“อรรถพล” ชงทบทวนร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติฯให้รมว.ศธ.พิจารณา
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา กลุ่มพัฒนาและวินิจฉัยกฎหมายของ สกศ. ได้รายงานความคืบหน้าการทบทวนข้อเสนอแนะบางประเด็นเพิ่มเติมในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความรอบคอบเหมาะสม และมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยประเด็นที่มีการทบทวนเพิ่มเติม ได้แก่ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการพัฒนาสมรรถนะคนในทุกช่วงวัย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเป้าหมาย บทบาท และหลักสูตรการจัดการศึกษา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือในการจัด การศึกษาในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน
เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ สกศ. ได้มีการจัดประชุมเชิงปฎิบัติการเรื่องดังกล่าว โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นมาร่วมวิเคราะห์ในประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนประเด็นความเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆของการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวแล้ว โดยจะให้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำให้กฎหมายการศึกษาฉบับนี้มีความสมบูรณ์ต่อไปตามข้อสั่งการของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ที่มอบให้สภาการศึกษาทำหน้าที่ประสานทบบวนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขณะเดียวกันที่ประชุมยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการกำหนดโครงสร้าง ภารกิจ กลไกการบริหารงานการกำหนดตำแหน่งและกรอบอัตรากำลังของกระทรวงศึกษาธิการในภาพรวม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ควรเน้นหลักการบูรณาการการทำงาน การใช้ทรัพยากรร่วมกัน และการลดความซ้ำซ้อนของภารกิจนั้น ความเห็นเบื้องต้นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เห็นว่า หลักการกระจายอำนาจทางการบริหารจัดการศึกษาไปสู่ระดับพื้นที่ ยังคงเป็นหลักการสำคัญที่ควรกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้ในส่วนรายละเอียดสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดโครงสร้าง ภารกิจกลไกการบริหารงาน การกำหนดตำแหน่งแลกรอบอัตรากำลังของกระทรวงศึกษาธิการในภาพรวม เห็นควรจะกำหนดไว้ในกฎหมายเฉพาะต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนจะนำข้อเสนอทบทวนประเด็นต่างๆ เหล่านี้เสนอให้นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย และรมว.ศึกษาธิการ พิจารณาต่อไป
ที่มา ; เดลินิวส์
เกี่ยวข้องกัน
“โสภณ” เผยยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับ กรรมาธิการศึกษา สำเร็จ เชื่อเป็น “ฉบับปฏิวัติการศึกษา”
เมื่อวันที่ 19 กันยายน นายโสภณ ซารัมย์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวเกี่ยวกับการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา
นายโสภณ กล่าวว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้คือ “พ.ร.บ.ฉบับปฏิวัติการศึกษา” ซึ่งจะเป็นกฎหมายสำคัญในการกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาในยุคการเปลี่ยนแปลงของโลก ให้ “ทั่วถึง เท่าเทียม ทันยุค” ซึ่งปัจจุบันมนุษย์ได้รับผลกระทบ
จากสิ่งที่เกิดขึ้นมากมาย และกว้างขวาง อันส่งผลให้เกิดการลดลงของประชากร ความเป็นอยู่ของคนในสังคมที่ยากลำบากขึ้น ปัญหาต่างๆ ในสังคมที่มีมากมาย ล้วนเกิดจากอิทธิพลทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และวัฒนธรรมทั้งสิ้น
“การศึกษานั้นจึงเป็นหลักประกันที่สำคัญ ที่จะสร้างองค์ความรู้ ความสามารถ และภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชาติ จากการที่คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงพื้นที่ทุกภาคของประเทศ เพื่อเก็บข้อมูลสภาพจริงเชิงลึก และรับฟังข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน และได้นำข้อมูลเหล่านั้น มาวิเคราะห์ ในหลายๆ ที่อย่างครอบคลุมทุกประเด็น ใช้เวลาทำงานอย่างต่อเนื่อง ทุ่มเท เสียสละ ร่วม 1 ปี เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของคนในสังคมอย่างแท้จริง จึงมั่นใจว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศได้อย่างตรงจุด และตรงประเด็น ปัจจุบันจำนวนสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของเรา เป็นสถานศึกษาขนาดเล็กกว่า 14,000 แห่ง และพบว่ามีปัญหาการจัดการศึกษามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านบุคลากร สื่อวัสดุอุปกรณ์ แหล่งเรียนรู้ต่างๆ ไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ของเด็ก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ไม่มีความสุขในการเรียน จึงออกจากระบบการศึกษา มากถึง 1.02 ล้านคน” นายโสภณ กล่าว
นายโสภณ กล่าวต่อว่า ใน พ.ร.บ.นี้ มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาหลายมิติ ไม่ว่าจะกำหนดให้มีการใช้ทรัพยากรด้านครู สื่อการเรียน ทรัพยากรอื่นๆ ร่วมกันในรูปแบบของกลุ่มโรงเรียน เพื่อสร้างความพร้อมในการจัด การศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาที่พบได้อย่างเหมาะสม พ.ร.บ.นี้ ยังให้ความสำคัญต่อการลดภาระของผู้ปกครอง และผู้เรียน โดยจัดให้มีระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติขึ้น เพื่อผู้เรียนสามารถนำผลการเรียนมาสะสมเทียบโอน และใช้ประโยชน์ในการเพิ่มคุณวุฒิการทำงานและการศึกษาต่อ โดยจะเพิ่มบทบาทหน้าที่ให้หน่วยงานที่มีอยู่แล้ว ให้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เป็นหน่วยงานกลาง ในการดำเนินการดังกล่าว เป็นต้น
สำหรับ การจัดการการศึกษาระดับปฐมวัย ต้องให้ความสำคัญ กับการศึกษาของเด็กปฐมวัย ให้ได้รับการ พัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ ปลูกฝังภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้ใฝ่ดี เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่สามารถกำหนดคุณสมบัติของคนเราเกือบจะทั้งหมด การให้การศึกษาในวัยนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
นายโสภณ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน ทำให้เด็กส่วนใหญ่ ในท้องถิ่นไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่ต้องดิ้นรนเพื่อปากท้อง ออกจากบ้านเพื่อหางานทำ จึงฝากบุตรหลานไว้กับ ปู่ย่า ตา ยาย ความอบอุ่นที่ได้รับก็ลดน้อยลง ความผูกพันกับพ่อแม่แทบจะไม่มีเลย ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงต้องเป็นพ่อแม่ คนที่ 2 ของเด็ก ปลูกฝัง สร้างความรัก ความอบอุ่นได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้แล้ว พ.ร.บ.นี้ยังให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา ได้ปรับเปลี่ยนเป็น 2 ระบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อสร้างความเสมอภาคทาง ความรู้สึกและให้ความสำคัญของระบบทั้งสองอย่าเท่าเทียมกัน และเพื่อสนองตอบต่อความถนัด ความสามารถของผู้เรียน ได้เรียนรู้ในรูปแบบที่ถนัด และหลากหลาย ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ยังระบุให้เป็นการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา – อาชีวศึกษา (วุฒิ ปวช.) เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนฟรี สำหรับผู้ที่ถนัดสายสามัญ ก็จะถูกพัฒนาให้เป็นมันสมองของชาติ และผู้ที่ถนัดทักษะอาชีพ ก็จะเป็นกลไกสำคัญของตลาดแรงงานที่มีคุณภาพ และสร้างรายได้ ยกฐานะทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติ และยังมีการปฏิวัติอีกหลายๆเรื่อง อาทิ เช่น ปรับปรุงการวัดผลประเมินผล การประเมินคุณภาพภายนอก ต้องมี ความน่าเชื่อถือ และไม่เป็นภาระของครูเหมือนในอดีตที่ผ่านมา พ.ร.บ.นี้จึงไม่บัญญัติ หน่วยงาน สมศ.ให้ทำภารกิจดังกล่าว
“ในด้านโครงสร้างการบริหาร ก็จะต้องปรับเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงานของส่วนราชการ ซึ่งจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานให้มากยิ่งขึ้น ในลักษณะ “จิ๋ว แต่ แจ๋ว” และเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็น สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ ยังมีอีกหลายเรื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่ปรับไปในทางที่ดี มีความชัดเจน มีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ดังคำกล่าวที่ว่า “ทั่วถึง เท่าเทียม ทันยุค” หลังจากนี้ จะได้ส่งนำร่าง พ.รบ.ดังกล่าว ส่งให้พรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อให้เสนอข้อเสนอแนะมายังคณะ กมธ. ภายใน 15 วัน และนำมาปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น จากนั้นพร้อมนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร ให้ทันภายในสมัยการประชุมนี้ต่อไป” นายโสภณ กล่าว
“โสภณ” เผยยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับ กรรมาธิการศึกษา สำเร็จ เชื่อเป็น “ฉบับปฏิวัติการศึกษา”
ที่มา ; มติชนออนวันที่ 19 กันยายน 2567
เกี่ยวข้องกัน
ชำแหละร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับใหม่ ‘นักวิชาการ’ ชี้ลดขัดแย้ง-กระจายอำนาจ
นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการจัดทำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… นั้น ส่วนตัวมองว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่จัดทำโดย คณะกรรมาธิการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน มีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเพราะร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีพื้นฐานมาจาก ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) นำข้อขัดแย้งบางประการออกไป และคงส่วนที่ดีไว้รวมถึงเติมส่วนที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ที่สำคัญคือร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับนี้ เกิดขึ้นจากฉันทามติของทุกพรรคการเมือง เป็นเรื่องดีที่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเห็นพ้องต้องกัน
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันยังได้ตัดประเด็นที่เคยทำให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งเรื่องผู้บริหาร ครู โครงสร้าง และเรื่องวิชาการที่มีลักษณะบังคับมากจนเกินไป เปลี่ยนบทบาท ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มาเป็นผู้กำกับดูแล ตรวจสอบ สนับสนุนมากขึ้นและสิ่งที่สำคัญที่สุดคืออำนาจการบริหารจัดการจะอยู่ที่รัฐมนตรีว่าการศธ. กับ ปลัดศธ. ส่วน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะถูกแยกออกไปอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีฐานะเป็นกรม มีหน้าที่สำคัญในการทำแผนการศึกษาแห่งชาติ มีการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยกสถานะโรงเรียนเป็นนิติบุคคล มีอิสระในการบริหารจัดการ ให้ความสำคัญกับโรงเรียนขนาดเล็ก สามารถรวมกลุ่ม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดสรรทรัพยากรสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ยังเขียนไว้ด้วยว่าโรงเรียนสามารถใช้พนักงานธุรการร่วมกันได้ และโครงการใด ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน โรงเรียนมีสิทธิปฏิเสธไม่เข้าร่วมได้ เห็นได้ว่าเรื่องที่เป็นปัญหาในปัจจุบันจะได้รับการแก้ไขในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมถึงมีการกำหนดให้รัฐต้องสนับสนุนการจัดการศึกษาที่หลายหลาย รวมถึงการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยในรูปแบบโฮมสคูลด้วย ต่างจากในปัจจุบันที่ในกฎหมายจะใช้คำว่าอาจจะเข้ามาสนับสนุน ทำให้ไม่ได้รับการดูแลที่ครอบคลุม
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า มีการมอบอำนาจให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นผู้จัดทำหลักสูตรแกนกลาง และส่วนที่ดีคือทุก 6 ปี จะต้องมีการทบทวนพัฒนาหลักสูตรใหม่ การจัดการศึกษาต้องมีความว่า ยืดหยุ่น สอดคล้องกับความต้องการของเด็กแต่ละกลุ่ม เพื่อให้สามารถจัดการศึกษาได้ทั่วถึง ตั้งแต่แรกเกิดจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ส่วนที่คิดว่า จะเป็นปัญหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ การจัดทำกฎหมายลูก ที่จะต้องปรับให้สอดคล้องกับกฎหมายแม่ ที่กำหนดให้ศธ.เป็นผู้ดำเนินการ และต้องเสร็จภายใน 2 ปี จะเต็มไปด้วยกฎหมายและระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการศึกษา ส่วนหนึ่งเพราะศธ.คงไม่ยอมเปลี่ยนบทบาทและลดอำนาจของตัวเองให้น้อยลง
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 18 ตุลาคม 2567
เกี่ยวข้องกัน
‘บิ๊กเขต’ ยื่น 4 ข้อเสนอยกร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ ค้านปรับโครงสร้าง ‘ซิงเกิลคอมมานด์’
นายธนชน มุทาพร ที่ปรึกษาชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 พฤศจิกายน กรรมาธิการ(กมธ.)การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เป็นเจ้าภาพจัดงานเสวนา รับฟังความคิดเห็น ผู้เกี่ยวข้อง ในการยกร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. โดยมีผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผู้อำนวยการโรงเรียน และองค์กรครูทั่วประเทศ เข้าร่วม โดยเบื้องต้น จะมีการยื่นข้อเสนอ 4 ประเด็น ดังนี้
“ทั้ง4ประเด็นนี้จะถูกนำไปพูดคุยในวันดังกล่าว รวมไปถึงจะมีการยื่นเรื่องให้กับฝั่งรัฐบาล และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยอยากให้รัฐมนตรีว่าการศธ.เข้าใจและรับฟังปัญหาที่อาจจะขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เพราะเห็นว่า โครงสร้างการจัดการศึกษาในปัจจุบันมีความเหมาะสมเพียงพอ ทุกฝ่ายต่างทำหน้าที่และแบ่งงานกันทำตามความถนัดของแต่ละองค์กรได้ดี จนทำให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง ซึ่งหากมีการปรับโครงสร้างให้เป็นรูปแบบซิงเกิลคอมมานด์ จะทำให้กลายเป็นการรวมศูนย์อำนาจ ทำงานได้ช้า ในส่วนของงบประมาณก็จะลงไปสู่ห้องเรียนได้น้อยลง ไม่เหมาะกับการบริหารงานของศธ.”นายธนชน กล่าว
นายธนชน กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ในการเสวนาวันดังกล่าวจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการผลิตครู การปฏิรูปหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ให้อำนาจสถานศึกษาในการจัดทำหลักสูตรมากยิ่งขี้น ลดการทำหลักสูตรแนวท่องจำ เน้นการเรียนรู้ปฏิบัติจริงในห้องเรียนหรือ Active Learning ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเกิดขี้นได้ต้องมีการกระจายอำนาจให้อิสระกับห้องเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษาซึ่งบุคลากรเหล่านี้หลายคนมีองค์ความรู้มาก พอที่จะคิดได้ว่าเด็กและห้องเรียนต้องพัฒนาไปในทิศทางใดจึงจะตอบโจทย์การเรียนรู้ เพียงแต่ยังขาดอิสระในการทำงานเนื่องจากส่วนกลางเป็นผู้กำหนดนโยบาย “ความคาดหวังหลังจากการพูดคุยคืออยากให้ รัฐมนตรีว่าการศธ. และฝ่ายการเมือง รับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมและนำไปพิจารณาในการยกร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับใหม่ ถือเป็นการแสดงพลังในรูปแบบปัญญาชนที่ต้องการนำเสนอความคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาของไทยเพียงเท่านั้น ไม่ได้ต้องการมาชุมนุมเชิงก่อตั้งม๊อบหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนแต่อย่างใด”นายธนชน กล่าว
ด้านนายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา กล่าวว่า สำหรับ4ประเด็นหลักที่ทางกลุ่มตัวแทนจะนำเข้าไปพูดนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นข้อเสนอที่กลัวจะเสียอำนาจการบริหารในส่วนของหน่วยงานตนเองไป เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างเขตพื้นที่ฯ และศธจ. ซึ่งหากจะปัญหาโครงสร้างศธ.ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับใหม่จะต้องรื้อโครงสร้างทั้งหมด และสร้างระบบขึ้นมาใหม่ หาความสมดุลในการบริหารงาน ระหว่างเขตพื้นที่ฯและศธจ.
“ผมมองว่าระบบโครงสร้างในปัจจุบันนั้นยังไม่ใช่การกระจายอำนาจที่ดีพอ แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้มีโครงสร้างแบบซิงเกิลคอมมานด์เช่นเดียวกัน ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้าง อยากให้คิดให้รอบด้าน ตกผลึกกันใหม่อีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลในระยะยาว ที่สำคัญอยากให้มองข้ามความขัดแย้ง ในเรื่องเหล่านี้ไปก่อนและลงลึกแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสถานศึกษา ห้องเรียน และผู้เรียน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการพัฒนาการศึกษา ”
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567
เกี่ยวข้องกัน
ชงข้อเสนอยกร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ จัดสรรงบแลกเป้า-เพิ่มเงินรายหัว
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า สำหรับการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับใหม่นั้น ทราบว่าทางกรรมธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเสวนาเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะ ซึ่งในส่วนของ ศธ.พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายเพื่อตกผลึก และจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ ให้เกิดประโยชน์สุงสุดต่อการพัฒนาการศึกษา
นายชัยณรงค์ ช่างเรือ ผู้แทนสมาคมผู้บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับใหม่อยากเน้นเรื่องการปฏิรูประบบผลิตครู ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยควรต้องมีสถาบันผลิตครูเป็นการเฉพาะ เพื่อให้สามารถคัดเลือกผู้ที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูที่แท้จริงมาเป็นครู รวมถึงจะต้องมีระบบการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ
นายชัยณรงค์กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่สำคัญที่ควรกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ คือ การปฏิรูปการจัดการศึกษา โดยอยากให้มีการจัดสรรงบอุดหนุนที่มีความเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่ง เพิ่มงบอุดหนุนรายหัวให้มากขึ้น โดยตอนนี้จะเห็นได้ว่าบางโรงเรียน แม้จะอยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เดียวกัน แต่ก็ได้รับการจัดสรรงบไม่เท่ากัน บางโรงเรียนได้งบไม่ถึงหลักแสน แต่ต้องใช้เงินส่วนนั้นบริหารสถานศึกษาตลอดทั้งปี ถือเป็นความขาดแคลนอย่างแท้จริง
“อนาคตอาจจะต้องแบ่งการจัดสรรงบเป็น 2 ก้อนคือ งบแลกเป้าและงบอุดหนุนรายหัว คือ โรงเรียนใดสามารถบริหารจัดการงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ควรมีเงินพิเศษมอบให้เป็นรางวัล หากสามารถทำได้จะทำให้สถานศึกษาเกิดการแข่งขันด้านคุณภาพ มุ่งสู่ความเป็นเลิศ เพราะถ้าสถานศึกษาต้องบริหารจัดการท่ามกลางความขาดแคลนก็จะเกิดการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ถูกด้อยค่า” นายชัยณรงค์กล่าว
นายชัยณรงค์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอยากให้สอบถามความคิดเห็นผู้อำนวยการเขตพื้นฯและผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะเป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ได้สัมผัสและรู้ถึงปัญหา ส่วนเรื่องโครงสร้าง ศธ.นั้น ส่วนตัวเชื่อว่าโครงสร้างปัจจุบันอยู่ในทิศทางที่ดีแล้ว แต่จะต้องมีการเพิ่มในส่วนของการกระจายอำนาจลงพื้นที่ และห้องเรียนให้มากขึ้น เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ที่มา ; มติชนออนไลน์
เกี่ยวข้องกัน
เขตพท.การศึกษา vs ศึกษาธิการจังหวัด…จะไปทางไหน
ได้ผลจริงๆ ครับ หลังจาก รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) โยนประเด็นปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ด้วยความคิดใหม่เสนอให้จังหวัดเป็นพื้นที่หลัก จัดการบริหารการศึกษาอย่างมีเอกภาพและคุณภาพ
ให้เขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของศึกษาธิการจังหวัด ภายใต้คณะกรรมการการศึกษาจังหวัด
ในอนาคตจังหวัดที่มีความพร้อมอาจพิจารณาให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาออกนอกระบบราชการ มีเงินตอบแทนไม่ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อเดือน ทำสัญญาจ้างคราวละ 4 ปี หากไม่สามารถบริหารการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงให้พ้นจากตำแหน่ง
ความคิดดังกล่าวได้รับปฏิกิริยาตอบกลับ ทั้งดอกไม้และก้อนอิฐในเวลาเดียวกัน มีทั้งสนับสนุนและเห็นต่างผมเลยมัดมือชกเอาข้อคิดเห็นของแต่ละฝ่ายมาเล่าสู่กันฟังต่อไป
ท่านแรก รศ.ประภาภัทร นิยม แห่งโรงเรียนรุ่งอรุณสะท้อนคิดว่า ความคิด ข้อเสนอของ รศ.เอกชัย ชัดเจนดีมาก น่าชื่นชม ที่กล้าเสนอประเด็นการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารรวมศูนย์กลางเดิม มาสู่การกระจายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบไปยังจังหวัด
ท่านต่อมา ดร.สมพร เพชรสงค์ สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี เห็นว่าข้อเสนอยังสัมผัส การเร่งรัดคุณภาพผู้เรียนอย่างตรงไปตรงมาไม่ค่อยชัด เน้นโครงสร้างการบริหารเป็นหลัก ซึ่งมีผลกระทบทั้งบวกและลบ
อีกรายฝ่ายเห็นแย้ง นักการศึกษาระดับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา มองว่า “ความคิด รศ.เอกชัย ไม่ใช่กลยุทธ์ใหม่ และความคิดใหม่” มีเหตุผลดังนี้
1.การบริหารโดยให้ สพท.อยู่ภายใต้กำกับของศึกษาธิการจังหวัด เป็นการถอยหลังลงคลอง ประเทศเราเคยบริหารแบบนี้สมัย ร.ร.ประชาบาล รุ่นคุณพ่อ คุณแม่ คณะกรรมการขับเคลื่อนจังหวัดล้มเหลว เพราะจังหวัดไม่เข้าใจการศึกษาอย่างลึกซึ้ง เหมือนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ผลิตนักศึกษามาแล้วได้แต่วิชาการ หรือตำรา ต้องมาปฏิบัติคือ ฝึกประสบการณ์จึงจะเข้มแข็ง ดูตัวอย่างใกล้ตัว กศจ.ที่บริหารงานบุคคลผิดพลาด อุ้ยอ้าย ต้องกลับคืนมาที่ สพท. ซึ่งตอนนี้ทุกเขตบริหารจัดการได้ดีในภาพรวม ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ามีบางเขตที่ไม่โปร่งใส แต่ก็ต้องหากลไกในการป้องปราม และลงโทษ
2.ดิจิทัลไม่ใช่ภัยคุกคาม และเป็นเครื่องมือสนับสนุนการศึกษาและการทำงาน หากเปิดรับ เปิดใจไม่กลัวคนจะหมดคุณค่า แต่ต้องฝึกพัฒนาคนให้ก้าวไปกับเทคโนโลยี ยอมรับความแตกต่าง ประเทศจะผลิตงานวิจัยได้อีกมากมายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และจะเพิ่มศักยภาพด้านการศึกษาส่งเสริมให้คนศึกษาต่อได้อีกมากและสะดวกทุกที่ทุกเวลา
3.เงินเดือนและอายุไม่ใช่เรื่องใหม่ การจัดทำข้อตกลง ทำสัญญา เป็นการเลียนแบบต่างประเทศ ที่มีการจัดการศึกษาโดยท้องถิ่น ทั้งญี่ปุ่น และอเมริกา ประเทศไทย เงินเดือนผู้บริหาร และครูปัจจุบันไม่ได้น้อยไม่ใช่ปัจจัยต้นที่จะเป็นเครื่องมือล่อตา ล่อใจ แต่การเตรียมความพร้อมของคนมาบริหารครู บริหารเขตต่างหาก ที่ต้องคำนึงถึง ประเทศไทยยังไม่เตรียมคน ฝึกคน ให้มีชาตินิยม ให้มีระเบียบแบบแผน ความรับผิดชอบ อย่างจริงจัง การศึกษาไม่ได้มีพื้นฐานของคุณภาพที่เท่าเทียมทั่วทุกอณูตารางนิ้วของประเทศ
4.ประเทศไทยติดแต่กับดัก พูดแต่ PISA คะแนนสอบ เรื่องซ้ำๆ ไปดูการสอบเป็นแบบสุ่ม กี่ปีก็ตามไม่มีวันแก้ไขได้ เพราะการศึกษาประเทศไม่เท่าเทียม PISA ต่ำไม่ได้หมายถึงเด็กไม่เก่ง ไม่มีทักษะ แต่เพราะการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม เสมอภาค หากเลือกสอบใน ร.ร.ชื่อดังร.ร.ที่มีความพร้อม ตั้งแต่คุณภาพชีวิตนักเรียน สภาพครอบครัว ฐานะ การศึกษา อย่างไรก็ได้คะแนนดี ไปดูคะแนนสอบ O-NET รายโรงเรียน แปรผกผันตามปัจจัยที่กล่าวมา
5.นักการศึกษามีแต่ปรับโครงสร้าง พ.ร.บ.การศึกษาไม่ได้พิการ ทุกวันนี้ผ่านมาเป็น 20 กว่าปี ยังขับเคลื่อนได้ไม่หมดทุกมาตรา แต่ต้องปรับที่รากฐานคือ ผู้ปกครองนักเรียน ครู และโรงเรียน
การบริหารจะออกมารูปแบบใดต้องมีพื้นฐานที่มั่นคง ใช้พื้นที่จังหวัด อำเภอ หรือประเทศเป็นฐาน ต้องให้เท่าเทียม ลด single command แต่ให้กระจายอำนาจโดยมีการเตรียมคนอย่างแท้จริง ผู้บริหารต้องผ่านการขับเคี่ยวความรู้ในทุกด้าน ครูต้องผ่านการขับเคี่ยวศาสตร์การสอน และอื่นๆ ต้องผ่านการขับเคี่ยวอย่างเข้มข้น ถึงเข้าสู่การศึกษา แต่ปัจจุบันหากคิดอะไรไม่ออกตั้งแต่มหาวิทยาลัย ก็เปิดสาขาครู ลดคะแนนสอบ ถ้าทำข้อสอบเข้าไม่ได้ ใช้ระบบคัดเลือก หยิบใครก็ได้มาเป็นครู/ศึกษานิเทศก์
6.ศึกษานิเทศก์ปัจจุบันไม่ได้ทำงานตัวเองมีแต่ทำโครงการ ที่ลงนิเทศ เพราะมีค่าตอบแทนค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง การทำโครงการคือการเพิ่มฐานะทางการเงิน ค่าตอบแทนวิทยากร ต้องเป็นแบบกลุ่ม สำนักงานไหนไม่ให้ทำก็เกิดปัญหาเป็นมาเฟียในองค์กร ปั่นป่วน ต้องเฟ้นหาคนและขับเคี่ยวเช่นเดียวกับครู ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีคนมาเป็น ศน. เพราะถ้าครูเข้มแข็ง ผอ.ร.ร.เข้มแข็งก็สามารถนิเทศกันเองได้ หรือแลกเปลี่ยนระหว่าง ร.ร./กลุ่ม/จังหวัด
ทั้งหมดนี้ที่เขียนมาแค่แลกเปลี่ยนทัศนะมุมมอง เพราะรู้สึกว่าเหรียญมี 2 ด้าน การคาดเดา วางแปลนโดยไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ เกิดปัญหาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เสียงสะท้อนที่เคยให้ไปไม่เคยดังพอ คนตัวเล็กเลยต้องทำงานตามคนตัวใหญ่ที่ไม่เคยแม้สัมผัสงาน เพียงแต่ได้สดับรับฟังหน้างานที่จริงบ้าง เท็จบ้าง และนำมาผสมผสานความคิด ตามอคตินิยม และความเชื่อ และสั่งให้ลงมือทำ หรือนี่ คือ
สุดท้ายไม่ได้ว่าข้อคิดของอาจารย์เอกชัยผิด แต่เห็นว่ากลยุทธ์เคยมีมาแล้วในต่างแดน ประเทศไทยต้องบริหารบนสภาพจริงของประเทศ และพัฒนาสู่คุณภาพ บนบริบทของเรา คารวะอาจารย์ด้วยใจ
ฟังเสียงสะท้อนกลับแล้ว รศ.เอกชัย สานเสวนามาอีกครั้ง ให้สาธารณชนคนกลาง ร่วมคิด วินิจฉัย ดังนี้ ครับ
ประเด็นที่น่าสนใจคือ การมีศึกษาธิการจังหวัดเป็นการถอยหลังเข้าคลองใช่หรือไม่ คำตอบคือมีทั้งใช่และไม่ใช่ เพราะคิดแบบชื่อเดิมคือมีศึกษาธิการอำเภอ ศึกษาธิการจังหวัด ดูเหมือนแบบเดิม แต่หากพิจารณาดูบทบาทหน้าที่และอำนาจเปลี่ยนจากเดิมที่ศูนย์กลางอำนาจอยู่กระทรวงศึกษา จะถูกกระจายมาที่ระดับจังหวัดอย่างแท้จริง
ประเด็นสำคัญข้อเท็จจริงในยุค คสช. ที่ให้มีศึกษาธิการจังหวัด มีแผนยุบยกเลิกเขตพื้นที่การศึกษาตามมาในภายหลังตั้งศึกษาธิการจังหวัดแล้ว แต่ท่าน พลเอก ดาว์พงษ์ รมว.ศึกษายุคนั้นได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี แผนนี้จึงหยุดชะงักทำไม่ทัน รมว.ศึกษาฯท่านใหม่ก็ไม่กล้าทำต่อ เลยก่อปัญหาแย่งชิงอำนาจบริหารบุคคลระหว่างเขตพื้นที่และศึกษาธิการจังหวัดมาต่อเนื่องจนเอาอำนาจกลับไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาแบบเดิม
ลองทบทวนความจริงที่ผ่านมาครับว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารการศึกษาทุกครั้งที่ผ่านมา ผลประโยชน์ไม่เคยตกอยู่กับนักเรียน หรือสังคม หรือผู้ปกครองเลย มีแต่ผู้อยู่ในตำแหน่งได้ประโยชน์ทั้งนั้น ถึงเวลาที่ต้องทบทวนแล้วว่าที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษาของเด็กแย่ลงมีใครต้องรับผิดชอบหรือไม่ คำตอบคือไม่มีครับ ได้แต่อ้างข้อจำกัดต่างๆ หาเหตุปัดความรับผิดชอบทั้งสิ้น
การเปลี่ยนแปลงการบริหารการศึกษาที่จะเกิดในอนาคตต้องถามก่อนว่าเปลี่ยนแปลงแล้วนักเรียนได้ประโยชน์ สังคมได้ประโยชน์แท้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้ออ้างของผู้มีอำนาจอยู่ในตำแหน่ง เพื่อหาเหตุรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนเอง อ้างเพื่อคุณภาพผู้เรียนทั้งสิ้น แท้จริงเพียงต้องการมีตำแหน่งหรือรักษาสถานะของตนให้นานที่สุด คุณภาพการศึกษาของผู้เรียนเป็นอย่างไรก็ไม่ต้องมีคนรับผิดชอบแบบที่ผ่านมาอย่างนั้นหรือ
การกระจายอำนาจการบริหารการศึกษาอย่างแท้จริง คือการถอยหลังลงคลองหรือการเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลง แม้ชื่อเรียกศึกษาธิการแบบเดิม แต่บทบาท อำนาจหน้าที่เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม กระทรวงศึกษาฯจะไม่สามารถย้ายศึกษาธิการจังหวัดได้แบบอดีตเลย อำนาจการบริหารอยู่ที่จังหวัดอย่างแท้จริง
อยากถามว่าเป็นการถอยหลังลงคลอง หรือเดินหน้าหนีโคลนตม หากผู้บริหารยังมี Mindset แบบเดิมๆ ติดกับชื่อเดิมๆ คิดแบบเดิมๆ ไม่ผิดครับแต่หลงยุคเท่านั้น และคงสิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลงที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนได้ครับ
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567
เกี่ยวข้องกัน
องค์กรครู ชี้ได้’พ.ร.บ.การศึกษาฯ’ฉบับใหม่ปี69 จี้’ส.ส.-ส.ว.’ ฟังเสียง ปชช.
นายธนชน มุทาพร ที่ปรึกษาชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส่วนตัวได้เห็นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…ฉบับของสภาการศึกษา (สกศ.) ที่ได้ผ่านการทบทวน ซึ่งจากเท่าที่ดูรายละเอียด เบื้องต้น เห็นว่ายังคงเป็นร่างเดิมที่ค้างในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและไม่ได้มีการปรับแก้ เพียงแต่ว่ามีการแนบเอาร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับของพรรคการเมืองต่างๆและข้อเสนอแนะเข้าไปขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งก็คงจะต้องมีการแปรญัตติ ในมาตรากฏหมายต่างๆกันอีกมากพอสมควร
“ส่วนที่สำคัญที่สุดที่ควรจะมีการแปรญัตติกันใหม่คือ มาตรา 8 ที่กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในแต่ละช่วงวัยให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยให้ความสำคัญกับทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Differences Theory) ทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligence) เมื่อดำเนินการปฏิบัติ จะเป็นการป้องกัน เปิดโอกาสการพัฒนาผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ การวางเป้าหมาย ระดับ และสมรรถนะของแต่ละช่วงวัยควรให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษาแต่ละระดับและแต่ละประเภท หรือบทบาทที่กระทรวงกำหนด เพราะจะยึดผู้เรียนสะท้อนถึงความต้องการการเรียนรู้ ที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญโดยคำนึงถึงความพร้อมและความแตกต่างระหว่างบุคคล”นายธนชน กล่าว
นายธนชน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ยังมีอีกหลายมาตราที่องค์กรครูทั่วประเทศได้แสดงความคิดเห็นออกไปว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาดีที่สุด ทั้งนี้ ส่วนตัวเข้าใจว่าทำไม สกศ.ถึงไม่กำหนดเรื่อง เหล่านี้ไว้ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่ผ่านการทบทวน เพราะหากเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายจึงมีแค่การแนบความคิดเห็นเพื่อให้รัฐสภาได้พิจารณาปรับแก้ในรายละเอียด โดยหวังว่าความคิดเห็นที่ได้เสนอไปจะได้รับการตอบรับจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) มากพอสมควร แต่อาจจะมีบางประเด็นที่ต้องพูดคุยกันอีกครั้ง เช่น การปรับโครงสร้าง หรือ การยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
“ส่วนเรื่องความก้าวหน้าทางวิชาชีพครู และ สิ่งที่นักเรียนจะได้รับจากการศึกษา ผมคิดว่าทุกฝ่ายน่าจะเห็นตรงกันหมดแล้วว่าต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดคุณภาพที่ดีต่อการศึกษา รวมไปถึงการผลิตครูที่ควรจะเป็นระบบผลิตแบบปิด เชื่อว่าเรื่องเหล่านี้ทางรัฐสภาจะรับฟังเสียงของประชาชนและหาทางออกที่ดีออกมาเพราะทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ที่จะมีส่วนในการพิจารณาครั้งนี้ต่างมาจากเสียงของประชาชนเช่นกัน” นายธนชน กล่าว
นายธนชน กล่าวต่อว่า ในส่วนของความแตกต่างระหว่างร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับของสกศ.และของพรรคการเมืองต่างๆ บางส่วนทางร่างพ.ร.บ.ของพรรคการเมืองได้มีการปรับแก้ให้สอดคล้อง กับร่างพ.ร.บ.ฉบับของสกศ.แล้ว ซึ่งหลังจากพิจารณา ออกมาเป็นร่างกฏหมาย ทางองค์กรครูทั่วประเทศจะเข้ามาช่วย แสดงความคิดเห็นและตรวจดูรายละเอียดทุกมาตรา ว่าส่วนใดที่อาจทำให้เกิดปัญหา เพื่อปรับแก้ให้พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับนี้มีความสมบูรณ์และดีที่สุด
“ผมคิดว่าการเปิดประชุมรัฐสภาในสมัยหน้าคงยังไม่ได้ พ.ร.บ.การศึกษาฯ เพราะต้องมีการแปรญัตติเกือบทุกมาตรา ซึ่งก็คงใช้เวลานานพอสมควร แต่หากไม่ทัน ก็ไม่เป็นไรเพียงแต่ขอให้ใช้เวลาและได้พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับที่ดีที่สุดโดยคาดว่าในปี 2569 ทุกอย่างคงเสร็จสิ้นเรียบร้อยและได้เห็นพ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับจริง ที่มีความสมบูรณ์”นายธนชน กล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 25 ธันวาคม 2567