ค้นหา

5 เรื่องเด่นกระทรวงศึกษาธิการ ในยุค “เพิ่มพูน”

ยุคของการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทย ภายใต้การนำของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนโยบายในการที่จะทำให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” โดยมีหลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” ใช้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” มุ่งสร้าง“การศึกษาเท่าเทียม” ผ่านเครือข่ายการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับให้ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล ภายใต้แนวคิด “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” เพื่อพัฒนาคนไทยทุกคนในทุกช่วงวัยให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ”มีศักยภาพและความพร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

จึงได้ก่อให้เกิดนโยบายและโครงการหลากหลายโครงการ ที่ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยให้ก้าวทันโลกสมัยใหม่ ตลอดจนสร้างโอกาสที่ดีกว่าในการเรียนรู้ ซึ่ง 5 เรื่องเด่นสำคัญ ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย

 

ยกเลิกครูอยู่เวร พร้อมจ้างนักการภารโรงทั่วประเทศ

กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการให้ครูมีเวลาที่เพียงพอในการดูแลนักเรียน โดยมีการยกเลิกนโยบายให้ครูต้องอยู่เวร และแทนที่ด้วยการจ้างนักการภารโรงในโรงเรียนที่ขาดแคลนทั่วประเทศ นอกจากจะทำให้ครูมีเวลามากขึ้นในการสอนและพัฒนานักเรียนแล้ว ยังช่วยสร้างงานในชุมชนและเพิ่มความปลอดภัยในโรงเรียนด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการและดูแลเพื่อความปลอดภัยสูงสุด “เพราะชีวิตครู มีค่ากว่าทรัพย์สิน”

 

อาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาส

รัฐบาล ได้เพิ่มงบประมาณค่าอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนขยายโอกาสทั่วประเทศ จำนวนกว่า 2,955 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโรงเรียนขยายโอกาสทั้งหมด 7,344 แห่ง ซึ่งมีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์ 575,983 คน การสนับสนุนในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้รับอาหารที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อให้พวกเขามีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมทั้งช่วยเสริมสร้างพลังในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในทุก ๆ วันของการศึกษา นักเรียนจึงมีความสุขทั้งในด้านร่างกายและจิตใจตลอดเวลาเรียนในโรงเรียน

 

ระบบจับคู่ครูคืนถิ่น TMS สู่ระบบย้ายครู TRS

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ได้ริเริ่ม “ระบบย้ายจับคู่ครูคืนถิ่น” (Teacher Matching System: TMS) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล Silver Award ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระดับประเทศ ระบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ครูสามารถย้ายไปสอนในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองได้อย่างสะดวกและรวดเร็วผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากหรือความซับซ้อนในการดำเนินการ หลังจากนั้น ระบบดังกล่าวได้รับการพัฒนาต่อยอดจนถึงการจัดทำ “ระบบย้ายข้าราชการครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ” (Teacher Rotation System: TRS) ซึ่งเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 2567 โดยมีเป้าหมายในการยกระดับกระบวนการย้ายครูให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ครูทุกคนสามารถย้ายไปสอนในพื้นที่ที่ต้องการได้อย่างเท่าเทียมและมีความยุติธรรมสูงสุด

 

Credit Bank

การพัฒนาทักษะดิจิทัลในยุคนี้เป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐที่เรียกว่า “Credit Bank” ซึ่งเป็นธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ผ่านระบบ “Learn to Earn” โดยผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตจากการเรียนรู้ และเชื่อมโยงกับศูนย์การเรียนรู้และเครือข่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาทักษะดิจิทัลและความสามารถในการแข่งขันในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การริเริ่มนี้จึงเป็นการสนับสนุนการพัฒนาทักษะที่สำคัญให้กับทุกคนในสังคม เพื่อให้สามารถปรับตัวและเติบโตในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

สุขาดีมีความสุข

การดูแลสุขอนามัยของนักเรียนเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยการจัดโครงการ “สุขาดี มีความสุข” ซึ่งได้รับงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงห้องน้ำในโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศมากกว่า 9,700 แห่ง โดยมีเป้าหมายในการสร้างสภาพห้องน้ำที่สะอาด สะดวกสบายและมีสุขลักษณะที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การดำเนินโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของนักเรียนดีขึ้น แต่ยังส่งผลต่อการเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงให้กับเด็ก ๆ โดยให้นักเรียนได้ใช้พื้นที่ที่สะอาดและมีคุณภาพในการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว จึงช่วยส่งเสริมให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีและสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา

 

ก้าวสู่อนาคตการศึกษาของไทย

ปี 2568 กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมที่จะก้าวข้ามทุกขีดจำกัด เพื่อพัฒนาให้การเรียนรู้ของเด็กไทยมีคุณภาพและมีสมรรถนะที่พร้อมในทุกมิติตามความต้องการของประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของนโยบายการศึกษาของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี โดยมีการผลักดันโครงการสำคัญ เช่น โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน และโครงการ 1 อำเภอ 1 ซัมเมอร์แคมป์ จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับเด็กไทยทุกคน

การบริหารการศึกษาในยุค “เพิ่มพูน” นับตั้งแต่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาจนถึงปัจจุบัน มีการกำหนดนโยบายที่จะช่วย “ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา” “ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง” ถือเป็นก้าวสำคัญที่ไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระ ลดกระบวนการ และพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กไทยให้มีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างสังคมที่มีการศึกษาและโอกาสที่เท่าเทียมมากขึ้น เพื่อให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง มีคุณภาพ “เรียนดี มีความสุข” 

ที่มา ; ศธ 360 องศา 

เกี่ยวข้องกัน

‘เพิ่มพูน ชิดชอบ’ ฉายภาพปี68 สร้างความเชื่อมั่นการศึกษาไทย

สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงภาพรวมการพัฒนาการศึกษาในรอบปี 2567 และทิศทางการพัฒนาการศึกษาในปี 2568 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและนักเรียน

 

•การเดินหน้านโยบาย ปี 2567 เรื่องใดบ้างที่มีความคืบหน้าและเห็นเป็นรูปธรรม? 

นโยบายหลักของกระทรวงศึกษาธิการคือ เรียนดี มีความสุข มุ่งเน้นการลดภาระของครูและนักเรียนเพื่อสร้างความสุขในระบบการศึกษา ซึ่งมีความเป็นรูปธรรมหลายเรื่อง เช่น การยกเลิกครูเวร การจัดหานักการภารโรง ถือเป็นการดำเนินการที่ตอบโจทย์นโยบาย ลดภาระครู ขณะเดียวกัน ยังลดงานเอกสาร ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (ว9/2564) ซึ่งใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้การประเมินรวดเร็วขึ้น ใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 3 เดือน เร็วสุด 17 วัน รวมทั้ง ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต และทำเอกสาร ซึ่งเดิมมีค่าใช้จ่ายกว่า 20,000 บาทต่อคน สามารถตรวจสอบสถานะต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นได้ ลดช่องว่างไม่ให้มีการทุจริต มิติในส่วนนี้ ยังส่งผลไปถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งที่ผ่านมา ครูบางรายอาจตกเป็นเหยื่อผู้ที่มาแอบอ้างว่าจะช่วยให้การประเมินผ่าน มีการกู้เงินเพื่อไปจ่าย เกิดเป็นหนี้สิน 

อีกนโยบายที่สำคัญคือ จัดให้มีระบบจับคู่การย้ายครูคืนถิ่น หรือ Teacher Matching System (TMS) สามารถจับคู่ครูที่มีความต้องการย้ายกลับถิ่นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้มีการประกาศใช้ระบบย้ายข้าราชการครู สังกัด ศธ. หรือระบบ Teacher Rotarion System (TRS) ซึ่งจะเข้ามาแทนที่การขอย้ายแบบเดิม ที่มีขั้นตอนยุ่งยาก 

เรื่องที่น่าพอใจอีกอย่าง คือ การแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ศธ.ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง มีการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ จำนวน 245 สถานีตามจำนวนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สถานีแก้หนี้ จะมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษา ประสานงาน และเจรจาหนี้อย่างใกล้ชิดในระดับพื้นที่ นับตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯแล้ว 7,762 ราย โดยสามารถแก้ไขปัญหาสำเร็จแล้วรวม 1,391 ราย แบ่งเป็นกลุ่มสีแดง ที่ถูกฟ้อง 83 ราย กลุ่มสีแดงที่ไม่ถูกฟ้อง 860 ราย และกลุ่มสีเหลือง คือ กลุ่มที่กำลังเป็นหนี้และขาดสภาพคล่อง 448 ราย ผลการดำเนินงานส่งผลให้มูลค่าหนี้สินที่ได้รับการแก้ไขสำเร็จรวมทั้งสิ้น 4,173 ล้านบาท การแก้ไขหนี้สินครู จะมุ่งให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่ขาดสภาพคล่อง มีการทำความร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 40 แห่งลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ให้ไม่เกินร้อยละ 4.75 ช่วยให้ครูกว่า 439,858 คน มีเงินเหลือเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต มีการจัดอบรมพัฒนาทักษะทางการเงินของครูและนักเรียน ให้ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้ามาอบรมผ่านโครงการนี้แล้วกว่า 3 แสนคน

 

•นโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองมีเรื่องใดบ้างที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม? 

นโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime เริ่มคัดเลือกสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการเรียนรู้ จัดทำสื่อต้นแบบครอบคลุม 8 กลุ่มสาระ เช่าใช้ระบบคลาวด์ขนาดใหญ่ รองรับทุกแพลตฟอร์มการเรียนรู้ และในปี 2568 เตรียมจัดหาอุปกรณ์ให้กับนักเรียน นำร่องชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยให้เป็นโครงการยืมเรียน เมื่อจบการศึกษา ต้องส่งต่ออุปกรณ์ให้รุ่นน้องใช้ต่อไป นโยบายนี้ได้มีการพูดคุยกับโรงเรียนที่มีความพร้อม เช่น โรงเรียนพญาไท โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ฯลฯ ช่วยจัดทำสื่อการเรียนการสอน ให้โรงเรียนที่ขาดแคลนครู หรือไม่ชำนาญการในบางวิชาได้นำสื่อเหล่านี้ไปใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ที่มีการถ่ายทอดสดการสอนไปยังโรงเรียนใกล้เคียง เป็นการแบ่งปันทรัพยากร โดยตั้งใจจะนำโมเดลนี้ ไปใช้ในทุกจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู คาดว่า จะมีการของบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย Anywhere Anytime 

อีกเรื่องที่ตัวผมพอใจ คือ นโยบายสุขาดี มีความสุข ซึ่งเกิดจากปัญหาสุขาในโรงเรียนที่ไม่มีมาตรฐาน เป้าหมายให้มีสุขาในโรงเรียน 29,000 แห่ง และจัดสรรงบให้โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนละ 10,000 บาท ใช้ปรับปรุงห้องน้ำให้สะอาด สะดวก ถูกสุขลักษณะสวยงาม ครูและนักเรียนใช้ร่วมกันได้ ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

 

•นโยบายหลักๆ จะมุ่งเน้นที่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการศึกษามากขึ้น? 

ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ก็อยากจะนำเทคโนโลยีมาใช้กับการศึกษาในหลายๆ ด้าน และเริ่มทำไปแล้วบางส่วน เช่น มิติของ Anywhere Anytime ก็มีความคิดที่อยากจะนำเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดเข้ามาใช้ในห้องเรียน เพื่อให้ครูที่สอนด้วยระบบการศึกษาทางไกลสามารถโต้ตอบกับนักเรียนในห้องเรียนได้ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปถึงการเรียน ในรูปแบบโฮมสคูล

 

•มีนโยบายใดบ้างที่ถือว่า ยังทำไม่สะเด็ดน้ำในปี 2567? 

“การจัดระบบแนะแนวการเรียนและเป้าหมายชีวิต ซึ่งยังไม่เป็นไปตามที่คิด อีกเรื่องคือ ระบบเทียบโอนผลการเรียน ซึ่งได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เป็นผู้ดำเนินการ แต่คิดว่ายังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร”

 

•ผลการดำเนินการแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา? 

“เรื่องนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ ของการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ตามนโยบาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล โดย ศธ.ได้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจ พบว่า มีเด็กนอกระบบการศึกษาวัยเรียน (อายุ 3-18 ปี) จำนวนทั้งสิ้น 1,025,514 คน แบ่งเป็นเด็กไทย 767,304 คน และเด็กต่างชาติ 258,210 คน ติดตามได้ 365,231 คน หรือคิดเป็น 47.60% ขณะที่ยังติดตามไม่ได้ 402,073 คน หรือคิดเป็น 52.40% สำหรับเด็กต่างชาติ สามารถติดตามได้ 31,816 คน หรือคิดเป็น 12.32% และยังติดตามไม่ได้ 226,394 คน หรือคิดเป็น 87.68% 

ศธ.จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายและโครงการต่างๆ เพื่อดึงเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เช่น โครงการ 1 โรงเรียน 3 ระบบ ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเหมาะสม เน้นกระบวนการ 4 ด้าน ได้แก่ ป้องกัน, แก้ไข, ส่งต่อ และติดตามดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบอีกครั้ง โดยเน้นย้ำว่าเด็กไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ

 

•การเดินหน้าศึกษาเท่าเทียม มีเรื่องใดที่อยู่ระหว่างดำเนินการ? 

การสร้างโรงเรียนเครือข่ายในสังกัดเดียวกัน และต่อยอดไปยังสังกัดอื่น เช่น โรงเรียนสังกัด สพฐ.กับโรงเรียนเอกชน ซึ่งมิตินี้เกิดแล้ว ที่่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเดิมเรียกว่า โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง แต่หลังจากเริ่มดำเนินจริงกลับกลายเป็นโรงเรียนเพื่อนที่คอยแบ่งข้อมูลความรู้ให้กันและกัน อีกทั้งยังมีโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ที่ ศธ.จะให้การสนับสนุนความพร้อมเชิงกายภาพ เช่น ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ สื่อการเรียนที่ทันสมัย เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ พัฒนาบุคลากร และสร้างเครือข่าย ให้โรงเรียนคุณภาพ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ใช้ทรัพยากรร่วมกับโรงเรียนใกล้เคียง พร้อมสนับสนุนค่าพาหนะเดินทาง ให้นักเรียนโรงเรียนเครือข่ายจัดรถโรงเรียนรับ ส่ง สร้างความปลอดภัยในการเดินทาง โดยปัจจุบัน มีโรงเรียนคุณภาพสังกัด สพฐ. จำนวน 1,808 แห่ง 

และผมยังคิดต่อยอดไปถึงการนำกลุ่มโรงเรียนในเครือเดียวกัน เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบฯ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นต้น ให้มาช่วยถ่ายทอดความรู้ ไปสู่กลุ่มโรงเรียนอื่นๆ การแบบนี้จะส่งผลให้โรงเรียนในพื้นที่ได้พัฒนาไปตามโรงเรียนคุณภาพ เปรียบเสมือนการหย่อนเม็ดสีลงไปในน้ำที่จะค่อยๆ กระจายตัวไปจนทั่ว”

 

การประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือปิซ่า ปี 2025 มีความมั่นใจมากน้อยแค่ไหน? 

ผมมีความมั่นใจ 1,000 เปอร์เซ็นต์ ว่าผลประเมินปิซ่า จะออกมาดีเป็นที่พอใจ เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สพฐ. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ต่างร่วมกันทำงานเพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยได้มอบ สกศ.เป็นเจ้าภาพหลัก รับผิดชอบการประเมินปิซ่าแทนที่ สสวท. เนื่องจาก สสวท. จะมีหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการการสอบและต้องเป็นกรรมการ ฉะนั้นเพื่อความโปร่งใส ต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกระบวนการในการขับเคลื่อน นอกจากนี้จะยกระดับการสอบปิซ่าให้ครอบคลุมทั้งนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา โดยจัดอบรมครูเกี่ยวกับการออกข้อสอบในรูปแบบเดียวกับการประเมินปิซ่าเพื่อให้นักเรียนคุ้นเคยกับข้อสอบที่เน้นการคิดวิเคราะห์และมาตรฐานสากล อีกทั้งยังปรับรูปแบบข้อสอบสำหรับการสอบคัดเลือกและการเลื่อนตำแหน่งครูและผู้บริหาร ศธ.วัดทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาลักษณะเดียวกับข้อสอบปิซ่า ซึ่งข้อสอบรูปแบบใหม่นี้ได้พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป เป้าหมายคือให้ครูสามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง และถ่ายทอดความรู้ที่ได้ให้กับนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ก้าวสู่ระดับมาตรฐานสากลได้อย่างแท้จริง

 

•การทำงานที่ผ่านมา มองว่าเรื่องใดยังเป็นจุดอ่อนอยู่บ้าง? 

“จุดอ่อนคือ เรื่องที่เราไม่รู้ เรื่องที่ผมรู้อยู่แล้วคงไม่มีปัญหา ตอนนี้ผมมีความรู้ในการบริหาร ศธ.มากพอสมควร และในปัจจุบัน บุคลากรของ ศธ.ก็มีความรู้ความสามารถในการทำงานเพิ่มขึ้นจากอดีตอย่างชัดเจน เพราะมีการทำงานในรูปแบบเครือข่าย มีการประชุมประสานภารกิจทุกวันพุธ ทำให้ทุกหน่วยงานสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง 

ดังนั้น จุดอ่อนน่าจะมาจากปัจจัยอื่น เช่น เรื่องของงบประมาณที่อาจยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอ ส่งผลให้คิดโครงการหรือนโยบายใหม่ๆ ออกมาได้ยาก เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับจะมีการกำหนดอยู่แล้วว่าต้องนำไปใช้ในเรื่องใด

 

•การสร้างความเชื่อมั่นด้านการศึกษาให้กับประชาชน-นักเรียน? 

ที่ผ่านมาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระทรวงศึกษาธิการอาจจะลดน้อยลงจากปัญหาต่างๆ ที่สะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดและไม่สามารถไปบังคับใครให้มาเชื่อมั่นได้ แต่การจะเรียกคืนความเชื่อมั่นนั้นอยู่ที่การกระทำของเราเอง กระทรวงศึกษาธิการจะทำตามนโยบายที่วางไว้อย่างตั้งใจ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ตามแนวทาง “เรียนดี มีความสุข” ต่อไป 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 30 ธันวาคม 2567

เกี่ยวข้องกัน

ส่องผลงาน ‘3 รมต.ภูมิใจไทย’ จับตา ‘ปีงูเล็ก’ ไต่อันดับการศึกษา

ถือเป็นปีที่ประเทศไทยมีอุบัติเหตุทางการเมืองครั้งสำคัญ หลัง นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติทางจริยธรรมร้ายแรงกรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พ้นจากตำแหน่งยกชุดในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 

ถัดจากนั้นเพียง 2 วัน 16 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ ‘อุ๊งอิ๊ง’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ก่อนเดินหน้าฟอร์มทีม ‘ครม.อิ๊งค์ 1’ ในส่วนของรัฐมนตรีด้านการศึกษา ‘ไม่พลิกโผ’ ยังคงเป็น โควต้าของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นั่งคุมตำแหน่งเดิมต่อเนื่อง โดย ‘บิ๊กอุ้ม’ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ‘ครูเอ’ สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล จากบ้านใหญ่อยุธยา รั้งเก้าอี้เสมา 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. แล ‘รมต.ผึ้ง’ ศุภมาส อิศรภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เช่นเดิม 

ดังนั้น การทำงานในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จึงเป็นเรื่องการสานงานเก่า ซึ่งหลายเรื่องเริ่มมีความเป็นรูปธรรม แต่อีกหลายเรื่องก็ยังคงต้องลุ้นว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางใด …!!! 

หนึ่งในคีย์เวิร์ดสำคัญที่พูดมาตลอดทั้งปี 2567 คือ ‘เรียนดี มีความสุข’ เชื่อมโยงทั้งนโยบาย ศธ.และ อว. โดยในส่วนของ ศธ. ‘บิ๊กอุ้ม’ พยายามผลักดัน หลายเรื่องเห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งการลดภาระครู นักเรียน เริ่มต้นปีโดยการเสนอ ครม.ยกเลิกการอยู่เวรของครู ในเดือนมกราคม 2567 ป้องกัน รักษาความเสียหายจากเหตุภัยอันตรายในชีวิตและร่างกายครู จัดสรรงบประมาณจ้างภารโรงเพิ่ม เพื่อให้ครูทำหน้าที่สอนเป็นหลัก การนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในระบบการศึกษา ทั้งการเรียนการสอน เชื่อมโยงกับนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime ซึ่งแม้จะยังไม่เห็นความชัดเจนเนื่องจากข้อจำกัดทางงบประมาณ 

ส่งผลให้ต้องปรับการดำเนินการ ทั้งเรื่องการจัดทำคอนเทนต์เพื่อนำไปใส่ไว้ในแพลตฟอร์มการเรียนรู้ ซึ่งเดิมจะจัดทำให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่เมื่อถูกตัดงบจึงต้องเริ่มนำร่อง จัดทำคอนเทนต์เฉพาะชั้น ม.ปลาย เช่นเดียวกับการจัดหาอุปกรณ์ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นโน้ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ต ล่าสุด ศธ.ขอกำหนดคุณสมบัติ หรือสเปก จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อฟันธงว่าควรจะเป็นโน้ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ต 

ในส่วนของ ศธ.เสนอว่า ต้องมีระบบสัมผัสหน้าจอ สามารถใส่ซิมการ์ด เชื่อมต่อแป้นพิมพ์ได้ ขณะเดียวกันได้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการ Cloud Service หรือบริการคลาวด์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ให้บริการระบบคอมพิวเตอร์แบบเครือข่ายออนไลน์ ตั้งแต่การให้บริการการจัดเก็บข้อมูล, บริการซอฟต์แวร์และแหล่งทรัพยากรคอมพิวเตอร์ผ่านอินเตอร์เน็ตให้กับดีอี เพื่อพิจารณาประกอบการจัดซื้อด้วย นำร่องชั้น ม.4 และจะเรียกคืนเมื่อเด็กจบชั้น ม.6 เพื่อนำกลับมาซ่อมแซมและส่งต่อให้นักเรียนกลุ่มใหม่ จัดซื้อในรูปแบบสัญญาเช่า 5 ปี พร้อมบริการซ่อมแซมครบวงจร และเมื่อครบสัญญาก็จะมีการเปลี่ยนเครื่องและจัดทำสัญญากันใหม่ต่อไป 

เรื่องนี้คงต้องจับตาความชัดเจนกันต่อเนื่องในปี 2568 

ขณะเดียวกันยังมีการนำ ‘เทคโนโลยี’ มาใช้ในการจัดระเบียบต่างๆ ที่เคยยุ่งเหยิง ไม่มีระบบระเบียบ และเคยเป็นช่องทางเรียกรับผลประโยชน์ ที่เห็นกันชัดๆ คือการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (ว9/2564) นำเทคโนโลยีมาช่วยลดระยะเวลาในการประเมินให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตเอกสาร ซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ยกว่า 20,000 บาทต่อคน ที่สำคัญเป็นระบบที่มีความโปร่งใส ลดปัญหาทุจริต กดปุ่มย้ายครูคืนถิ่นด้วยระบบ TMS หรือ Teacher Matching System ตามด้วยระบบการย้ายครูภาพรวม TRS หรือ Teacher Rotation System ซึ่งนอกจากจะมีความรวดเร็ว ตรวจสอบได้ ลดการเรียกรับผลประโยชน์แล้ว ยังช่วยลดภาระงานธุรการ โดยผู้ขอย้ายสามารถลงทะเบียนและติดตามการดำเนินงานได้ผ่านระบบดิจิทัล ระบบ TRS ยังช่วยให้หน่วยงานด้านการศึกษาบริหารจัดการบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมในระบบกลางที่สามารถวิเคราะห์และนำไปปรับใช้ได้ทันที 

อีกเรื่องสำคัญ คือการแก้ปัญหา เด็กหลุดออกจากระบบ ซึ่งปีนี้ ถูกหยิบยกเป็นปัญหาระดับชาติ หลังนักวิชาการออกมาเปิดเผยตัวเลขเด็กดร็อปเอาต์ ที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 1,025,514 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กไทย 767,304 คน และเด็กต่างชาติ 258,210 คน รัฐบาลประกาศนโยบาย Thailand Zero Dropout ตั้งเป้าดร็อปเอาต์เป็นศูนย์ โดยมอบหมายให้ ศธ.เป็นแม่งานหลักในการติดตามเด็กเข้าเรียน ซึ่งแต่ละองค์กรที่มีนักเรียน เร่งค้นหาและนำเด็กกลับเข้าระบบการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง 

ตามมาด้วยปัญหาโลกแตก อย่างการแก้ปัญหา ‘หนี้สินครู’ ซึ่งงานนี้ต้องขอยกเครดิตให้เสมา 2 อย่างนายสุรศักดิ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ. ที่ผลักดันหลายๆ เรื่อง แม้วันนี้ยอดหนี้ในภาพรวมจะยังไม่ลดลง อยู่ที่ตัวเลขเดิม คือกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ก็เรียกว่าได้เห็นแนวทางและความชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ 245 แห่งทั่วประเทศ จับมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 40 แห่ง ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกินร้อยละ 4.75 จัดอบรมการบริหารจัดการเงิน 

แต่เรื่องนี้คงไม่มีใครสามารถช่วยแก้ไขได้ นอกจากตัว ‘ครู’ เอง ที่ต้องมีวินัยทางการเงิน ไม่ใช่กู้จนล้นเกินตัว แล้วมาเรียกร้อง รอความช่วยเหลือ…!! 

ข้ามฟากมาทางด้าน ‘อุดมศึกษา’ ซึ่งปีนี้อาจดูไม่ปังปุริเย่เท่าที่ควร โดยไตรมาสแรกของปี 2567 ‘รมต.ผึ้ง-ศุภมาส’ วางแนวทาง ขับเคลื่อนแผนงาน โดยแบ่งเป็น 3 ด้านคือ ด้านอุดมศึกษา, ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม และการแก้ปัญหาประเทศด้วยนวัตกรรม แต่เท่าที่ดูผลงานจะเน้นจัดอีเวนต์ใหญ่ เหมือนจุดพลุ แต่ไม่เห็นความต่อเนื่อง ทั้งการนำงานวิจัยไปใช้ในการพัฒนาประเทศ หรือกระทั่งการพัฒนามหาวิทยาลัย 

ทั้งนี้ แม้ผลงานจะมีน้อย แต่ก็ยังพอมีให้เห็น อย่างเช่นการผลักดันร่างกฎหมายจัดตั้ง ‘กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา’ รวม 4 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ. …, ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … 

โดยสาระสำคัญอยู่ที่การจัดตั้ง’กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา’ที่จะถูกนำมาใช้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ เรื่องอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2566 ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นค่าสมัครสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ TGAT และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการสมัครคัดเลือกในระบบ TCAS 68 รอบ 3 หรือรอบแอดมิชชั่น ฟรี 7 อันดับ หรือกระทั่งปัญหาช้อปปิ้งงานวิจัยที่มีอย่างต่อเนื่อง ก็กลับเงียบหาย ทั้งที่ควรมีระบบป้องกันและลงโทษอาจารย์ที่ทำผิดจรรยาบรรณอย่างจริงจัง 

ยังไม่รวมถึง ‘ข้อพิพาท’ กรณีการย้ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ออกจากพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เหมือนการ ‘ตีปี๊บ’ ตั้งโต๊ะแถลงแผนการย้ายที่ดูเหมือนจะมีความชัดเจน ทั้งเรื่องบประมาณและพื้นที่รองรับ แต่สุดท้ายก็กลับเงียบหายเข้ากลีบเมฆเหมือนเช่นเคย 

สอดคล้องกับความเห็นนักวิชาการ โดย นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ตัดเกรดผลงาน อว.ปี 2567 ให้คะแนน อยู่ที่ 5.5 เต็ม 10 ถือว่าสอบผ่าน โดยรอบปีที่ผ่านมาการทำงานของ อว.เต็มไปด้วยความมีสีสัน มีการจัดกิจกรรมมากมาย แต่ไม่ได้ลงลึกถึงปัญหา เพื่อทำให้เกิดคุณภาพชีวิตบุคลากรในมหาวิทยาลัยต่างๆ ดีขึ้น เช่น การขึ้นเงินเดือนที่ถกเถียงกันมานาน ที่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ทำให้หลายคนรู้สึกว่า อว.ไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ 

“ส่วนตัวมองว่า อว.ยังไม่ได้จริงจังมากพอในหลายเรื่อง เช่น การนำงานวิจัยไปใช้พัฒนาประเทศ ที่ตอนนี้การวิจัยเป็นลักษณะเกิดประโยชน์กับตัวผู้วิจัย แต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศและส่วนรวม ถือเป็นปัญหาที่ใหญ่ ที่ไม่ได้ถูกนำมาพูดคุย ส่งผลให้ทิศทางของมหาวิทยาลัยไม่ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศ รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณ มหาวิทยาลัยรัฐบาลขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ที่มีแตกต่างกัน 20-30 เท่า ทำให้เกิดความ เหลื่อมล้ำ” นายสมพงษ์กล่าว 

ส่วนการทำงานของ ศธ. นายสมพงษ์ ให้คะแนนอยู่ที่ 6 เต็ม 10 เนื่องจากเห็นการเปลี่ยนแปลงและมีแนวคิดที่สำคัญหลายเรื่อง คือ ท่าทีการทำงานของผู้บริหาร ศธ.ที่สามารถแก้สถานการณ์ได้ทันท่วงที ช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้อย่างมาก ถือว่าสามารถใช้การเมืองมาสยบปัญหาทางการศึกษาได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุง เช่น การปฏิวัติการศึกษา เรียนดีมีความสุข การลดภาระครูและนักเรียน การแก้ปัญหาเด็กนอกระบบตามนโยบาย Thailand Zero Dropout เป็นต้น 

“ปัญหาการศึกษามีหลายเรื่องที่หมักหมมมานานกว่า 20 ปี และถูกกดทับไว้ไม่มีการพูดถึงในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศ ซึ่งพอหมดช่วงเวลา คสช.จนมาถึงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการขับเคลื่อนจนมีความหวังมากขึ้น การศึกษาของไทยน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี และมีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามนโยบายที่ได้มอบไว้กับรัฐสภาและตามแนวทางของ ศธ. ดังนั้น สำหรับผม ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของ ศธ.ในยุคนี้นั้นมีหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกครูเวร สุขาดีมีความสุข การลดหนี้สินครู ฉะนั้น ในปี 2568 คาดว่าจะได้เห็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติได้เข้าสู่รัฐสภา ได้เห็นหลักสูตรใหม่ และได้เห็นเรื่องของการนำเด็กที่หลุดออกจากระบบกลับมาเรียนมากขึ้น” นายสมพงษ์กล่าว 

ขณะที่ นายอดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการทางการศึกษา มองคล้ายกันว่า ผลงานของ ศธ.ปี 2567 ที่เห็นเป็นรูปธรรมนั้นมีหลายเรื่อง แต่ยังเป็นเรื่องที่เป็นงานทั่วไป ไม่ได้ทำให้เกิดการปฏิวัติการศึกษา โดยให้คะแนนผลงานตลอดทั้งปีอยู่ที่ 6.5 เต็ม 10 ส่วน อว.ให้คะแนน 5 เต็ม 10 เนื่องจากการดูแลอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์นวัตกรรมยังไม่มีความชัดเจน อยากให้ผู้บริหาร อว.กลับมาดูแลบุคลากรในอุดมศึกษาให้มากขึ้น เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปอุดมศึกษาอย่างแท้จริง 

“คิดว่าผู้บริหาร อว.ยังหาจุดเปลี่ยนเพื่อจะพลิกโฉมและวางกลไกเชิงยุทธศาสตร์ไม่ได้ แม้ที่ผ่านมามีความพยายามในการจะปฏิรูปอุดมศึกษา แต่กลับไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องการพัฒนากำลังคน มองแต่การขับเคลื่อนนโยบายที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม เห็นได้จากการจัดนิทรรศการต่างๆ ที่มีจำนวนมากในปี 2567” นายอดิศรกล่าว 

แม้ผลงาน ‘ศธ.-อว.’ปี 2567 อาจจะยังไม่โดนใจเท่าที่ควร ถูกตัดเกรดผ่านแบบคาบเส้น แต่คงต้องให้กำลังใจ ‘ทีม รมต.ภูมิใจไทย’ กันต่อเนื่อง และรอดูว่าปี 2568 จะสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีได้หรือไม่ 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 1 มกราคม 2568

เกี่ยวข้องกัน

เปิด 10 แนวโน้มการศึกษาปี 2568 นักวิชาการแนะ อว.ปักธงนโยบายใหม่ จี้ ศธ.ปฏิวัติการศึกษา 

เมื่อวันที่ 5 มกราคม นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ขณะนี้มี 10 แนวโน้มการศึกษาของโลกและไทย มองว่าการศึกษาของไทยต้องโงหัวขึ้น และต้องเตรียมการสำหรับคุณภาพคนทั้งในประเทศและต่างประเทศ การดำเนินงาน 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นช้าไปแล้ว ดังนั้น การโงหัวขึ้น เตรียมการพุ่งไปข้างหน้า อย่างมีสติเป็นเรื่องสำคัญของการศึกษาไทย สำหรับ 10 แนวโน้มการศึกษา การศึกษาตนรวบรวมมาจากสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่เราควรจะต้องเตรียมการ มีดังนี้ 

1.เทคโนโลยี AI และดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเรื่องของการบริหาร และการจัดการการศึกษา ทั้งนี้พบว่าเทคโนโลยีไม่ได้ใช้ไปอย่างตรงที่ ตรงจุด และยังมีลักษณะการใช้แบบหลวมๆ อยู่ในเฉพาะกลุ่ม มองว่าเรายังไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ดี และไม่รู้จักใช้ให้ตรงจุด ซึ่งหวังว่าเทคโนโลยี AI และดิจิทัลแพลตฟอร์ม น่าจะมาแก้ไขประเด็นสำคัญๆทางการศึกษา 

2. อุดมศึกษา ควรจะต้องเป็นตัวของตัวเองมากกว่านี้ เพราะอุดมศึกษาไปยืมนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มาใช้ คือ “เรียนดี มีความสุข” เพราะมองว่าเป็นคนละปณิธานและปรัชญา โดยนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เหมาะกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่เมื่อระดับอุดมศึกษานำไปใช้ มองว่าอาจจะไม่เหมาะสมกับนิสิต นักศึกษา และผู้ที่เรียนในระดับอุดมศึกษา เพราะการเรียนระดับมหาวิทยาลัย เป็นการเรียนรู้จากการศึกษา ค้นคว้า ไม่ใช่เรียนเพื่อท่องจำ การปักธงนโยบายนี้จึงผิดพลาด ทำให้อุดมศึกษาหลงทิศ หลงทาง ดังนั้น ต้องหาธง หาทิศทางหาเป้าหมายของตนเองให้ชัด ปีใหม่นี้ อยากให้ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ตั้งต้นให้ดี อย่าไปแต่งานอีเว้นต์ กิจกรรมต่างๆ แต่กลับไม่ไปลงเนื้อ หรือแก่นปัญหาการปฏิรูปอุดมศึกษาอย่างแท้จริง ดังนั้น หาเป้าหมาย หาสโลแกน และปรัชญาของอุดมศึกษาในเชิงนโยบายให้เจอให้ได้ และเราจะก้าวไปอย่างชัดเจน 

3.การกระจายอำนาจอย่างแท้จริง มองว่าปีนี้ การศึกษาไทยต้องเอาจริงเอาจังเรื่องการกระจายอำนาจ ให้ลงไปสู่พื้นที่ ลงไปสู่สมัชาการศึกษา ลงไปสู่โรงเรียน และควรจะปรากฏเรื่องนี้อยู่ในสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย 

4.โรงเรียนควรปฏิรูปจากระบบที่มีอยู่ ให้ยืดหยุ่น มีความเป็นธรรมกับเด็กทุกกลุ่ม การมองเด็กเก่ง เด็กหน้าห้องเพียงอย่างเดียว ทำให้เราสูญเสียเด็กกลางห้องและหลังห้องออกจากระบบการศึกษาไทยจำนวนมาก ดังนั้นโรงเรียนต้องปรับตัวครั้งใคร คือ ทั้งยืดหยุ่น และมีระบบที่ให้โอกาสกับเด็กทุกคน 

5.ศธ. จะต้องเปิดมากขึ้นกว่านี้ และอิสระ และกล้าแหวกกรอบ แหวกระบบราชการ กล้าปฏิรูปจากภายในกระทรวง 

6.ระบบครู ที่เดิมเป็นวิชาชีพที่คนอยากเรียนมาก การผลิตครูก็เป็นระบบเปิด ทำให้มีการแข่งขันเปิดรับผู้เรียนเป็นจำนวนมาก สถาบันผลิตครูต่างผลิต ต่างหาผู้เรียนให้ได้มากที่สุด ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและด้อยคุณภาพ มองว่าการผลิตครูระบบเปิดที่เน้นจำนวน คิดว่าในปีต่อไปจะมีการพูดคุย ปรึกษาหารือ และจะค่อยๆปรับเป็นระบบปิด คือ เป็นระบบที่มีหลักสูตรตอบโจทย์ปัญหาการศึกษา 

7.เด็กจำนวน 1 ล้านคน จะกลับเข้าสู่การเรียนรู้ 1 โรงเรียน 3 ระบบ สิ่งที่เราจะต้องคิดต่อไป คือ “สิทธิเด็ก” เด็กจะต้องได้รับบริการ ได้รับการคุ้มครองทางการศึกษา ไม่ถูกผลักออก ทำให้คุณภาพชีวิตเด็กขึ้น ถ้าเด็ก 1 ล้านคน ได้รับโอกาสทางการศึกษา ประเทศจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 

8.ระบบงบประมาณ ควรเลิกจัดงานอีเวนต์ เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย รวมถึงการศึกษาดูงานต่างประเทศ ที่เมื่อกลับเข้ามาในประเทศแล้วก็ไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไร ดังนั้น ในสภาวะที่เรามีงบประมาณจำกัด การจัดอีเวนต์ และกิจกรรมต่าง ควรจะลดน้อยลง และควรเน้นงบประมาณวิจัยที่ตอบโจทย์ประเทศมากกว่า มองว่า ศธ.และ อว.น่าจะต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องดังกล่าวครั้งใหญ่ 

9. การศึกษากำลังกว้าไปสู่โลกสมัยใหม่ ที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต การอัพ-รีสกิล ธนาคารหน่วยกิต ครูและเด็กออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อก่อนการเรียนรู้ต้องไปโรงเรียน แต่ปัจจุบันการเรียนรู้อยู่รอบตัวเด็ก และต้องเข้าไปหาเด็กแล้ว 

10.ขอให้ปฏิวัติการศึกษาเกิดขึ้นจริง มีทิศทาง แม่นยำ และต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นกระแส หรือเป็นแค่สโลแกนที่ดูดี แต่ไม่ค่อยมีผลในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงมากนัก 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 5 มกราคม 2568