เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสถาการณ์ 3 ใหญ่ๆ ที่มีกระทบต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปการศึกษาไทย คือ
1.โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อเริ่มต้นกระบวนการยกเลิกกระทรวงศึกษาธิการ สาเหตุการยุบส่วนหนึ่งมาจาก “การเมือง” ที่เคยหาเสียงไว้ อีกส่วนหนึ่งคือทรัมป์มองว่าใช้งบจำนวนมาก และคุณภาพต่ำสู้จีนและยุโรปไม่ได้ นอกจากนี้ปรับงบประมาณเจ้าหน้าที่ของส่วนกลางลง พร้อมกระจายอำนาจไปยังแต่ละรัฐ ซึ่งทำให้เห็นว่าทีมป์ดำเนินนโยบายการศึกษาเด็ดขาด ปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้เด็กของตนฉลาดขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า ประเทศเวียดนาม ที่ปรับขนาดกระทรวงศึกษาธิการลง พร้อมกับปฏิรูปการศึกษามาถึง 2-3 ครั้ง จะเห็นว่าทั่วโลกเริ่มมีการปรับปรุงคุณภาพการศึกษามุ่งจัดระบบการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น โดยทุกประเทศทั่วโลกจะมีการปฏิรูปการศึกษา 1-3 ครั้ง แต่ไทยไม่ได้ปฏิรูปการศึกษามา 28 ปี ตั้งแต่ปี 2540 มีแค่ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา 11-12 ชุด มีเอกสารเป็นหมื่นหน้า แต่ไม่มีการขับเคลื่อน ไม่มีนโยบาย ไม่เอาจริงเอาจริง คำถามคือแล้วเมื่อไหร่ประเทศไทยจะทำ?
2.การจัดอันดับของ world population review ที่จัดอันดับการศึกษาของแต่ละประเทศ โดยพบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 107 และเป็นอันดับ 8 ของอาเซียนนำลาว และกัมพูชา การสำรวจดังกล่าวจะดูระบบเศรษฐกิจ และระบบการศึกษาเป็นสำคัญ โดยดู 3 ประเด็น คือ 1.ระบบการศึกษาของแต่ละประเทศมีพัฒนาการดีมากน้อยแค่ไหน 2.ผู้ตอบแบบสำรวจมีความต้องการเข้ามหาวิทยาลัยที่ประเทศนั้นจัดมากน้อยแค่ไหน 3.ประเทศนั้นมีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากน้อยเพียงใด ดังนั้นการสำรวจนี้มีผลกับสังคมไทยค่อนข้างสูง ทำให้สังคมไทยตื่นตระหนก ทั้งนี้สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของการจัดอันดับ คือ เป็น “ธุรกิจ” ที่ต้องจ่ายเงิน และเราต้องให้ข้อมูลกับเขา ดังนั้นต้องมีสติ อ่านอย่างรอบคอบ และต้องรู้เท่าทัน อย่างไรก็ตามการจัดอันดับนี้มีประโยชน์คือทำให้มาคิดทบทวน และกลับมาดูตัวเราเองด้วย
นายสมพงษ์ กล่าวว่า เมื่อดูจากระบบเศรษฐกิจควบคู่กับระบบการศึกษาที่มีงานวิจัยอยู่ พบว่า คนไทยมีอายุการเรียนหนังสือเฉลี่ย 9.32 ปี มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,349.07 บาท ขณะที่ เกาหลี ซึ่งถึงเป็นอันดับหนึ่งจากการจัดอันดับดังกล่าว มีอายุเรียนหนังสือเฉลี่ย 13.68 ปี มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 93,843.89 บาท ด้านสิงคโปร์ มีอายุการเรียนเฉลี่ย 13.06 ปี มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยกว่า 200,080.39 บาท ส่วน ญี่ปุ่น มีอายุการเรียนเฉลี่ย 12.83 ปี มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 95,671.83 บาท และ มาเลเซีย มีอายุการเรียนเฉลี่ย 11.09 ปี มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 23,240 บาท ซึ่งทำให้ค้นพบว่าประเทศไทยมีรายได้ปานกลาง จมปลักอยู่กับที่เป็นเวลากว่า 10 ปี อีกทั้งผลการสอบ PISA ล่าสุดที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี คะแนนโอเน็ตเฉลี่ย30-50%ทุกวิชา ประกอบกับมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาหลักล้านคน
3.ผลสำรวจการอ่านของคนไทย ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำรวจร่วมกับ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ที่คาดว่าผลการอ่านของคนไทยอาจจะเป็นที่ 1 ของอาเซียน อัตราการรู้หนังสือเกือบ 99% ซึ่งเรื่องนี้มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือคนไทยมีอัตราการอ่านสูงขึ้น และ สกร.จะกลับมาทำที่อ่านหนังสือพิมพ์หมู่บ้าน ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะในอดีตที่อ่านหนังสือพิมพ์ของหมู่บ้าน เป็นผลงานที่โดดเด่น และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และยูเนสโก โดยเฉพาะปรัชญา “คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น” ตนเห็นด้วยในการฟื้นขึ้นมา แต่ควรจัดกิจกรรมให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ชุมชนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้
อย่างไรก็ตาม หากเคลิ้มไปกับการสำรวจนี้ เราอาจจะลืมจุดอ่อนที่คนไทยอ่านตะกุกตะกัก อ่านแบบพออ่านได้ อ่านแบบคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์ไม่ได้ เพราะจากงานวิจัยคนไทย 20 ล้านคนจบการศึกษาแค่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อจบการศึกษาออกมาไม่เกิน 6 เดือน ความสามารถในการอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็นลดไปครึ่งหนึ่ง ดังนั้นหากไปผลสำรวจอาจจะลืมข้อเท็จจริงควรที่จะรอบคอบ พร้อมกับคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์นำข้อมูลที่มีอยู่ทำให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นอย่าเชื่อว่า 98% เป็นสภาพการศึกษาที่แท้จริง
” 3 เหตุการณ์สำคัญทางการศึกษา มีทั้งข้อดี ข้อเด่น และข้อด้อย แต่มองว่าเป็นโอกาสสำคัญในการตั้งคำถามว่า
1. เราจะปฏิรูป ปฏิวัติการศึกษา เมื่อไหร่ และทำกี่โมง
2.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะมีการปรับให้เล็กลงแบบใด เพราะทุกประเทศปรับทั้งนั้น เราจะปล่อยให้ ศธ.ใหญ่โต เทอะทะ อุ้ยอ้ายแบบนี้หรือ จะกระจายอำนาจลงไปที่สถานศึกษาหรือไม่?
3.มีความชัดเจนหรือยังว่าเราต้องการพลเมืองแบบไหน ในการสร้างเด็กของเรา หลักสูตรการศึกษา ที่ไม่ได้ปรับมา 20 ปี มีการประกาศเปลี่ยนหลักสูตรไม่รู้กี่หน แต่ต่อไปก็ยกเลิกอีก ใครจะเป็นคนให้ความชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นกับสังคม ไม่ใช่เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนสังคมเปลี่ยน ก็เปลี่ยนนโยบายการศึกษาอีกแล้ว การศึกษาเป็นการสร้างคุณภาพประชากรที่ต้องทำต่อเนื่อง ไม่ใช่การหักเหลี่ยมทางหารเมือง และ 4ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ผ่านมา เราเห็นการอภิปรายหลายเรื่อง แล้วก็ทำไมเรื่องการศึกษาหายไป เพราะเหตุใดทำไมไม่มีการอภิปราย” นายสมพงษ์ กล่าว
นักวิชาการ เปิด 3 เหตุการณ์สำคัญกระทบทิศทางการศึกษาไทย ถามจะปฏิวัติ-ปฏิรูปการศึกษากี่โมง?
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 31 มีนาคม 2568