26 กันยายน 2567 ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) เปิดแผยว่า จากผลการประเมินระดับนานาชาติ PISA ของประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และแนวโน้มของระบบการศึกษาไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกโดยรวมแล้ว พบว่า ผลการประเมินของไทยยังคงมีความท้าทายและมีช่องว่างที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนไทยในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับการประเมินครั้งก่อน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ ซึ่งมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ถึงแม้ว่านักเรียนไทยจะมีความสามารถในการทำงานร่วมกัน และมีความคิดสร้างสรรค์ในระดับหนึ่ง แต่ผลการประเมินยังแสดงให้เห็นว่านักเรียนไทยยังขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ประกอบกับโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทักษะที่จำเป็นในการทำงานและดำรงชีวิตในอนาคตก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย
ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนฯ PISA กล่าวต่อว่า ดังนั้น สำนักงานปลัดกระทรวง อว.มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับผลการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) ด้วยการพัฒนาหลักสูตร ทักษะครู และสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการปรับปรุงผลการประเมินระดับนานาชาติในอนาคต โดยมีแนวทางสำคัญ คือ
1.กำหนดนโยบายและมาตรฐานระดับชาติ โดยการพัฒนากรอบหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาวิธีการสอนและเครื่องมือที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตามแนวทาง PISA
2.พัฒนาครูผู้สอน เริ่มตั้งแต่การผลิตบัณฑิตหรือครูผู้สอนให้มีทักษะการสอนที่ทันสมัย สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาความรู้และทักษะของครูและอาจารย์ที่เป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมสมรรถนะของผู้เรียน
3. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเรียนรู้ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลและเครื่องมือการเรียนรู้ได้อย่างสะดวก รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มอายุได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ หรือการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และ
4. สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และที่สำคัญคือ การสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
ขณะที่ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและยกระดับผลการประเมิน PISA (Programme for International Student Assessment) ของประเทศไทยในปี 2568 ซึ่งเป็นโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล สำนักงานปลัดกระทรวง อว.จะเน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียนหรือเรียกว่า “ความฉลาดรู้” (Literacy) ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยจะใช้โรงเรียนสาธิตในสังกัดกระทรวง อว.เป็นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและความฉลาดรู้ตามแนวทาง PISA ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง อว.ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพสูง
ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนฯ PISA เผย 3 กุญแจสำคัญยกระดับผลการประเมินระดับนานาชาติเด็กไทย ปี 68 เตรียมกำหนดนโยบายและมาตรฐานระดับชาติ โดยการพัฒนากรอบหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและพัฒนาครูผู้สอน ด้านดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ ชูหลักสูตรในโรงเรียนหรือเรียกว่า “ความฉลาดรู้” (Literacy) 3 ด้านได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์สู้ศึก PISA
ที่มา ; แนวหน้า วันพฤหัสบดี ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2567
เกี่ยวข้องกัน
บอร์ด PISA เคาะแผนพัฒนา ‘ครูแม่ไก่’ ยกระดับสมรรถนะ ‘วิทย์-คณิต-ภาษาไทย’
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการ PISAแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2567 โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายธงชัย ชิวปรีชา และ นายศรัณย์ โปษยะจินดา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วยคณะกรรมการ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และมี รศ.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ด้วยนั้น
ซึ่งที่ประชุมได้หารือและพิจารณาร่างแผนการจัดอบรมครู (ครูแม่ไก่) เพื่อสร้างให้เป็นนักสร้างข้อสอบตามแนว PISA ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 3 วิชา วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย ในรูปแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และออนไซต์ หลักสูตร 5 วัน ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 จำนวน 8 รุ่น รุ่นละ 40 คนต่อวิชา รวม 960 คน จากนั้นจะขยายการอบรมสู่ครูระดับมัธยมศึกษาทุกสังกัดต่อไป เพื่อให้ครูสามารถนำแนว PISA ไปปรับใช้ในการออกข้อสอบปลายภาคได้ทันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าในการติดตามการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ในสถานศึกษา และรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ของแต่ละสังกัดการศึกษาด้วย
“ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า การทำงานครั้งนี้ มิใช่เป็นเพียงเพิ่มผลคะแนนในการประเมิน PISA 2025 เท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศ ทั้งในการอ่านออกเขียนได้ การคิดวิเคราะห์ การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การพัฒนาครูผู้สอน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์การเรียนการสอนและสื่อที่ทันสมัย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ กระทรวงศึกษาธิการเพียงลำพังคงจะทำไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจทุกหน่วยงาน และเมื่อทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ผมเชื่อว่า จะทำให้คุณภาพมาตรฐานการศึกษาพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน” รมว.ศธ.กล่าว
ที่มา ; แนวหน้า วันพฤหัสบดี ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2567