ค้นหา

‘บิ๊กอุ้ม’ดัน AI เสริมการศึกษา เริ่มจากผู้บริหารการศึกษา

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งตนอยากจะเน้นย้ำเรื่องการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เข้ามาบริหารจัดการศึกษาและให้เอไอ้ได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยของทุกคนได้ โดยอยากจะเริ่มการใช้เอไอกับผู้บริหารการศึกษาทุกคน เพราะเป็นการขับเคลื่อนไปควบคู่กับนโยบาย 3 บวก 1 คือ พื้นฐานการเรียนรู้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ซึ่งจะบวกเพิ่มการเรียนรู้ด้านดิจิทัลเอไอเข้าไปด้วย เพื่อจะเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้พื้นฐาน 3 บวก 1 เหล่านี้ที่จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงครู และส่งต่อไปถึงนักเรียนที่จะเป็นผลผลิตของไทยต่อไป 

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า สำหรับการเพิ่มการเรียนรู้เรื่องดิจิทัลเอไอนั้น ขอให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมด้วย เพราะตนต้องการให้ดิจิทัลเอไอได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยในการทำงานประสานพัฒนา ซึ่งถือเป็นมิติที่ตนอยากเห็นการนำเอไอเข้ามาช่วยทำงานด้านการศึกษา ช่วยเรื่องการเรียนการสอน ดังนั้นเมื่อนำเรื่องเทคโนโลยีเอไอเข้ามาใช้เป็นผู้ช่วยแล้ว ในส่วนของผู้ใช้งานจะต้องเรียนรู้ศักยภาพการใช้งาน และให้เอไอเข้ามาใช้เสริมสร้างและเติมเต็มสมรรถนะด้านที่ขาดได้ด้วย นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าวยังได้มีการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณและเตรียมความพร้อมการชี้แจงร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ที่จะมีขึ้นปลายเดือนพ.ค.นี้ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร์ด้วย 

ทั้งนี้สำหรับงบประมาณจัดสรรประจำปี 2569 ที่ศธ. ได้รับมาในจำนวน 355,108 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 14,333 ล้านบาท ในส่วนของที่ได้รับเพิ่มมาจะนำมาใช้ในเรื่องของการขึ้นเงินเดือนข้าราชการครูเป็นหลัก และจะมีการจัดสรรงบประมาณ 1000 ล้านบาทไปใช้ในการเช่าซื้ออุปกรณ์การเรียน อาทิ แท็บเล็ต โน๊ตบุ๊ก โครมบุ๊ก ฯลฯ เพื่อใช้ในโครงการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime ด้วยเช่นกัน”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว 

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้นำเสนอการประเมินคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นโจทย์ที่ได้มอบให้สมศ.ไปวิเคราะห์คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนแต่ละขนาด โดยพบว่าโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษจะมีผลพัฒนาการศึกษาที่ดีกว่า โรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก ดังนั้นสิ่งที่สมศ.วิเคราะห์เหล่านี้จะเป็นโจทย์ที่มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปสร้างภาคีเครือข่ายการช่วยเหลือโรงเรียนด้วยการจับคู่โรงเรียนคู่พัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียมต่อไป 

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2568