ค้นหา

“บิ๊กอุ้ม”ดึงนักการศึกษา เสริมแกร่งส่งนโยบายสู่การปฏิบัติเชิงพื้นที่

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) ครั้งที่ 7/2567 พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. ตลอดจนคณะกรรมการฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting 

พล.ต.อ.เพิ่มพูน เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบเพิ่มจำนวนองค์ประกอบคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ จากการที่ประชุมฯ ครั้งที่ 6/2567 มีมติให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อช่วยขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการลงสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม 

โดยให้มีคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติงานของ กศจ. ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยต้องมีคณะอนุกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ และ คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา และที่ประชุมเห็นชอบในการปรับเพิ่มจำนวนองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ครอบคลุมผู้แทนระดับจังหวัด โดยให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กศจ. 1 คน เป็นประธานฯ คณะอนุกรรมการประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการหน่วยงานทางการศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอื่นตามที่กำหนด ผู้แทนภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ได้เป็นกรรมการใน กศจ. จำนวนไม่เกิน 3 คน และศึกษาธิการจังหวัด เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ 

ให้มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของจังหวัดต่อ กศจ.ให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาและจุดเน้นของ ศธ. อีกทั้งขับเคลื่อนนโยบายของ ศธ. กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของจังหวัด รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA และผลการทดสอบอื่น ๆ ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาระดับจังหวัด ตลอดจนรายงานผลการดำเนินงาน และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ กศจ. มอบหมาย 

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ครบทุกจังหวัด ทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค คุณภาพและสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นตามบริบทของประเทศและสังคมโลก โดยเน้นให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” ใช้หลักการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วน ดังที่กล่าวไว้ว่า “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” และร่วมกัน “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” 

การเพิ่มองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ จะช่วยให้เกิดความหลากหลายในด้านมุมมองและการวิเคราะห์ปัญหาทางการศึกษา รวมถึงการนำเสนอแนวทางที่สร้างสรรค์และสมบูรณ์ขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้การตัดสินใจมีความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ การทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แตกต่างกันจะช่วยเสริมสร้างการประสานงานและการสื่อสารที่ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การพัฒนาระบบการศึกษาอย่างยั่งยืนในที่สุด”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว 

ที่มา ; มติชนออนไลน์

เกี่ยวข้องกัน

พร้อมลุย! ขับเคลื่อนการศึกษา 2568 “สุรศักดิ์” ย้ำสร้างความร่วมมือในพื้นที่ “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” ปั้นคนไทย “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” 

14 พฤศจิกายน 2567 บุรีรัมย์/ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมนโยบายด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาของคนไทยทุกช่วงวัย

ร่วมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงระดับภาค/จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีนายปิยะ ปิจนำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ให้การต้อนรับ และมีผู้เข้าร่วมจากผู้ตรวจราชการ ศธ. ผู้บริหารระดับสำนัก สป.ศธ. ศึกษาธิการภาค รองศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และรองศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ ประมาณ 330 คน ณ โรงแรมเทพนคร (อัลวาเรซ) อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า กลไกในการทำงานในภูมิภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ในระดับภูมิภาคหรือจังหวัดแล้ว

ยังมีสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่เสนาธิการในการวางแผนและขับเคลื่อนการศึกษาในกลุ่มจังหวัดและจังหวัด โดยอาศัยกลไกของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ. ในการอำนวยการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาแบบร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้น ๆ  ซึ่งกลไกนี้ถือเป็นจุดแข็งของกระทรวงศึกษาธิการ ในการประสานการบริหารงานระหว่างส่วนราชการ และยังสอดคล้องกับการทำงานในภูมิภาค

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ขอให้ส่วนราชการในสังกัด และองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ นำนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นกรอบแนวทางในการจัดการศึกษา และดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดทำ Action Plan
ให้สอดคล้องกับนโยบาย ซึ่งในการขับเคลื่อนนโยบาย ไม่จำเป็นว่าทุกหน่วยงานจะต้องดำเนินการทุกนโยบาย ให้ดำเนินการเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้อง และให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
 
ผมเชื่อมั่นว่า สำนักงานศึกษาธิการภาคทั้ง 18 ภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั้ง 77 แห่ง จะเป็นกำลังสำคัญ และเป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนภารกิจที่ตอบสนองต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และตอบสนองต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และตอบสนองต่อเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด และจังหวัดได้อย่างแน่นอน” รมช. ศธ. กล่าว
 

นายสุรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีข้อสั่งการและแนวปฏิบัติ โดยให้นำนโยบายด้านการศึกษาของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม (Action) ยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม หลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน และดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเคร่งครัด

ตลอดจนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ร่วมกันปลูกฝังการรักษาสิ่งแวดล้อม และมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมการอ่านและการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นกระบวนการ โดยผู้บริหารและครูต้องเป็นต้นแบบ

ส่วนการลงพื้นที่ตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม ให้ดำเนินการอย่างเรียบง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับการตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม โดยให้ดำเนินการอย่างเรียบง่าย และประหยัด ยึดบทบาทเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ และให้ข้อเสนอแนะแก่ศึกษาธิการจังหวัด เพื่อให้สามารถหาแนวทางในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่

รวมทั้งเรื่องเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา รมว.ศธ. ได้สั่งการให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ที่มีสถานศึกษาในสังกัดในพื้นที่ โดยต้องพยายามนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้หมด ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่ทุกท่านจะได้ช่วยกันระดมความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป 

 

นายสุเทพ แก่งสันเทียะ กล่าวว่า โครงการ “ขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่” ประจำปีงบประมาณ 2568 ถือเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของกระทรวงศึกษาธิการในการขยายโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยทุกคน ด้วยการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเชิงลึกแก่ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน ทำให้สามารถกำหนดโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ นำไปสู่กี่สร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้และเตรียมพร้อมสู่อนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของประเทศไทย 

ที่มา ; ศธ. 360 องศา

เกี่ยวข้องกัน

ปลัด ศธ. ‘สุเทพ’ เร่งเครื่องศึกษาธิการจังหวัด แนะสร้างศรัทธาในการทำงานคู่กับความร่วมมือพันธมิตรในพื้นที่

14 พฤศจิกายน 2567/ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายขับเคลื่อนการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ 2568 ณ โรงแรมเทพนคร (อัลวาเรซ) อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

นายสุเทพ กล่าวถึงระเบียบคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค “ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการมอบอำนาจให้ศึกษาธิการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน” ข้อ 12 เพื่อประโยชน์ในการบริหารงาน กำกับดูแล และบูรณาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร ให้เลขาธิการหรืออธิบดีมอบอำนาจการบริหารงานบุคคล การบริหารทั่วไป วิชาการงบประมาณ และทรัพย์สินให้ศึกษาธิการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในระดับพื้นที่นั้น ทางส่วนกลางก็มีกลไกในการสนับสนุนให้ศึกษาธิการจังหวัดสามารถทำงานได้คล่องตัวยิ่งขึ้น โดยตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด สามารถเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนโยบายการศึกษาของจังหวัดต่อคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของจังหวัด, การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA ระดับจังหวัด, รายงานผลการดำเนินงานเสนอต่อคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดและคณะกรรมการ ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

นายสุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติเป็นอย่างมาก โดยมีข้อสั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการและรองศึกษาธิการภาคเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ และให้ข้อเสนอแนะแก่ศึกษาธิการจังหวัด เพื่อให้ศึกษาธิการจังหวัดสามารถคิดหาแนวทางในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เกิดการบูรณาการด้านการศึกษาในพื้นที่อย่างแท้จริง

ขณะที่ศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำด้านการศึกษาและเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาในพื้นที่ ผ่านกลไก กศจ. เพื่อให้การทำงานด้านการศึกษาในพื้นที่เกิดการบูรณาการ และในขณะนี้เรากำลังเร่งจัดการเรื่องของเด็กหลุดจากระบบการศึกษา จึงให้ ศธจ.เป็นหลักในการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดในพื้นที่ โดยต้องนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้หมดให้ได้ รวมถึงจังหวัดพื้นที่นวัตกรรม ต้องออกแบบงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม ตามที่ได้รับการเลือกมาเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่สามารถพัฒนาการศึกษาได้อิสระและยืดหยุ่นมากกว่าพื้นที่อื่น

อยากขอให้ศึกษาธิการจังหวัดทุกท่านคิดว่า ทุกภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือโอกาส ‘อย่าเกี่ยงงาน’เพราะการเกี่ยงงานคือการละทิ้งโอกาสอันเจริญก้าวหน้าของตัวเอง เพราะค่าของอยู่ที่ผลของงาน ตราบใดที่เราทำงานประสบผลสำเร็จจะส่งผลให้มีคุณค่าในสายตาของผู้บังคับบัญชาเสมอ” ปลัด ศธ. กล่าว 

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนงานด้านศึกษาในพื้นที่มีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จได้ดีขึ้น คือการสร้างความศรัทธาให้แก่หน่วยงานภายนอก คนในพื้นที่ หรือ 4 บุคคลมีอิทธิพล (influence) ในจังหวัด ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นักการเมืองท้องถิ่น ศึกษาธิการจังหวัด และเจ้าอาวาสวัดในชุมชน ซึ่งพลังเหล่านี้สามารถช่วยเราได้มากกว่าที่เราคาดคิดได้ 

ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าการทำงานให้สังคมได้รับทราบ เพราะหากทำงานอย่างเต็มที่สักเท่าไหร่ แต่ไม่มีใครรู้ ก็ถือว่าจะไม่สำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นการให้บุคคลที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในจังหวัด มาช่วยพูดถึงการทำงานของเรา ช่วยประชาสัมพันธ์ภารกิจให้รับทราบทั่วกัน จะทำให้สังคมได้เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่เคยหยุดพัฒนา เพื่ออนาคตของผู้เรียนของเราทุกคน 

ที่มา ; ศธ.360 องศา

เกี่ยวข้องกัน

ศึกษานิเทศก์กลไกขับเคลื่อน “เรียนดี มีความสุข” 

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม Kickoff Meeting : การขับเคลื่อนการนิเทศการศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สำหรับศึกษานิเทศก์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมพบปะให้กำลังใจผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ในสังกัด สพฐ. จำนวน 3,009 คน จาก 245 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ด้วยนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นนโยบายที่ต้องการให้ลงถึงผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะห้องเรียน ดังนั้นกลุ่มบุคคลที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนนโยบายนี้ลงไปถึงห้องเรียนได้ก็คือศึกษานิเทศก์ ควบคู่ไปกับการใช้สื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขอให้ศึกษานิเทศก์ทำหน้าที่เป็นมือขวาในด้านวิชาการให้กับผอ.เขต และเขตพื้นที่ เพื่อให้การนำนโยบายลงสู่ห้องเรียนเกิดขึ้นได้จริง ในส่วนของเขตพื้นที่ที่มีตำแหน่งศึกษานิเทศก์ว่างอยู่ สพฐ. ก็จะพยายามจัดสอบเพื่อเติมลงไปให้เต็มทุกพื้นที่ เพื่อให้มีศึกษานิเทศก์เข้าไปช่วยงานวิชาการให้กับเขตพื้นที่ด้วย ซึ่งจากการพูดคุยกับ รมว.ศธ. และ รมช.ศธ. ท่านได้แสดงความชื่นชม และอยากให้ศึกษานิเทศก์ได้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายลงสู่ห้องเรียน ขอให้เราร่วมกันปฏิวัติการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาประเทศไทย รวมถึงการปรับปรุง พ.ร.บ.การศึกษา จะมีการกำหนดบทบาทของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน ทั้งเขตพื้นที่ ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการ โรงเรียน หรือบทบาทของครูก็จะต้องเด่นชัด ห้องเรียนจะต้องมีสื่อและอุปกรณ์ที่ทันสมัย คุณครูจะต้องสอนให้เด็กฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ นี่คือจุดเน้นที่จะทำให้การปฏิวัติคุณภาพการศึกษาเกิดขึ้นได้.

“อีกเรื่องที่สำคัญคือการยกระดับคุณภาพการสอบ PISA ซึ่งผมได้มอบให้ท่านรองฯ เกศทิพย์ และทีมงาน PISA ดำเนินการขับเคลื่อนและติดตามอย่างเข้มข้น ในโรงเรียน 9,214 แห่ง ที่คาดว่าจะโดนสุ่มสอบในปี 2025 นี้ ผมเชื่อมั่นว่าในการสอบครั้งนี้เราจะยกระดับผลการสอบ PISA ให้สูงขึ้น จากการร่วมมือร่วมใจของทุกคน โดยเฉพาะศึกษานิเทศก์ที่เป็นกำลังสำคัญของเรา ซึ่งต่อไปเราจะนำแนวทางการสอบ PISA มาใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งบริหารด้วย สุดท้ายนี้ ผมขอให้ปีงบประมาณ 2568 ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ เป็นปีแห่งความท้าทายเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และเป็นปีที่สำคัญยิ่งของศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศที่จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา ตามแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อสร้างให้เด็กไทย “เรียนดี มีความสุข” ต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว.

ทางด้านนางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ขอชื่นชมศึกษานิเทศก์ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายด้านการศึกษาของ สพฐ. สู่การปฏิบัติของเขตพื้นที่การศึกษา ลงไปสู่ทุก ๆ ห้องเรียน เช่น รายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ในที่ประชุมประสานภารกิจฯ โดยมี รมว.ศธ. เป็นประธานการประชุม สิ่งที่ได้รับคือ การชื่นชมพลังการขับเคลื่อนของศึกษานิเทศก์ของเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 3,009 คน ของ สพฐ. ที่ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญ ภายใต้ความสำเร็จดังกล่าวที่ได้รับการชื่นชมนี้ ร้อยละ 85 คือการเตรียมข้อมูลจากศึกษานิเทศก์ของเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมายเป็นข้อมูลสำหรับ ผอ.สพท. ที่รายงาน สพฐ. ในทุก ๆ 2 สัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพ ในกระบวนการคิด วิเคราะห์ ถ่ายทอดอย่างมีเหตุมีผลนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เกิดเป็น Literacy และเชื่อมั่นบทบาทของศึกษานิเทศก์ทุก ๆ คน ที่ได้ร่วมกันทำงานอย่างมีความสุข สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องร่วมกันขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ให้เป็นไปตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ต้องเกิดขึ้นจริงและเป็นผลกระทบที่ดีไปยังทั่วประเทศ.

“ทั้งนี้ขอฝากการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพราะเครือข่ายจะทำให้งานของเราทุก ๆ คนบรรลุเป้าหมายและสำเร็จด้วยระยะเวลาที่รวดเร็ว รวมถึงการบูรณาการงานที่ไม่สร้างภาระ แต่ทำให้เกิดประโยชน์ที่การขับเคลื่อนในตัวงาน ภาระงานที่เกิดขึ้นจากการนิเทศติดตาม สามารถเปลี่ยนเป็นผลงานเชิงประจักษ์ การวัดผลอย่างเป็นรูปธรรม บูรณาการลงสู่นักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ เช่นเดียวกับฐานข้อมูลศึกษานิเทศก์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ สพฐ. พัฒนาเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานทางวิชาการ ผลงานเชิงประจักษ์ของศึกษานิเทศก์แต่ละบุคคล เพื่อนำเป็นต้นแบบ เป็นแนวทางการบูรณาการลงสู่ห้องเรียนทุก ๆ ห้องเรียนได้ และขอให้ศึกษานิเทศก์ กระจายองค์ความรู้ที่สำคัญให้ครู โดยการพัฒนาที่เห็นผลเชิงประจักษ์ ดูได้จากการวัดผลและประเมินผลหลากหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องสอบระหว่างภาคเรียน แต่สามารถดูค่าการพัฒนาได้ จากการหลอมรวมตัวชี้วัดหลักตามหลักสูตร 771 ตัวชี้วัด ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่กล่าวมาจนเกิดเป็น Literacy ให้กับผู้เรียนได้ สิ่งที่จะทำให้เกิดเหล่านี้ คือ การจัดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ Active learning โดยไม่มีข้อจำกัดตามความสนใจ และความถนัดของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กได้เกิดความคิด วิเคราะห์ ในยุค BANI WORD ได้ และสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตได้ สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจ และชื่นชมศึกษานิเทศก์ทุก ๆ คน และจับมือเดินไปพร้อม ๆ กัน ทุกงานที่ได้รับคำชื่นชม ต้องขอบคุณกำลังสำคัญ กำลังสมอง กำลังขับเคลื่อนของศึกษานิเทศก์ของทุกเขตพื้นที่ ที่ร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาจนเห็นผลเชิงประจักษ์และเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียนต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว.

ทั้งนี้ ยังมีวิทยากรที่มาให้ความรู้ด้านการนิเทศ ประกอบด้วย นางอาทิตยา ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ นางสาวจรูญศรี แจบไธสง รอง ผอ.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา นางสาวปาริชาติ เภสัชชา หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. นายอานนท์ วงศ์วิศิษฏ์รังสี ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพม.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ นายเฉลิมพล สายหอม ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป.อุบลราชธานี เขต 3 และนายสนธยา หลักทอง ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป.สกลนคร เขต 2

ที่มา ; เดลินิวส์