ค้นหา

เกษียณอย่างเกษม ปฏิบัติตนอย่างไร มีคำแนะนำจากรุ่นพี่

ในเดือนตุลาคมนี้มีผู้เกษียณอายุงาน เข้าสู่ ”วัยอิสระ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมผู้สูงวัยอีกจำนวนหนึ่ง ยินดีต้อนรับมาสมทบกับประชากร 13.64 ล้านคน หรือ 19.5% ของประชากรในประเทศไทย ณ ปี 2565 ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2566 ค่ะ 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Statista ประมาณการณ์ว่าในปี 2567 นี้ สัดส่วนของผู้สูงวัยในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น 20.91% และในปี พ.ศ. 2580 สัดส่วนของผู้สูงวัยจะเพิ่มผ่านหลัก 30% ของประชากรทั้งประเทศ 

ดังนั้น ธุรกิจและบริการ จึงไม่สามารถเพิกเฉยต่อลูกค้ากลุ่มนี้ ตรงกันข้าม ควรต้องคำนึงถึงลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยอย่างมาก เพราะนอกจากจะกลายเป็นประชากรที่มีสัดส่วนเกือบหนึ่งในสามในอนาคตแล้ว กลุ่มใหญ่ของประชากรสูงวัย ยังเป็นประชากรที่มีอำนาจซื้อสูงด้วย 

สินค้าและบริการหลายๆอย่าง ลืมข้อนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ดิฉันเคยเห็นคนวัยอิสระหยิบสินค้าที่สวยงามมาอ่านดูว่ามีสรรพคุณอย่างไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง แต่ขนาดของตัวหนังสือบนฉลากก็ไม่เอื้อเอาเสียเลย หยิบแว่นตามาสวมแล้ว ก็ยังอ่านไม่ออก จึงทำให้ต้องวางสินค้าชิ้นนั้นลงอย่างน่าเสียดาย 

สินค้าไม่ควรจะแกะใช้ยาก กรณีเป็นซองให้ฉีก ก็ควรมีรอยตัดนำทางเอาไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการฉีก หรือฝาจุก บางครั้งฝาเกลียวที่ออกแบบไว้ แน่นจนหมุนไม่ออก ต้องใช้แรงมากในการหมุน สินค้าเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับความนิยม 

โรงแรมหรือรีสอร์ทที่พัก หรือร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ ควรเป็น Universal Design ค่ะ มีทางลาด หรือมีลิฟท์เพื่อให้รถเข็นวีลแชร์เข้าถึงได้ ดิฉันเห็นเยอะมากที่ออกแบบบันไดไว้สวย แต่ไม่มีราวเกาะ สำหรับผู้สูงวัยที่ยังไม่ใช้วีลแชร์ ถือว่าเป็นสถานที่อันตรายเชียวค่ะ ถ้าจะขึ้นหรือลงบันไดที่ไม่มีราวเกาะ 

วัยอิสระยุคปัจจุบัน นิยมจัดกลุ่มไปเที่ยวกันเอง ส่วนใหญ่จะไปในสถานที่ที่มีคนในกลุ่มแนะนำหรือเคยไปมาแล้ว ถือเสมือนหนึ่งว่ามีคนคอยคัดกรองเพื่อจัดรายการเที่ยว สถานที่พัก ร้านอาหาร กิจกรรมต่างๆ ฯลฯ ดังนั้น หากธุรกิจสามารถสร้างความประทับใจให้กับคนวัยนี้ จะมีกลุ่มตามรอยอีกมากมาย 

วัยนี้ชอบการประหยัด เพราะรู้ตัวว่ารายได้ลดลงไปเยอะ หรือบางคนก็อาจจะไม่มีรายได้ประจำอีก ดังนั้นจึงชอบส่วนลดพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น บัตรโดยสารรถไฟ รถไฟฟ้า พิพิธภัณฑ์ (ของรัฐเข้าฟรี ดิฉันก็เพิ่งทราบเมื่อก่อนเกษียณหนึ่งปี) สำหรับธุรกิจเอกชน ก็จะมีการให้สิทธิพิเศษเป็นรายๆไป เช่น บางสายการบินก็มีส่วนลดให้กับผู้โดยสารที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป วัยอิสระจึงต้องสอบถามรายละเอียดก่อนใช้บริการนะคะ 

ถามว่าบริษัททัวร์สามารถแทรกตัวเข้ามามีบทบาทหรือไม่ ดิฉันคิดว่ามีช่องว่างอยู่ค่ะ วัย 60-69 ปี อาจจะยังอยากจัดไปกันเอง แต่เมื่อสูงวัยกว่านั้น การใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์จองบัตรโดยสาร ที่พัก และร้านอาหารเองจะทำได้ช้าลง มีความบกพร่องเพิ่มขึ้น เพราะสายตา ความเมื่อยล้า ความไม่คล่องตัว ฯลฯ ถ้าบริษัททัวร์จะเน้นกลุ่มนี้ ควรต้องมีการประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนถึงคุณภาพ ความปลอดภัย และความสะดวกของการให้บริการ 

ผู้เกษียณควรเตรียมพร้อมด้านสุขภาพ ด้านการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ที่ดิฉันเคยเขียนไปเมือหลายปีก่อน และที่สำคัญคือ อย่าลืมเตรียมพร้อมทางด้านการเงินนะคะ ความใฝ่ฝันที่จะทำอะไรหลายๆอย่างได้ตามที่อยากทำ ส่วนใหญ่ต้องอาศัยเงินค่ะ ของฟรีมีไม่มากนัก 

เคยเขียนบทความไปเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วว่าเกษียณอย่างสบายพอสมควรต้องมีเงินประมาณ 10 ล้านบาท ณ วันเกษียณ หลังจากบทความลงตีพิมพ์ ดิฉันถูกผู้อ่านส่ง email เข้ามาต่อว่า บอกว่าดิฉันจะทำให้คนเสียกำลังใจ สมัยนั้นใครๆก็พูดถึงการมีเงินสัก 2 ล้านบาทก็สามารถเกษียณได้แล้ว 

มาวันนี้ ผู้เกษียณที่มีเงิน 10 ล้านบาทก็ไม่ได้สามารถใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย หรือสุขสบายมากนัก เพราะข้าวของแพงขึ้น และที่สำคัญคือ ค่ารักษาพยาบาลแพงมาก ค่าจ้างพี่เลี้ยงมาดูแลในยามที่เราช่วยตัวเองให้ทำกิจวัตรประจำวันไม่ถนัด ก็แพงเช่นกัน เพราะฉะนั้น ทุกท่านต้องดูแลสุขภาพให้ดี ประหยัดค่ารักษาพยาบาลได้ สามารถนำไปเที่ยวได้หลายทริปค่ะ 

มีอย่างหนึ่งที่อยากแนะนำในฐานะรุ่นพี่ คือ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องค่ะ หลายท่านที่ในสมัยที่ทำงานเต็มเวลา ไม่มีเวลาอ่านเรื่องต่างๆมากนัก อาจจะถือโอกาสเรียนไล่ตามเพื่อนๆ ที่ดิฉันอยากลุ้นให้เรียนและฝึกฝนมากคือ เรื่องดิจิทัล ให้ใช้แอพธนาคารทางมือถือได้ ให้สามารถค้นหาข้อมูลออนไลน์ได้ เพื่อให้ท่านสามารถตรวจสอบได้ว่า เรื่องต่างๆ แปลกๆที่มีคนมานำเสนอให้ลงทุน ให้ซื้อ ให้ฝาก ให้บริจาค นั้น เป็นเรื่องจริง เป็นของแท้ หรือเป็นเรื่องเท็จ เรื่องหลอกลวง 

เทคนิคง่ายๆคือ หากดูดีเกินไป ให้เอะใจไว้ก่อนว่า เป็นของไม่จริง แล้วหาทางตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ อย่าหลงกลรีบร้อนตัดสินใจ เพียงเพราะเขาบอกว่า “วันนี้วันสุดท้าย” “หมดแล้วหมดเลย” “โอกาสครั้งเดียวในรอบสิบปี” ฯลฯ 

เตือนตัวเองไว้ค่ะ ว่าเงินเราหามาด้วยความยากลำบาก อย่าเสียมันไปง่ายๆ และ “เสียดาย (ที่ไม่ได้ทำ) ดีกว่า เสียใจ (ที่ทำไปแล้วรู้ว่าถูกหลอกลวง)” ดังนั้นจึงต้องใจแข็งค่ะ 

เงินออมและเงินลงทุนของท่านที่มี ควรต้องปรับนโยบายของพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงลง เนื่องจากท่านจะมีรายได้ประจำน้อยลง หรืออาจจะไม่มีเลย ดังนั้นท่านต้องกันเงินสำรองใช้จ่ายไว้ประมาณ 10-12 เดือน ที่เหลือจึงนำไปจัดพอร์ตลงทุนระยะปานกลาง พอร์ตที่เหมาะสม ก็ยังคงเป็นพอร์ตแบบผสมผสาน โดยทั่วไป ควรจะมีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นทุน ไม่เกิน 20% ที่เหลือเป็นหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงลดลง เช่น พันธบัตรและเงินฝากระยะยาว 35-45% หุ้นกู้ ประมาณ 15-20% อสังหาริมทรัพย์ 5-10% ลงทุนตราสารที่มีสภาพคล่องสูง เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน 15-20% ผลตอบแทนที่คาดหวังน่าจะประมาณ 4.0-4.5% ต่อปีค่ะ 

หากเป็นไปได้ ยังอยากแนะนำให้ทำงานอยู่นะคะ จะช่วยลดภาระทางการเงินได้สำหรับท่านที่เงินออมยังมีจำนวนไม่มาก และสำหรับท่านที่มั่นคงแล้วอาจทำงานที่อยากทำ จะเป็นที่ปรึกษา เป็นโค้ช เป็นครู เป็นกรรมการตัดสิน หรือเป็นกรรมการขององค์กร ทำงานอาสาสมัคร นอกจากจะทำให้ไม่แก่แล้ว ยังได้กุศล ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ของเราให้เป็นประโยชน์อีกด้วย 

ขอให้ทุกท่านเกษียณอย่างเกษม มีความสุขกับชีวิตเกษียณของท่านค่ะ 

ทีมา ; Bangkokbiznews

เกี่ยวข้องกัน

เตรียมตัวเตรียมใจเข้าสู่วัยชรา 

เพื่อนๆ หลายท่านที่เป็นคนวัยใกล้เคียงกับผม ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย ที่รู้ว่าผมทำบ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮาส์” มักจะมีคำถามว่า ถ้าเขาเกษียณอายุแล้ว จะต้องเตรียมเงินทองสักเท่าไหร่? จึงจะสามารถเข้ามาอยู่ที่บ้านพักของผมได้ หรือบางคนก็ถามว่า ลูกเต้าก็ไม่มีหากเกษียณอายุแล้ว จำเป็นต้องเก็บหอมรอมริบสักเท่าไหร่? และอีกหลายคำถามทำนองนี้ ซึ่งอันที่จริงคำถามเหล่านี้ เป็นเรื่องแล้วแต่ปัจเจกบุคคลมากกว่า เพราะความต้องการของแต่ละคนย่อมมีไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม “ทรัพย์สินเงินทอง” ก็หาใช่เป็นปัจจัยที่จะต้องเตรียมไว้แต่เพียงอย่างเดียวไม่ ปัจจัยที่จะทำให้มีความสุขนั้นมีหลากหลายปัจจัยทีเดียวครับ

การเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรให้ความสนใจ และต้องมีการมีวางแผนที่ดีล่วงหน้า เพราะในช่วงเวลาที่เรายังมีกำลังวังชาอยู่ หากได้มีการวางแผนไว้ก่อนแก่ชรา จะช่วยให้การใช้ชีวิตบั้นปลายดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการเตรียมตัวในหลายด้านที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการเงิน เรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ และสภาพแวดล้อมทางสังคมและที่อยู่อาศัย เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่งครับ 

ก่อนอื่นเรามาดูเรื่องของการวางแผนด้านการเงินในวัยเกษียณ แน่นอนว่ารายได้จากการทำงานมักจะลดลงหรือไม่มีเลย ผู้สูงวัยจึงควรเริ่มต้นวางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยมีเป้าหมายในการสะสมเงินออมไว้เพื่อใช้ในระยะยาว นอกจากการออมแล้ว การลงทุนในกองทุนต่างๆ ที่ปัจจุบันนี้มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ต่างๆ ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เงินงอกเงยได้ หรือหากมีเงินมากก็อาจจะเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในวัยสูงอายุได้ แต่ถ้าหากมีเงินไม่มาก ก็สามารถทำการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือความผันผวนของตลาด ดังนั้นต้องมั่นใจจริงๆ ค่อยดำเนินการนะครับ “การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดใช้วิจารณญาณในการลงทุน” จำคำนี้ไว้เสมอครับ 

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องวางแผนอย่างละเอียด คือการจัดการหนี้สินหรือภาระทางการเงินอื่น ๆ ผู้สูงอายุควรลดหนี้ก่อนเกษียณให้ได้มากที่สุด แต่หากยังคงมีภาระประกันชีวิต ประกันสุขภาพ การจ่ายค่ารักษาพยาบาลระยะยาว หรือหนี้ผ่อนบ้านที่อยู่อาศัย ก็ควรหาวิธีลดค่าใช้จ่ายเหล่านั้น โดยต้องไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของตนเอง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดนะครับ 

การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะคนเราเมื่อเข้าสู่วัยชรา ร่างกายย่อมมีแนวโน้มที่จะเสื่อมสภาพ จึงควรเตรียมตัวในด้านการออกกำลังกาย และโภชนาการที่เหมาะสม เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำ การหมั่นดูแลสุขภาพ สามารถช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อและกระดูกได้ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมระบบหัวใจและหลอดเลือด การออกกำลังกายเบา ๆ อย่างเช่นโยคะ การเดิน การทำงานที่ไม่หักโหมจนเกินไป หรือการว่ายน้ำ จะช่วยให้ผู้สูงวัยมีความคล่องตัว และสามารถทำกิจกรรมประจำวันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น อีกอย่างหนึ่ง การตรวจสุขภาพเป็นระยะ เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะจะช่วยให้สามารถพบโรคหรือปัญหาสุขภาพได้เร็ว ซึ่งจะทำให้เราสามารถรักษาได้ทันเวลา เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การตรวจคัดกรองมะเร็งบางชนิด นอกจากนี้ ผู้สูงวัยควรให้ความสำคัญกับการนอนหลับที่เพียงพอ ห่างไกลเหล้า ยา ปลาปิ้งเข้าไว้ เพื่อให้ร่างกายจะได้พักบ้าง ก็จะเป็นการดีเช่นกันนะครับ 

การเตรียมตัวด้านจิตใจ เป็นอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญ ในการเตรียมตัวเข้าสู่วัยชรา การเปลี่ยนแปลงสภาพจิตใจในวัยนี้ บางคนอาจจะเกิดจากความเหงา เพราะมักจะพบกับการสูญเสียเพื่อนหรือคนใกล้ชิด หรือบางคนความรู้สึกว่าตนเอง ไม่ได้มีส่วนร่วมในสังคมอีกต่อไป ผู้สูงอายุหลายคนอาจประสบกับความเครียดหรือภาวะซึมเศร้า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ดังนั้นการเตรียมตัวทางจิตใจ จึงควรเริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ วิธีที่นอกจากการเตรียมตัวเตรียมใจ ก็คือการหากิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อฝึกฝนจิตใจ เช่น การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหนังสือ หากไม่ชอบก็เรียนดนตรี เรียนศิลปะ หรือเรียนภาษาต่างประเทศ จะช่วยกระตุ้นสมองและทำให้รู้สึกว่าเรายังมีคุณค่า นอกจากนี้การเข้าร่วมกลุ่มสมาคม สโมสรต่างๆ หรือกิจกรรมชุมชนที่สนับสนุนผู้สูงวัย ก็จะช่วยลดความรู้สึกเหงา และสร้างความเชื่อมั่นในการดำรงชีวิตได้เช่นกัน 

การปรับตัวด้านที่อยู่อาศัยเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องทำ หลังจากเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เราอาจจะมีการปรับปรุงที่อยู่อาศัย  ให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการเคลื่อนไหวอาจลดลง ดังนั้นที่อยู่อาศัยควรถูกออกแบบ หรือปรับเปลี่ยนให้ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การลื่นในห้องน้ำหรือการตกบันได การติดตั้งราวจับ การทำทางลาดแทนบันได และการจัดพื้นที่ห้องน้ำให้ง่ายต่อการใช้งาน ก็สามารถช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้ 

หากเราจำเป็นที่จะต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่ ก็ควรมีการเลือกสถานที่อยู่อาศัยที่ใกล้กับโรงพยาบาล หรือศูนย์บริการสุขภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา แม้ว่าผู้สูงวัยส่วนใหญ่ จะไม่มีใครอยากย้ายที่อยู่อาศัย แต่ถ้าเราเข้าสู่วัยชราที่อยู่คนเดียวโดยไม่มีใครอาศัยอยู่ด้วย ก็ควรพิจารณาการย้ายไปอยู่ในที่พักที่มีการดูแล อย่างเช่น บ้านพักผู้สูงวัย หรืออาจจะหาคอนโดมิเนียมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเฉพาะสำหรับผู้สูงวัยก็ดีนะครับ 

สุดท้ายการเตรียมตัวเข้าสู่วัยยังควรชราที่ควรคำนึงถึง คือการจัดการมรดก เอกสารทางการเงิน  ทางด้านกฎหมายต่างๆ ผู้สูงอายุควรทำพินัยกรรมและจัดการเอกสารสำคัญ เช่น สัญญาซื้อขายทรัพย์สิน หรือการจัดการภาระหนี้สิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินอันมิอาจก้าวล่วงได้ เพื่อให้ครอบครัวสามารถจัดการเรื่องเหล่านี้ได้อย่างราบรื่น การปรึกษาทนายความ หรือที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ก่อนที่เราจะจากโลกนี้ไป เราต้องแน่ใจว่าการจัดการทรัพย์สิน จะเป็นไปตามความต้องการของเรา นอกจากนี้ผู้สูงวัยควรตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ให้แน่ใจว่าทุกอย่างถูกต้องและเป็นปัจจุบันที่สุด อย่าให้เป็นภาระแก่คนข้างหลัง จงจำไว้เสมอว่า “อนิจจัง วัฏสังขารา”. 

ที่มา ; Thansettakij

เกี่ยวข้องกัน

ชีวิตหลังเกษียณที่ไม่มีเงินน่ากลัวกว่าชีวิตหลังความตาย 

ระหว่าง "ตายแล้ว...แต่ยังใช้เงินไม่หมด" กับ "สุดสลด...เงินหมด แต่ยังไม่ตาย" แบบไหนน่ากลัวกว่ากันครับ? 

ปกติแล้ว คนเราจะใช้เวลา 20 ปีแรกไปกับการศึกษา ต่อมาจึงเริ่มทำงาน กว่าจะลงหลักปักฐานได้มั่นคง ก็ตอนอายุ 30-40 ปีขึ้นไป เราถึงค่อยนึกถึงการวางแผนเกษียณ เพื่อให้มีเงินใช้ในบั้นปลายชีวิต

 

คำถามคือ แบบนี้ถือว่าเริ่มวางแผนช้าเกินไปมั้ย?

จริงๆ แล้วอาจจะฟังดูช้า แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำเลยใช่มั้ยล่ะครับ วันนี้ aomMONEY จึงขอแนะนำ 4 ขั้นตอนออมเพื่อเกษียณ โดย ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ วิทยากรด้านการเงิน และอดีตหัวหน้าภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ ม.กรุงเทพ รับรองว่าคนที่เริ่มวางแผนช้า ก็สามารถมีเงินใช้สบายๆ ได้แน่นอน 

1.ถามตัวเองว่า เราอยากใช้ชีวิตแบบไหน ?

การวางแผนเกษียณ มักจะออกแบบตามไลฟ์สไตล์ของเรา ลองถามตัวเองดูว่าหลังเกษียณแล้ว เราอยากจะใช้ชีวิตแบบไหน? แล้วตั้งเป้าหมายตามนั้น โดยสามารถใช้สูตรคำนวณคร่าวๆ ที่เรียกว่า “Replacement Ratio” เพื่อประเมินจำนวนเงินคร่าวๆ ที่เราจะใช้หลังเกษียณ 

สูตรที่ 1 : คิดจากรายได้ก่อนเกษียณ

ลองคำนวณดูว่า ช่วง 1 ปีก่อนเกษียณ เรามี “รายได้” เดือนละเท่าไหร่ โดยค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ ก็คาดว่าจะใช้ประมาณ 70% ของตัวเลขนั้น

เช่น ตอนอายุ 59 รายได้เดือนละ 100,000 บาท

ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ = ประมาณเดือนละ 70,000 บาท 

สูตรที่ 2 : คิดจากรายจ่ายก่อนเกษียณ

แบบนี้จะคำนวณจาก “รายจ่าย” ช่วง 1 ปีก่อนเกษียณ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ ก็คาดว่าจะใช้ประมาณ 70% ของตัวเลขนั้น

เช่น ตอนอายุ 59 มีรายจ่ายเดือนละ 100,000 บาท

ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ = ประมาณเดือนละ 70,000 บาท 

ลองเลือกว่าจะใช้สูตรไหน หลังจากนั้นให้เอาตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ ไปคูณ 300 ก็คือ 70,000 x 300 = 21 ล้านบาท นี่คือเงินก้อนที่เราต้องมีเพื่อใช้ชีวิตเกษียณครับ 

ดร.อัจฉรา ให้เหตุผลว่าตัวเลข 300 นี้ มาจากจำนวนเดือนที่คาดว่า เราจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้นั่นเอง

 

2.ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ รู้จักประมาณตัวเอง

เมื่อรู้เป้าหมายเงินก้อนที่ต้องมีเพื่อใช้ตอนเกษียณแล้ว ตัวเลขอาจจะฟังดูเยอะมาก แต่จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดกับมันขนาดนั้น เพราะอย่าลืมว่า เราไม่ได้ถอนเงินออกมาใช้ทีเดียวทั้งหมด แต่ค่อยๆ ทยอยถอนออกมาใช้ต่างหาก 

นั่นแปลว่าเงินก้อนส่วนใหญ่ จะยังงอกเงยต่อไปได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ “อัตราผลตอบแทน” ต่างหาก ถ้าเรามีความรู้ในการลงทุน วางเงินไว้ถูกที่ เงินก็จะเติบโตได้มากขึ้น 

เช่น ในวันเกษียณ เรามีเงินก้อน 9 ล้านบาท แต่ถ้าสามารถลงทุนสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 5% ต่อปี เมื่อวันที่เราอายุ 90 ปี เงินก้อนนั้นก็จะเติบโตได้ถึง 18 ล้านบาท สามารถใช้เป็นมรดกส่งต่อให้ลูกหลานได้อีกด้วย 

ซึ่งการลงทุนที่ ดร.อัจฉรา แนะนำสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็คือให้ออมเงินเต็มอัตรา 15% เพราะเป็นการลงทุนง่ายที่สุด แทบไม่ต้องทำอะไรเลย แม้ว่าปัจจุบันผลตอบแทนอาจจะไม่ถึง 5% แต่เมื่อมองระยะยาวแล้วก็ถือว่าคุ้มค่า หรืออย่างน้อยก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ทันที 

หรือถ้าเป้าหมายเกษียณฟังดูไกลเกินเอื้อม ก็มี 2 ทางเลือกคือ “ขยายระยะเวลาทำงานให้ยาวขึ้น” เพื่อให้มีเวลาสะสมเงินมากขึ้น หรือ “ปรับลดเป้าหมาย” จากที่ตั้งเป้าใช้เงินเดือนละ 50,000 ก็เหลือ 30,000 บาท ให้เหมาะสมกับตัวเรา

 

3.ทำงบดุลชีวิต เพื่อเช็กความมั่งคั่ง 

ถ้าอยากรู้ว่าตอนนี้เรากำลังรวยหรือจน สามารถเช็กได้จากการทำงบดุลชีวิต โดยการแจกแจง “สินทรัพย์” และ “หนี้สิน” ตามรายละเอียดดังนี้ 

สินทรัพย์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

-สินทรัพย์สภาพคล่อง มีไว้เพื่อรักษาความปกติสุขในชีวิต เช่น เงินสำรอง ควรมี 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ฝาก-ถอนได้ทันที

-สินทรัพย์ใช้ส่วนตัว มีไว้เพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น รถ บ้าน โทรศัพท์มือถือ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มักจะหมดเงินไปกับส่วนนี้ ทำให้บั่นทอนแผนการเงินในอนาคต 

-สินทรัพย์ลงทุน มีไว้เพื่ออนาคต เป็นส่วนหนึ่งของเงินที่จะใช้ 300 เดือนหลังเกษียณ 

หนี้สิน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือหนี้ระยะสั้น (อายุหนี้ไม่เกิน 1 ปี) และหนี้ระยะยาว ซึ่งรวมแล้วไม่ควรเกิน 50% ของสินทรัพย์ทั้งหมด เช่น ถ้ามีสินทรัพย์ 2 ล้าน ก็ควรมีหนี้ไม่เกิน 1 ล้าน

 

ทีนี้เราจะรวย หรือไม่รวย ก็ดูกันตรงนี้ล่ะครับ ให้เอาตัวเลขที่แจกแจง มาคำนวณโดยใช้สูตร 

สินทรัพย์ - หนี้สิน = ความมั่งคั่งสุทธิ” 

ถ้าเรามีสินทรัพย์รวม มากกว่าหนี้สินรวม แปลว่าเรามีความมั่งคั่ง (รวย)

ถ้าเรามีหนี้สิน มากกว่าสินทรัพย์รวม แปลว่าเรามีความมั่งคั่งติดลบ เสี่ยงล้มละลาย (จน)

 

4.ทำ “งบสแกนกรรม” เพื่อหารอยรั่วของเงินออม 

ถ้าเราตรวจสอบตัวเองในเบื้องต้นแล้ว พบว่าความมั่งคั่งติดลบ หรือการเงินในตอนนี้ยังห่างไกลกับเป้าหมายอยู่มาก สิ่งที่จะช่วยให้เรามีเงินออมเหลือเพิ่มขึ้น ก็คือการทำ “งบสแกนกรรม” คือบันทึกรายได้-รายจ่าย แต่ละเดือนนั่นเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

รายได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือรายได้หลัก และรายได้อื่นๆ 

ค่าใช้จ่าย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

-ค่าใช้จ่ายจำเป็น ส่วนนี้คือค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่ง “เงินออม” ก็ควรเป็นค่าใช้จ่ายรายการแรกของแต่ละเดือนด้วยเช่นกัน รวมถึง “ค่าใช้จ่ายผ่อนหนี้” รวมแล้วไม่ควรเกิน 40% ของรายได้

-ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย นี่คือส่วนเกินจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยมักจะเกิดจากความต้องการ (Want) มากกว่าความจำเป็น (Need)

-ค่าใช้จ่ายอบายมุข ข้อนี้ กับข้อข้างบน ควรรีบลดละเลิกโดยเร็วที่สุด 

ถ้าเอาตัวเลขมาคำนวณ “รายได้ ลบ รายจ่าย” แล้วผลลัพธ์เป็นบวก นั่นแปลว่าเรามีเงินเหลือในแต่ละเดือน แต่ถ้าผลลัพธ์ติดลบ แปลว่าเรามีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องลดรายจ่ายให้น้อยกว่ารายได้ครับ 

แผนการเงินเพื่อเกษียณ เป็นเหมือน “ตุ่มใส่น้ำ” ที่เราต้องหมั่นเติมน้ำเข้าไป ให้มากกว่าตักออกมาใช้ หลายคนอาจรู้สึกว่า เริ่มวางแผนตอนนี้มันช้าเกินไป แต่ทุกอย่างไม่มีคำว่าสาย ขอแค่เริ่มลงมือทำ ในวันเกษียณเราไม่จำเป็นต้องมีเงินมากมาย ขอแค่ “มีมากพอ” ครับ 

ที่มา ; blokdit

เกี่ยวข้องกัน

ยังเกษียณไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้วางแผนก่อนเกษียณ 

เมื่อกล่าวถึงการออมเพื่อการเกษียณอายุ หลายคนรู้สึกว่ามันอีกยาวไกล ยังไม่ต้องคิดก็ได้ พอวัยย่างเข้าเลขห้า หลายคนรู้สึกเสียใจว่าถ้ารู้อย่างนี้ จะไม่เกี่ยงเรื่องเวลาเลย จะตั้งหน้าตั้งตาออมและลงทุนเพื่อการเกษียณตั้งแต่อายุ 30 ปี 

ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในสี่ของประเทศในเอเชียที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าประเทศอื่นๆในอดีต เริ่มต้นที่ญี่ปุ่น ซึ่งรู้ตัวว่าจะเป็นสังคมสูงวัยเร็วจึงค่อยๆบริหารจัดการมาตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา 

ถัดมาเป็นเกาหลีใต้ ซึ่งไม่ทันตั้งตัว สมัยที่กำลังไต่บันไดแห่งความสำเร็จในการพัฒนาให้กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และเลื่อนชั้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เป็นประเทศรายได้สูง ซึ่งหารู้ตัวไม่ว่า ได้มาพร้อมกับความเครียดของประชากร 

จึงทำให้คนมีครอบครัวช้าลง หรือไม่ยอมมีครอบครัว หรือมีแล้วแต่ไม่ยอมมีบุตร เพราะกลัวความเหนื่อยยากในการเลี้ยงดู ทั้งกาย ใจ และกระเป๋าเงิน จึงทำให้อัตราการเกิดของประชากรลดฮวบฮาบในยุค 2523-2548 แม้รัฐบาลจะตระหนักและพยายามสร้างแรงจูงใจในช่วง 2549-2563 แต่ก็ไม่สัมฤทธิ์ผล ปัจจุบันมีอัตราการมีบุตรเพียง 0.84 คนต่อประชากรหญิง 1 คนเท่านั้น 

ส่วนจีนนั้น นโยบายลูกคนเดียวที่ใช้เพื่อควบคุมจำนวนประชากรตั้งแต่ปี 2522 ทำให้อัตราการทดแทนของประชากรต่ำ(อัตราการมีบุตร 2.1 คน ต่อประชากรหญิง 1 คน เป็นอัตราที่จะทำให้ประชากรรุ่นใหม่ทดแทนประชากรรุ่นเก่าได้) แม้จะยกเลิกนโยบายนี้ในปี 2558 แต่ครอบครัวจำนวนหนึ่งก็ยังไม่ปรารถนาที่จะมีลูกมากกว่าหนึ่งคน 

สำหรับไทย ก็คงคล้ายๆเกาหลีใต้ แต่หากไปดูในรายละเอียด จะพบว่ากลุ่มที่เพิ่มจำนวนประชากรให้กับประเทศไทยมากที่สุด เป็นกลุ่มคนชนบท มีลูกเมื่ออายุยังน้อย และดิ้นรนเข้ามาทำงานในเมือง แยกทางกับคู่เดิม ต่างฝ่ายต่างไปมีคู่ใหม่ ทิ้งลูกให้ตายายเลี้ยง ส่วนลูกกับคู่ใหม่ หากอยู่ด้วยกัน ก็อาจจะเลี้ยงดูเอง แต่หากมีความจำเป็นทางอาชีพ หรือหากแยกทางกับคู่ใหม่อีก ก็จะมีเด็กกึ่งกำพร้าแบบนี้ ส่งไปให้ตาและยายเลี้ยงเต็มไปหมด 

ส่วนผู้ที่มีฐานะที่พอจะสามารถเลี้ยงดูเด็กได้ ก็มักจะไม่มีลูกค่ะ มีทั้งที่ตั้งใจจะไม่มีเพราะเห็นแต่ความลำบาก และที่ตั้งใจจะมีแต่ไม่มี 

เร็วๆนี้บริษัทที่ปรึกษาวางแผนทางการเงินขนาดใหญ่ Edward Jones ซึ่งอยู่ในรัฐมิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกับ Age Wave ทำการวิจัย พบว่า 93% ของผู้สูงวัยในทวีปอเมริกาเหนือที่ตอบแบบสอบถาม ยอมรับว่าตนเองต้องปรับปรุงแก้ไขแผนการเกษียณ และพร้อมที่จะปรับแผน ซึ่งบางคนถึงกับมองว่าอาจจะเกษียณไม่ได้เลย หรือต้องเกษียณแบบลดระดับความเป็นอยู่มาก เนื่องจากอายุยืนมากขึ้น 

โดย 96% ของผู้สูงวัยกลุ่มนี้ ยอมรับว่าต้องปรับเรื่องการเงิน 88% ปรับเรื่องสุขภาพ และ 85% เห็นว่าต้องมีการปรับเรื่องชีวิตครอบครัว ซึ่งเท่ากันกับการปรับจุดมุ่งหมาย 

ในรายงานอีกฉบับหนึ่งซึ่ง Age Wave จัดทำขึ้นหลังโควิด ได้สำรวจผู้เกษียณโดยทั่วๆไป และพบว่าจะมีช่วงชีวิตคล้ายๆกัน 4 ขั้นตอน คือ

·      ช่วงเตรียมตัวเกษียณ มักจะกินเวลาน้อยกว่า 10 ปีก่อนเกษียณ

·      ช่วงเวลาลั้ลลา ประมาณ 0-2 ปีหลังเกษียณ จะรู้สึกอิสระมาก อยากเที่ยว อยากทำอะไรที่ชอบๆ

·      ช่วงเวลาปรับตัวและแก้ไขการใช้ชีวิต จะกินเวลาประมาณ 3-14 ปี หลังเกษียณ

·      ช่วงที่ 4 คือ พบแนวทาง คือช่วงเวลาหลังการเกษียณแล้ว 15 ปีขึ้นไป 

และได้พบว่าเราสามารถแบ่งกลุ่มผู้เกษียณได้เป็น 4 กลุ่มคือ

·      กลุ่มมุ่งมั่นวางแผนเพื่อเกษียณ และทำตามแผนอย่างเคร่งครัด กลุ่มนี้จะเริ่มเร็ว คืออายุเฉลี่ยที่เริ่มวางแผนเพื่อการเกษียณคือ ประมาณ 34 ปี 

·      กลุ่มชิวๆ เน้นการพักผ่อน สบายๆ เพราะจัดการการเงินเรียบร้อยแล้ว

·      กลุ่มท้าทายแต่มีความหวัง ตอนนี้เงินยังพอเพื่อการเกษียณอยู่ แต่อนาคตยังมีความท้าทายว่าเงินจะพอหรือไม่ หากอายุยืน แ

·      กลุ่มที่เสียใจ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความสุขกับการเกษียณน้อยที่สุด ต้องวุ่นวายกับสุขภาพกายและสุขภาพการเงิน 

คงจะมีเรื่องการวางแผนเพื่อการเกษียณและหลังเกษียณมาคุยกันอีกเป็นระยะๆนะคะ อย่าเพิ่งเบื่อเสียก่อนเพราะกลุ่มนี้กำลังจะกลายเป็นประชากรหนึ่งในห้าของประเทศค่ะ 

บทความโดย วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ 

ที่มา ; Blockdit