ค้นหา

บริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามเกณฑ์ Malcolm Baldrige

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ มัลคอล์ม บอลคริจ” เป็นรางวัลแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่นำแนวคิดของการบริหารคุณภาพแบบเบ็ดเสร็จ (Total Quality Management: TQM) มาใช้เพื่อประเมินองค์กรต่างๆ  และมอบรางวัล ซึ่งเป็นรางวัลคุณภาพแห่งชาติในลักษณะเดียวกับรางวัลเดมมิ่ง (The Deming Prize) ของประเทศญี่ปุ่น 

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ “มัลคอล์ม บอลคริจ” ก่อตั้งโดยสภา Congress ในปี ค.ศ.1987 โดยตั้งชื่อรางวัลเพื่อเป็นเกียรติให้กับเลขาธิการกระทรวงพาณิชย์  คือ Mr. Malcolm Baldrige ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการจัดการที่มีคุณภาพ ว่าเป็น กุญแจสำคัญ” ที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง และความแข็งแกร่งที่ยั่งยืน

ในปัจจุบัน รางวัลคุณภาพแห่งชาติ มัลคอล์ม บอลคริจ” ควบคุม และกำกับดูแล โดย The U.S. Commerce Department’s National Institute of Standards and Technology หรือ NIST ภายใต้การดำเนินงานโดยรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ตราขึ้นเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ.1987 เพื่อมอบให้แก่องค์การที่ประสบความสำเร็จดียิ่ง ตามเกณฑ์ต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ในแต่ละปี โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม และยกระดับความสามารถในการบริหารจัดการ  อันนำไปสู่การสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าและเพื่อผลต่อองค์การในที่สุด  

บทบาทสำคัญของ MBNQA หรือ Malcolm Baldrige National Quality Award มี 3 ประการ กล่าวคือ

1. ช่วยให้องค์กรต่างๆ เกิดการปรับปรุงวิธีการดำเนินการ และผลการดำเนินการให้เป็นที่ยอมรับ

2. กระตุ้นให้มีการสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติสู่ความเป็นเลิศระหว่างองค์กรต่างๆ

3. สร้างบทบาทในรูปของเครื่องมือที่นำมาใช้เป็นแนวทางในการวางแผน และเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ 

การบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามเกณฑ์มาตรฐาน Malcolm Baldrige” ได้มีการแบ่งรูปแบบการบริหารเป็น 2 ด้านใหญ่ๆ กล่าวคือ 

1. ด้านกระบวนการ แบ่งตามลักษณะการปฏิบัติการได้ 3 กลุ่มย่อย ดังนี้ 

๑.๑ กลุ่มนำองค์กร ได้แก่

หมวด 1 การนำองค์กร (Leadership)

หมายถึง วิธีการที่ผู้นำระดับสูงจัดกระทำ เพื่อชี้นำ และทำให้องค์กรมีความยั่งยืน เช่น การกำหนดวิสัยทัศน์ ค่านิยม และความคาดหวังผลการดำเนินการขององค์กร โดยให้ความสำคัญกับวิธีการที่ผู้นำระดับสูงสื่อสารกับคุลากร รวมทั้งการเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำในการเรียนรู้ในระดับองค์กร พัฒนาผู้นำในอนาคต กระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติการอย่างจริงจัง และสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดการประพฤติปฏิบัติตนอย่างมีจริยธรรม และนำไปสู่การมีผลการดำเนินการที่ดี

หมวด 2 การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning)

หมายถึง การวางแผนกลยุทธ์ และการวางแผนปฏิบัติการ การนำแผนไปปฏิบัติ วิธีการทำให้มั่นใจว่ามีทรัพยากรเพียงพอที่จะบรรลุผลสำเร็จตามแผน วิธีการวัดความสำเร็จ และการรักษาความยั่งยืน รวมถึงวิธีการปรับเปลี่ยนแผนเมื่อมีสถานการณบังคับ

 

หมวด 3 การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Customer Focus)

หมายถึง วิธีการที่องค์กรใช้ในการสร้างความผูกพันกับลูกค้า โดยมีจุด  มุ่งเน้นในการรับฟัง และสนับสนุนลูกค้า รวมทั้งการประเมินความพึงพอใจของลูกค้า และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกค้ากับองค์กร

เกณฑ์เหล่านี้ถูกจัดเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเน้นให้เห็นความสำคัญ ว่าในการนำองค์การ ผู้บริหารต้องกำหนดทิศทางการบริหารองค์กร โดยต้องมีการมุ่งที่ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ และการให้ความสำคัญกับผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 

จากภาพประกอบที่ยกมา จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 หมวดนี้ มีลูกศร 2 ข้าง ซึ่งแสดงว่าทั้ง 3 หมวดนี้ต้องมีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอยู่ตลอดเวลา

 

1.2 กลุ่มปฏิบัติการ ได้แก่

หมวด 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล (Workforce Focus)

หมายถึง วิธีปฏิบัติที่สำคัญด้านบุคลากร ซึ่งมุ่งที่จะสร้าง และรักษาให้ องค์กรมีสภาพแวดล้อมที่มีผลการดำเนินการที่ดีอยู่เสมอ รวมทั้งการทำให้บุคลากรมีความผูกพันกับองค์กร เพื่อให้บุคลากร และองค์กร สามารถปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และประสบความสำเร็จในที่สุด 

หมวด 6 กระบวนการปฏิบัติการ (Operation Focus)

หมายถึง การพิจารณาถึงวิธีการทำให้งานขององค์กรบรรลุผล เน้นความสำคัญของสมรรถนะหลักขององค์กร (Core competencies) รวมถึงการป้องกัน และนำมาใช้ประโยชน์เพื่อความสำเร็จ และความยั่งยืนขององค์กร โดยเน้นให้เกิดความสามารถในการปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่อง

กลุ่มนี้แสดงให้เห็นว่า ทั้งบุคคล และกระบวนการปฏิบัติการ มีบทบาทในการทำให้การดำเนินงานสำเร็จ และนำไปสู่ผลลัพธ์ของการดำเนินการ

 

1.3 กลุ่มพื้นฐานของระบบ ได้แก่

หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis and Knowledge Management) หมายถึง ด้านหลักที่สำคัญของการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ตามเกณฑ์มาตรฐาน Malcolm Baldrige คือในด้านสารสนเทศที่สำคัญทั้งหมดเกี่ยวกับการวัด การวิเคราะห์ และการปรับปรุงผลการดำเนินการ รวมทั้งการจัดการความรู้ขององค์กรอย่างมีประสิทธิผล เพื่อผลักดันให้เกิดการปรับปรุงและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กร 

กลุ่มนี้ ส่งผลให้องค์กรมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิผล และมีการปรับปรุงผลการดำเนินการ โดยใช้ข้อมูลจริง และองค์ความรู้เป็นแรงผลักดัน 

จากภาพประกอบที่ยกมา จะเห็นได้ว่า มีลูกศร 2 ข้าง เชื่อมโยงกับหมวด 1 คือการนำองค์กร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารจำเป็นต้องมีข้อมูลจริง เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ 

ส่วนลูกศรอีก 2 ข้าง ที่เชื่อมโยงกับหมวด 7 คือผลลัพธ์การดำเนินการ แสดงให้เห็นว่า ต้องมีการวัด การวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถรายงานผลลัพธ์การดำเนินการขององค์กร

นอกจากนี้ยังมีลูกศรใหญ่ที่เชื่อมโยงระหว่างหมวด 4 กับหมวดอื่นๆ ทุกหมวด แสดงให้เห็นว่า การบริหารจัดการนั้นต้องมีการใช้ข้อมูล และสารสนเทศอยู่ตลอดเวลา

 

2. ด้านผลลัพธ์ ได้แก่ หมวด 7 ผลลัพธ์การดำเนินการ (Results)

หมายถึง มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของการประเมินวัตถุประสงค์ รวมทั้งการประเมินของลูกค้าต่อผลิตภัณฑ์ขององค์กร ทั้งการประเมินกระบวนการ และกิจกรรมการปรับปรุงกระบวนการที่สำคัญ ผลลัพธ์ด้านการมุ่งเน้นลูกค้า ผลลัพธ์ด้านบุคลากร ผลลัพธ์ด้านการกำกับดูแลองค์กร ระบบการนำองค์กร และความรับผิดชอบต่อสังคมในวงกว้าง 

ส่วนนี้ เป็นการตรวจประเมินใน 4 มิติ ที่สอดคล้องกับคำรับรองการปฏิบัติงาน ได้แก่ มิติด้านประสิทธิภาพตามพันธกิจ มิติด้านคุณภาพการให้บริการ มิติด้านประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน และมิติด้านการพัฒนาองค์กร 

โดยลูกศรตามแนวที่ตรงกลางของแผนภาพ แสดงการเชื่อมโยงของกลุ่มการนำองค์การ  และกลุ่มปฏิบัติการกับส่วนที่เป็นผลลัพธ์ และชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ระหว่างหมวด 1 การนำองค์กร กับหมวด 7 ผลลัพธ์การดำเนินการครับ 

การบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ตามเกณฑ์มาตรฐาน Malcolm Baldrige เป็นการพัฒนาตัวชี้วัดซึ่งมีที่มาจากรางวัลคุณภาพแห่งชาติ “มัลคอล์ม บอลคริจ” (Malcolm Baldrige National Quality Award: MBNQA) 

ที่มา ; salika