ค้นหา

ปัญหาประกันสังคมคือคนไร้ศรัทธาไม่ใช่จะล้มละลาย

 หากพูดถึงระบบ “สวัสดิการด้านสุขภาพ” ของคนไทยแบ่งออกได้เป็นสามระบบอย่างแรกคือระบบราชการ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาท รักษาทุกโรค) และประกันสังคม

เป้าหมายของทั้งสามระบบคือสร้างความปลอดภัยทางด้านสุขภาพให้ประชาชนคนไทยตามสิทธิ์ของแต่ละบุคคลตามกฎหมาย ทว่าประกันสังคมเป็นสิทธิ์เดียวจากทั้งสามระบบที่แรงงานต้องจ่ายเงินสมทบเข้าไปร่วมกับหน่วยงานรัฐและนายจ้าง

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาสถานะของกองทุนฯ ประกันสังคมได้รับการพูดถึงมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่กองทุนฯ มีโอกาสล้มละลายภายในอีก 26 ปีหลังจากนี้ เนื่องจากเม็ดเงินที่เข้ามามีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ไหลออกไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเงินบำนาญที่จ่ายให้ผู้เกษียณอายุ 55 ปีขึ้นไปจนกว่าจะเสียชีวิต ซึ่งได้รับผลกระทบจากจำนวนอัตราคนเกิดใหม่ที่น้อยลงสวนทางจำนวนผู้สูงอายุที่ปรับตัวสูงขึ้น

วันนี้ กรุงเทพธุรกิจ” ชวนพูดคุยกับ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี บอร์ดประกันสังคมในสัดส่วนผู้ประกันตนและอาจารย์ประจำคณะวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าวและหาทางออกเพื่อความยั่งยืนของกองทุนฯ ต่อไป 

การล้มละลายเป็นแค่ฉากทัศน์หนึ่งของการบริหารประกันสังคม

 รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า ประเด็นเรื่องประกันสังคมจะล้มในอีก 26 ปีนับตั้งแต่ปี 2567 เป็นเรื่องปกติของกองทุนฯ บำนาญทั่วโลกที่มีลักษณะการให้ผลตอบแทนแบบ “Defined Benefit” หรือระบุจำนวนเงินแบบชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันหลักการทางด้านวิชาการ ประชากรศาสตร์และบิ๊กเดต้าพัฒนาขึ้นดังนั้นจึงทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถคำนวณฉากทัศน์ทั้งหมดของกองทุนฯ ได้

ในกรณีของกองทุนประกันสังคมประเทศไทยคือการเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้กองทุนฯ ต้องเริ่มจ่ายเงินบำนาญให้ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุเมื่อครบ 55 ปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่เม็ดเงินสมทบของผู้ประกันตนในวัยแรงงานและผู้ประกันตนรายใหม่เข้ามาในระบบน้อยลง จึงทำให้ในอีกเกือบ 30 ปีต่อจากนี้กระแสเงินเข้าและออกของกองทุนฯ จะมีสัดส่วนที่เท่ากัน และจากนั้นกองทุนฯ จะไปถึงจุดที่เงินในกองทุนเหลือเงินศูนย์บาท

เหตุการณ์นี้เหมือนกับการทำแผนธุรกิจทั่วโลกคือถ้าคุณเป็นบริษัทเถ้าแก่แบบสมัยโบราณ คุณก็ดูแค่กำไรเดือนต่อเดือน หรือไม่ก็กำไรปีต่อปี เพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเอามาคำนวณหรือว่าคาดการณ์ผลประกอบการระยะยาว แต่เมื่อคุณมีข้อมูลครบก็จะสามารถคาดการณ์ฉากทัศน์ในอนาคตของธุรกิจได้”

ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีที่สำนักงานประกันสังคมได้ทำนายจุดพีคก็คือจุดที่เงินเข้ากับเงินออกมันจะเท่ากัน หลังจากนั้นเงินออกจะปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าเงินเข้า ซึ่งตามที่ได้คำนวณกันมาก็คือ 26 ปีหลังจากนี้”

แต่ไม่ว่าจะเป็นการบริหารธุรกิจหรือบริหารสำนักงานก็คงไม่มีใครอยู่เฉยๆ เป็นเวลา 26 ปีแน่นอน มันเหมือนกับตอนนี้คุณอายุ 33 ปี แล้วก็มีคนทำนายว่าถ้าคุณใช้ชีวิตแบบนี้ ต่อไปเรื่อยๆ อีก 26 ปีคุณจะตาย แล้วคุณจะไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลย มันก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นฉากทัศน์แบบนี้ มันก็มีการทำนาย มีการปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งเกิดขึ้นกับทุกกองทุนฯทั่วโลก” 

ปัญหาของกองทุนฯ ไม่ใช่จะล้มละลาย แต่คือประชาชนไม่เชื่อใจ

ทั้งนี้ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า หากมองลึกเข้าไปจะพบว่าปัญหาที่แท้จริงของกองทุนฯ ไม่ใช่การที่จะล้มละลายแต่เป็นเพราะอัตราส่วนแรงงานใหม่ที่เข้ามาในระบบประกันสังคมน้อยลงหรือประชาชนตัดสินใจไม่ส่งเงินเข้าเนื่องจากไม่เชื่อใจและรู้สึกว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้จากกองทุนฯ ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับเงินที่เสียไป

หลักใหญ่ที่เราต้องการจะปรับเปลี่ยน ไม่ใช่เรื่องกองทุนฯ จะล้มใน 26 ปี แต่คือเรื่องทรัสต์ ปัจจุบันความเชื่อใจของประชาชนกับกองทุนฯ ต่ำมาก ความเชื่อใจที่ว่านี้มาจากสองประเด็นหลักคือเรื่องสิทธิประโยชน์ที่น้อยและความโปร่งใสของการทำงาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทีมของผมคำนวณคือคุณก็ต้องมีสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมก่อนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น พอคนเกิดความเชื่อมั่น การปรับเปลี่ยนฉากทัศน์ของประกันสังคมก็จะเกิดขึ้นได้”

ถ้าเราปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่มีความจำเป็นสำหรับวัยทำงาน (ที่ยังไม่เกี่ยวกับเงินบำนาญ) สิทธิประโยชน์สำหรับคนในครอบครัว การเพิ่มค่าคลอด การเลี้ยงดูบุตร ประกันการว่างงานที่เหมาะสม ถ้าเราเพิ่มแบบเต็มที่ มันจะทำให้อายุประกันสังคมสั้นลงไม่เยอะ ประมาณ 2 ปี 10 เดือน ซึ่งไม่ได้มีผลอย่างมีนัยสำคัญ”

จากนั้นเมื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนเพื่อเพิ่มความไว้วางใจของกองทุนฯ แล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องทำคือการหาเงินเพิ่มเพื่อยืดอายุต่อไปซึ่งประกอบด้วย 3 วิธีหลักคือการปรับเพิ่มส่วนสมทบของรัฐ การเพิ่มเพดานการสมทบเป็น 17,500 – 20,000 บาท  การสร้างแรงจูงใจเพื่อเพิ่มเงินสนับสนุนตามฐานเงินเดือน และการเร่งผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนฯ

อย่างแรกคือการปรับเงินสมทบภาครัฐ ตอนนี้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายฝั่งละ 5% แต่ภาครัฐ 2.5% ถ้าเราปรับเพิ่มส่วนของรัฐบาลให้เป็น 5% จะสามารถขยายอายุกองทุนฯ ได้ 3-4 ปี ก็คือจะเจ๊ากับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเข้าไปให้ประชาชน แต่การจะไปกดดันให้รัฐบาลเพิ่มเงินสมทบ อันนี้ยากระดับที่ว่าคุณต้องมีรัฐบาลเป็นพวก คุณต้องมีรัฐบาลที่เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ ซึ่งใช้พลังเยอะ เหมือนกับว่าคุณต้องมี ส.ส. ครึ่งสภาฯ ที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้”

อย่างที่สองคือการปรับเพิ่มเพดานสมทบ ถ้าขยายสัก 17,500 – 20,000 บาท แต่เก็บ 5% เท่าเดิม ก็ยืดอายุกองทุนฯ ได้เหมือนกัน แต่ก็ได้แค่ 3-5 ปี ก็เจ๊าเฉลี่ยกันไปเหมือนฉากทัศน์แรก แต่ถ้าไปเพิ่มตรงนี้ คนที่เงินเดือน 15,000 บาท หรือ 20,000 บาท จะได้รับผลกระทบ เพราะคนกลุ่มนี้เพิ่งเริ่มทำงาน ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง”

ดังนั้นเงิน 200 บาทที่เขาต้องจ่ายเพิ่มให้ประกันสังคมคือข้าววันหนึ่งของพวกเขา หรือถ้า 2,400 ต่อปีก็เป็นเงินที่เขาสามารถพาครอบครัวไปเที่ยวได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ ปรับเพิ่มก็ได้ 3-5 ปี แต่ผลลัพธ์คือคนที่รายได้น้อยก็จะต้องแบกส่วนนี้เพิ่มขึ้น หรือถ้าทำ ก็ต้องทำอย่างระวังหรือขยับไปทำกับกลุ่มที่รายได้สูงก่อน” 

ส่วนอีกทางหนึ่งคือเป็นทางที่ Progressive (ก้าวหน้า) สุดโต่งคือไม่มีเพดานเลย คุณเงินเดือนแสน ก็จ่าย 5,000 บาทต่อเดือน 60,000 บาทต่อปี แต่คุณก็จะได้ฐานเงินบำนาญ ฐานเงินว่างงาน ฐานเงินชดเชยการลาคลอดต่างๆ เพิ่มขึ้น ถ้าซัดไปแบบนี้กองทุนฯ ก็จะมีอายุเพิ่มขึ้น 20 กว่าปี แต่ก็ยากเพราะต้องไปสู้กับคนรวย ให้คนรวยมาจ่ายให้ประกันสังคมปีละ 60,000 บาท ก็ลำบากเหมือนกัน”

ดังนั้นเราก็เลยไปดูอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งเป็นช่องทางที่สำนักงานฯ สามารถทำได้ คือปัจจุบันผลตอบแทนจากการลงทุนของสำนักงานประกันสังคมอยู่ที่ 3% ต่อปี ซึ่งต่ำและใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นควรทำให้รีเทิร์นอยู่ที่ประมาณ 6.5% ทว่าประเด็นนี้ต้องเข้าไปแก้กฎหมายการลงทุนของประกันสังคมจึงจะเริ่มผลักดันได้”

แก้ไขกฎหมาย เปิดทางลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงได้มากขึ้น

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานประกันสังคมระบุไว้ว่าสามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้เพียง 30% ในขณะที่อีก 70% ที่เหลือต้องลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลไทย ดังนั้นหน้าที่ในฐานะบอร์ดประกันสังคมในสัดส่วนผู้ประกันตนคือการผลักดันให้กองทุนฯ สามารถลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่า 3% 

ตอนนี้มีแผน 5 ปีของการลงทุนประกันสังคมที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณา สิ่งที่เราต้องทำคือการปรับเพิ่มสินทรัพย์ที่เรียกว่า สินทรัพย์เสี่ยงให้สามารถลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันระบุไว้ที่ 70:30 ซึ่ง 70 คือสินทรัพย์ไม่เสี่ยงอย่างพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ ถ้าคุณล็อกไว้แบบนี้ ผลตอบแทนมันแค่ 2-3% อีก 30% คุณบริหารเก่งขนาดไหนนะ มันก็ดึง 70% นี้ขึ้นมาไม่ได้ ดังนั้นถ้าเราสามารถปรับเพิ่มสัดส่วนตัวนี้ เหมือนแนวทางของกองทุนบำนาญของต่างประเทศ สินทรัพย์เสี่ยงเขาสามารถลงทุนได้ถึง 60% สินทรัพย์เสี่ยงต่ำแค่40%”

รวมถึงสิ่งหนึ่งที่เราต้องนิยามใหม่ก็คือพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศซึ่งได้ผลตอบแทน 5% ขึ้น แต่กฎหมายปัจจุบันยังนิยามว่าเป็นสินทรัพย์เสี่ยง อะไรที่อยู่นอกประเทศถูกนิยามว่าเสี่ยงหมด ซึ่งว่าถ้าเราสามารถเปลี่ยนนิยามตรงนี้ กองทุนฯ ก็จะสามารถไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศได้ และก็ตีผลตอบแทนอย่างน้อย 5-6% ทว่าก็ต้องมีการบริหารความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ขอให้รัฐเพิ่มเงินสมทบ กระทบการคลังไทยแค่ไหน ?

เมื่อถามถึงหนึ่งฉากทัศน์ที่เขาอยากให้ภาครัฐเพิ่มเงินสนับสนุนจาก 2.5% ไปเป็น 5% ว่าจะกระทบสถานะทางการคลังของประเทศไทยมากขนาดไหน เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยก็ปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ แสดงความคิดเห็นว่า สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาอีก 2.5% นั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล

จริงๆ แล้วมันเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ถ้าให้ผมเทียบมันอาจจะเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นหลักหมื่นล้านบาทต่อปี คือไม่ได้เพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ เปรียบเทียบกับดิจิทัลวอลเล็ตอันเดียวก็ 4 แสนล้านบาทแล้ว ผมคิดว่าถ้าเพิ่มตรงส่วนนี้ขึ้นไปก็จะทำให้กองทุนฯ มีความคล่องตัวมากขึ้น และจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องของกองทุนฯ ในอนาคตได้เช่นเดียวกัน”

กองทุนประกันสังคมขยับตัวยากเพราะเป็นราชการ 100%

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวในช่วงท้ายว่าการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในสำนักงานกองทุนประกันสังคมค่อนข้างช้าเนื่องจากเป็นการทำงานแบบระบบราชการ 100% ภายใต้กระทรวงแรงงาน

การทำงานของประกันสังคมตลอด 30 กว่าปีอยู่ภายใต้ Comfort Zone (พื้นที่ปลอดภัย) และ Best Practice (วิธีที่ทำมาโดยตลอด) บางอย่างที่พวกเขาคุ้นเคยมาตลอด 30 กว่าปี ข้าราชการบางคนก็เติบโตมาตั้งแต่ในสายกระทรวงมหาดไทยด้วยซ้ำ ตั้งแต่ยังไม่ตั้งกระทรวงแรงงาน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นภาพของการบริหารงานของประกันสังคมภายใต้ระบบราชการ 100% เป็นอย่างไร”

ดังนั้นการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ เช่นการปรับสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงใช้เวลา แต่ข้อดีของการออกแบบสำนักงานประกันสังคมคือยึดหลักไตรภาคีหรือการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน นายจ้างและรัฐบาล นั้นเลยเปิดช่องให้สุดท้ายพวกเราสามารถมีตัวแทนของฝั่งประชาชนเข้าไปได้”

“Best Practice ที่ว่าคือคนทำงานข้าราชการจะมีความกังวลและขี้กลัวหลายๆ อย่าง เช่น ถ้าระเบียบบอกว่าต้องทำแบบนี้ ก็ต้องตาม A B C ไปแบบนี้ ถ้าอยากให้ทำก็ต้องไปแก้ระเบียบก่อน แล้วระเบียบก็มีหลายขั้นมาก ตั้งแต่แนวปฏิบัติ ประกาศ กฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกา ใหญ่ไปถึงขั้น พ.ร.บ. ที่ต้องแก้ไขในระดับสภาฯ ถ้าไม่สามารถแก้ไขเรื่องพวกนี้ได้ ข้าราชการส่วนหนึ่งก็จะรู้สึกกังวล ไม่กล้าที่จะขยับ ทั้งหมดเป็นความกังวลของข้าราชการที่สำนักงานฯ”

ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือคนที่บริหารประกันสังคมไล่มาตั้งแต่ผู้อำนวยการกองไปจนถึงเลขาไม่ได้ใช้ประกันสังคมเพราะเป็นข้าราชการ ดังนั้นความรู้สึกต่อเรื่องนี้ เรื่องผู้ประกันตน หรือนายจ้าง บอร์ดที่เข้าไป ความรู้สึกถึงความเร่งรีบของเรื่องนี้แตกต่างกัน”

บางครั้งผมก็สัมผัสได้ว่า Perception (มุมมอง) ของข้าราชการที่ทำประกันสังคมจะคล้ายๆ ข้าราชการกระทรวงพม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) คือเหมือนกำลังทำบุญอยู่หรือกำลังทำความดี ซึ่งมันก็เป็นมายด์เซ็ตที่ดีนะครับ แต่ว่าปัญหาคือเขาอยู่ภายใต้ระบบสวัสดิการแบบหนึ่ง แต่กำลังบริหารระบบสวัสดิการแบบหนึ่งให้คนเกือบ 20 ล้านคน ตรงนี้ผมก็คิดว่า ก็มีปัญหาหลายอย่าง”

ที่มา ; กรุงเทพธุรกิจ

 

เกี่ยวข้องกัน

ไทยมี “งบจ่าย” บุคลากรรัฐ 3 ล้านคน สูงกว่าหลายชาติอาเซียน ดราม่าประกันสังคม ปลุกปฏิรูปข้าราชการ 

จากกรณี บุคลากรระดับสูงของสำนักงานประกันสังคม ได้ใช้บริการชั้นโดยสาร ชั้นหนึ่ง หรือ เฟิร์สคลาส (First Class) ในการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อศึกษาดูงาน  โดยหลังจาก ข่าวนี้ถูกเปิดเผยออกมา ก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างรุนแรง เพราะหลายคนมองว่า เป็นการใช้จ่ายเงินของกองทุน ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม 

เนื่องจากกองทุนประกันสังคม เป็นเงินออมที่บังคับเรียกเก็บจากผู้ประกันตน สมทบโดยนายจ้าง และรัฐ ซึ่งควรถูกใช้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกันตนทุกคน ไม่ใช่เพื่อความสะดวกสบายของบุคลากรภายในองค์กร 

ท่ามกลางกระแสข่าวความกังวลต่างๆ ที่เสียงดังเรื่อยๆ  ว่า กองทุนประกันสังคม เสี่ยง”จะ ล้ม" ในอีกไม่นาน หรือ เกิดปัญหาทางการเงินใหญ่ๆ ในอนาคต จากปัญหาการบริหารจัดการและความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว 

เนื่องจากเดิมที กองทุนประกันสังคม มีปัญหา ขาดดุลงบประมาณ อยู่ก่อนแล้ว จากจำนวนผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าจำนวนคนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากกองทุน (เช่น การรักษาพยาบาล หรือเงินชราภาพ) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

แต่จำนวนคนที่จ่ายเงินเข้าไปในกองทุนอาจไม่เพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะในกรณีที่จำนวนคนทำงานในระบบประกันสังคมลดลงจากการลดอัตราการเกิดหรือการย้ายถิ่นของแรงงาน 

โดยข้อมูลออกมาว่า ถ้าประกันสังคม ไม่ปรับปรุงใดๆ กองทุนบำนาญ จะหมดภายใน 30 ปี จากนั้นต้องขึ้นเงินสมทบแบบก้าวกระโดด เพื่อให้พอจ่ายเป็นรายปี

·       ใครได้ :  คนที่เกษียณเร็ว ได้เงินเต็ม

·       ใครเสีย :  คนรุ่นใหม่ต้องจ่ายหนักขึ้น หรือเริ่มรับบำนาญ ช้าลง 

ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ก็เป็นอีกหนึ่งความกังวล ที่มีการพูดถึงกันมาก ว่าที่ผ่านมา กองทุน ได้มีการลงทุน ในธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของกองทุนได้ 

ปลุกกระแสปฎิรูป "ประกันสังคม" หลุดออกข้าราชการ ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ 

ล่าสุด ยิ่งตอกย้ำ เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับการใช้เงินในทางที่ไม่คุ้มค่า หรือ การบริหารที่ไม่โปร่งใส ก็อาจทำให้กองทุนขาดประสิทธิภาพในการใช้จ่าย และเสี่ยงต่อการขาดสภาพคล่อง เกิดการตั้งคำถาม และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและโปร่งใสมากขึ้นในการใช้งบประมาณของกองทุนที่มาจากเงินของประชาชน  

สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของ กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า ที่เตรียมเสนอกฎหมาย นำประกันสังคมออกนอกระบบราชการ เพื่อสร้างความโปร่งใส และดึงคนมีศักยภาพเข้ามาบริหารจัดการแทน 

ในประเด็นเดียวกัน ในฝั่งของนักวิชาการก็มีการกล่าวถึงในลักษณะไม่แตกต่างกัน โดย รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวนการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า แม้ กองทุนประกันสังคม ถูกออกแบบไว้อย่างดี เพื่อให้เกิดการจ่ายสมทบแบบมีส่วนร่วมจากสามฝ่ายลูกจ้าง นายจ้างและรัฐบาล จึงเป็น “กองทุน” ของสาธารณชนโดยโครงสร้างเงินสมทบ และ ทำให้ประชาชนมีวัฒนธรรมการออมที่เข้มแข็งอีกด้วย 

ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคม ที่เปรียบเหมือนเป็น เสาหลักของระบบสวัสดิการสำหรับผู้ใช้แรงงาน การบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัว โปร่งใส มีธรรมาภิบาล จึงสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน เสถียรภาพของผู้ประกอบการ และความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของรัฐ  

เห็นด้วย กับการปฏิรูปประกันสังคมสู่องค์กรของรัฐที่ไม่ใช่ราชการเป็นองค์กรที่บริหารงานได้แบบแบงก์ชาติ กลต. หรือ กบข. ควรถูกนำมาศึกษาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง  

การพัฒนา “กองทุนประกันสังคม” ให้เป็น “องค์กรของรัฐ” ที่ไม่ใช่ส่วนราชการอาจจำเป็นสำหรับอนาคตของสังคมไทย รัฐบาลต้องมอบความเป็นอิสระให้กับ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประกันสังคม ในการบริหารกองทุนประกันสังคมและปกป้องจากการแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพต่อกองทุน และ เปิดให้มีส่วนร่วมจากผู้แทนผู้ประกันตนและนายจ้างที่มาจากการเลือกตั้ง ในการกำกับดูแลนโยบายได้อย่างเหมาะสม

 

 

 

เปิดข้อมูล ไทยมีงบรายจ่ายเกี่ยวกับบุคลากรรัฐสูงกว่าชาติอื่นในอาเซียน 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เรื่องการใช้จ่ายของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐในทางที่ไม่เหมาะสม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น 

เพราะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศไทยมาเนิ่นนาน ในแง่ของการบริหารจัดการงบประมาณ และมันสะท้อนถึงการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐที่อาจจะไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาวได้ 

ไม่นับรวม ข้อมูลที่ชวนคิดต่อ จากงบประมาณรายจ่ายของบุคลากรภาครัฐของประเทศไทย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆปี และ หากคิดเป็นสัดส่วนจะสูงมากถึง 6% ต่อ GDP  

อ้างอิงการรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีบุคลากรภาครัฐสูงราว 3 ล้านคน หรือ เป็นสัดส่วนราว 7% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ที่สำคัญ คือ สูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน เช่น 

·       สิงคโปร์ แค่ราว 4% ต่อ จีดีพี

·       อินโดนีเซีย 3% ต่อ จีดีพี

·       เวียดนาม 4% ต่อ จีดีพี  

สำหรับบุคลากรภาครัฐนั้น ประกอบไปด้วย 

1.ข้าราชการ 

2.พนักงานรัฐอื่นๆ เช่น พนักงานจ้าง/พนักงานข้าราชการ ,ลูกจ้างประจำ ,พนักงานรัฐวิสาหกิจ และ อื่นๆ  

รายงานในชุดเดียวกัน ยังเผยว่า งบประมาณรายจ่ายของบุคลากรภาครัฐคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบรายจ่ายรวม ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โตเฉลี่ย 3% ต่อปี โดยปี 2568 งบประมาณรายจ่ายของบุคลากรภาครัฐ 1.2 ล้านล้านบาท 

·       32%ของงบรายจ่ายรวม 

·       6% ต่อ จีดีพี   

ประกอบไปด้วย งบบุคลากร (เงินเดือน) ,ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ /พนักงานรัฐ ,เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ รวมไปถึง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น เงินสำรองชดเชย สมทบข้าราชการ เงินเลื่อนเงินเดือน /ปรับวุฒิ เป็นต้น 

อ้างอิงจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  

ที่มา ; ไทยรัฐออนไลน์ 

เกี่ยวข้องกัน

สูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคม

สิทธิประกันสังคม 2568 ตามติดความเคลื่อนไหวล่าสุดกับ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" เปิด สูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพ 2568 สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th จ่ายเงินเดือนตลอดชีพ ให้ผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 เกษียณอายุ 55 ปีบริบูรณ์ เงินเข้าวันไหน ใครได้เงินบ้าง

สรุปเงื่อนไขผู้ประกันตนที่จะได้รับเงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคม

  • อายุ : ผู้ประกันตนต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน : ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (พนักงานบริษัท) หรือมาตรา 39 (ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ) ต้องสิ้นสุดลง

 

ระยะเวลาการส่งเงินสมทบประกันสังคม

  • หากส่งเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือน (15 ปี) จะได้รับ "เงินบำเหน็จ" เป็นเงินก้อนครั้งเดียว
  • หากส่งเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป จะได้รับ "เงินบำนาญ" เป็นรายเดือนตลอดชีวิต

การยื่นขอรับสิทธิเงินบำนาญชราภาพ 2568 

  • ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพได้ภายใน 1 ปีหลังจากสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

วิธีการคำนวณเงินบำนาญชราภาพ 2568 และตัวอย่างของจำนวนเงินที่จะได้รับตามระยะเวลาการส่งเงินสมทบ

 

สิทธิ์ในการรับเงินบำนาญประกันสังคม

  • ผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์จะได้รับสิทธิ์ในการรับเงินบำนาญชราภาพ
  • เงินบำนาญนี้จะจ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต

 

วิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพ 2568

  • เงินบำนาญจะคำนวณจากร้อยละของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ
  • อัตราเงินบำนาญจะแตกต่างกันไปตามระยะเวลาการส่งเงินสมทบ

 

ตัวอย่างจำนวนเงินบำนาญชราภาพ

  • ระยะเวลาส่งเงินสมทบ 15-20 ปี : ได้รับ 3,000-4,125 บาท/เดือน
  • ระยะเวลาส่งเงินสมทบ 21-25 ปี : ได้รับ 4,350-5,250 บาท/เดือน
  • ระยะเวลาส่งเงินสมทบ 26-30 ปี : ได้รับ 5,475-6,375 บาท/เดือน
  • ระยะเวลาส่งเงินสบทบ 31-35 ปี : ได้รับ 6,600-7,500 บาท/เดือน

ปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนเงินบำนาญชราภาพ

  • ระยะเวลาการส่งเงินสมทบ
  • ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

 

สรุปรอบการจ่ายเงินบำนาญชราภาพจากสำนักงานประกันสังคม 

กำหนดการจ่ายเงิน

  • สำนักงานประกันสังคม จะโอนเงินบำนาญชราภาพเข้าบัญชีผู้รับเงินภายในวันที่ 25 ของเดือน
  • หากวันที่ 25 ตรงกับวันหยุดราชการ (เสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์) สำนักงานประกันสังคมจะเลื่อนการจ่ายเงินเป็นวันทำการก่อนวันหยุด
  • เดือนมีนาคม 2568 สำนักงานประกันสังคม มีกำหนดจ่ายเงินบำนาญชราภาพ ในวันอังคารที่ 25 มีนาคม 2568

 

การยื่นขอรับสิทธิเงินบำนาญชราภาพ

  • หากยื่นขอรับสิทธิภายในวันที่ 7 ของเดือน จะได้รับสิทธิในเดือนนั้น
  • หากยื่นขอรับสิทธิหลังวันที่ 7 ของเดือน จะได้รับสิทธิในเดือนถัดไป

เงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับภายใน 7-10 วันทำการ (ไม่นับวันหยุดราชการ) หลังจากได้รับการอนุมัติ

 

การเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงิน

  • สำนักงานประกันสังคมได้เปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินบำนาญชราภาพจากเดิมที่จ่ายในเดือนถัดไป เป็นจ่ายภายในวันที่ 25 ของเดือนที่ได้รับสิทธิ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นมา

 

ช่องทางสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สำนักงานประกันสังคม แนะนำติดต่อผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้

ที่มา ; กรุงเทพธุรกิจ 22 มี.ค. 2025