ค้นหา

ก.ค.ศ. เคาะเกณฑ์ใหม่ศึกษานิเทศก์ ปฏิรูปวิชาชีพ มุ่งพัฒนาครู

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 68 คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์สำคัญเพื่อปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา 

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า การปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษานิเทศก์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หลักเกณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติในวันนี้จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูงจากภายนอกระบบราชการได้เข้ามาร่วมพัฒนาการศึกษาของประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างกลไกที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรม 

เราจำเป็นต้องมีศึกษานิเทศก์ที่มีคุณภาพและเพียงพอในระบบการศึกษา เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา การปฏิรูปครั้งนี้ จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบการศึกษาไทย ตั้งแต่ระดับนโยบายลงไปถึงห้องเรียน ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการ ก.ค.ศ. เปิดเผยว่า “หลักเกณฑ์ใหม่นี้ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด ส่วนการเปิดช่องทางให้ผู้ที่มีคุณวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้สามารถเข้าสู่ตำแหน่งได้นั้น จะทำให้เรามีนักศึกษานิเทศก์ที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านวิชาการและประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยยกระดับการนิเทศการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” 

โดยสาระสำคัญจาก 5 หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับศึกษานิเทศก์ที่ ก.ค.ศ. ได้ให้ความเห็นชอบในครั้งนี้ ได้แก่

การเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกที่มีวุฒิปริญญาโทหรือเอกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้สามารถเข้าสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ได้

  • กระบวนการคัดเลือกที่ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยเน้นความรู้ด้านวิจัยทางการศึกษา ภาวะผู้นำ ทักษะเทคโนโลยีดิจิทัล ภาษาอังกฤษ และสมรรถนะในการปฏิบัติงาน
  • การปรับปรุงวิธีการคัดเลือกบุคคลให้เหมาะสมกับมาตรฐานตำแหน่งศึกษานิเทศก์ใหม่
  • การกำหนดอัตราเงินเดือนที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งศึกษานิเทศก์
  • ระบบพัฒนาก่อนแต่งตั้ง ศึกษานิเทศก์ต้องผ่านการพัฒนาและประเมินสมรรถนะก่อนเข้าปฏิบัติงาน

การอนุมัติหลักเกณฑ์ดังกล่าว ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม การมีศึกษานิเทศก์ที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษา มีความเป็นผู้นำทางวิชาการ และมีสมรรถนะในการนิเทศการศึกษา จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทั่วประเทศต่อไป 

ที่มา ; เดลินิวส์ออนไลน์ 

เกี่ยวข้องกัน

ก.ค.ศ.เห็นชอบแนวทางการบริหารงานบุคคลตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

1. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
       สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ศึกษาสภาพอัตรากำลังและความก้าวหน้าทางวิชาชีพของศึกษานิเทศก์ เนื่องจากพบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในตำแหน่งนี้จำนวนมาก ส่งผลให้ขาดบุคลากรที่จะทำหน้าที่นิเทศ ให้คำปรึกษา แนะนำ ชี้แนะ เป็นพี่เลี้ยง ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนางานวิชาการให้กับครูและผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน


      ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้ศึกษานิเทศก์มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ ก.ค.ศ. จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ทั้งระบบ ทั้งการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง การกำหนดช่องทางเพิ่มเติมในการเข้าสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ เปิดโอกาสให้สามารถคัดเลือกบุคคลที่มิใช่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ (ยกเว้นสาขาทางด้านการบริหารการศึกษา) และมีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญระดับสูง ให้สามารถเข้าสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ได้ รวมถึงการปรับโครงสร้างและอัตรากำลังตำแหน่งศึกษานิเทศก์ให้มีความชัดเจนและเหมาะสมกับภารกิจ และได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. นำไปพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และได้จัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมในครั้งนี้ที่ประชุม ก.ค.ศ. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์สำคัญที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ประกอบด้วย
       1) การกำหนดประสบการณ์ และความรู้ ความสามารถ ความชำนาญหรือเชี่ยวชาญระดับสูงตามมาตรฐาน ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ (กรณีเป็นผู้ที่มิใช่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา) กำหนดประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ความชำนาญหรือเชี่ยวชาญระดับสูงสำหรับผู้ที่มิใช่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้มีวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้เข้าสู่ตำแหน่งได้
       2) (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ กรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์แก่ราชการ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้กระบวนการวัดความรู้ ความสามารถที่ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในเรื่องเกี่ยวกับวิธีวิทยาการวิจัยทางการศึกษาขั้นสูง ภาวะผู้นำทางวิชาการ ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะภาษาอังกฤษ สมรรถนะในการปฏิบัติงานของตำแหน่งศึกษานิเทศก์ และประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง โดยคัดเลือกจากกลุ่มผู้ที่มิใช่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานตำแหน่ง
       หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ให้ใช้ในกรณีที่ดำเนินการคัดเลือกข้าราชการครูฯ เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด แล้วได้จำนวนผู้ได้รับการคัดเลือกไม่เพียงพอกับ จำนวนตำแหน่งว่าง และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง เห็นว่า เป็นกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์แก่ราชการ
      3) (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ปรับปรุงวิธีการคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสม ตรงตามมาตรฐานตำแหน่งศึกษานิเทศก์ที่กำหนดใหม่
      4) การกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรองเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ กรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์แก่ราชการ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
      5) (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ 
ระบบการพัฒนาศึกษานิเทศก์ ก่อนการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและกลไกการประเมินสมรรถนะและความพร้อมในการปฏิบัติงาน โดยให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ (ว 6/2551)         
       การอนุมัติหลักเกณฑ์ดังกล่าวในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการมีศึกษานิเทศก์ที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษา มีความเป็นผู้นำทางวิชาการมีประสบการณ์และสมรรถนะในการนิเทศการศึกษา จะนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทั่วประเทศต่อไป 

ที่มา ; สำนักงาน ก.ค.ศ.

 

ข้อมูลประกอบ

หลักเกณฑ์การคัดเลือกศึกษานิเทศก์กระทรวงศึกษาธิการตามข่าวเบื้องต้น >>>