ค้นหา

ร่างข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. ….

ผศ.ดร.อมลวรรณ  วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า คุรุสภาได้ปรับปรุงมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพของผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์เพื่อให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทการเปลี่ยนแปลงของการจัดการศึกษาในยุคปัจจุบัน 

ทั้งนี้ คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพในการประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2567 มีมติเห็นชอบในหลักการการเสนอ (ร่าง) ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาเสนอ และมอบสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วย มาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. …. ตามรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นทางกฎหมาย ผ่านระบบออนไลน์ บนเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และของคุรุสภาในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ 

จึงขอเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่าง ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. … เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป  

ผ่านทาง Google Form ที่  https://citly.me/mxl08  ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 

คุรุสภาเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. …. ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 

ดาวน์โหลด!! (ร่าง) ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. ….

คลิก ร่างข้อบังคับ>>>

ที่มา ; สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

เกี่ยวข้องกัน

คุรุสภาปลดล็อกกลุ่มบุคลากร 38 ค ได้ก้าวหน้าในวิชาชีพ

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมคุรุสภา ที่มี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. … เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) และกลุ่มอื่นๆ ที่มีความรู้ความสามารถได้มีโอกาสในวิชาชีพ นอกจากนี้ในการเห็นชอบร่างข้อบังคับของคุรุสภาฉบับดังกล่าว ยังมีเรื่องมาตรฐานตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ ซึ่งคุรุสภาได้เปิดโอกาสให้แก่บุคคลที่อยู่ในแวดวงสถาบันอุดมศึกษาที่มีประสบการณ์ความรู้หรือนักวิชาการได้มีโอกาสได้เข้ามาสมัครเป็นศึกษานิเทศก์ โดยหลักเกณฑ์การคัดเลือกศึกษานิเทศก์นั้นคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะไปกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้สอดคล้องกับกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป 

เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู (ฉบับที่ 2) พ.ศ. … เพื่อให้การดำเนินการจัดทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพครู สอดคล้องกับการออกข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 ลดภาระของผู้เข้ารับการทดสอบและมีความรวดเร็วในการประกาศผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู โดยการเห็นชอบร่างดังกล่าว จะเป็นการปลดล็อคจากเดิมผู้เข้ามาทอดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจะเก็บผลทดสอบไว้ได้ 3 ปี แต่เปลี่ยนเป็นเก็บผลทดสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ตลอดไป อีกทั้งผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใบแรกไปแล้วยังสามารถมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใบที่สองได้ในกลุ่มสาขาวิชาชีพอื่น เช่น เมื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกลุ่มวิชาปฐมวัยไปแล้ว ก็สามารถรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกลุ่มวิชาภาษาอังกฤษได้ เป็นต้น ดังนั้นครู 1 คน จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมากกว่า 1 ใบ ทั้งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้นและชั้นสูง 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ รมว.ศึกษาธิการ และคุรุสภา ที่เปิดช่องให้แก่กลุ่มบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) มีความก้าวหน้าในวิชาชีพสามารถขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากคุรุสภา เพื่อไปสอบในตำแหน่งต่างๆ ได้ ขณะเดียวกัน เรื่องครูสอนดนตรีโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งใน กทม. ทำอนาจารนักเรียนนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และคุรุสภา ร่วมกันทำงานเชิงรุกและป้องกัน เพื่อให้ไม่ให้ครูคนดังกล่าว ได้ไปปฏิบัติการสอน หรือไปทำกับเด็กในโรงเรียนอื่นๆ อีกต่อไป 

คุรุสภาปลดล็อกกลุ่มบุคลากร 38 ค ให้ก้าวหน้าในวิชาชีพตำแหน่งอื่นได้ พร้อมปรับการเก็บผลทดสอบขอรับตั๋วครู จาก 3 ปี เป็นเก็บได้ตลอดไป 

ที่มา ; เดลินิวส์ออนไลน์ 27 มิถุนายน 2567

 

เกี่ยวข้องกัน

ผลการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 6/2567 

วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 6/2567 พร้อมด้วยคณะกรรมการคุรุสภา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เป็นกรรมการและเลขานุการการประชุม โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาและมีมติในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้

1. ให้การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 5 แห่ง รวมจำนวน 5 หลักสูตร ที่เป็นไปตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนด ซึ่งผ่านการประเมินจากคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ดังนี้
1.1 ประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู จำนวน 2 แห่ง จำนวน 2 หลักสูตร ประกอบด้วย 1) มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น และ 2) มหาวิทยาลัยนครพนม
1.2 ปริญญาโททางการศึกษา (วิชาชีพครู) จำนวน 3 แห่ง จำนวน 3 หลักสูตร ประกอบด้วย 1) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 2) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ 3) วิทยาลัยพิชญบัณฑิต
 

2. เห็นชอบในหลักการ ร่าง ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. … เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 และข้อบังคับคุรุสภาที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ รวมทั้งความเป็นไปได้ในการนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ โดยไม่ขัดแย้งกับกฎหมายหลักและไม่กระทบต่อสิทธิและโอกาสของผู้ประกอบวิชาชีพ และเป็นไปตามพระราชบัญญัติ หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 

3. เห็นชอบ ร่าง ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. …. เพื่อให้การดำเนินการจัดการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู สอดคล้องกับการออกข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 ลดภาระของผู้เข้ารับการทดสอบฯ และมีความรวดเร็วในการประกาศผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู 

4. เห็นชอบการรับรองผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตนตามมาตรฐานวิชาชีพครู ครั้งที่ 3/2567 และ ร่าง ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง รายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตนตามมาตรฐานวิชาชีพครู ครั้งที่ 3/2567 จำนวน 13,216 คน ประกอบด้วย 1) หลักสูตรปริญญาตรีทางการศึกษา จำนวน 11,123 คน 2) หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู จำนวน 1,860 คน และ 3) หลักสูตรปริญญาโททางการศึกษา (วิชาชีพครู) จำนวน 233 คน และมอบสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

5. เห็นชอบ รายงานประจำปีเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีแผนการดำเนินงาน จำนวน 1 แผนงานยุทธศาสตร์ และ 4 พันธกิจ ประกอบด้วย พันธกิจที่ 1 พัฒนามาตรฐานวิชาชีพ และกำกับ ดูแลการประกอบวิชาชีพ พันธกิจที่ 2 พัฒนาวิชาชีพ และส่งเสริมครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ ตามมาตรฐานวิชาชีพ พันธกิจที่ 3 ประสาน ส่งเสริม การศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ พันธกิจที่ 4 พัฒนาระบบบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม 

6. รับทราบการจัดการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพครู รายวิชาครู ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งกำหนดเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม 2567 จำนวน 8 รอบ 18 แห่งทั่วประเทศ ผ่านเว็บไซต์ https://ksp67-2.thaijobjob.com กำหนดจัดทดสอบวันที่ 17, 18, 31 สิงหาคม และ 1 กันยายน 2567 และกำหนดประกาศผลสอบวันที่ 15 ตุลาคม 2567 โดยใช้แบบทดสอบฉบับภาษาไทยและเพิ่มแบบทดสอบภาษาอังกฤษ ในรอบที่ 4 และ 8 เพื่อรองรับผู้เข้าสอบชาวต่างชาติให้สามารถเข้าสอบในครั้งนี้ได้ด้วย 

7. รับทราบรายงานการติดตามการดำเนินงานตามแผนการควบคุมภายใน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของคุรุสภา ไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 2 (1 ตุลาคม 2566 – 31 มีนาคม 2567) เพื่อให้เป็นไปตามกรอบการประเมินองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

8. รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 17 พฤษภาคม 2567 

ที่มา ; สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

เกี่ยวข้องกัน

แก้ข้อบังคับคุรุสภาเปิดทางบุคลากรฯทุกกลุ่มนั่งเก้าอี้ผู้บริหารได้

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า จากนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มุ่งเน้นให้เกิดคุณภาพการศึกษาแก่ผู้เรียน ซึ่ง ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นบุคคลที่สำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ทางสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จึงได้หารือกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) เพื่อหาแนวทางเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาทุกกลุ่ม รวมถึงบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) และศึกษานิเทศก์ ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีจิตสำนึกดี ได้มีโอกาส มีความก้าวหน้าเข้ามาเป็นผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ โดยเสนอที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา พิจารณาปรับข้อบังคับมาตรฐานวิชาชีพ ให้รองรับการเข้าสู่ตำแหน่ง 

เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 บอร์ดคุรุสภาได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่าง ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. … ที่มีการปรับแก้ไขมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและสำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาบริหารการศึกษา สามารถเทียบประสบการณ์การบริหารในหน่วยงานเขตพื้นที่ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาได้และให้ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนในสถาบันและมีประสบการณ์การนิเทศ หรือการกำกับติดตาม หรือการวิจัยร่วมกับสถานศึกษา ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ได้

ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวด้วยว่า สำหรับการเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งหัวหน้างาน หรือตำแหน่งบริหารอื่นๆ ในหน่วยงานการศึกษา ใช้ประสบการณ์ประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ยังต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด คือ ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาก่อน และในส่วนของวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ได้แก้ไขมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ให้มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาหรือสถาบัน และมีประสบการณ์การนิเทศ หรือการกำกับติดตาม หรือการวิจัยร่วมกับสถานศึกษา เพื่อให้ผู้ที่มีประสบการณ์ตามที่กำหนด สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ได้ ซึ่งแนวทางการดำเนินการนี้ เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่สนับสนุนการเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาสามารถเลือกเปลี่ยนสายงานได้ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาสู่วิชาชีพครูมากขึ้นด้วย 

การปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าให้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ ได้มีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งบุคคลและหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการ ร่าง ข้อบังคับคุรุสภา ฉบับดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ผ่านเว็บไซต์คุรุสภา https://www.ksp.or.th/2024/06/26/51173/ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เพื่อจะนำข้อมูลความคิดเห็นที่ได้รับไปประกอบการพิจารณาดำเนินงาน และหลังจากนี้คุรุสภาจะจับมือกับ ก.ค.ศ. และ สพฐ. กำหนดรายละเอียดต่อไป” เลขาธิการคุรุสภา กล่าว 

คุรุสภา” ชูนโยบาย เรียนดีมีความสุข มุ่งสร้างครูดี ส่งเสริมความก้าวหน้าเพิ่มโอกาสบุคลากรทางการศึกษาทุกกลุ่ม เข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ 

ที่มา ; เดลินิวส์ 10 กรกฎาคม 2567