เมื่อวันที่ 18 มกราคม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ว่า ที่ประชุมพิจารณาแก้ไขระเบียบศธ.ว่า ด้วยปีการศึกษาการเปิดและปิดภาคเรียน พ.ศ. 2549 เพื่อให้เข้ากับบริบทในปัจุบัน โดยมีแนวคิด เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 จากเดิมวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 พฤษภาคม และเลื่อนวันปิดภาคเรียนที่ 1 จากวันที่ 11 ตุลาคม เป็นวันที่ 30 กันยายน เพื่อให้ตรงกับปีงบประมาณ ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าว เกิดจากการรับฟังปัญหา ที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้น จึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ศึกษารายละเอียด เพื่อนำเข้าที่ประชุมกพฐ.
· ภาคเรียนที่ 1 วันที่ 1 พฤษภาคม วันปิดภาคเรียน วันที่ 30 กันยายน
· ภาคเรียนที่ ๒ วันที่ 1 พฤศจิกายน วันปิดภาคเรียน วันที่ 31 มีนาคม
“ข้อดีของการเลื่อนวันเปิดเทอม จะส่งผลดีเรื่องการบริหารจัดการที่ง่ายขึ้น การปิดภาคเรียนที่1 ก็เพิ่มขึ้นจากเดิมนักเรียนมีเวลาหยุดเพิ่มขึ้น ส่วนข้อกังวลเรื่องการนับอายุเด็กก่อนเข้าเรียนและปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมา มองว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพียงต้องประโยชน์ที่จะเกิดในภาพรวม ว่าคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ก่อให้เกิดปัญหาที่มากกว่าประโยชน์ก็จะไม่เปลี่ยน ในทางกลับกันหากได้รับผลประโยชน์มกกว่า ก็คงจะมีการปรับใช้”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า หากมีการเปิด ปิดภาคเรียนกับช่วงปีงบประมาณ จะเป็นผลดีต่อการบริหารอัตรา โดยที่ผ่านมา สพฐ. ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า 47,467 คน แบ่งเป็น ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา ฯลฯ พบว่า เห็นด้วย 80.30% ไม่เห็นด้วย 16.91% และอื่นๆ 0.79% โดยผู้ที่เห็นด้วยมีประเด็นเห็นชอบ ดังนี้
1. เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการภายในสถานศึกษาเนื่องจากสอดคล้องกับปีงบประมาณสะดวกต่อการบริหารจัดการด้านการเบิกจ่ายอาหารกลางวันอาหารเสริม (นม) และการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ
2. เป็นประโยชน์กับเด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 – 15 พฤษภาคม สามารถเข้าเรียนได้เลย ไม่ต้องรอเข้าเรียนในปีการศึกษาถัดไป
3. เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารอัตรากำลัง เนื่องจากการเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน แต่เดิมกำหนดปิดภาคเรียนในวันที่ 11 ตุลาคม ส่งผลต่อการบริหารจัดการด้านอัตรากำลัง
4. เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา
5.เพื่อให้นักเรียนชั้นม.3 และม.6 มีโอกาสแก้ผลการเรียนให้จบทันปีการศึกษา โดยการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 พฤษภาคม ทำให้นักเรียนที่มาแก้ผลการเรียนดำเนินการได้สะดวกกว่าการที่โรงเรียนเปิดวันที่ 16 พฤษภาคม อีกทั้งยังลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้จบการศึกษาเพิ่มขึ้น สามารถใช้วุฒิการศึกษา ไปทำงานหรือเรียนต่อได้ทันปีการศึกษาถัดไป
ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย ดังนี้
1. ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมมีสภาพอากาศร้อนไม่เหมาะสมต่อการจัด กิจกรรมหรือการจัดการเรียนการสอน
2. ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมมีวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวันส่งผลให้ต้องหยุดเรียน อาทิ วันแรงงาน วันฉัตรมงคล วันพืชมงคล วันวิสาขบูชา
3. การปรับเปลี่ยนวันเปิดภาคเรียนเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการเท่านั้น ไม่ส่งผลประโยชน์ต่อผู้เรียน
4. การเปิดและปิดภาคเรียนแบบเดิมมีความเหมาะสม
“นอกจากนี้ ยังมีความเห็นอื่น ๆ เช่น
1. ควรนับวันครบอายุเข้าเรียนตามปี พ.ศ. เพื่อให้เข้าเรียนในระดับชั้นอนุบาล และระดับชั้นประถมศึกษาได้อย่างเหมาะสม
2.ควรกำหนดกรอบระยะเวลาเปิดภาคเรียนแบบยืดหยุ่นเพื่อให้สถานศึกษาบริหารจัดการตามบริบทและความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่สามารถแก้ไขระเบียบอื่นได้ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนวันเปิดภาคเรียน
ซึ่งที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยประธานที่ประชุมมอบหมายให้ สพฐ. ไปดำเนินการ ให้มีการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานและส่วนราชการอื่น ๆ รวมถึงโรงเรียนเอกชนด้วย เพราะจะส่งผลกระทบจากการปรับวันเปิด-ปิด ภาคเรียนด้วย”ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าว
"สพฐ."เปิดสำรวจความคิดเห็นหนุนเลื่อนเปิดภาคเรียนจาก 16 พ.ค.เป็น 1 พ.ค.เพื่อแก้ปัญหาคร่อมปีงบประมาณ เตรียมเสนอรมว.ศึกษาธิการ
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 18 มกราคม 2568
เกี่ยวข้องกัน
ศุภเสฏฐ์ หนุนเลื่อนเปิดเทอม ชี้สะดวกกับการบริหาร แต่ขอคงอำนาจตัดสินใจให้โรงเรียน
จากกรณีประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณาแก้ไขระเบียบศธ.ว่า ด้วยปีการศึกษาการเปิดและปิดภาคเรียน พ.ศ. 2549 เพื่อให้เข้ากับบริบทในปัจจุบัน โดยมีแนวคิด เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 จากเดิมวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 พฤษภาคม และเลื่อนวันปิดภาคเรียนที่ 1 จากวันที่ 11 ตุลาคม เป็นวันที่ 30 กันยายน เพื่อให้ตรงกับปีงบประมาณ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปศึกษารายละเอียดต่อไป
เมื่อวันที่ 20 มกราคม นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า ในระเบียบดังกล่าวมีการมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเอกชนเป็นผู้พิจารณาเลือกวันเปิดและปิดภาคเรียนอยู่แล้ว ซึ่งในปัจจุบันสถานศึกษาเอกชนหลายแห่งก็มีการเปิดเรียนในวันที่ 1 พฤษภาคมและวันอื่นๆตามความพร้อมของแต่ละโรงเรียนมาโดยตลอด ซึ่งหากจะมีการปรับเปลี่ยนระเบียบนี้จริงส่วนก็เห็นด้วยที่จะเลื่อนให้ตรงกับปีงบประมาณแต่ยังอยากให้คงอำนาจในการตัดสินใจไว้กับผู้อำนวยการสถานศึกษาตามเดิมเพื่อให้โรงเรียนได้พิจารณาตามบริบทของตนเอง
“การเลื่อนปิดภาคเรียนไปให้ตรงกับวันที่ 30 กันยายนเป็นสิ่งที่ดีอย่างมากเพราะการปิดตรงกับปีงบประมาณทำให้การบริหารจัดการมีความง่ายมากยิ่งขึ้น เพราะการจะบริหารจัดการบางอย่างในสถานศึกษาหากมีการข้ามปีงบประมาณไปแล้วจะมีความยุ่งยากทำให้ต้องเสียเวลาในการรอดำเนินการ ซึ่งบางเรื่องอาจส่งผลเสียต่อสถานศึกษาโดยตรง ทั้งนี้การให้อำนาจผู้บริหารสถานศึกษาในการตัดสินใจเลือกวันเปิดปิดภาคเรียนจะเป็นการกำจัดข้อเสียในเรื่องของบริบทตามพื้นที่สถานศึกษาออกไปได้ เนื่องจากสถานศึกษาแต่ละแห่งอาจจะมีความจำเป็นในการเปิดปิดภาคเรียนที่แตกต่างกัน เช่น เรื่องของสภาพอากาศ และ ความต้องการของผู้ปกครอง เป็นต้น”นายศุภเสฏฐ์ กล่าว
นายศุภเสฏฐ์ กล่าวต่อว่า หากมีการประกาศใช้ระเบียบการเปิดปิดภาคเรียนฉบับใหม่จริงจะส่งผลในภาพรวมของโรงเรียนเอกชนอย่างแน่นอน เนื่องจากโรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศจะต้องปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว แต่ส่วนตัวคาดว่าคงจะยังไม่ได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้เนื่องจากต้องมีการรวบรวมความคิดเห็นจากอีกหลายฝ่ายเพราะถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อระบบการศึกษาทุกภาคส่วน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีที่จะทำให้โรงเรียนได้มีเวลาในการวางแผนมากยิ่งขึ้นหากระเบียบถูกบังคับใช้จริง
“อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือเด็กนักเรียนยังต้องเรียนให้ครบ 100 วันอยู่หรือไม่หากมีการเลื่อนเปิดปิดภาคเรียนจริง ซึ่งในปัจจุบันหลายๆโรงเรียนก็ไม่ได้มีการให้นักเรียนได้เรียนครบ 100 วันตามจริงอยู่แล้ว การเลื่อนเปิดปิดเทอมในครั้งนี้จึงอยากให้พิจารณาประเด็นนี้เข้าไปด้วย”นายศุภเสฏฐ์ กล่าว
ขณะที่มกราคม นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า การเลื่อนเปิดภาคเรียนเร็วขึ้น มองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การรับสมัครนักเรียนจะเริ่มเดือนมีนาคม และกว่าจะหาที่เรียนให้นักเรียนได้อาจจะล่วงมาถึงปลายเดือนเมษายน ปัญหาจะพันกันไปหมด นอกจากนี้ มองว่าควรจะให้ความสนใจเรื่องเวลาเรียนมากกว่า และการปรับกระบวนการเรียนการสอนมากกว่า
นายเอกชัยกล่าวต่อว่า การเลื่อนเปิดเทอม มองว่าไม่ควรจะบังคับให้โรงเรียนทั่วประเทศต้องเลื่อนเปิดวันที่ 1 พฤษภาคม เพราะไม่มีประโยชน์ต่อผู้เรียน ที่ผ่านมาเราเคยเลื่อนเปิดเทอมให้เหมือนกับอาเซียน ผลปรากฏว่าเละตุ้มเป๊ะ ทั้งนี้ ตามประวัติของเรา เราปิดเทอมช่วงหน้าฝน เพราะให้เด็กไปช่วยพ่อแม่ทำเกษตรกรรม ดังนั้น อาจจะปิดถึงพฤษภาคม-มิถุนายนด้วยซ้ำ และให้เด็กเรียนซัมเมอร์แทน ตอนหลังก็มาขยับปิดเทอมหน้าร้อนแทน
นายเอกชัยกล่าวต่อว่า การเปิด-ปิดภาคเรียนควรจะเปิดช่องยืดหยุ่น โดยมอบอำนาจให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และโรงเรียน พิจารณาร่วมกันว่าในพื้นที่ของตนควรจะเปิด-ปิดเรียนช่วงใด เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทไม่เหมือนกัน เช่น ในกรุงเทพฯมีปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 อาจจะเลื่อนเปิดภาคเรียนเป็นปลายเดือนพฤษภาคม หรือจังหวัดระนอง พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีปัญหาฝุ่น อาจจะเปิดภาคเรียนต้นเดือนพฤษภาคม เป็นต้น ควรให้อิสระเขตพื้นที่ และโรงเรียนตัดสินใจ
“มองว่าคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ควรจะให้ความสนใจเรื่องหลักสูตร เพราะถือเป็นอำนาจของ กพฐ. แต่ปัจจุบันหลักสูตรยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็ควรจะสนับสนุนให้ครูปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการเรียนการสอน โดยสนับสนุนให้ครูเข้าถึง AI ให้ได้ หรือให้เขตพื้นที่ฯ โรงเรียน สมัครแพลตฟอร์ม AI เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์กับการเรียนการสอน ไกด์นำเด็กได้ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา (ศธ.) ได้เริ่มให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนต่างๆ สามารถอัพโหลดการเรียนการสอนลงในแพลตฟอร์ม เพื่อให้เด็กไทยสามารถเรียนได้ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดี ดังนั้น บอร์ด กพฐ.ควรจะมุ่งเน้นเรื่องหลักสูตร การปรับการเรียนการสอน และจัดสรรงบเพื่อให้ครูใช้ AI มาจัดการเรียนการสอน” นายเอกชัยกล่าว
ทำนองเดียวกัน นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า การเลื่อนเปิด ปิดภาคเรียน โดยยึดปีงบประมาณเป็นหลัก โดยพบว่าจากผลสำรวจ 80% เห็นด้วย ในเชิงหลักการ แนวปฏิบัติ และการขับเคลื่อน ตนเห็นด้วย เพราะสิ่งที่ตนพบคือการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากจบเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา มีการจัดตั้งรัฐบาลช้ามาก ทำให้มีการเหลื่อมงบประมาณ 6-7 เดือน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ สร้างปัญหา ข้อยุ่งยากมากมาย ทั้งเรื่องเงินทุน อาหารกลางวัน อาหารเสริมนม การบรรจุครู หน่วยราชการจะหาเงินจากไหนมาสำรองจ่าย ซึ่งสร้างความวุ่นวายอย่างมาก
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หากจะยึด “ปีงบประมาณ” เพียงอย่างเดียว โดยถามความเห็นของข้าราชการ ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา บางส่วนเท่านั้น แต่คนที่ได้รับผลกระทบจากการเลื่อนปิด-เปิดภาคเรียน คือเด็กนักเรียน ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องสำรวจอย่างรอบด้าน ไม่ใช่แค่เชิงบริหารจัดการเท่านั้น แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการสำรวจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ ตนมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. ได้คำนึงถึงความต้องการ สิทธิเด็กและเยาวชนเพียงพอหรือยัง? มองว่าต้องทำผลการสำรวจ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเป็นหลัก โดยให้สภานักเรียน หรือสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการสำรวจความพอใจ สำรวจความเห็นของนักเรียนว่าการเลื่อนเปิดปิดภาคเรียน ส่งผลกระทบต่อชีวิตและคุณภาพของเด็กอย่างไร?
2.นอกจากมองเรื่องปีงบประมาณแล้ว ได้คิดถึงผลกระทบอย่างอื่นหรือไม่ เช่น ปัจจุบันสังคมไทยเผชิญสภาวะโลกเดือด ปัญหา PM2.5 น้ำท่วม ผลกระทบเหล่านี้ควรจะศึกษาย้อนหลัง 3 ปี และวิเคราะห์เตรียมการล่วงหน้าอีก 3 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจ เพราะโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นต้องรอบคอบกว่านี้
3.การเลื่อนเปิดเทอม ทำให้นักเรียนมีเวลาหยุดเพิ่มขึ้น แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมการ “ปิดเทอมสร้างสรรค์” รับการหยุดยาวของนักเรียนหรือยัง ถ้าเด็กหยุดยาวเพิ่มมากขึ้น เด็กอาจจะกลับไปเล่นมือถือ อาจจะมีปัญหาเด็กติดต่อตามมา หรืออาจจะเข้าไปในสถานที่พื้นที่ไม่ดี อีกทั้งกำลังจะมีเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์อีก สิ่งเหล่านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการอย่างไร และเตรียมกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กอย่างไรบ้าง?
4. ต้องปฏิรูประบบการวัดผล ปัญหาใหญ่ที่สุดของเด็กไทยในขณะนี้ มี 2 เรื่อง คือ 1.เด็กกลัวถูกตี และ 2.เด็กสอบบ่อย ติด 0 ติด ร. ติด มส. ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กไม่ชอบมากที่สุด จึงอยากให้มีการปฏิรูประบบการลงโทษเด็ก การวัดผล และการสอบที่เมตตากับเด็กมมากกว่านี้
5.เมื่อหยุดยาวมากขึ้น ผู้ปกครองที่ประกอบอาชีพต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ได้สอบถามผู้ปกครองหรือยัง เพราะผู้ปกครองจะต้องมีรายจ่ายมากขึ้น เช่น อาจจะต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษเพิ่มขึ้น จ่ายค่านม ค่าอาหารเพิ่มขึ้น
6.ทั้งนี้เมื่อดูข้อดี ข้อเสีย ที่ทำการสำรวจมาก คิดว่าควรจะเพิ่มขึ้นเสียให้มากกว่า และให้รายละเอียดเพิ่มเติมด้วย เพราะไม่พอกับการตัดสินใจ การให้ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญต่อการตัดสินใจ เมื่อให้ข้อมูลเน้นข้อดี เหมือนกับมีธงนำ และมีคำตอบแล้ว
“ที่ผ่านมาเรามีการเลื่อน 2-3 หนแล้ว ตั้งแต่เหตุผลการเลื่อนเปิดปิดภาคเรียนให้ตรงกับอาเซียน และล่าสุดเลื่อนให้ตรงกับปีงบประมาณ ซึ่งเลาเลื่อนแต่ละครั้ง มีผลกระทบกับชีวิต ค่าใช้จ่ายตามมา การรับฟังข้อมูลจากผู้ใหญ่เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยฟังเสียงเด็กน้อยเกินไปผมว่าอันตราย” นายสมพงษ์ ระบุ
ที่มา; มติชนออนไลน์ วันที่ 20 มกราคม 2568
เกี่ยวข้องกัน
ปรับเลื่อนเปิดและปิดเทอมใหม่ คาดอาจเริ่มเปิดเทอม
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 68 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการปรับแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยปีการศึกษาการเปิดและปิดภาคเรียน พ.ศ. 2549 ซึ่งจะเลื่อนวันเปิดภาคเรียนที่ 1 จากวันที่ 16 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันที่ 1 พ.ค. และเลื่อนวันปิดภาคเรียนที่ 2 จากวันที่ 11 ต.ค. เป็นวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งได้มอบหมายสำนักที่เกี่ยวข้องไปจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด เช่น กทม. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) องค์การบริหารส่วนปกครองท้องถิ่น โรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน (ตชด.) เป็นต้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากโรงเรียนสังกัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ว่าจะติดปัญหาหรืออุปสรรคใดหรือไม่ หากจะมีการเลื่อนเปิดและปิดภาคเรียนใหม่ เพราะการเลื่อนเปิดและปิดภาคเรียนใหม่นี้ จะส่งผลดีในการการจัดทำแผนบริหารงานงบประมาณ งานบุคคล ของโรงเรียน รวมถึงจะทำให้นักเรียนและครูมีระยะเวลาพักเพิ่มขึ้นด้วย โดยจะต้องได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ ดังนั้นหากทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ก็จะกำหนดประกาศการเลื่อนเปิดและปิดเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 นี้ทันที โดยกำหนดเปิด 16 พ.ค. เป็น 1 พ.ค. 68 นี้ทันที
ที่มา ; เดลินิวส์ออนไลน์
เกี่ยวข้องกัน
สรุปร่นปิดเทอม 1 เร็วขึ้น เป็น 30 ก.ย. จากเดิม 11 ต.ค. ชง บิ๊กอุ้ม เคาะ
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้เชิญหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ทั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ผู้แทนจากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มาหารือเรื่องการเลื่อนเปิด-ปิด ภาคเรียนที่ 1 ให้ตรงกับปีงบประมาณ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และมีมติให้ปรับวันเปิดภาคเรียนที่ 1
โดยยังคงให้เปิดเรียนวันที่ 16 พฤษภาคม เช่นเดิม แต่เลื่อนการปิดเทอมจากเดิม วันที่ 11 ตุลาคม เป็นวันที่ 30 กันยายน ลดลงมาจากเดิมแค่ 10 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับปีงบประมาณ ส่วนภาคเรียนที่ 2 ให้คงไว้เช่นเดิม อย่างไรก็ตามมติดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อสรุป โดยตนจะเสนอรายละเอียดให้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศธ. พิจารณา หากรัฐมนตรีว่าการศธ. ให้ความเห็นชอบ ก็สามารถเลื่อนปิดเทอม ได้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 นี้ทันที
“ที่ประชุมได้หารือเรื่องดังกล่าว และเห็นตรงกันว่า หากเลื่อนปิดเทอมมาเป็นวันที่ 30 กันยายน จะส่งผลในทางที่ดี ทั้งในเรื่องการบริหารงบประมาณ บุคลากร การบริหารจัดการงบอาหารกลางวัน การบริหารงานจัดซื้อจัดจ้าง ฯลฯ ส่วนที่ยังคงการเปิดภาคเรียนไว้เป็นวันที่ 16 พฤษภาคม เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อการนับอายุเด็กเข้าเรียน การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เป็นประโยชน์แก่ผู้เรียนและผู้ปกครอง รวมทั้งเพื่อให้การบริหารราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568