13 พฤศจิกายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 3/2567 โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ., นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ., ผู้ตรวจราชการ ผู้บริหาร ศธ. ตลอดจนคณะกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting
รมว.ศธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนการตรวจราชการและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ 2568 ตามนโยบาย จุดเน้นประเด็น ตัวชี้วัดการตรวจราชการและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาในการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง มีแนวปฏิบัติในการตรวจราชการฯ แบ่งเป็น 3 ประเภท
นอกจากนี้ยังได้รับทราบผลการตรวจราชการฯ รอบที่ 2 (1 เม.ย – 30 ก.ย. 2567) ประจำปีงบประมาณ 2567
รวมถึงผลการดำเนินงานตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายดำเนินการพิเศษเพิ่มเติมในประเด็นยกเลิกครูเวร : ชีวิตและความปลอดภัยของครูสำคัญกว่าทรัพย์สิน, จัดหานักการภารโรง, ปรับลดงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน, จ้างครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ, อาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาส, สุขาดี มีความสุข, ศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล และการยกเว้น/ผ่อนผันแต่งเครื่องแบบนักเรียน
สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อการตรวจราชการ ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (e-Inspection) ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนราชการ สำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด รวมผู้เกี่ยวข้องเข้ามาใช้งานระบบฯ จำนวน 48,263 คน (ข้อมูลล่าสุด 5 พ.ย. 67) ในส่วนของข้อมูลพื้นฐานการศึกษา การรายงานการติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบาย รมว.ศธ. ในส่วนภูมิภาคพบว่าสำนักงาน ศธภ. รายงานผลการตรวจราชการและติดตามประเมินผลระดับภาค ครบ 18 ภาค ทั้ง 2 รอบ ด้านสำนักงาน ศธจ. รายงานผลการตรวจราชการและติดตามประเมินผลระดับจังหวัด รอบ 1 รายงาน 75 จังหวัด รอบ 2 รายงานครบทั้ง 77 จังหวัด
“การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของ ศธ. ถือว่ามีความสำคัญในการบริหารในทุกมิติ เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดการศึกษาสอดคล้องกับนโยบายและแผนการพัฒนาที่ได้วางไว้ และสามารถวัดผลความสำเร็จหรือหาจุดที่จำเป็นต้องปรับปรุง เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นกระบวนการสำคัญในการตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของสถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัด เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายการศึกษาและแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาถูกนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลตามเป้าหมายที่กำหนด” รมว.ศธ. กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา ; ศธ 360 องศา