบ
“การทำความเข้าใจเด็กนอกระบบ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะปัญหานี้ซับซ้อน และสั่งสมมายาวนาน สำคัญที่สุดคือต้องช่วยอย่างเข้าใจในเงื่อนไขชีวิตเด็ก ออกแบบการเรียนรู้และให้การสนับสนุนเขาในแบบที่เหมาะสมกับตัวเขาที่สุด” นายพัฒนะพงษ์ กล่าว
ข้อเสนอของ กสศ. เส้นทางชีวิตของเด็กและเยาวชนนอกระบบนั้น รูปแบบการศึกษาของเด็กนอกระบบการศึกษาต้องออกแบบให้มีความหลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของเด็กซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ใหญ่ คือ กลุ่มเด็กที่ต้องการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และกลุ่มเด็กที่ไม่มีความประสงค์จะเข้าสู่ระบบการศึกษาแต่มีความต้องการประกอบอาชีพ การส่งเสริมการศึกษาของเด็กกลุ่มที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากมีแรงจูงใจและความพร้อม แต่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการประกอบอาชีพโดยไม่ต้องการศึกษาต่อ จะยังขาดแรงจูงใจและความพร้อมในกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ควรได้รับการศึกษาในรูปแบบของการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งจะทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการศึกษา ไปพร้อมกับรายได้จากการประกอบอาชีพตามเป้าหมายของตัวเอง โดยกำหนดลักษณะของรูปแบบการศึกษาได้ 3 ประการคือ ต้องให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ที่ไหนก็ได้ (anywhere) เรียนเมื่อไรก็ได้ (anytime) และเรียนอะไรก็ได้ตามที่ตนเองสนใจ (anything) รวมถึงอาจใช้รูปแบบการเรียนแบบออนไลน์ ระบบธนาคารหน่วยกิต (credit bank) เพื่อสะสมและใช้เทียบโอนคุณวุฒิการศึกษาสำหรับการสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไปได้ เพื่อให้เด็กมีความพร้อมใช้เรียนได้อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง
กสศ. เปิดรายงานพิเศษ “ความจริงและเร่งด่วนปัญหาวิกฤติเด็กนอกระบบในประเทศไทย” พบสถานการณ์เด็กเยาวชนตกหล่นจากระบบการศึกษาไทย 1.02 ล้านคน เผย 3 อันดับต้นเหตุ ความยากจน ปัญหาครอบครัว ถูกผลักออกจากระบบ เผชิญปัจจัยรุมเร้าหลายปัจจัย ต้องใช้รูปแบบการศึกษายืดหยุ่น หลากหลาย สร้างแรงจูงใจต่อการศึกษา ช่วยประคองไม่ให้หลุดจากระบบ
ที่มา ; เดลินิวส์ 1 มิถุนายน 2567
เกี่ยวข้องกัน
เพิ่มพูน ลุยแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา ตั้งเป้าเทอม 2/2567 บุรีรัมย์เด็กดร็อปเอาต์เป็นศูนย์
เมื่อเร็วๆ นี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหาร นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงพื้นที่ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout ร่วมกับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอกระสัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คณะครู และตัวแทนนักเรียนเข้าร่วม ณ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวถึงสถานการณ์เด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาของไทย อายุระหว่าง 3-18 ปี มีมากถึง 1.02 ล้านคน (ณ วันที่ 30 พ.ย.2566) ในจำนวนนี้เป็นเด็กเยาวชนในจังหวัดบุรีรัมย์ 17,586 คน อยู่ที่อำเภอกระสัง 1,353 คน โดยตำบลกระสังมี 229 คน โดยในภาคเรียนที่ 1/2567 ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว 39 คน ส่วนที่เหลือ 190 คน กสศ.ได้รับแรงสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอกระสัง (สกร.) และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) จังหวัดบุรีรัมย์ สำรวจข้อมูลจนสามารถนำไปสู่การค้นพบตัวเด็กได้แล้วกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพบว่าความยากจน ปัญหาสุขภาพ ความบกพร่องทางการเรียนรู้ และครอบครัวแหว่งกลาง คือสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเยาวชนในพื้นที่ตำบลกระสังอยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งบางส่วนได้เข้าสู่การเรียนรู้กับ สกร.อำเภอกระสัง จำนวนหนึ่งอยู่ระหว่างวางแผนช่วยเหลือดูแลเป็นรายกรณี
“การทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ.และ สกร. ทำให้เกิดการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลจนสามารถพบและช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบให้เข้าสู่การเรียนรู้ได้ทันที และทำให้เกิดประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการนำเด็กเข้าสู่การเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เป็นรายกรณีตามความเหมาะสมตามมา กสศ.ตั้งสมมุติฐานว่าหากมีรอบของการลงพื้นที่เก็บข้อมูลปีละสองครั้ง ราวสี่ปีจากนี้การทำให้เด็กหลุดนอกระบบกลายเป็นศูนย์เป็นไปได้ โดยหลังจากพบตัวเด็กและนำเข้าสู่การเรียนรู้แล้ว คณะทำงานจะยังมีการติดตามข้อมูลต่อเนื่องผ่านโปรแกรม OBEC CARE หรือระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในทุกมิติ ไม่ใช่เพียงด้านทุนทรัพย์ เพราะความเสี่ยงที่ทำให้เด็กคนหนึ่งหลุดออกไปนั้นซับซ้อนด้วยหลายปัญหา ซึ่งจะมีกลไกที่เชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ รองรับ ดังนั้น เมื่อเราพบเด็กคนหนึ่งไม่ว่าจะติดขัดด้วยข้อแม้อะไรก็ตามที่ทำให้เข้าไม่ถึงการเรียนรู้ ทรัพยากรและความช่วยเหลือจะหลั่งไหลมาตามโจทย์ปัญหา”
นางนุจรีย์ ส่องสพ ผู้อำนวยการ สกร.อำเภอกระสัง กล่าวว่า ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 สกร.อำเภอกระสัง ได้ติดตามเด็กเยาวชนช่วงอายุ 3-15 ปี ที่ออกกลางคันและตกหล่นจากระบบ กลับสู่การเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานภายใต้การจัดการศึกษาของกรมส่งเสริมศูนย์การเรียนรู้ ชั้นประถมและมัธยมต้นรวม 66 คน นอกจากนี้ ได้ร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่สำรวจข้อมูลนักเรียนอายุ 6-15 ปี พบว่ามีจำนวนที่ออกกลางคันและหลุดจากระบบการศึกษา 10,294 คน และประชากรอายุ 15-60 ปี ที่ยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับ 42,250 คน โดย สกร.จะนำผลสำรวจไปชนกับข้อมูลของ กสศ. เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่ชัดเจนสำหรับการช่วยเหลือดูแลและส่งต่อเด็กเยาวชนไปสู่การเรียนรู้ที่เหมาะสมร่วมกับสถานศึกษาทุกแห่ง หากมีอายุครบ 15 ปี สามารถเข้าเรียนกับ สกร.ได้ทันที
นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวเสริมเรื่องข้อจำกัดเมื่อเด็กหลุดออกมาแล้วอยากกลับสู่การเรียนรู้ต่อเนื่องจากชั้นเรียนเดิม ว่าระเบียบกำหนดให้ต้องมีเอกสารแสดงผลการเรียนรู้เดิมในรูปแบบหน่วยกิตสะสม ซึ่งเด็กเยาวชนส่วนใหญ่ที่หลุดจากระบบกลางคันในช่วงชั้น ม.1-ม.2 มักขาดเอกสารส่วนนี้ ทั้งนี้ สกร.พยายามประสานกับสถานศึกษาเดิมเพื่อให้เด็กได้รับเอกสารเทียบหน่วยกิต เพื่อพากลับเข้าสู่การเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง ลดการสูญเสียเวลาจากการต้องกลับไปเริ่มต้นเรียนใหม่ โดยการออกวุฒิการศึกษาในรูปแบบผลการเรียนล่าสุด ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก หากขั้นตอนดังกล่าวสามารถดำเนินได้สะดวกรวดเร็ว โอกาสที่จะพาเด็กกลับสู่การเรียนรู้ก็จะยิ่งเปิดกว้างยิ่งขึ้น จึงอยากขอความร่วมมือสถานศึกษาทุกแห่งให้ความสำคัญเรื่องนี้
ทั้งนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมหารือภายหลังรับฟังประเด็นปัญหา โดยกล่าวว่า การสำรวจเด็กและเยาวชนที่ไม่พบรายชื่อในระบบการศึกษาเป็นนโยบายที่รัฐมนตรีให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ อายุระหว่าง 6-15 ปี จึงขอมอบหมายให้ศึกษาธิการจังหวัดรับหน้าที่เป็นฝ่ายบริการจัดการเพื่อทำให้ Thailand Zero Dropout ขับเคลื่อนให้ได้ ขณะที่ สกร.ต้องเป็นหน่วยงานหลักในการสแกนหาเด็กและเยาวชนที่ไม่พบรายชื่อในระบบการศึกษาของ กสศ.ทุกคน เพราะมีศูนย์การเรียนระดับตำบลใกล้ชิดชุมชน ร่วมทำงานกับ อพม. จะทำให้มาตรการ ‘ค้นหา-ช่วยเหลือ-ส่งต่อ-ดูแล’ เด็กหลุดนอกระบบการศึกษามีประสิทธิภาพ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุขั้นตอนว่า เมื่อพบเด็กแล้วให้สอบถามความประสงค์ หากต้องการเรียนต่อในโรงเรียนเดิมหรือโรงเรียนในพื้นที่ใกล้บ้าน ให้ดำเนินการประสานกับโรงเรียนหรือเขตพื้นที่รับช่วงต่อในการรับเด็กเข้าเรียน ดูแลไม่ให้เกิดกรณีหลุดซ้ำ และมีการศึกษายืดหยุ่นในลักษณะ 1 โรงเรียน 3 ระบบ เหมาะกับกับเด็กรายคน ใช้วิธีการทำงานแบบคิดนอกกรอบ เพื่อทำให้จังหวัดบุรีรัมย์ไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ตั้งเป้าความสำเร็จในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 นี้
“วันนี้ที่บุรีรัมย์เดินหน้าไปแล้ว เราได้เห็นว่า สกร.คือหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ดังนั้น ความท้าทายต่อไปคือจะทำอย่างไรให้หน่วยงานอื่นๆ สามารถเป็นฝ่ายเติมเต็มสนับสนุนและบูรณาการรับช่วงต่อได้ และทำให้เกิดเป็นโมเดลที่จะขยายไปยังทุกพื้นที่ ดังนั้น การพูดคุยกันระหว่างหน่วยงานจะทำให้เกิดการหาแนวทางแก้ปัญหา และช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ที่จะพาเด็กกลับสู่การเรียนรู้ ปัญหาที่หน่วยงานหนึ่งแก้ไม่ได้เมื่อส่งต่อไปถึงมือผู้มีความชำนาญก็จะมองเห็นวิธีการแก้ไข นอกจากนี้ การทำงานร่วมกันยังทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น ที่จะส่งต่อเด็กไปสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นตามศักยภาพ เชื่อว่าวันนี้ทุกฝ่ายแสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะขับเคลื่อนงานไปด้วยกันแล้ว ดังนั้น ถ้าเริ่มสำรวจค้นหาติดตามเด็กทุกคนตั้งแต่เทอมแรกนี้ จะทำให้มีข้อมูลชัดเจนในการทำงาน แล้วในช่วงเปิดภาคการศึกษาที่ 2 เราจะไม่มีเด็กหลุดออกไปจากระบบการศึกษาอีก
ที่มา ; มติชน วันที่ 23 กรกฎาคม 2567
เกี่ยวข้องกัน
‘นักวิชาการ’ชี้ความเหลื่อมล้ำทำประเทศติดหล่ม
นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ในฐานะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปจัดการ เป็นต้นตอของความยากจนและทำให้ประเทศติดหล่ม ไม่เจริญก้าวหน้า และยังเป็นรากฐานของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความแตกต่างในเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานี้เป็นสิ่งที่มีมายาวนาน ปัจจุบันนี้ครอบครัวที่มีฐานะยากจนที่สุดที่จบการศึกษาประมาณชั้นประถมฯ จะมีรายได้เพียง 1,036 บาทต่อเดือน มีประมาณร้อยละ 15 ของประชากร ขณะที่ครอบครัวชนชั้นกลางที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปจะมีรายได้อยู่ที่ 46,110 – 57,000 บาทต่อเดือน ส่วนครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยจะมีรายได้ประมาณ 290,000 บาทต่อเดือน แสดงให้เห็นว่าการศึกษา ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นทางสังคมอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องการมีรายได้และเรื่องอื่นๆ
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 29,449 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 14,777 แห่ง ขนาดกลาง-ใหญ่กว่า 9,600 แห่ง ส่วนมากจะอยู่ในตัวเมืองและจังหวัดที่มีความเจริญ แต่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีมากจะอยู่ในพื้นที่ชนบทและยังขาดแคลนงบประมาณ รวมถึงทรัพยากรต่างๆ จนเกิดการด้อยคุณภาพ ทำให้การต่อยอดด้านการศึกษาเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้เกิดปัญหาออกกลางคัน
“ในปัจจุบันมีเด็กที่ออกจากการเรียนในช่วงรอยต่อระหว่างประถมศึกษาไปมัธยม เพื่อขายแรงงานกว่า 20 ล้านคน ซึ่งถ้านำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขเด็กออกกลางคันจะเห็นความสัมพันธ์กันคือ บุคคลเหล่านี้จะจบการศึกษาเพียงแค่ระดับชั้นประถมหรือมัธยมต้น หารายได้ได้เพียง 8,000-10,000 ต่อเดือนเท่านั้น ตลอดชีวิตและบางส่วนยังไม่มีทางที่จะเปลี่ยนสถานภาพทางการเงินหรือสังคมให้ดีขึ้นได้และสิ่งที่น่าตกใจคือพวกเขาเหล่านี้ไม่เห็นประโยชน์ของการศึกษาที่จะนำมาพัฒนาตัวเอง ปัญหาต่อมาคือเรื่องครู ซึ่งทุกๆ 2 ปี ครูผู้ช่วยจะมีการย้ายออก โรงเรียนในชนบทขาดแคลนครู 6-8 เดือนเพราะไม่มีครูที่บรรจุทดแทนและครูส่วนใหญ่จะไปกระจุกกันอยู่โรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนขนาดใหญ่ ทำให้ครูที่เหลือต้องทำงานหนักขึ้น จนเกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องของภาระหน้าที่ เมื่อครู 1 คนต้องทำทุกอย่างก็ไม่สามารถทุ่มเทกับเรื่องการเรียนการสอนได้เท่าที่ควร” นายสมพงษ์ กล่าว
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า แนวทางที่อยากจะเสนอเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมี 5 ข้อดังนี้
1.ภาครัฐต้องมองว่าความเหลื่อมล้ำเป็นพื้นฐานของปัญหาต่างๆ
2.ระบบการศึกษาต้องยืดหยุ่น ปฏิรูปหลักสูตรให้เด็กได้เรียนอย่างเท่าเทียม
3.ใช้หลักการเรื่องความเหลื่อมล้ำเข้ามาประกอบการจัดสรรงบประมาณ
4.ปฏิรูปการผลิตครูและลดภาระงานให้ครู และ
5.ปฏิรูปหลักสูตรการประเมินผล ไม่ใช้ระบบแข่งขันหรือระบบที่ใช้เนื้อหาสาระเป็นหลัก
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 22 กรกฎาคม 2567
เกี่ยวข้องกัน
สมพงษ์ ชี้ 1 เดือนรัฐตามเด็กได้ 1.3 แสนคน สะท้อนหากตื่นตัว-ช่วยเหลือ จะพาน.ร.เข้าระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีเด็กออกกลางคันประมาณ 1,025,514 คน เป็นตัวเลขออกกลางคันแบบสะสม และรับรู้กันแต่ไม่กล้าถูกเปิดเผย ซึ่งแต่ละปีจะมีเด็กออกกลางคันหนักมาก สาเหตุที่ได้ตัวเลขนี้มา เกิดจากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ที่เป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่จัดการศึกษาในประเทศ ซึ่งมีทั้งหมด 21 หน่วยงาน จากหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมตำรวจ เป็นต้น ซึ่ง 21 หน่วยงานนี้ จะส่งรายชื่อว่าใครเรียน ใครไม่ได้เรียนบ้าง ต่อมากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) จะใช้ตัวเลข 13 หลักมาทาบกัน เมื่อทาบกันแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือในจำนวนเด็ก 12 ล้านคน ที่อยู่ในวัย 3-18 ปี ซึ่งมีเด็กประมาณ 1,025,514 คน ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา หรือออกกลางคัน และเข้าไม่ถึงการศึกษา
นายสมพงษ์ กล่าวว่า เด็กประมาณ 1,025,514 คน ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา เมื่อคิดจากสัดส่วนจากเด็ก 12 ล้านคน คิดเป็น 8.41% ของเด็กที่ควรจะต้องอยู่ในระบบการศึกษา เมื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม เด็กประมาณ 1,025,514 คน เป็นเด็กที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับประมาณ 3.9 แสนคน เป็นเด็กอนุบาล ประมาณ 3.1 แสนคน และเป็นเด็กม.3 จะขึ้นม.4 ประมาณ 3.1 แสนคน จึงเริ่มปรากฎร่องรอยขึ้นมาทันทีว่า การศึกษาประเทศไทยที่จัดโดย 21 หน่วยงาน จะมีเด็กที่เข้าไม่ถึง หรือไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา หรือออกกลางคันประมาณ 1 ล้านคน เมื่อเทียบในลักษณะนี้แล้ว จึงเป็นข้อวิตกกังวลของรัฐบาล ที่มีเด็กกว่า 1 ล้านคนที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ศธ.จึงยอมรับไม่ได้กับจำนวนนี้ จึงออกมาบอกว่าจะมีอยู่ประมาณ 2-3 หมื่นคน ทั้งนี้ตนมองว่าต้องให้โอกาส ศธ. ในการสืบค้นข้อมูล โดยพบว่าตั้งแต่ที่ ศธ.ทำ mou กับกระทรวงต่างๆ ผ่านมา 1 เดือน ศธ.ค้นหาเด็กเจอประมาณ 1.3 แสนคนแล้ว
“ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถ้าทุกคนตื่นตัว ค้นหา ส่งต่อ ช่วยเหลือ แค่เดือนเดียวยังค้นหาได้กว่า 1.3 แสนคน ซึ่งเป็นเรื่องดีมากที่เราค้นหาเด็กเจอ ให้โอกาสเด็ก และช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ การลงไปค้นหาเด็กจำนวน 1 ล้านคนไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น งานที่จะต้องเร่งทำคือ 4 มาตรการ โดยนโยบายThailand Zero Dropout ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ละจังหวัดเป็นประธาน ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด มีหน่วยงานต่างๆเข้าร่วม ซึ่งขณะนี้ เริ่มคิกออฟ 25 จังหวัดแล้ว พร้อมกับลงไปสู่ระดับตำบล ที่ขณะนี้มีครูตามน้องกลับมาเรียน โดยร่วมกับ อสม.ลงไปตามบ้านนักเรียน เพื่อสืบค้นตามเด็กกลับมา” นายสมพงษ์ กล่าว
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา คือ
1.ปัญหาจากความยากจน หนี้สิน การตกงานรายได้ไม่แน่นอน ของครอบครัว แต่สาเหตุที่มาแรงและเป็นปัญหาอุปสรรคที่หนักขึ้นตลอดของสังคมไทย
2.ปัญหาครอบครัวที่ไม่พร้อม ครอบครัวเปราะบาง แหว่งกลาง ซึ่งตนมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เพราะปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและเป็นเรื่องที่สังคมไทยมองข้าม และ
3. ระบบการศึกษาไม่ตอยโจทย์เด็ก ทุกกลุ่ม ทุกคน ระบบการศึกษานี้ จะเป็นประโยชน์กับเด็กในกลุ่มที่มีฐานะ กับกลุ่มที่อยู่ในเมืองเท่านั้น
3 สาเหตุเหล่านี้ เป็นสาเหตุหลัก นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ภาวะความรู้ถดถอย ปัญหาความยากจน และปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในขณะนี้ยังไม่มีสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นเรื่องการลงทุน สังคมเต็มไปด้วยยาเสพติด จึงทำให้ผู้ปกครองตัดสินใจเอาลูกออกจากระบบการศึกษาดีกว่า จึงเป็นสาเหตุว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นเด็กออกกลางคันละสมมาเป็นล้านคน
นายสมงพษ์ กล่าวว่า และสำหรับนโยบาย Thailand Zero Dropout 4 มาตรการในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย
1. การจัดทำฐานข้อมูลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา
2. การช่วยเหลือในทุกมิติของปัญหา มองว่าการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน และส่งต่อเด็ก ต้องทำเข้มข้น
3. การจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ในใช้ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ธนาคารหน่วยกิต ที่เริ่มขยับบ้างแล้ว ทั้งนี้ มองว่าเด็ก 1 ล้านคนที่ออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว ไม่มีใครจะกลับเข้ามาเรียนหนังสือ ดังนั้นต้องหาการศึกษาที่ยืดหยุ่น และเหมาะสมกับเด็กเหล่านี้ โดยจะประคับประคองให้เด็กอยู่ในการศึกษาที่ยืดหยุ่น และจบการศึกษาภาคบังคับอย่างไร และ
4. การใช้มาตรการทางภาษีจูงใจภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการจ้างงาน รับฝึกงานมีรายได้ เป็นต้น
ถือเป็น 4 มาตรการที่เริ่มคิกออฟในเดือนนี้ ซึ่งตนเชื่อว่าถ้าทำไปอีกสักระยะ จำนวนเด็กที่มีประมาณ 1 ล้านคน จะค่อยๆลดลงตามลำดับ
“ถือเป็นเรื่องดีที่เราหันมาเข้าใจ และเห็นเด็กเปราะบาง ยากจน และด้อยโอกาสที่หลุดจากระบบการศึกษา ให้กลับมามีโอกาส และมีการศึกษาที่สอดคล้องกับปัญหาชีวิตและความต้องการของเขา สาเหตุที่ต้องประคับประคองให้เด็กจบการศึกษาภาคบังคับ มาจากเด็กที่อยู่ข้างล่าง งานต่างๆ ยังต้องใช้วุฒิการศึกษาอยู่ ” นายสมพงษ์ กล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 22 กรกฎาคม 2567
เกี่ยวข้องกัน
‘นายกฯ’ ประชุมหัวหน้าส่วนระดับกระทรวงฯ เดินหน้าแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 24 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2567 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่าเข้าร่วมประชุม
โดยทันทีที่เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางถึง ได้ร่วมถ่ายภาพกับคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่าและคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ จากนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะเข้าห้องประชุม พร้อมกล่าวเปิดการประชุมว่า เป็นการพบกันครั้งที่ 2 ตามที่ได้บอกไว้ สำหรับประเด็นวันนี้ อยากจะพูดคุยถึงเรื่องการศึกษา และเสริมด้วยเรื่องของความมั่นคง รวมถึงปัญหายาเสพติด
ต่อจากนั้น นายกฯ รับฟังบรรยายการนำเสนอข้อมูล บทบาท ภารกิจ ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ประกอบด้วย ภารกิจด้านการศึกษา ภารกิจด้านความมั่นคง (ปัญหาในพื้นที่ชายแดนและปัญหายาเสพติด) และภารกิจอื่นๆ
ภายหลังรับฟังบรรยายการนำเสนอข้อมูล นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานเน้นย้ำเรื่องการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา รวมถึงการแก้ไขปัญหาเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout เป็นเรื่องที่ดี รัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ขอให้ขับเคลื่อนทำงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับฝากให้หน่วยงานของ ศธ. ทำงานร่วมกัน ส่วนเรื่องของยาเสพติดจากข้อมูล ในโรงเรียนยังไม่มีการแพร่ระบาดมากนัก ถ้าไม่พูดถึงเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ขอให้ช่วยกันปลูกฝังให้เด็กมีความเกลียดชังยาเสพติดอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจถึงโทษและอันตรายของยาเสพติด
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องการพนันออนไลน์ เรื่องคอลเซ็นเตอร์ และเรื่องของยาเสพติด ถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคง ซึ่งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ขอให้ถือเป็นภารกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด เป็นปัญหาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านมี Concern อย่างมากในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลได้เพิ่มมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการบำบัด การสร้างเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงการวางมาตรการป้องกันไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาตามตะเข็บชายแดน ขอให้ระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ สำหรับเจ้าหน้าที่ขอให้มีความพร้อมในการทำงาน รองรับสถานการณ์ ขออย่าประมาท อุปกรณ์การทำงานจะต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์
นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องของเงินรางวัลนำจับยาเสพติด ตนเองเข้าใจว่า ยังมีหลายหน่วยงานที่มีข้อถกเถียงเรื่องของการแบ่งปันเงินรางวัล ซึ่งจากที่ตนเองได้พบปะพูดคุยกับผู้บัญชาการในหน่วยงานต่างๆ อย่างเช่น ป.ป.ส. กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้มีการแบ่งเงินรางวัลจากการจับยาเสพติดให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามที่ได้ตกลงไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการจ่ายเงินรางวัล ส่วนมากจะจ่ายเมื่อจบสิ้นคดี บางคนเกษียณไปแล้วยังไม่ได้เงินรางวัล ขอให้มีการแบ่งจ่าย 30% เมื่อมีการจับกุม ส่วนอีก 70% จ่ายตอนคดีจบสิ้น เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นมุ่งหมายหลักในการทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้สิ้นซาก
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาตนเองได้สั่งการให้ ปปง. ดำเนินการยึดทรัพย์ ขอให้เร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ถ้าหากสงสัยขอให้ยึดมาก่อน ซึ่งหน้าที่พิสูจน์ทราบเป็นหน้าที่ของผู้ที่ถูกยึดทรัพย์มาชี้แจง ส่วนเรื่องของความมั่นคง ปัจจุบันมีปัญหาอย่างมาก ขอให้หน่วยงานความมั่นคงร่วมกันทำงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัญหาการลุกลามตามชายแดนของบุคคลต่างด้าว และปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ ฝากให้กระทรวงมหาดไทยดูในเรื่องนี้ ถ้าหากบุคคลกลุ่มนี้มีคุณสมบัติครบที่ต้องได้สิทธิต่างๆ ก็ขอให้เร่งดำเนินการให้บุคคลกลุ่มนี้ได้รับสิทธิตามกฎหมายที่ระบุโดยเร็ว ขออย่านำไปเกี่ยวกับเรื่องของการเมือง ถือเป็นสิทธิของคนที่พึงจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา สาธารณสุข ขอให้ยึดความเท่าเทียมเป็นหลัก อย่าให้เกิดความเหลื่อมล้ำ อย่าปฏิเสธก่อน ขอให้กำชับเจ้าหน้าที่ดูแล อำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนเรื่องของการพนันออนไลน์และคอลเซ็นเตอร์ การประสานงานกับต่างประเทศถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ตนเองได้พูดคุยกับนายกฯ กัมพูชา เข้าใจว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการประสานไปแล้วเกี่ยวกับเรื่องของการตัดตอนขบวนการคอลเซ็นเตอร์ตามตะเข็บชายแดนที่มีจำนวนมาก ถือว่าได้รับการประสานงานที่ดี อยากให้มีการติดตามที่ชัดเจน ส่วนเรื่องของทุนจีนสีเทา นายกฯ ย้ำ เรื่องของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานธุรกิจ เราไม่ได้รังเกียจ แต่เรารังเกียจนักธุรกิจผิดกฎหมาย ขอให้เจ้าหน้าที่รวมถึงฝ่ายมั่นคงอย่านิ่งนอนใจ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อไป
‘นายกฯ’ ประชุมหัวหน้าส่วนระดับกระทรวง เดินหน้าแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา ‘ขอ’ ช่วยปลูกฝังให้ น.ร.เกลียดชังยาเสพติด แนะแบ่งเงินรางวัลนำจับเป็น 2 ส่วน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2567
เกี่ยวข้องกัน
ย้ำ 13 จุด เน้น ผอ.สพท.พร้อมคลิกออฟโครงการ'OBEC Zero Dropout'
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทั่วประเทศ ครั้งที่ 1/2567 พร้อมมอบนโยบายจุดเน้น “เรียนดี มีความสุข” และคลิกออฟ โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” “OBEC Zero Dropout” “เรียนดี มีความสุข” และนโยบายเร่งด่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมีผู้บริหาร สพฐ.เข้าร่วม ณ โรงแรมไดม่อนด์พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ตนได้มอบนโยบายของรัฐบาล นโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ.โดยได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout และได้คลิ๊กออฟเปิดตัวโครงการ “OBEC Zero Dropout” หรือ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” เพื่อให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ทั้ง 245 เขตทั่วประเทศ นำนโยบายไปสู่แผนการปฏิบัติ การติดตามค้นหาเด็ก ว่าตกหล่นอยู่ที่ไหน เพื่อพากลับมาเรียน แต่ถ้าเจอตัวแล้วเด็กไม่อยากกลับมาเรียน ก็ต้องพาการศึกษาไปให้เด็ก เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษา ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล Thailand Zero Dropout และฝากถึง ผอ.โรงเรียน และคุณครูทั่วประเทศ ให้ทำเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง โดยให้ทุกเขตไปกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดให้ชัดเจนในการค้นหา ติดตามเนื่องจากขณะนี้ สำนักนโยบายและแผน สพฐ.มีข้อมูลเด็กดรอปเอาท์ ซึ่งเป็นภาพรวมทั้งหมดของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กระจายอยู่ทุกแท่ง ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึง ม.6 จำนวน 6.9 แสนคน จากตัวเลขของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่พบว่ามีเด็กดรอปเอาท์จากทุกสังกัดทั่วประเทศ จำนวน 1.02 ล้านคน ในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของ สพฐ.ได้ส่งข้อมูลให้ทุกเขตพื้นที่ฯ เร่งค้นหาติดตามเด็กกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาโดยเร็วที่สุด ตามไทม์ไลน์ที่ สพฐ.วางใว้ในการแก้ปัญหาเด็กดรอปเอาท์ ส่วนตัวเลขที่ รมว.ศธ.แถลงเมื่อวานนี้ (6 พ.ย.) ว่ามีเด็กดรอปเอาท์ จำนวน 394,039 คนนั้น คือเฉพาะกลุ่มเด็ก ป.1 - ม.3
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้มอบนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ทุกเขต นำนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ไปสู้เป้าหมายของการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ที่สำคัญได้กำชับให้ ผอ.ทุกเขต หาวิธีการลดภาระให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ครูมีเวลาไปจัดการเรียนการสอน และหาวิธีลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงให้ทุกเขตพื้นที่ฯดูแลโรงเรียน 9,214 โรงเรียน ในการเตรียมสอบ PISA ในปี ค.ศ.2025 ที่คาดว่าจะสุ่มสอบข้อสอบ PISA ในปีหน้านี้ สพฐ.มั่นใจว่า การสอบ PISA ในปีต่อไป เด็กเราจะมีผลการสอบที่สูงขึ้น เพราะทุกโรงเรียน ทุกเขตพื้นที่ฯได้เตรียมความพร้อมและได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ให้กับครูและนำชุดฉลาดรู้ให้นักเรียนมีความเข้าใจและฝึกทดสอบในการเตรียมตัวกันอย่างจริงจัง
“ผมได้เน้นย้ำ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ทุกเขต ว่าต้องมีแผนการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของ ศธ. แผนการปฏิบัติที่ให้มีเป้าหมาย มีตัวชี้วัด มีการติดตาม ผอ.เขตฯ ทุกคนต้องรู้ข้อมูลว่าโรงเรียนในพื้นที่ของตัวเองมีสภาพ ปัญหา อุปสรรคอะไร มีความต้องการ มีจุดอ่อน จุดแข็ง และมีการรายงานผลอย่างใกล้ชิด รวดเร็ว และเมื่อมีปัญหาให้ผอ.เขตฯลงพื้นที่ไปแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์”
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ในปี 2568 สพฐ.ได้กำหนดจุดเน้น “สพฐ.2568 ปีแห่งความท้าทายการศึกษาไทย” มี 13 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มมาจากโยบายรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา และปรับให้สอดคล้องกับ นโยบายรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร อาทิ
จุดเน้นที่ 1 เรื่อง ความปลอดภัย ทางโรงเรียนจะต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า ปัญหาซึมเศร้า ฯลฯ เนื่องจากเรามีนักเรียนกว่า 6 ล้านคน มีครู บุคคลากรฯ 5 แสนกว่าคน จะเห็นว่าในโรงเรียนมักมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงเน้นย้ำ ผอ.เขตฯ จะต้องไปออกแบบ มีมาตรการเฝ้าระวัง มีการเตือน และเมื่อเกิดเหตุแล้วจะต้องแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้นักเรียนอยู่ในโรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดสำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา
จุดเน้นที่ 2 เรื่อง การแก้ปัญหา Thailand Zero Dropout ซึ่งเป็นความท้าทายเนื่องจากมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้เอ็กซเรย์ทุกพื้นที่ โดยใช้ระบบ ใช้โปรแกรมค้นหาช่วยเหลือเพื่อนำเด็กให้กลับมาเรียน และ
จุดเน้นที่ 3 เรื่อง การสอบ PISA เนื่องจากในการสอบ PIZA ครั้งที่ผ่านมา เด็กเรามีผลการสอบต่ำมากที่สุดในรอบ 20 ปี จึงเป็นความท้าทายที่เราทุกคนตั้งเป้าว่าผลการสอบครั้งหน้า จะต้องมีคะแนนสูงขึ้น ดังนั้น ทุกคนจะต้องจับมือกันร่วมมือกันยกระดับการสอบ PIZA และการสอบโอเน็ต รวมถึงการสอบทุกประเภท เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนดี มีความสุข
นอกจากนี้ ได้มอบนโยบาย 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ กับ 1 มือถือ ซึ่งมาจาก โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” “OBEC Zero Dropout” ที่ สพฐ.ได้คิดนวัตกรรม โดยให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ไปคิดหารูปแบบ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดยะลา กับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ใช้รูปแบบไม่เหมือนกัน แต่ สพฐ.ก็ทำให้เห็น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เช่น ถ้าเด็กไม่อยากเรียนในระบบ ก็เรียนอยู่ที่บ้าน หรือส่งต่อไปเรียนที่อื่น จะมีทั้งเรียนในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ซึ่ง สพฐ.ได้ทดลองใช้ไปในหลายพื้นที่ เพราะเด็กบางคนมีความจำเป็นต้องช่วยพ่อแม่ประกอบอาชีพไม่สามารถมาเรียนในระบบได้ เราก็ไปจัดการเรียนให้ที่บ้านหรือที่อื่นตามนโยบาย “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” หรือ Anywhere Anytime ส่วนโรงเรียนมือถือ ต่อไปถ้าเด็กไม่สะดวกมาเรียนที่โรงเรียน เด็กมีมือถือ มีแท็บเล็ต มีเทคโนโลยี ก็เรียนผ่านเทคโนโลยี ซึ่งตนเชื่อว่าหลังจากที่มอบนโยบายไปแล้ว ผอ.เขตฯ ก็จะไปคิดรูปแบบอื่นๆ ตามบริบทของพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน และตามความพร้อมของผู้เรียน โดยตนได้เน้นย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ
ที่มา ; แนวหน้า วันพฤหัสบดี ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
เกี่ยวข้องกัน
กทม.อันดับ 1 เด็กหลุดระบบการศึกษา นักวิชาการ หวัง วันเด็กปีหน้า ศธ.ให้ของขวัญตาม น.ร.เข้าเรียน 50%
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ในเร็วๆนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะรายงานความก้าวหน้า ปัญหา และอุปสรรคในการทำนโยบาย Thailand Zero Dropout โดย ศธ.มีเป้าหมายในการนำเด็กจำนวน 1,025,514 คน ที่ออกนอกระบบการศึกษา ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งนโยบายนี้ดำเนินการใกล้ครบ 1 ปีแล้ว จากข้อมูลพบว่า จังหวัดที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร เด็กหลุดจากระบบ 117,704 คน ส่วน จ.เชียงใหม่ เด็กหลุดจากระบบ 36,888 คน หรือจะเป็นจังหวัดที่เป็นต้นแบบ อย่าง จ.ราชบุรีเด็กหลุดจากระบบ 14,875 คน โดยจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจะแตกต่างไปตามลักษณะสังคมของแต่ละพื้นที่
นายสมพงษ์ กล่าวว่า ในปี 2567 มีการประกาศนโยบายและติดตามช่วยเหลือเด็ก ถือว่า ศธ. ดำเนินการเรื่องดังกล่าวดีมาก มีการตื่นตัว ทำเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวง เป็นเรื่องที่ดีที่ศธ.ปรับ เปลี่ยนแปลง และเปิดกว้างมากขึ้น ที่กลับมามองเห็นเด็กเปราะบาง เด็กด้อยโอกาส ทำให้ใน 77 จังหวัดมีความพยายามติดตามตัวเด็กกลับเข้าระบบ ซึ่งในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ติดตามเด็กกลับมาได้ 139,690 คน หรือประมาณ 13.6% ทั้งนี้การติดตามตัวเด็กยังเป็นไปได้ยาก เพราะเมื่อเด็กออกจากระบบการศึกษาไป เด็กจะกระจัดกระจาย ออกนอกพื้นที่ ไปหางานทำ หรือมาตั้งแก๊ง เป็นกลุ่มก้อน
ส่วนสาเหตุที่เด็กออกกลางคัน มาจากประเด็นสำคัญๆ คือ
1.ปัญหาความยากจน
2.ปัญหาระบบโรงเรียน ที่เด็กมีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น ปัญหาด้านยาเสพติด ความรุนแรง การบูลลี่ การตั้งครรภ์ ก็จะถูกพลักออก
3.ปัญหาสุขภาพ เช่น สุขภาพไม่ดี มีความพิการ เด็กพิเศษ จะออกมาค่อนข้างเยอะโดยเฉพาะหลังจากเศรษฐกิจไม่ดี เด็กเหล่านี้ไม่เคยถูกสำรวจเลย
ซึ่งในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 มีการนำร่องโครงการ Thailand Zero Dropout ใน 25 จังหวัด ซึ่งใน 25 จังหวัดนี้ สามารถตามกลับมาได้ 62,515 คน แม้การตามเด็กค่อนข้างยาก แต่มีจังหวัดที่ตามเด็กกลับมาได้ 100% คือ จังหวัดปัตตานี และจังหวัดสุโขทัย ส่วนจังหวัดราชบุรีที่เป็นจังหวัดต้นแบบ กลับตามเด็กกลับมาได้ 12.4% เท่านั้น
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ศธ.มีนโยบาย มีแผน และมีนวัตกรรมสำคัญๆที่รองรับเมื่อเจอเด็ก และป้องกันไม่ให้เด็กออกนอกระบบการศึกษาอีก คือ มีนโยบายใน 1 โรงเรียน ๓ ระบบ ประกอบด้วย 1.การศึกษาในระบบ เหมือนหลักสูตรทั่วไปตามโรงเรียน 2.การศึกษานอกระบบ และ 3.การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ยืดหยุ่น ไม่เน้นการสอบ การแข่งขัน มีหลักสูตรตอบโจทย์ชีวิต เป็นการให้โอกาสแบบประคับประคอง ไม่พลักเด็กออก ไม่บังคับให้เด็กเรียนในระบบโรงเรียน ทำให้เห็นว่าโรงเรียนมีความเมตตา เอื้ออาทร ต่อเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เราไม่ได้เห็นมากนักในวงการศึกษา
“อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีประเด็นปัญหาอยู่ คือ กลุ่มคนที่เป็นกำลังสำคัญ โดยเฉพาะครูที่ต้องไปตามเด็ก พม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครระดับหมู่บ้าน ตำบล ซึ่งคนเหล่านี้จะรู้ว่าเด็กอยู่ไหน นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการระดับอำเภอ และจังหวัดที่จะประชุมเพื่อหาทางติดตามเด็ก รวมไปถึงคณะกรรมการระดับชาติ คือ คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ระดับชาติ ที่มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เริ่มดำเนินการติดตามเด็กได้ 1 แสนคนแล้ว
· อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นนโยบายที่เอาจริงเอาจัง แต่ระบบข้อมูลเขย่งกัน คือ ข้อมูลจากคณะกรรมการระดับชาติ ที่ดูอายุตั้งแต่ 3-18 ปี ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดูเด็กในการศึกษาภาคบังคับ และข้อมูลจาก สกร. ที่ดูเด็กที่อยู่นอกระบบแล้ว ทำให้ไม่ตรงกัน การใช้ข้อมูลร่วมกันอาจจะเกิดความลักลั่นอยู่ เมื่อข้อมูลที่ไม่ตรงกัน หน่วยงานแต่ละหน่วยงานก็จะยึดเอาข้อมูลของตนเป็นหลัก ซึ่งจะทำอย่างไรที่จะทำให้ข้อมูลที่มีอยู่เป็นชุดเดียวกัน และใช้ร่วมกันให้ได้” นายสมพงษ์กล่าว
· ปัญหาต่อมาคือ เด็กกว่า 1 ล้านคนที่ออกนอกระบบ เป็นเด็กเปราะบาง และมีสภาพปัญหา เด็ก 1 คน มีปัญหาอยู่ในตนเอง 3-4 เรื่อง เช่น ความยากจน ยาเสพติด การใช้ความรุนแรง เป็นต้น เมื่อตามเด็กกลับมาได้ การวิเคราะห์ การส่งต่อจึงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเด็กเหล่านี้ส่วนมากจะปฏิเสธระบบโรงเรียน
ดังนั้นเมื่อตามเด็กกลับมาได้ ต้องวิเคราะห์เด็กและเข้าไปถึงปัญหาที่แท้จริงให้ได้ โดยดูเด็กเป็นรายบุคคล ถึงจะสามารถออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพวกเขาได้ อาจจะต้องบำบัด เยียวยา ฟื้นฟูจิตใจ ดูเรื่องครอบครัวก่อนเป็นอันดับแรก แล้วมาเรียน ทั้งนี้อาจจะออกแบบการเรียนรู้ให้เขามีอาชีพ และรายได้ด้วย เพราะถ้าเรารีบตามเด็กกลับมาแล้วส่งเด็กเข้าระบบการศึกษาทันที อาจจะเกิดการออกวนซ้ำ ดังนั้น จะมุ่งเน้นดูจำนวนไม่ได้
· ปัญหาต่อมา คือ ระบบครอบครัว พม.ต้องเข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าว เช่น หาบ้าน หาอาชีพให้ครอบครัว เป็นต้น เพราะปัญหานี้ส่งผลต่อเด็กมาเช่นกัน สังคมสิ่งแวดล้อมในชุมชนก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ถ้าสังคมไม่ให้โอกาสเด็กเหล่านี้ ก็เป็นไปได้ยาก ส่วนปัญหาสุดท้ายที่พบมาก คือ ปัญหาสุขภาพจิตของเด็ก พบว่าเด็กถูกซ้ำเติม สะสมความเครียด ความรุนแรง บูลลี่ กล้อนผม ทั้งในระบบโรงเรียน ที่เข้าไปอยู่ในสภาพจิตใจเด็กอย่างมาก ดังนั้น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะทำอย่างไรช่วยเด็กเหล่านี้
“ดังนั้น ศธ. พม. สธ. กระทรวงมหาดไทยจะบูรณาการช่วยเหลือเด็กร่วมกันอย่างไร จะให้ ศธ. ทำงานอยู่ฝ่ายเดียวก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเด็กที่ออกจากระบบไม่ได้มาจากปัญหาการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย วันเด็กที่จะถึงนี้
รัฐบาลจะแถลงจำนวนเด็กที่เข้าระบบล่าสุด ซึ่งหวังว่าในจำนวนกว่า 1 ล้านคน รัฐบาลจะมีข่าวดี ว่าสามารถตามกลับมาได้ 50% หากทำได้ถือเป็นผลงานสำคัญ และเป็นผลงานที่ประชาชน สังคมจะยอมรับว่า ศธ. เปลี่ยนไป ดีขึ้น เอาใจใส่ รับฟัง ทำงานกับท้องถิ่น ออกชนดีขึ้น ไม่แยกส่วนเหมือนเมื่อก่อน” ยาบสมพงษ์ กล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์