ชวนจับตามอง 5 เทรนด์การศึกษาแห่งอนาคต กับการพัฒนาทักษะทางภาษาควบคู่กับการเรียนรู้แบบองค์รวมในโลกที่การเรียนรู้แบบ 2 ภาษาไม่เพียงพอ ต้องเข้าใจความหลากทลายทางวัฒนธรรม และมีทักษะทางอารมณ์ จึงจะได้เปรียบในสังคมยุคดิจิทัล
ในโลกอนาคต ความสามารถสองภาษาไม่ใช่แค่ข้อได้เปรียบ แต่เป็นสิ่งจำเป็น ทักษะทางภาษาจะต้องก้าวไปไกลกว่าการสื่อสารทั่วไป อะไรคือสิ่งที่เด็กยุคใหม่ต้องมี เพื่อก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลง
ภาษาจีนและภาษาอังกฤษจะกลายเป็นภาษาหลักของโลก
ในยุคที่โลกไร้พรมแดน สามารถติดต่อกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ภาษาจีนและภาษาอังกฤษกลายเป็นเหมือนพาสปอร์ตใบสำคัญที่เปิดประตูสู่โอกาสมากมาย เนื่องจากเป็นสองภาษาที่มีอิทธิพลมากที่สุดในวงการการศึกษาและธุรกิจทั่วโลก
ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันอย่างแพร่หลาย ครอบคลุมเนื้อหาบนเว็บไซต์เกือบ 26% ขณะที่ภาษาจีนเป็นภาษาที่ใช้โดยประชากรมากกว่า 1.2 พันล้านคนทั่วโลก ประกอบกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้ภาษาจีนก้าวขึ้นเป็นภาษาที่สำคัญอีกภาษาหนึ่ง การเปิดโอกาสให้สามารถเรียนรู้ทั้งสองภาษาตั้งแต่เด็ก
ไม่เพียงทำให้นักเรียนมีความรู้ทางภาษาที่กว้างขวางขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้นักเรียนได้สัมผัสวัฒนธรรมที่หลากหลาย และพร้อมที่จะก้าวไปสู่เวทีโลกอย่างมั่นใจในอนาคต
ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่าง
การเรียนรู้ภาษาหลายภาษานั้นเปรียบเสมือนการปูพื้นฐานด้านวัฒนธรรมที่หลากหลาย เข้าใจความเป็นมา และบ่มเพาะความสามารถในการปรับตัวที่แข็งแกร่งในวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งจะช่วยเปิดทางสู่โอกาสต่อไปในอนาคต
ทักษะทางอารมณ์และสังคมในยุคดิจิทัล
ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทักษะที่สำคัญที่สุดคือทักษะแห่งการอยู่ร่วมกัน และทักษะทางอารมณ์ หรือ Emotional Intelligence การเรียนรู้สองภาษาจะช่วยปลูกฝังทักษะเหล่านี้ให้กับนักเรียนตั้งแต่วัยเยาว์ ทำให้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ สามารถควบคุมอารมณ์ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขโดยเฉพาะเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว ทั้งยังจะเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์การสรรหาบุคลากรของบริษัทต่าง ๆ ภายในปี 2030 อีกด้วย
ซึ่งกลยุทธ์การสรรหาทรัพยากรบุคลของโลกอนาคตจาก World Economic Forum จะประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี, การเปลี่ยนผ่านสีเขียว, การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร, การแยกตัวของการค้า และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ
การทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
เมื่อโลกเชื่อมโยงกันได้ง่ายมากขึ้น ภาษาจึงมีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิต รวมไปถึงการสื่อสารระหว่างบุคคลและองค์กรในที่ทำงาน ซึ่งบริษัทที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง พบว่ามีผลกำไร 36% มากกว่าบริษัทที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมต่ำ อีกทั้งการทำงานในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายยังช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน
ในด้านของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมีการแบ่งขั้วและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ความต้องการทักษะเฉพาะทางบางกลุ่ม รวมถึงทักษะทางภาษาที่หลากหลาย (Multilingualism skill) มีเพิ่มขึ้นถึง 32.4% ซึ่งความสามารถในการเข้าใจมุมมองที่หลากหลายผ่านภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนี้ สามารถเพิ่มศักยภาพในการเป็นผู้นำและส่งเสริมทักษะด้านนวัตกรรมในอนาคตอีกด้วย
การศึกษาสองภาษาตั้งแต่วัยเด็กช่วยเสริมสร้างการพัฒนาสมองของเด็ก
วัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเริ่มต้นการศึกษาสองภาษา 90% ของการพัฒนาสมองเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก สอดคล้องกับเทรนด์การศึกษาสองภาษาในช่วงวัยเด็ก โดยเฉพาะในเด็กช่วงอายุ 0-5 ขวบ ที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการที่สนุกสนานและสอดคล้องกับวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ทางภาษาและความยืดหยุ่นทางปัญญา
ที่มา ; ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568